16 ธันวาคม 2553

Making Things Love - ทำโลกนี้ให้มีแต่รัก (ตอนที่ 1)


ต้องขอโทษด้วยครับ ที่ห่างหายไปจากบล็อกมานานนับเดือนเลยครับ ช่วงที่ผ่านมาตัวผมเองมีปัญหาบางอย่างที่ต้องแก้ไข จนไม่สามารถปันเวลามาแตะเรื่องนี้เลย แต่ว่า ... ตั้งแต่วันนี้ไปวิกฤตนั้นก็ได้ผ่านพ้นไปแล้วครับ ก็จะกลับมาบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจในโลกของเทคโนโลยีระดับก้าวหน้ากันเช่นเคย ที่นี่ครับ ....

ในระยะหลังๆ ผมได้นำเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ของการรับรู้ (Cognitive Science) วิทยาศาสตร์จิตใจ (Mind Science) เรื่องของเทคโนโลยีในการรับรู้ลักษณะอารมณ์ การโมเดลอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ มาเล่าให้ฟังบ่อยๆ ส่วนหนึ่งมาจากความสนใจของผมเอง ที่กำลังศึกษาค้นคว้าในเรื่องนี้อยู่ และได้เริ่มทำวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไปบ้างแล้วครับ เพราะในอนาคตอันใกล้นี้ เทคโนโลยีเหล่านี้จะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันจะเป็นตัวเชื่อมและเปิดรอยต่อ พรมแดนที่เคยขวางกั้นระหว่างโลกของวัตถุและโลกของจิตใจ (Mind and Matter Interface) ซึ่งจะมีประโยชน์มากมายมหาศาลทั้งในด้านการบันเทิง การแพทย์ ยานยนตร์ การทหาร จริงๆ แล้ว หากถามว่านอกจากปัจจัยสี่แล้ว มนุษย์ต้องการอะไรอีก ผมก็จะตอบทันทีเลยว่า ก็ความสุขสนุกสนานไง และเทคโนโลยีเหล่านี้นี่เอง จะเป็นสิ่งที่สร้างรายได้ให้แก่ผู้ครอบครองมหาศาล

เมื่อปี ค.ศ. 2006 ศาสตราจารย์มาร์วิน มินสกี้ (Marvin Minsky) แห่ง MIT ได้เปิดตัวหนังสือเล่มหนึ่งออกมาที่มีชื่อว่า The Emotion Machine หนังสือเล่มนี้ได้เปิดแนวคิดเกี่ยวกับความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของมนุษย์ ว่าเป็นกระบวนการทำงานของสมอง ที่มีขั้นตอนต่างๆ ที่แน่นอนชัดเจน นั่นคือ ความรู้สึกของมนุษย์อย่างหนึ่งอย่างใด ประกอบด้วยกระบวนการทำงานของเครือข่ายประสาทหลายขั้นตอน โดยขั้นตอนแต่ละขั้นตอนเหล่านั้น น่าจะสามารถจำลองหรือสร้างขึ้นมาบนจักรกลได้ และนี่ก็จะนำไปสู่การสร้างอารมณ์ประดิษฐ์ หรือ ความรู้สึกประดิษฐ์ ให้เกิดขึ้นบนจักรกลได้เช่นกัน

ว่ากันว่า คนที่จะเขียนหนังสือเกี่ยวกับจิตใจคนได้นั้น มีอยู่เพียง 3 จำพวกเท่านั้นก็คือ (1) นักปรัชญวิทยา หรือ นักจิตวิทยา (2) นักประสาทวิทยา และ (3) นักคอมพิวเตอร์ศาสตร์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ศาสตราจารย์มินสกี้ท่านเป็นศาสตราจารย์ทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ ท่านเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกวงการปัญญาประดิษฐ์ที่มีชื่อเสียงมากเลยครับ นอกจากนั้นท่านยังเป็นอาจารย์ของ Eric Drexler ซึ่งเป็นบุคคลที่สำคัญมาก ต่อวงการนาโนเทคโนโลยี เพราะคนๆ นี้ก็คือคนที่รณรงค์ให้เกิดกระแสของนาโนเทคโนโลยีจนแพร่กระจายไปทั่วโลก

หนังสือเล่มนี้ได้อธิบายเรื่องของ สติ สามัญสำนึก (Common Sense) ความคิด อารมณ์ อย่างง่ายๆ ว่าเป็นกระบวนการในสมองหลายๆ ขั้นตอนมาทำงานร่วมกัน กระบวนการเหล่านี้เองที่เป็นตัวต่อ (Building Blocks) เพื่อสร้างความคิด หรือสภาวะอารมณ์ที่ซับซ้อน ซึ่งหากเราเข้าใจตัวต่อเหล่านี้ เราก็อาจจะจำลองความรู้สึก และอารมณ์ขึ้นมาได้บนจักรกล รวมไปถึงเรื่องของความรักด้วย ....

ครั้งหน้าเรามาคุยกันต่อนะครับ ....

2 ความคิดเห็น:

  1. ดีจังเลยครับ อาจารย์กลับมาแล้ว คิดถึงอาจารย์และบทความจะแย่อยู่แล้ว ^^

    ตอบลบ