15 มีนาคม 2554

Connectome - คอนเน็คโทม (ตอนที่ 1)



ในช่วงที่ผมเริ่มทำวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1995 หรือประมาณ 15 ปีที่แล้ว เป็นช่วงแรกๆ ที่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเพิ่งจะเริ่มมีคนพูดถึงคำว่า นาโนเทคโนโลยี กันมากขึ้นเรื่อยๆ แต่คนไทยเองนั้นก็ยังไม่รู้จักคำว่านาโนเทคโนโลยีกันเท่าไหร่นัก ผมเคยพูดๆไว้กับเพื่อนๆว่า คอยดูนะต่อไปไม่เกิน 10 ปี ศาสตร์ทางด้านนี้จะบูมและจะมีการทำวิจัยกันทั่วโลก ถ้าอยากได้ทุนวิจัยก็รีบๆ มาทำความรู้จักศาสตร์ด้านนี้ไว้นะ ต่อจากนั้น ในที่สุดประเทศไทยก็ก่อตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติในปี ค.ศ. 2003 มีการให้ทุนวิจัยทางด้านนี้มากมาย นักวิจัยชาวไทยก็แห่มาทำวิจัยทางด้านนี้กันขนานใหญ่ เพราะมีเงินทุนวิจัยหลั่งไหลเข้ามามากมาย

ในช่วงนั้น ... ผมเริ่มมองหาศาสตร์ใหม่ๆ เพื่อหนีออกไป ช่วงนั้น เพื่อนฝูงถามผมว่าหลังยุคนาโนจะมีอะไรมาอีก ... ผมบอกกับเพื่อนๆ ว่า ยังมีเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง ที่เป็นความลับมานานแสนนาน ยังมีคนทำทางด้านนี้น้อย แต่เป็นศาสตร์เปลี่ยนโลกเลยแหล่ะ นั่นคือเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับจิตใจ (Mind Sciences) ซึ่งปัจจุบันเราทำได้แค่เพียงการปะติดปะต่อความรู้ที่เป็นชิ้นเล็กๆ เข้าด้วยกันเท่านั้น แต่ความรู้ที่เพิ่มขึ้นเพียงนิดหน่อยในศาสตร์ทางด้านนี้ อาจมีประโยชน์มหาศาลในการพัฒนาเทคโนโลยีเลยทีเดียว ไม่เหมือนงานทางด้านนาโนเทคโนโลยี ที่การตีพิมพ์ผลงานวิชาการ 1 เรื่อง แทบจะไม่มีผลต่อการเพิ่มพูนประโยชน์อะไรนัก ... แต่การไขปัญหา 1 เรื่องที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์จิตใจ 1 เรื่อง จะมีผลกระทบตามมาอีกมากมายเลย

วิทยาศาสตร์ปัจจุบัน นับตั้งแต่ยุคของนิวตันเมื่อเกือบ 400 กว่าปีที่แล้ว แยกจิตใจออกจากวัตถุ (Mind vs Matter) ตลอดระยะเวลา 400 ปีนี้ พวกเราพัฒนาความรู้และศาสตร์ต่างๆ ตลอดจนเทคโนโลยีมากมาย บนพื้นฐานของแนวคิดนี้ เราแยกซอฟต์แวร์ กับ ฮาร์ดแวร์ ออกจากกัน แต่ในช่วง 20 ปีหลังมานี้ เราถึงเริ่มประจักษ์แจ้งว่า ปรากฎการณ์หลายอย่างที่เกี่ยวกับจิตใจ มันมีความเชื่อมโยงกับร่างกายที่เราอาศัยอยู่ (Mind-Body Interactions) โดยความรู้แบบแยกส่วนที่เรามีอยู่เดิมมันให้คำตอบดีๆ แก่เราไม่ได้

ยิ่งในระยะหลังๆ เราเริ่มพัฒนาหุ่นยนต์ หรือระบบออโตเมชั่นต่างๆ โดยต้องการใส่ปัญญา (Intelligence) เข้าไปในระบบเหล่านั้น เราก็เริ่มตระหนักว่าความเข้าใจในเรื่องความคิด (Thought) จิตใจ (Mind) อารมณ์ (Emotion) ความรู้สึก (Feeling) ความระลึกรู้ (Conciousness) เป็นสิ่งที่ยังรู้น้อยมากๆ เรายังขาดโมเดลที่ใช้อธิบายการทำงานของกระบวนการเหล่านี้ ที่ผ่านมา การพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีความรู้สึกแบบเดียวกับมนุษย์ก็จะติดขัดที่ปัญหาของโมเดลที่แหล่ะครับ ทั้งๆ ที่เราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่ตรวจจับสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นผิวหนังประดิษฐ์ (Electronic Skin) จมูกอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Nose) ระบบมองเห็นภาพ (Machine Vision) สำหรับหุ่นยนต์ได้อย่างก้าวหน้าแล้วก็ตาม แต่กระบวนการของการประมวลความรู้สึกภายในนี่สิครับ เรายังมีความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์น้อยมากๆ (ในพุทธศาสนามีการบรรยายเรื่องกระบวนการประมวลผลสัมผัสได้อย่างละเอียดมาก เรียกว่าวงจรปฏิจจสมุปบาท) จนทำให้เรายังไม่สามารถสร้างหุ่นยนต์ที่มีกระบวนการคิด หรือกระบวนการใช้ปัญญาให้เหมือนมนุษย์ได้

นี่แหล่ะครับ คือศาสตร์ที่ผมคิดว่าจะครองศตวรรษที่ 21 ... น่าเสียดายที่ประเทศไทยแทบจะไม่มีนักวิทยาศาสตร์ทางด้านนี้เลย และมีโอกาสที่เราจะตกรถขบวนนี้ เมื่อลองคิดเล่นๆ ว่าในอนาคตอีก 20-30 ปีข้างหน้า สิ่งของที่อยู่รอบๆ ตัวเราจะประกอบด้วยหรือทำงานด้วยสมองประดิษฐ์ (Artificial Brain) ที่ทำงานเหมือนมีจิตใจกันหมด ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ บ้าน ทีวี ตู้เย็น ทางหลวง สะพาน เราจะต้องอาศัยอยู่ในโลกของสภาพล้อมรอบอัจฉริยะ (Ambient Intelligence) แต่ประเทศเรากลับยังไม่ค่อยตระหนักในเรื่องนี้เท่าไรเลยครับ

จริงๆ แล้ววันนี้ ผมยังไม่ได้เข้าเรื่อง Connectome เลยครับ แค่มาเกริ่นๆ คร่าวๆ เท่านั้นว่า ศาสตร์ทางด้าน Connectome นี่แหล่ะครับ ที่จะเป็นประตูเข้าไปสู่ความเข้าใจที่มากขึ้นในเรื่องจิตใจของเรา เป็นครั้งแรกในรอบ 2500 กว่าปีภายหลังจากองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ค้นพบความรู้ทางด้านนี้ ที่มนุษย์รุ่นหลังจะเริ่มเข้าไปทำความเข้าใจจากอีกมุมมองหนึ่งว่า พระองค์ได้ค้นพบอะไร ....

แล้วมาคุยกันต่อในตอนต่อๆ ไปครับ ....

(ภาพบน - เป็นภาพโมเดลที่อธิบายความเชื่อมโยงของเส้นใยประสาทในสมองมนุษย์)

2 ความคิดเห็น:

  1. ถ้าคนไทยมีความคิดดีดีแบบ อาจารย์และนำมาพัฒนาบ้านเมือง บ้านเราคงเจริญรุ่งเรืองเป็นเมืองเกษตรที่สมบูรณ์น่ะค่ะ
    ขอบคุณบทความดีดี ที่อาจารย์เอามาแบ่งปันค่ะ

    ตอบลบ