19 มิถุนายน 2555

Intelligent Battlefield - เทคโนโลยีสนามรบอัจฉริยะ (ตอนที่ 12)


กล่าวกันว่าเมื่อสหรัฐอเมริกาถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานในอีก 2 ปีข้างหน้า  อเมริกาจะยังเฝ้ามองอัฟกานิสถานจากระยะไกล ด้วยการฝังเซ็นเซอร์ตามจุดอ่อนไหวต่างๆ ทั่วชนบทของอัฟกานิสถาน แนวเขาและชายแดนที่เคยใช้เป็นเส้นทางของผู้ก่อการร้ายจะถูกตรวจวัดโดยเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สาย (wireless sensor networks) เซ็นเซอร์ที่มีขนาดเล็ก และพรางตัวให้เหมือนหิน จะตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนซึ่งทำให้รู้ว่ามีกองกำลังเดินทางเคลื่อนที่ผ่านมาหรือไม่ บางจุดอาจจะมีการติดกล้องขนาดจิ๋วเพื่อถ่ายภาพ คาดกันว่าอาจมีการวางเซ็นเซอร์เหล่านี้หลายหมื่นตัว เป็นเครือข่ายไร้สายขนาดใหญ่ที่จะเป็นมรดกชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งที่อเมริกาจะทิ้งไว้ให้อัฟกานิสถาน เครือข่ายเซ็นเซอร์เหล่านี้จะส่งข้อมูลผ่านกันเป็นทอดๆ โดยข้อมูลสามารถส่งมาที่เพนทากอน หรือ กองเรือสหรัฐฯ ที่ประจำการในมหาสมุทรอินเดีย ผ่านดาวเทียม หรือ อากาศยานสอดแนม ทำให้อเมริกายังคงมีตาทิพย์ที่จะตรวจความเป็นไปในพื้นที่เหล่านั้นอยู่

ถึงแม้ อเมริกาจะมีเทคโนโลยีสอดแนมจากบนฟ้าหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นดาวเทียมสอดแนม อากาศยานไร้นักบิน (UAV) แต่เทคโนโลยีเหล่านั้นก็มีขีดจำกัดหลายๆ อย่าง เช่น ดาวเทียมมีวงโคจรและคาบเวลาที่เป็นไปตามกฏฟิสิกส์ อีกทั้งยังอาจประสบอุปสรรคจากสภาพอากาศเลวร้ายได้ ทั้งดาวเทียมและเครื่องบินสอดแนมไม่สามารถจะเฝ้าดูพื้นที่เป้าหมายได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เหมือนพวกเซ็นเซอร์บนพื้นดิน (ในทางทหาร เรียกเซ็นเซอร์เหล่านี้ว่า Unattended Ground Sensors) เซ็นเซอร์พวกนี้ติดตั้งไว้ แล้วก็ลืมได้เลย ไม่ต้องมาดูแลอะไรอีก เมื่อมันจับสัญญาณที่เราสนใจได้ มันก็จะเก็บข้อมูลแล้วส่งข้อมูลมาให้เอง ปกติเซ็นเซอร์พวกนี้จะนอนหลับเพื่อเก็บพลังงานเอาไว้ใช้ยามจำเป็น แต่พวกมันจะคอยเงี่ยหูฟังอยู่เรื่อยๆ เมื่อมันตรวจเจอสิ่งผิดปกติ มันจะตื่นขึ้นมาเต็๋มที่เพื่อเก็บข้อมูล จากนั้นมันจะส่งข้อมูลไปยังศูนย์ข้อมูล การที่เซ็นเซอร์พวกนี้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการนอน ทำให้มันประหยัดพลังงานได้ กองทัพสหรัฐฯ คาดหวังว่า เซ็นเซอร์ที่นำไปติดตั้งในอัฟกานิสถานนั้นจะมีอายุการใช้งานไปได้ 10 - 20 ปีเลยทีเดียว
ก่อนหน้านี้ในสมัยสงครามเวียดนาม กองทัพสหรัฐฯ เคยทิ้งเครือข่ายเซ็นเซอร์จำนวนมาก ทางชายแดนตอนใต้ของประเทศลาว เซ็นเซอร์ที่ถูกทิ้งลงมาจะปักลงไปใต้ดิน แล้วโผล่มาแค่เสาอากาศซึ่งถูกออกแบบให้มีลักษณะคล้ายวัชพืช มันจะมีเซ็นเซอร์ตรวจวัดเสียงและแรงสั่นสะเทือนบนพื้นดิน ซึ่งสามารถตรวจการเคลื่อนไหวของพาหนะในระยะ 1 กิโลเมตร และการเคลื่อนของกำลังพลในระยะ 400 เมตร เมื่อกองทัพเวียดนามเคลื่อนที่ผ่านตามเส้นทางโฮจิมินห์ลงมา มันจะตรวจวัดและส่งข้อมูลกลับไปยังศูนย์ข้อมูล ซึ่งนำมาสู่การทิ้งระเบิดปูพรมในบริเวณนั้น ในช่วงสงครามเวียดนาม กองทัพสหรัฐฯ ได้ใช้ประโยชน์จากเซ็นเซอร์เหล่านี้สำหรับการเตือนล่วงหน้าถึงการเคลื่อนทัพของข้าศึก มีการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดรอบๆ ฐานทัพที่สำคัญ ทำให้ทหารสหรัฐฯ สามารถป้องกันฐานที่มั่นได้หลายๆ ครั้ง จากการยิงหวังผลที่แม่นยำด้วยข้อมูลที่ส่งมาจากเซ็นเซอร์ ในปัจจุบันกองทัพสหรัฐฯ ได้ติดตั้งเครือข่ายเซ็นเซอร์ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเดิมมาก ไว้จำนวนนับหมื่นอัน รอบๆ ฐานที่มั่นในอิรักและอัฟกานิสถาน

ครั้งหน้ามาคุยเรื่องนี้กันต่อนะครับ .....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น