28 พฤษภาคม 2554

Avatar - กายอวตาร (ตอนที่ 6)


ในภาพยนตร์เรื่อง Avatar นั้น พระเอกของเรื่องสามารถใช้สมองควบคุมร่างกายอื่นจากระยะไกลได้ เสมือนว่าผู้บังคับหรือขับขี่ร่างกายนั้น ได้เข้าไปสิงสู่ในร่างนั้นจริงๆ โดยสามารถที่จะใช้ร่างนั้น เดิน เหิร ไปไหนมาไหนได้ดั่งใจ ที่สำคัญ ยังสามารถใช้ร่างดังกล่าว เรียนรู้ จดจำ และทำสิ่งใหม่ๆ ที่ร่างมนุษย์เดิมนั้นมิอาจทำได้ ในตอนจบของภาพยนตร์เรื่องนี้ ตัวพระเอกของเรื่องถึงกับทิ้งร่างมนุษย์ที่ทุพพลภาพ ไปอยู่ในร่างใหม่ได้อย่างเหลือเชื่อ

ในช่วง 4-5 ปีมานี้ ได้มีความสนใจเป็นอย่างมากในวงการวิทยาศาสตร์ ที่ต้องการให้มีการเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับร่างกายและจิตใจ กับศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับหุ่นยนต์และจักรกลต่างๆ (Mind and Machine Interaction) โดยมีความพยายามที่จะนำเอาสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างความรู้สึกนึกคิด จิตใจ อารมณ์ เข้าไปใส่ในหุ่นยนต์ เพื่อทำให้หุ่นยนต์มีความคิดจิตใจเหมือนมนุษย์ ในระยะหลังๆ ยิ่งไปกันใหญ่ ไปกันถึงขนาดที่จะ upload จิตใจของมนุษย์เราจากร่างกายเนื้อ ไปสู่ร่างกายใหม่ที่เป็นหุ่นยนต์ เพื่อที่เราจะได้มีชีวิตอย่างอมตะ ไม่แก่ ไม่เฒ่า ไม่เจ็บ ไม่ตาย เพราะร่างกายที่เป็นจักรกลนี้สามารถเปลี่ยนอะไหล่ใหม่ได้ทุกชิ้น

ในระยะหลังๆ เราจึงเริ่มเห็นนักวิทยาศาสตร์ชาติตะวันตกหันมาศึกษาเรื่องของจิตใจมากขึ้น หลายๆครั้งก็แอบมาศึกษาตำราทางพุทธศาสนา และนำไปใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างโมเดลต่างๆ เพื่ออธิบายสิ่งที่เป็นนามธรรมหลายๆ อย่าง เช่น เรื่องของสติ (conciousness) ความรู้สึกมีอยู่หรืออัตตา (meta-awareness) เป็นต้น (หมายเหตุ: พุทธศาสนาพยายามสอนให้เห็นว่าตัวตนของเราเป็นอนัตตานะครับ ว่าเราไม่ใช่ตัวตน ไม่มีตัวตน แต่นักวิทยาศาสตร์พยายามเอาความเป็นตัวตนไปใส่ในหุ่นยนต์ คิดดูแล้วก็แปลกดี)

คำถามสำคัญของผู้คนที่ยังเคลือบแคลงในเรื่องความเป็นไปได้ของกายอวตารนี้ก็คือ เมื่อเรา upload จิตใจของเราจากกายเนื้อที่เราอาศัยอยู่นี้ ไปยังกายใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นกายเนื้อ (Biological Body) หรืออาจเป็นกายจักรกล (Mechanical Body) หรืออาจเป็นกึ่งจักรกล (Bionic body) ก็ตามที ร่างใหม่ของเราที่เกิดขึ้นนี้โดยมีจิตใจของเราที่ถูก copy ไปใส่นี้ จะยังเป็นตัวเราอยู่หรือป่าว หรือเป็นเพียง copy หนึ่งของเรา ร่างเก่าที่มีจิตของเราสิงอยู่นั้นก็ยังคงอยู่ และรอวันตายลงไปเอง แล้วเราจะยอม shutdown ร่างกายเดิมหรือไม่ เพื่อให้ร่างกายใหม่ที่มีจิตของเราสิงสถิตย์อยู่นั้นได้ทำงานของมันอย่างเต็มที่

ที่เราคิดมากในเรื่องนี้ก็เพราะอะไรล่ะครับ ก็เพราะตัวเราคุ้นเคยอยู่กับสิ่งที่เป็นตัวตนเดียวเท่านั้น เช่น ตัวเราต้องมีแค่คนเดียว หรือมีเพียง copy เดียวเท่านั้น การอยู่รอดของเราก็คือการที่ตัวตนของเรานี้อยู่รอด เราจึงยังไม่อาจยอมรับได้กับการที่ถ้าจะมีใครก็ตามที่เหมือนเราเปี๊ยบทั้งฮาร์ดแวร์ (ร่างกาย) และซอฟต์แวร์ (จิตใจ) ที่จะสืบทอดทุกอย่างไปกับเรา ทั้งนี้เพียงเพราะว่าเรายังไม่คุ้นเคยกับมัน ก็เท่านั้นเอง ทุกวันนี้เราอาศัยการสืบทอดมรดกทางจิตวิญญาณของเรา สิ่งที่เราคิดอยากจะทำแต่ไม่ได้ทำ ผ่านไปยังลูกหลานของเรา เราทำได้แค่นั้น แต่บุคคลเหล่านั้นเค้าไม่ใช่ตัวเรา พวกเขาไม่มีทางทำได้เหมือนกับเราถ่ายทอดให้ใครสักคนที่เหมือนเราทุกประการไปทำหรอกครับ

จริงๆ แล้วในความเชื่อตามลัทธิพราหมณ์นั้น เทพเจ้ายังสามารถมีได้หลายร่าง หลายรูปแบบ ที่เรียกว่าอวตาร เช่น พระนารายณ์ นั้นสามารถแบ่งตนออกได้เป็น 3 คือ พระพรหม พระวิษณุ และ พระศิวะ ซึ่งมีหน้าที่สร้าง ดูแล และทำลาย ตามลำดับ ตัวของพระวิษณุเองสามารถที่จะอวตารออกเป็นปางต่างๆ นับจำนวนไม่ถ้วน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่างๆ แต่ถ้านับปางที่มีจุดประสงค์เพื่อมาช่วยเทวดา และมนุษย์โลกนี้มีทั้งหมด 25 ปาง แต่ปางที่ถือเป็นปางที่สำคัญที่สุดมี 10 ปาง ซึ่งทำให้ผมเห็นว่า การที่มนุษย์ธรรมอย่างพวกเราจะสามารถมีกายอวตารได้ ด้วยความช่วยเหลือจากเทคโนโลยีสมัยใหม่นั้น เป็นสิ่งที่อาจมีได้ และยอมรับได้ครับ

ว่างๆ เราจะมาคุยเรื่องนี้กันต่อครับ ......

3 ความคิดเห็น: