12 มีนาคม 2554

Intelligent Battlefield - เทคโนโลยีสนามรบอัจฉริยะ (ตอนที่ 8)



ในปี พ.ศ. 2308 กองทัพพม่าภายใต้การนำของเนเมียวสีหบดี ได้ยกทัพมาตั้งในเขตเมืองวิเศษชัยชาญ (จ. อ่างทอง ในปัจจุบัน) เพื่อรวบรวมอาหารและไพร่พลเตรียมเข้าตีกรุงศรีอยุธยา ระหว่างนั้น นายจันหนวดเขี้ยว นายโชติ นายดอก นายทองแก้ว นายทองเหม็น นายทองแสงใหญ่ นายแท่น นายเมือง พันเรือง ขุนสรรค์ และนายอิน ได้เป็นหัวหน้ารวบรวมชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงตั้งค่ายต่อสู้พม่าที่บ้านบางระจัน โดยมีพระอาจารย์ธรรมโชติเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิทยาคมบำรุงขวัญเหล่านักรบ ชาวบ้านบางระจันได้ทำทุกวิถีทางในการต่อต้านพม่า จนได้ชัยชนะในการรบถึง 7 ครั้ง แม้ในที่สุดค่ายบางระจันจะถูกตีแตกเพราะมีกำลังรบน้อยกว่าฝ่ายศัตรูมาก แต่การต่อต้านของชาวบางระจัน ก็เป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจในการกู้ชาติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในเวลาต่อมา

ในช่วงเวลาระหว่างรบ ชาวบ้านบางระจันได้เปลี่ยนบริเวณค่ายบางระจัน ให้เป็นพื้นที่ผลิตกรรม (Manufacturing) ไม่ว่าจะเป็นการปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ ตีเหล็ก การผลิตยุทโธปกรณ์ต่างๆ ไปจนถึงการหล่อปืนใหญ่ ก็กระทำกันในที่รบทั้งสิ้น ทำให้ชาวบ้านบางระจันสามารถยืนหยัดต่อสู้กับทัพพม่าที่มีกำลังมากกว่าได้ การสร้างผลิตกรรมต่างๆ ในสมรภูมิรบทำให้ชาวบ้านบางระจันสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ ว่าตอนนี้ต้องการอะไร เพื่อใช้ทำอะไร ค่ายบางระจันจึงสามารถปรับเปลี่ยนยุทธวิธีได้ตลอดเวลา ตามความจำเป็น ซึ่งมีผลทำให้ได้รับชัยชนะเหนือทัพพม่าถึง 7 ครั้ง

เมื่อประมาณสัปดาห์ที่แล้ว ราชนาวีสหรัฐฯ ได้ประกาศรับข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการทหาร ซึ่งได้ประกาศหัวข้อที่กองทัพสนใจออกมาจำนวนกว่า 39 หัวข้อ เช่น การพัฒนาเรดาห์ขนาดเล็ก แบตเตอรีแบบฟิล์มบาง ระบบเซ็นเซอร์ใต้น้ำ เทคโนโลยีไมโครกริด (ระบบนำส่งกระแสไฟฟ้าสำหรับสนามรบ) เป็นต้น แต่ที่ผมอยากนำมากล่าวในวันนี้เป็นหัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ และอาจจะทำให้รูปแบบการรบในอนาคตเปลี่ยนไป หัวข้อนั้นมีชื่อว่า Desktop Manufacturing with Micro-robot Swarm ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้สนามรบสามารถผลิตสิ่งของเพื่อใช้ในการสู้รบ ในระหว่างการรบได้ ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่ชาวบ้านบางระจันเคยใช้ในการยุทธ์อย่างประสบความสำเร็จเมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว

ประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการหัวข้อนี้ มีเนื้อหาว่าต้องการให้คณะวิจัยทำการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตวัสดุหรืออุปกรณ์ต่างๆ โดยการใช้หุ่นยนต์ขนาดเล็กๆ ที่สามารถทำงานเป็นฝูง เพื่อสังเคราะห์วัสดุ สร้างชิ้นส่วนต่างๆ และประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เหล่านั้นขึ้นเป็นอุปกรณ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยหุ่นยนต์เล็กๆ เหล่านั้นแต่ละตัวอาจจะทำงานง่ายๆ ไม่ต้องฉลาดมากนัก แต่สามารถทำงานประสานงานกันเป็นทีมขนาดใหญ่ได้ จนสามารถที่จะทำงานที่ซับซ้อนมากๆ ได้ โดยระบบผลิตนี้ จะมีขนาดไม่ใหญ่โตอะไรนัก สามารถบรรจุระบบทั้งหมดลงบนโต๊ะได้ หรือที่เรารู้จักกันในนามของ Desktop Manufacturing นั่นเองครับ

ตอนนี้หัวข้อ Desktop Manufacturing กำลังเป็นที่สนใจในวงการเทคโนโลยีทั่วโลก และเทคโนโลยีหนึ่งที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ และถือว่าเป็นเทคโนโลยีก่อกำเนิดของระบบผลิตแบบตั้งโต๊ะนี้ก็คือ Printed Electronics หรือ Printed Manufacturing ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการผลิตสิ่งของด้วยการใช้วิธีการพิมพ์ ซึ่งผมมักจะกล่าวถึงอยู่บ่อยๆ ในบล็อกนี้นั่นเองครับ .....

4 ความคิดเห็น: