07 มีนาคม 2553

Scent of Love - กลิ่นไอรัก (ตอนที่ 2)


ท่านผู้อ่านที่มีลูกแล้ว ผมเชื่อว่าน่าจะมีประสบการณ์ช่วงที่ลูกยังอยู่ในวัยเยาว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนแบเบาะ ที่เราจะอยากหอมลูกมากๆ เหมือนกับที่บางคนเขาเรียกว่า "อยากฟัด" เพราะเมื่อเราสูดกลิ่นไอของลูกเข้าไป เราจะเกิดความรู้สึกรัก ผูกพัน กับลูกของเราอย่างลึกซึ้ง คนที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคน จะสามารถจำแนกได้ว่า ลูกของเราแต่ละคนนั้นมีกลิ่นตัวไม่เหมือนกัน เวลามีความเครียดไม่ว่าจากเรื่องงานหรืออะไรก็ตาม เมื่อกลับบ้านไปแล้วได้หอมกลิ่นแก้มของลูกแล้ว ความเหนื่อยทั้งหลายก็จะหายเป็นปลิดทิ้ง

นักวิทยาศาสตร์สงสัยมานานแล้วล่ะครับว่า ความรักและความผูกพันอย่างลึกซึ้งนั้น อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับความสามารถในการสัมผัสกลิ่น แม้แต่ในมนุษย์กันเองก็เถิด ก่อนหน้านี้ ผมเคยนำมาเล่าให้ฟังว่า มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่ระบุว่า กลิ่นกายของฝ่ายตรงข้ามมีผลต่อการเลือกคู่ครอง โดยเจ้าตัวไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำ โดยการได้กลิ่นกายที่บ่งบอกถึงความมีสุขภาพดี และมียีนของระบบภูมิคุ้มกันที่หลากหลาย ซึ่งสามารถจะทดแทนหรือเติมเต็มชุดพันธุกรรมของอีกฝ่ายได้ จะทำให้ได้รับการเลือกเป็นคู่กัน เหมือนในบทเพลงที่ร้องว่า "เนื้อคู่กันแล้ว ก็คงไม่แคล้วกันไปได้"

เร็วๆ นี้เองครับ ได้มีการรายงานถึงเรื่องของกลิ่นไอแห่งความรักในวารสาร Nature ฉบับออนไลน์วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2010 (doi:10.1038/nature08826) ซึ่งคณะวิจัยได้เปิดเผยผลการทดลองในหนูทดลอง โดยนำหนูทารกไปคลุกคลี คลอเคลีย กับหนูผู้ใหญ่ในระยะเวลาหนึ่ง หนูผู้ใหญ่กับหนูทารกจะมีโอกาสสัมผัสเคล้าคลอ ดมกลิ่นกันและกัน จากนั้นก็แยกหนูทารกออกมา ทิ้งระยะห่างไว้พักหนึ่งจึงนำหนูทารกชุดเดิมกลับมาให้อยู่กับหนูผู้ใหญ่อีก แต่ครั้งนี้ มีการผสมหนูทารกกลุ่มใหม่เข้าไปด้วย ผลก็คือ หนูผู้ใหญ่กลุ่มที่ฮอร์โมนวาโซเปรสซิน (Vasopression) ถูกบล็อกไม่ให้ทำงานนั้น ไม่สามารถจดจำหนูทารกตัวเดิมได้ รายงานนี้เป็นการเสริมความเชื่อที่ว่า ฮอร์โมนนี้มีส่วนโดยตรงกับการเกิดรักที่ฝังตรึง ซึ่งทำให้คนเรารักกันแนบแน่น โดยไปช่วยในการทำงานที่ทำให้มนุษย์สามารถได้กลิ่นไอรัก ....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น