28 มิถุนายน 2554

โอบามาทุ่ม 15,000 ล้านบาท วิจัย Advanced Manufacturing Initiative



เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีโอบามาได้เดินทางไปเยี่ยมชม มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน (Carnegie Mellon University) ซึ่งมหาวิทยาลัยนี้มีชื่อเสียงในเรื่องของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และยังเป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยหุ่นยนต์แห่งชาติ (National Robotics Engineering Center) อีกด้วย ทั้งนี้มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้รับงบประมาณจำนวนมากจากเพนทากอน ในการพัฒนาระบบหุ่นยนต์สำหรับการทหาร มีโครงการวิจัยระดับแนวหน้ามากมาย ประธานาธิบดีได้มีเซอร์ไพรซ์สำหรับนักข่าวด้วยการเปิดตัวโครงการใหม่ สำหรับสนุนการวิจัยเทคโนโลยีผลิตกรรมสำหรับยุคอนาคตที่มีชื่อ Advanced Manufacturing Partnership ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 15,000 ล้านบาท

โครงการ Advanced Manufacturing Partnership จะเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกลางสหรัฐ ภาคอุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัยในการวิจัยเทคโนโลยีใหม่ที่จะบูรณาการศาสตร์ทางด้านไอที เทคโนโลยีชีวภาพ และนาโนเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาระบบการผลิตแบบใหม่ วัสดุแบบใหม่ เพื่อที่จะปฏิรูปการผลิตของสหรัฐฯ ให้มีความทันสมัยล้ำยุคกว่าใคร

ผู้ที่เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยนี้ นายโอบามาได้มอบหมายให้ Mr. Andrew Liveris ซึ่งเป็นประธานบริษัทดาวเคมีคอล (Dow Chemical) และ Ms. Susan Hockfield อธิการบดีของสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาจูเซตต์ (MIT) โดยเบื้องต้นจะมีมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของอเมริกามาเข้าร่วมหลายแห่งได้แก่ MIT มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน สถาบันเทคโนโลยีแห่งจอร์เจีย มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบอร์คลีย์ และมหาวิทยาลัยมิชิแกน ส่วนบริษัทที่เข้าร่วมก็มี แคเตอร์พิลลา ฟอร์ด คอร์นนิง ดาว ฮันนีเวลล์ อินเทล จอห์นสัน นอร์ทรอป กรัมแมน (บริษัทผลิตอาวุธ) พอร์คเตอร์แอนด์แกมเบิล สไตรเกอร์

เนื้อหาวิจัยที่โครงการนี้จะเน้นเป็นพิเศษได้แก่เรื่องของ

- การสร้างศักยภาพแก่อุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ โดยหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กระทรวงความมั่นคงภายใน กระทรวงกลาโหม กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ จะเข้ามาร่วมกำหนดโจทย์การวิจัย ตัวอย่างเช่น เรื่องของแบตเตอรีความจุสูง นาโนคอมพอสิต การประกอบขึ้นรูปโลหะ การผลิตทางชีวภาพ พลังงานทางเลือก เป็นต้น

- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการออกแบบวัสดุก้าวหน้า (Advanced Materials) ด้วยการย่นระยะเวลาของกระบวนการที่ใช้ในการออกแบบวัสดุไปจนถึงการผลิตใช้จริง การพัฒนาซอฟต์แวร์ การทำฐานข้อมูล และการ screening การทดลองเพื่อค้นหาวัสดุ

- การพัฒนาหุ่นยนต์ยุคต่อไป ให้สามารถทำงานเคียงข้างมนุษย์ ทั้งงานในโรงงาน งานโรงพยาบาล งานในสนามรบ การผ่าตัด ไปจนถึงงานในอวกาศ

- การพัฒนาระบบผลิตที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมทั้งการยกเครื่องระบบการผลิตแบบเก่า ให้ประหยัดพลังงานมากขึ้นด้วย

เห็นแล้วก็อิจฉานะครับที่ประธานาธิบดีของเขา เอาเงินวิจัยมาแจกให้ถึงในมหาวิทยาลัยเลย .....

1 ความคิดเห็น: