25 มิถุนายน 2555

อาภรณ์อัจฉริยะ - Wearable Intelligence (ตอนที่ 2)


ถ้าจะถามว่า นอกจากไฟแล้วมีเทคโนโลยีอะไรอีกที่สำคัญที่สุดที่มนุษย์ได้ค้นพบ ผมก็ขอตอบว่าสิ่งนั้นคือ สิ่งทอหรือผ้า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวบนดาวเคราะห์ดวงนี้ที่รู้จักใช้สิ่งนี้ปกปิดร่างกาย และเราก็ใช้สิ่งนี้ทุกวันแบบอัตโนมัติราวกับว่าเรามีสิ่งนี้มาตั้งแต่เกิด เพราะถึงแม้เสื้อผ้าไม่ใช่สิ่งที่มีตามธรรมชาติก็ตาม แต่เราก็ใช้มันอย่างเป็นธรรมชาติ มันเป็นอุปกรณ์ชนิดเดียวที่ติดตามเราไปไหนได้ทุกที่โดยที่เราไม่ต้องหิ้วหรือถือเลย ดังนั้นในอนาคต เสื้อผ้าจะเป็นอุปกรณ์สารพัดประโยชน์ รวมทั้งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญที่สุด ใช้มากที่สุด และมีประโยชน์ที่สุดสำหรับมนุษย์เลยทีเดียว ทุกวันนี้ ถึงแม้เราจะมีโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน ที่เราถือติดตัวไปไหนมาไหนได้ทุกที่ เจ้าโทรศัพท์นี้มีความสามารถขั้นเทพเสมือนเป็นคอมพิวเตอร์ประจำตัวของเรา จนบางคนเรียกว่า นี่คือยุคของ Ubiquitous Computing หรือ การประมวลผลแบบทุกหนทุกแห่ง หรือบางคนก็เรียกว่าเป็นยุคของ Pervasive Computing หรือ การประมวลผลแบบทุกหย่อมหญ้า อย่างไรก็ตามโทรศัพท์มือถือก็ใช่ว่าจะติดตามเราไปได้ทุกที่ เพราะเราอาจจะเผลอลืมไว้ที่ร้านอาหาร หรือ ทำมันตกลงไปในโถส้วมก็ได้ .... ต่างจากเสื้อผ้า ที่มันติดตามเราไปเหมือนเงาตามตัว โดยที่เราไม่เคยลืมมันไว้ที่ไหนเลย ดังนั้น การมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือประมวลผลไว้ในเสื้อผ้า หรือในสิ่งที่สวมใส่ (Wearable Computing) นี่สิถึงจะเรียกว่าระดับเทพจริงๆ

ไม่มีหลักฐานอย่างชัดเจนว่าการทอผ้าเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อใด การค้นพบเส้นด้ายในถ้ำแห่งหนึ่งในประเทศจอร์เจียบ่งชี้ถึงอายุของเส้นด้ายว่ายาวนานถึง 34,000 ปีก่อนคริสตกาล ในอดีตกาล ผ้าทอเป็นเครื่องแสดงถึงฐานะและชนชั้น ในสมัยพุทธกาล การนำผ้าเนื้อดีถวายแด่พระพุทธองค์เป็นขัตติยะราชประเพณีของกษัตริย์ในแคว้นต่างๆ ของชมพูทวีป เนื่องจากเป็นทานที่มีอานิสงส์สูง แม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ ประเพณีการแต่งงานของคนไทยเราเองก็ยังต้องมี “ผ้าไหว้” เพื่อเป็นของกำนัลแก่ผู้หลักผู้ใหญ่

ผ้าทอโบราณเป็นสิ่งที่แสดงถึงอัตลักษณ์และอดีตกาลของแต่ละชาติพันธุ์ที่ยังสืบทอดมาถึงทุกวันนี้ สำหรับบางชาติพันธุ์ที่ไม่เคยจารึกประวัติศาสตร์ใดๆไว้บนหลักศิลาเลย ความเป็นไปของชนเหล่านั้นก็ยังสืบสายได้บนลายผ้า ทั้งนี้เพราะลายผ้าทอของชนเผ่าต่างๆ เปรียบเสมือนดีเอ็นเอที่เก็บข้อมูลสำคัญของชนเผ่านั้น และถ้าหากเราวิเคราะห์ลายผ้าเหล่านั้นด้วยหลักคณิตศาสตร์ ก็จะสามารถเชื่อมโยงความเกี่ยวข้องระหว่างชนชาติต่างๆได้ ทั้งนี้เพราะลายผ้าทอของชนเผ่าต่างๆ ได้ทำหน้าที่เป็นเสมือนฮาร์ดดิสก์หรือศิลาจารึกที่เก็บข้อมูล ความเป็นมาของเผ่าพันธุ์และสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้

ตัวอย่างที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงคือผ้าทอโบราณของเปรู ซึ่งมีการขุดค้นพบในหลุมฝังศพซึ่งเก็บรักษาไว้ค่อนข้างดี ชนเผ่าโบราณนี้แทบจะไม่ทิ้งหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรเอาไว้เลยยกเว้นลายผ้าทอ ลายผ้าทอของชนเผ่านี้มีสมมาตรแบบฟรีซ (Frieze Symmetries) ซึ่งแยกออกเป็นหมวดหมู่ได้ 7 แบบ ทำให้สามารถสร้างลายผ้าได้หลากหลายมากมาย ตัวอย่างนี้ก็ได้แสดงถึงภูมิปัญญาทางด้านคณิตศาสตร์ของคนยุคนั้น ซึ่งแฝงไว้ในลายผ้าทอ โดยสมมาตรแบบฟรีสที่พบในลายผ้าทอนี้ ทำให้ผ้าทอชนิดนี้มีลายที่เหมือนเงาในกระจกระหว่างด้านทั้งสองของผ้า ซึ่งก็ทำให้สามารถสร้างลวดลายที่ซับซ้อนสวยงามได้หลากหลาย ไม่ว่าลายที่กลับซ้ายไปขวา กลับบนกลับล่าง การซ้อนกันเมื่อหมุนครึ่งรอบ เป็นต้น โดยการใช้ลูกเล่นของเส้นด้ายที่ต่างสีกันตั้งแต่ 2 ถึง 4 สี

ยังมีตัวอย่างอัจฉริยภาพในการเก็บข้อมูลสารสนเทศในลายผ้าอีก ครั้งหน้าเรามาคุยต่อนะครับ .....


** โครงการ Wearable Intelligence ได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ **


2 ความคิดเห็น: