09 สิงหาคม 2556

Digital Food - อาหารดิจิตอล (ตอนที่ 4) ตอน Google Burger


(ในภาพ: Sergey Brin หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท Google ผู้สนับสนุนโครงการ Google Burger ด้วยวิธีการปลูกเนื้อเยื่อ)

ยุ่งแล้วล่ะสิครับท่านผู้อ่าน ... ในบทความซีรีย์นี้เมื่อตอนที่แล้ว ผมเพิ่งจะพูดไปว่า คอยดูสิ บริษัทที่ทำเกษตรแบบซีพีอีกหน่อยจะล้าสมัย และล้มตายไปจากวงการธุรกิจ แต่บริษัทแบบกูเกิ้ล กับ ไอบีเอ็ม ที่ทำด้านไอที อีกหน่อยจะกลายมาเป็นยักษ์ใหญ่ทางด้านเกษตรและอาหารแทน .... เพิ่งพูดไป ไม่น่าเชื่อว่า เมื่อไม่กี่วันมานี้ กูเกิ้ลได้ออกมาประกาศความสำเร็จในการผลิตแฮมเบอร์เกอร์ที่เกิดจากการเลี้ยงเนื้อเยื่อในหลอดแก้ว เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสปอนเซอร์ด้วยเม็ดเงินมหึมาจาก เซอร์เก้ บริน (Sergey Brin) หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทกูเกิ้ล ทั้งนี้ในงานเปิดตัว ได้มีการนำเนื้อที่ได้จากการทดลองนี้ มาทอดด้วยเนยและน้ำมันพืชจากดอกทานตะวัน จากนั้นได้ให้นักชิม 2 คน ที่คัดเลือกมาให้ชิมแฮมเบอร์เกอร์แห่งโลกอนาคตนี้ ทำการชิมต่อหน้าผู้ชมจำนวนมาก ฮานนี รุทซเลอร์ (Hanni Rutzler) นักวิทยาศาสตร์ทางอาหารชาวออสเตรียได้บรรจงเคี้ยวแฮมเบอร์เกอร์นี้จำนวน 27 ครั้งก่อนที่จะกลืนเต็มๆ คำ ได้กล่าวว่า "มันเหมือนกับเนื้อจริงๆ มากครับ เพียงแต่ยังต้องปรับปรุงเรื่องรสชาติหน่อย" ส่วนนักชิมอีกท่านหนึ่งคือ จอร์ช ชอนวาลด์ (Josh Schonwald) ซึ่งเป็นนักเขียนเกี่ยวกับเรื่องข้าวปลาอาหาร ได้บอกว่า "สิ่งที่รู้สึกขาดไปคือไขมันครับ แต่ความรู้สึกจากการกัดและเคี้ยว บ่องตง ว่ามันเหมือนแฮมเบอร์เกอร์ที่ทำจากเนื้อจริงมากๆ"

เนื้อที่ปลูกขึ้นมาเหมือนเราปลูกพืชนี้ มีข้อดีมากมาย และมีโอกาสทำการตลาดจากข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่งที่เป็นเนื้อจริงคือ

(1) เนื้อหลอดแก้วปลูกจากเซลล์เนื้อวัว แล้วทำให้มันโตขึ้นมาด้วยการป้อนอาหารเข้าไปที่เซลล์โดยตรง ทำให้มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรสูงมาก จึงเป็นเนื้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า วัวตัวเต็มวัยตัวหนึ่ง ผายลมเอาก๊าซมีเธนออกมาปีละ 180 กิโลกรัม ซึ่งก๊าซมีเธนนี้เป็นก๊าซเรือนกระจก ที่ดักจับความร้อนในชั้นบรรยากาศของโลกได้ดีกว่า คาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า การผลิตเนื้อวัวนั้นทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับเต้าหู้ ซึ่งเป็นอาหารหลักของนักมังสวิรัติแล้ว มันใช้พื้นที่เกษตรกรรมมากกว่าเป็น 17 เท่า ใช้น้ำมากกว่า 26 เท่า ใช้เชื้อเพลิงมากกว่า 20 เท่า แถมยังใช้สารเคมีมากกว่าอีก 6 เท่า จากรายงานขององค์กรอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UN's FAO) พบว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาทั้งหมด 18% ซึ่งมากกว่ารถยนต์ รถไฟ เรือ และเครื่องบิน รวมกันเสียอีก ดังนั้น การผลิตเนื้อวัวด้วยการปลูกเนื้อเยื่อ จะทำให้ผู้บริโภคที่มีความเป็นห่วงสิ่งแวดล้อมเลิกกินเนื้อวัวจริง แล้วหันมาบริโภคเนื้อปลูกมากขึ้นเรื่อยๆ

(2) การปลูกเนื้อในหลอดแก้ว ไม่ต้องมีการฆ่าวัวจริงๆ เป็นการผลิตอาหารไม่ต่างจากการปลูกพืช ซึ่งจะทำให้ตลาดมังสวิรัติยอมรับการทานเนื้อ เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ไม่ผิดศีลข้อที่ 1 จึงน่าจะมีอนาคต

(3) ถึงแม้เนื้อแฮมเบอร์เกอร์นี้จะเป็นเนื้อวัว แต่เกิดจากการปลูกขึ้นมา ไม่ได้มีการฆ่าวัว จึงน่าจะเจาะตลาดผู้ที่ทานเนื้อสัตว์แต่ไม่ทานเนื้อวัว โดยเฉพาะคนจีนที่นับถือพระโพธิสัตว์กวนอิม รวมไปถึงคนไทยส่วนใหญ่ที่ไม่ทานเนื้อวัวเพราะมีกลิ่น เนื้อที่ปลูกนี้เราสามารถ engineer กลิ่นให้เหมาะกับจมูกคนไทยได้

(4) เนื้อที่ปลูกปราศจากเชื้อโรค โดยเฉพาะโรควัวบ้า

(5) เทคโนโลยีนี้คิดโดยคนตะวันตก ดังนั้นอีกไม่นานเราจะเริ่มเห็นมาตรการต่างๆ ของประเทศตะวันตกที่จะกีดกันทางการค้า และสร้างเงื่อนไขใหม่ๆ ที่จะไม่ยอมรับเนื้อสัตว์ที่เกิดจากการเลี้ยง อีกไม่นาน การปลูกเนื้อสัตว์จะเริ่มระบาดไปสู่เนื้อหมู และ เนื้อไก่ ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้นำในการส่งออก ทำให้การส่งเนื้อไก่ (จริงๆ) ไม่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค ไม่ว่าจะในเรื่องของความสะอาด ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และในเรื่องศีลธรรม ... คอยดูนะครับว่าเมื่อเขาทำเป็นอุตสาหกรรมได้เมื่อไหร่ ประเทศไทยรับผลกระทบเต็มๆ แน่ครับ

พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติมรรคมีองค์ 8 ว่าเป็นทางสายกลางที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น สัมมาอาชีวะก็เป็นมรรคข้อหนึ่ง นั่นคือ การมีอาชีพที่สุจริตไม่เบียดเบียนผู้อื่น อาชีพการเลี้ยงสัตว์อย่างที่ทำกันในปัจจุบันเป็นอาชีพสุจริตแต่ก็ยังต้องเบียดเบียนชีวิตสัตว์ จึงอาจจะไม่ใช่สัมมาอาชีวะที่สมบูรณ์ แต่ในอนาคตการเลี้ยงสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหารจะเป็นสัมมาอาชีวะได้ เพราะเราจะไม่เลี้ยงสัตว์ แต่จะใช้การ "ปลูกสัตว์" แทนครับ

2 ความคิดเห็น:

  1. อยากให้ถึงวันนั้นเร็วๆ ติดตามเสมอครับ

    ตอบลบ
  2. อยากให้ถึงวันนั้นเร็วๆ ติดตามเสมอครับ

    ตอบลบ