24 กุมภาพันธ์ 2556

ฤาจะสูญสิ้น กลิ่นกาแฟไทย (ตอนที่ 1) - The End of Thai Coffee




เกือบทุกครั้งที่ผมเดินทางไปทำงานภาคสนามหรือไปตระเวณไหว้พระตามต่างจังหวัด สิ่งที่นักเดินทางอย่างพวกเรา มักจะขาดไม่ได้ก็คือ กาแฟอเมซอน โดยเฉพาะเมนูอเมซอนปั่น ผมถือว่าเป็นกาแฟปั่นที่อร่อยที่สุดในโลก ด้วยสูตรปั่นเข้มข้นหวานมันที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ทำให้คนที่กินกาแฟแล้วใจสั่นอย่างผม ไม่อาจจะอดใจไหว ยอมใจสั่นทุกครั้งที่เข้าปั๊ม ปตท. แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา รสชาติอเมซอนปั่นสุดโปรดของผมเริ่มเพี้ยนๆ ไป ถึงแม้จมูกของผมจะไม่ใช่ขนาด supersentitive แบบนักชิมไวน์มืออาชีพก็ตาม แต่ประสบการณ์เรื่องกลิ่นที่เกิดจากการทำวิจัยทางด้านนี้ของผมมาหลายปี ก็ทำให้ผมรู้สึกได้ว่ามันเริ่มมีอะไรทะแม่ง ๆ แล้วหล่ะ ผมได้ตระเวณชิมกาแฟอเมซอนปั่นหลายๆ ปั๊ม จากภาคกลางไปภาคเหนือ ก็ยิ่งทำให้เกิดความมั่นใจว่ารสชาติอมเซอนปั่นได้ผิดเพี้ยนไปจากเดิมอย่างมาก จากเดิมที่เคยหอมหวานมันอร่อย กลายเป็นเหลือแต่ หวานมัน แต่ความหอมอร่อยนั้นรู้สึกจะจืดจางไป สิ่งที่ผมได้ยินมาก็คือ กาแฟไทยเริ่มขาดตลาดเนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ลดลง ผู้ประกอบการไทยจึงเริ่มนำเข้ากาแฟจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาถูกกว่า แต่ก็มีคุณภาพที่ต่ำกว่ากาแฟไทยด้วย ดูเหมือนว่าปัญหานี้จะยิ่งวิกฤตในอนาคต เพราะกาแฟไทยจะมีผลผลิตต่ำลงเรื่อยๆ แต่การบริโภคของคนไทยนั้นกลับเพิ่มทุกปี ทำให้กาแฟ AEC เข้ามาตีตลาดจนทำให้คนไทยได้รับกลิ่นกาแฟไทยน้อยลงเรื่อยๆ น่าเสียดายมากครั

กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ทรงเสน่ห์ที่สุดในโลก ชาวตะวันตกทั้งยุโรปและอเมริกาเป็นกลุ่มประชากรที่บริโภคกาแฟมากที่สุดในโลก แต่พวกเขากลับปลูกมันไม่ได้ เพราะว่ากาแฟปลูกได้เฉพาะในพื้นที่เขตทรอปิกส์หรือเขตร้อนเท่านั้นครับ แม้ว่าบางสายพันธุ์จะชอบอากาศเย็นก็ตาม แล้วพวกเราเป็นเผ่าพันธุ์ที่ปลูกกาแฟได้ จะไปซื้อกาแฟจากยุโรปมากินทำไมหล่ะครับ จะว่าไปคนยุโรปก็เพิ่งจะรู้จักกาแฟหลังจากที่ชาวมุสลิมนำไปให้ลองชิม วัฒนธรรมไฮโซหลายๆ อย่างนั้น ในครั้งอดีตกาลก็ไม่ได้เจริญในยุโรปนะครับ ในยุคที่ชาวเยอรมันยังอาศัยอยู่บนต้นไม้หน่ะ ชาวอาหรับมีมหาวิทยาลัยกันแล้วด้วยซ้ำ ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า ร้านกาแฟแบบ Starbuck หรือ True Coffee เนี่ยมันมีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1473 หรือ พ.ศ. 2016 ก่อนที่ไทยเราจะเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 เสียอีก โดยร้านนี้เปิดในนครอิสตันบูล เมืองหลวงของประเทศตุรกีในปัจจุบัน โดยผู้คนที่มานั่งที่ร้านนี้ เขาจะมาสรวลเสเฮหากัน ดื่มไปคุยไป ถึงแม้ในสมัยนั้นจะไม่มี Wi-Fi แต่การแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร กันก็เกิดขึ้นในร้านแบบนี้ นอกจากร้านกาแฟแล้ว อาณาจักรออตโตมัน หรือ ตุรกีในปัจจุบันยังเป็นต้นกำเนิดของ Social Networks หลายๆ เรื่องเลยครับ ไม่ว่าจะเป็น  การสร้างรีสอร์ทริมทะเล สปา สวนสาธารณะ ถนนคนเดิน ร้านโชว์ห่วย หรือแม้แต่ตลาดกลางทางด้านการเกษตร (อ.ต.ก.) 

จากข้อมูลในปี 2009 ประชากรโลกดื่มกาแฟกันวันละ 2 พันล้านกว่าถ้วย โดยมีวิสาหกิจที่ทำมาหาเลี้ยงชีพอันเกี่ยวข้องกับกาแฟอยู่ 25 ล้านแห่ง เฉพาะในประเทศบราซิลที่เดียว มีแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการเก็บเกี่ยวกาแฟ 5 ล้านคน ซึ่งต้องดูแลต้นกาแฟที่มีมากถึง 3 พันล้านต้น ทั้งนี้การเพาะปลูกกาแฟต่างจากพืชอย่าง อ้อย หรือ มันสำปะหลัง ที่ยังต้องใช้แรงงานในการเก็บเกี่ยว และดูแลอย่างสม่ำเสมอ ยังไม่สามารถใช้เครื่องจักรกลมาทดแทนแรงงานมนุษย์ และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กาแฟไทยมีพื้นที่เพาะปลูกลดน้อยถอยลงทุกๆ ปี ผลผลิตโดยรวมของกาแฟทั่วทั้งโลกมีจำนวน 7.8 ล้านตัน (ข้อมูล 2009) โดยมีบราซิลผลิตมากที่สุดคือ 2.44 ล้านตัน เวียดนาม 1.18 ล้านตัน โคลัมเบีย 0.89 ล้านตัน อินโดนีเซีย 0.70 ล้านตัน อินเดีย 0.29 ล้านตัน สำหรับประเทศไทยเองเราเคยปลูกกาแฟได้เป็นอันดับ 3 ของอาเซียนรองจากเวียดนาม และอินโดนีเซีย อีกทั้งยังเคยเป็นประเทศส่งออกสำคัญในอาเซียน แต่ด้วยความต้องการบริโภคของคนไทยที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลัง และ พื้นที่เพาะปลูกกาแฟไทยลดลง ทำให้เรากลายเป็นประเทศนำเข้าเมล็ดกาแฟ 

แล้วค่อยคุยกันต่อในตอนต่อไปนะครับผม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น