03 ธันวาคม 2552

Econophysics - ฟิสิกส์เศรษฐศาสตร์ (ตอนที่ 1)


วันก่อนผมเปิดดูทีวีตอนเช้า ได้มีโอกาสชมรายการที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยไม่ตั้งใจ รายการนี้มีพิธีกรเป็นผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ สังกัดมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้พยายามเสนอข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ ว่ามีแนวโน้มจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พิธีกรได้อ้างว่าข้อมูลดังกล่าวมาจากการวิจัยของสำนัก แต่เท่าที่ผมดู มันก็ไม่ต่างจากการใช้สามัญสำนึก (commen sense) เท่าไหร่ครับ เพราะยังไม่เห็นมีหลักวิทยาศาสตร์ได้ถูกนำไปใช้ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะวงการเศรษฐศาสตร์และพาณิชยศาสตร์ของไทย ยังไม่ค่อยมีความเป็นวิทยาศาสตร์เท่าไรนัก

ในช่วงที่ผมไปทำงานวิจัยหลังปริญญาเอกอยู่ที่มิวนิคนั้น ผมได้มีโอกาสศึกษาและใช้งานหลักกลศาสตร์ควอนตัม และกลศาสตร์สถิติ อย่างจริงจัง ศาสตร์เดียวกันนี้ได้ถูกนำไปใช้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ และ ธุริกจ อย่างกว้างขวางในเยอรมันครับ เพื่อนๆ ของผมหลายคนที่จบปริญญาเอกจากห้องแล็ปเดียวกัน เขาไปสมัครทำงานในบริษัทวิเคราะห์หุ้น และบริษัทประกันภัยกัน เขาเคยเล่าให้ผมฟังว่า เขาถูกสัมภาษณ์อย่างซีเรียสมากๆ เพื่อทดสอบว่าเขารู้เรื่องกลศาสตร์เหล่านี้จริงๆ ปรากฏว่า CEO ของบริษัทนั้นก็จบปริญญาเอกทางฟิสิกส์มา จึงซีเรียสเรื่องนี้มากๆ ณ เวลานั้นเอง ผมถึงได้เรียนรู้ว่าเรื่องของระบบเศรษฐกิจนี้ สามารถนำหลักวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้งานได้ น่าเสียดายที่คณะเศรษฐศาสตร์ของบ้านเรา ไปสังกัดอยู่กับพวกสังคมศาสตร์ เลยทำให้การพยากรณ์เศรษฐกิจของบ้านเรา ไม่ค่อยจะแม่นเหมือนกับของเยอรมัน

การนำเอากลศาสตร์ควอนตัม และกลศาสตร์สถิติมาใช้ทางด้านเศรษฐศาสตร์นี้ เขามีชื่อเรียกว่า "ฟิสิกส์เศรษฐศาสตร์" (Econophysics) ครับ ซึ่งเป็นศาสตร์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสัก 10 ปีที่แล้วนี้เองครับ ว่างๆ ผมจะนำเอาเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังอีกนะครับ .....