26 พฤษภาคม 2556

ฤาจะสูญสิ้น กลิ่นกาแฟไทย (ตอนที่ 3) - The End of Thai Coffee



(Picture from http://depositphotos.com/)

เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2556 ที่ผ่านมา ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้จากพื้นที่ 5 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม และยโสธร เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) อย่างเป็นทางการจากสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะจะทำให้ไทยสามารถส่งออกข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ไปยังกลุ่มตลาดบนของสหภาพยุโรปได้เพิ่มขึ้น

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เป็นการให้ความคุ้มครองชื่อหรือเครื่องหมายต่างๆ ที่เป็นชื่อเมือง หรือท้องถิ่น ที่ใช้บนฉลากของสินค้าต่างๆ โดยจะต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันทางภูมิศาสตร์ ทั้งนี้ GI มีความแตกต่างจากทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่น กล่าวคือ ผู้เป็นเจ้าของไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่เป็นกลุ่มชุมชน หรือ ผู้ประกอบการใดๆ ก็ตาม ที่มีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์นั้นๆ จึงจะสามารถใช้ชื่อ GI สำหรับผลิตสินค้านั้นได้ เช่น ไข่เค็มไชยา เฉพาะชาวไชยาเท่านั้นที่ทำขายได้ คนแถวราชบุรีมาทำขายแล้วใช่ชื่อไข่เค็มไชยา ถือว่าว่าละเมิดสิทธิ์ สิทธิในลักษณะดังกล่าวนี้ นักวิชาการบางท่านเรียกว่า “สิทธิชุมชน” ซึ่งไม่สามารถนำสิทธิที่ได้รับไปอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้ต่อได้ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่แหล่งภูมิศาสตร์นั้นๆ เท่านั้นที่มีสิทธิใช้

จากข้อมูลของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ทำให้ทราบว่าในปัจจุบันประเทศไทยมีการประกาศขึ้นทะเบียนสินค้า GI ในประเทศไทยแล้วจำนวน 38 รายการ ซึ่งเป็นทั้งสินค้าที่มาจากภาคเกษตรกรรมโดยตรง และสินค้าที่มาจากภาคหัตถกรรมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เช่น ส้มโอนครชัยศรี ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ สับปะรดภูแลเชียงราย กาแฟดอยตุง ศิลาดลเชียงใหม่ ผ้าไหมยกดอกลำพูน เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง ร่มบ่อสร้าง สับปะรดนางแล ไวน์ที่ราบสูงภูเรือ ไข่เค็มไชยา ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ หมูย่างเมืองตรัง มะขามหวานเพชรบูรณ์ ชมพู่เพชร เป็นต้น

จากความสำเร็จที่ประเทศไทยสามารถขึ้นทะเบียน GI ของข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ใน EU ได้ ทำให้กรมทรัพย์สินทางปัญญามีดำริที่จะยื่นจดสินค้าอีก 2 ชนิดเพิ่มเติม ได้แก่ กาแฟดอยตุง และ กาแฟดอยช้าง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน เพราะกาแฟไทย โดยเฉพาะกาแฟ 2 ยี่ห้อนี้ ขึ้นชื่อในเรื่องของความหอมและรสชาติที่อร่อย เปรียบเทียบกับกาแฟที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว และ เวียดนาม แล้ว เหมือนฟ้ากับเหว การจด GI ในยุโรป จะช่วยทำให้กาแฟไทยได้รับความยอมรับในเรื่องคุณภาพ และจะสามารถขายใน EU ที่ราคาแพงๆ ได้ เป็นการยกระดับกาแฟไทยให้ขึ้นไปอยู่แนวหน้าของโลก หนีประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามที่ผลิตกาแฟคุณภาพต่ำในปริมาณมากๆ แน่นอนหล่ะ ... ในอนาคตคนไทยก็คงจะต้องจ่ายแพงขึ้นเพื่อบริโภคกาแฟคุณภาพดีของไทย แต่ผมคิดว่ากาแฟรสชาติดีๆ แล้วจ่ายแพงอีกสักนิด ก็น่าจะดีกว่ากาแฟรสชาติทั่วๆ ไปแต่ขายราคาสตาร์บัค ที่มีอยู่ดาษดื่นตามร้านกาแฟทั้งหลาย

สำหรับกาแฟแล้ว การมี GI หรือ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ถือว่าเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น กาแฟดอยตุง ปลูกในสภาพแวดล้อมที่เป็นดอย สูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 800 เมตร อยู่ในละติจูดที่เหมาะสม มีอากาศเย็นและปริมาณน้ำฝนที่เหมาะสม ทำให้เมล็ดกาแฟมีการสะสมสารหอมระเหย (Aroma Molecules) เข้าไปในเมล็ดในจำนวน และสัดส่วนของสารหอมระเหยแต่ละชนิด ที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง นั่นคือ แม้จะเป็นกาแฟพันธุ์เดียวกัน คัดเอาเมล็ดพันธุ์เหมือนๆ กัน แต่ไปปลูกที่อื่น เช่น บนดอยในประเทศเวียดนาม ก็ไม่สามารถที่จะผลิตกา แฟที่มีกลิ่นและรสชาติเหมือนกันได้ .... นั่นคือ กาแฟดอยตุง ต้องปลูกที่ดอยตุงเท่านั้น ที่อื่นเอาไปปลูกยังไง ก็ไม่มีทางทำให้รสชาติเหมือนกาแฟดอยตุง เช่นเดียวกับกาแฟดอยช้าง ที่เมื่อได้ดื่มแล้ว สำหรับคนที่มีความสามารถในการจดจำรสชาติ ก็จะสามารถจำแนกได้ว่าเป็นกาแฟมาจากดอยช้า ทั้งนี้เป็นเพราะสภาพแวดล้อมของพื้นที่ปลูก ทำให้รสชาติของกาแฟมีความแตกต่างกันนั่นเอง เช่นเดียวกับ เครื่องดื่มประเภทไวน์ ที่มีรสชาติแตกต่างกันตามพื้นที่เพาะปลูก

ดูเหมือนการสร้างอัตลักษณ์ให้แก่กาแฟไทยด้วยการจดทะเบียน GI จะค่อนข้างมาถูกทางแล้ว เพราะถือเป็นการยกระดับมาตรฐานของแบรนด์ไทย หนีคู่แข่งจากประเทศเวียดนาม แต่การมี GI เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถจะการันตีความได้เปรียบในระยะยาวได้ เพราะคู่แข่งก็สามารถจด GI ในภูมิศาสตร์ของเขาได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นกาแฟไทยจะต้องพยายามพัฒนา และรักษาคุณภาพของกลิ่นและรสชาติให้ดีกว่าคู่แข่ง พยายามนำความได้เปรียบในเรื่องของภูมิศาสตร์ที่ทำให้กาแฟของเรามีเอกลักษณ์เหนือคู่แข่งมาใช้ประโยชน์ พยายามรักษาเอกลักษณ์นั้นไว้ ซึ่งเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นแล้วในบ้านเราอย่างระบบ Smart Farm หรือ จมูกอิเล็กทรอนิกส์ จะสามารถเข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตรงนี้ได้ 

1 ความคิดเห็น: