10 สิงหาคม 2553

Robot Evolution - หุ่นยนต์วิวัฒน์ (ตอนที่ 7)


เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมได้สั่งซื้อ Lego Mindstorms NXT 2.0 จากอเมริกา นัยว่าจะเอามาไว้ใช้สอนให้น้องโมเลกุล หัดเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และเรียนเรื่องหุ่นยนต์ตั้งแต่เยาว์วัย ทันทีที่เขาได้เห็นกล่องของเจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้ที่ส่งมาถึงบ้านเรา รอยยิ้มน่ารักๆ ใสๆ ของเด็กผู้ชายคนหนึ่งก็เปล่งประกายออกมา เป็นรอยยิ้มที่ผมรู้สึกอิจฉาเหลือเกิน ผมใฝ่ฝันถึงหุ่นยนต์แบบนี้ ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเล็ก แต่ไม่เคยคาดคิดว่า หุ่นยนต์ที่สามารถทำอะไรต่างๆ ได้มากมายแบบนี้ จะกลายเป็นของเล่นของเด็กอายุ 10 ขวบในสมัยของลูกผมเอง

ตัวผมเองนั้น มองหุ่นยนต์ในมุมที่แตกต่างจากผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆในประเทศไทย ผมไม่ได้สนใจหุ่นยนต์เตะฟุตบอล หรือ หุ่นยนต์แข่งชู้ตบาส แต่ผมสนใจหุ่นยนต์หาแมลง หรือ หุ่นยนต์เฝ้าบ้าน มากกว่า น่าเสียดายเหลือเกินครับที่ประเทศไทยของเรา ได้ไปคว้าชัย ได้ถ้วยแข่งขันเกี่ยวกับหุ่นยนต์มามากมาย แต่เรากลับมีความก้าวหน้าทางด้านหุ่นยนต์น้อยมาก ทั้งนี้ เป็นเพราะว่า เราไม่ได้ให้ความสำคัญในสิ่งที่เป็นหัวใจของหุ่นยนต์ ซึ่งนั่นก็คือ "ปัญญา" (Intelligence) รวมไปถึงเรื่องของสัมผัส (Sense) และอารมณ์ (Emotion) ซึ่งเป็นด้านอ่อน (Soft Side) ของหุ่นยนต์

เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ทางสหภาพยุโรปได้มีการจัดตั้งคอนซอร์เทียมที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์ขึ้นมา มีชื่อน่ารักๆ ว่า FEELIX GROWING ซึ่งย่อมาจาก "FEEL, Interact, eXpress: a Global approach to development with interdisciplinary grounding" โดยมีกลุ่มวิจัยหลากหลายศาสตร์ เช่น หุ่นยนต์ จิตวิทยา ประสาทวิทยา วิศวกรรมไฟฟ้า เป็นต้น จาก 6 ประเทศ ได้เข้ามาร่วมมือกัน เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากมนุษย์ได้ รวมทั้งสามารถตอบสนองต่อมนุษย์ในเชิงสังคม และเชิงอารมณ์ อย่างมีเหตุมีผล โดยนักวิจัยวางเป้าหมายว่า จะสามารถทำให้หุ่นยนต์ในอนาคตสามารถจะอยู่ในสังคมมนุษย์เพื่อทำหน้าที่ต่างๆ ได้อย่างราบรื่น ดังนั้นหุ่นยนต์ควรจะสามารถรู้จักอารมณ์ประเภทต่างๆ ของมนุษย์เรา เช่น ความโกรธ ความกลัว เพื่อที่มันจะปรับพฤติกรรมตัวเองให้เหมาะสมกับสถานการณ์เหล่านั้นได้

การที่หุ่นยนต์จะแยกแยะอารมณ์ของมนุษย์ได้ มันจะต้องสามารถรับรู้ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็น การเคลื่อนไหวของร่างกายมนุษย์ การแสดงออกทางสีหน้า ท่าทางและอากัปกริยาต่างๆ การแสดงออกทางสายตา เป็นต้น ซึ่งจริงๆ แล้ว ในแต่ละวัฒนธรรมก็มีการแสดงออกได้แตกต่างกัน แต่โครงการนี้จะเน้นไปที่ลักษณะทั่วๆ ไปของมนุษย์ ไม่ว่าจะชาติพันธุ์ใดก็ตาม โครงการนี้จะไม่เน้นการพัฒนาตัวฮาร์ดแวร์ของหุ่นยนต์ แต่จะใช้การนำฮาร์ดแวร์ที่มีอยู่แล้วในท้องตลาดมาใช้ ยกเว้นส่วนของใบหน้าหุ่นยนต์เท่านั้น ที่จะต้องทำขึ้นใหม่ เพื่อที่จะทำให้หุ่นยนต์สามารถแสดงอารมณ์ทางใบหน้าได้

นี่ล่ะครับ คือประเด็นที่ผมจะสอนลูก ในการโปรแกรมหุ่นยนต์ตัวแรกของเขา เพราะสิ่งนี้ก็คืออนาคต

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ11 สิงหาคม 2553 เวลา 22:33

    เป็นหนึ่งในความคิดที่ดีมากเลยครับ น่าชื่นชมมากเลย
    ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้เล่น LEGO Mindstorms nxt 2.0 และทำการศึกษาอยู่ทุกวัน ตอนเด็กๆครอบครัวผมยากจนครับ ถึงแม้จะไม่มีเงินมากมายแต่วันสำคัญทีไรพ่อจะเอาเงินเก็บไปซื้อLEGOชุดเล็กๆมาให้ผม และเอามาวางไว้ที่หมอนตอนผมหลับ พอผมตื่นขึ้นมาผมเจอLEGO ผมก็ดีใจมาก ทุกวันนี้คิดเรื่องนี้ทีไรผมปลื้มใน พ่อและแม่มากเลยครับ

    ตอนที่ผมคิดจะซื้อ LEGO Mindstorms nxt 2.0 ครั้งแรก เพื่อนรุ่นเดียวกันก็มองว่าผมแปลกๆ ไปแล้ว เพราะเงินปริมาณนั้นสามารถซื้อโทรศัพท์ดีดีใช้ได้สบายเลย
    ปัจจุบันผมใช้การค้นคว้าจาก LEGO Mindstorms nxt 2.0 สร้างสิ่งที่สร้างรายได้ ประดิษฐ์แบบจำลองเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และที่สำคัญผมได้ตอบแทนคุณพ่อแม่ตั้งแต่อายุน้อยได้มีเวลาดูแลท่าน ได้เก็บเงินไว้ให้ท่าน และที่สำคัญได้เรียนรู้ในสิ่งที่รัก สิ่งนี้ทำให้ผมมีความสุขอย่างยิ่งครับ

    ตอบลบ
  2. อ่านแล้วชื่นใจมากๆ ครับ LEGO เป็นของขวัญจากพระเจ้าที่ประทานให้เผ่าพันธุ์มนุษย์จริงๆ ครับ

    ตอบลบ