05 มีนาคม 2553

Kansei Engineering - วิศวกรรมอารมณ์ (ตอนที่ 3)


วิศวกรรมอารมณ์ เป็นเรื่องของการพัฒนาสินค้า โดยอาศัยการศึกษาการตอบสนองของผู้บริโภคในด้านต่างๆ ต่อตัวสินค้านั้น ผู้ผลิตสินค้าสามารถใช้เทคโนโลยีการตรวจวัดอาการของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น อากัปกริยา หน้าตา ท่าทาง ชีพจร การหายใจ การตอบสนองของกล้ามเนื้อ ไปจนกระทั่งใช้การสแกนสมองด้วยเครื่อง fMRI (Functional Magnetic Resonance Imaging)

บริษัทแคมเบลส์ (Campbell's) ผู้ผลิตซุปสำเร็จรูปยักษ์ใหญ่ ที่มียอดขายปีละกว่า 33,000 ล้านบาท ได้ใช้ศาสตร์ของวิศวกรรมอารมณ์ เพื่อกระตุ้นยอดขายซุปสำเร็จรูปของตนเอง เนื่องจากตลาดของซุปสำเร็จรูปนั้น มีลักษณะอุ้ยอ้ายเติบโตช้า แคมเบลส์จึงคิดอยากจะทำอะไรแบบยิ่งใหญ่สักครั้ง เพื่อทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจสินค้ามากขึ้น นั่นคือ การเปลี่ยนโฉมฉลากข้างกระป๋องรวมทั้งโลโก้ของบริษัท ที่ใช้มายาวนานนับร้อยปี ....

ก่อนหน้านี้ แคมเบลส์ได้วิจัยจนพบว่า การโฆษณาสินค้าผ่านสื่อใหญ่ๆ ไม่ได้ช่วยทำให้คนสนใจทานซุปมากขึ้นเลย แคมเบลส์จึงเปลี่ยนวิธีการที่เสียใหม่ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แคมเบลส์ได้ติดตั้งระบบเฝ้าติดตามพฤติกรรมของอาสาสมัคร 40 คน โดยระบบนี้จะทำการเฝ้ามองพฤติกรรมของลูกค้าเหล่านั้นในบ้าน รวมทั้งมีการตรวจวัดอาการทางร่างกายต่างๆ ผ่านเซ็นเซอร์ที่สวมใส่ได้ เช่น ชีพจร การหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ ความชื้นของผิวหนัง อากัปกริยา ท่าทาง การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ โดยมีการเก็บข้อมูลเมื่อลูกค้าทานซุป และออกไปชอปปิ้งในห้างสรรพสินค้า

ผลที่ได้ก็คือ แคมเบลส์เสนอให้มีการออกแบบฉลากใหม่ โดยจะไม่มีช้อนตักซุปในฉลากเวอร์ชันใหม่ เพิ่มไอน้ำอุ่นๆ ออกมาจากซุป ใช้ถ้วยที่ทันสมัยขึ้น และย้ายโลโก้สีแดงมาไว้ข้างล่าง เพื่อให้ลูกค้าจำแนกชนิดของซุปได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น