31 กรกฎาคม 2555

อาภรณ์อัจฉริยะ - Wearable Intelligence (ตอนที่ 3)


อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่แสดงถึงภูมิปัญญาทางด้านคณิตศาสตร์ของคนโบราณที่แสดงออกบนลายผ้าทอโบราณ ก็คือผ้าทอของชนเชื้อชาติอากัน (Akan) ในทวีปแอฟริกาซึ่งปัจจุบันเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักของประชากรในประเทศกานา และไอวอรีโคสท์ จากลายผ้าทำให้สามารถเชื่อมโยงได้ว่าชนเผ่านี้น่าจะสืบเชื้อสายมาจากชาวอียิปต์โบราณ เนื่องจากคณิตศาสตร์บนลายผ้ามีความเชื่อมโยงกับคณิตศาสตร์ที่นิยมใช้ในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในยุคอียิปต์โบราณ ไม่ว่าจะเป็นหลักการนับเลขแบบสามเหลี่ยม (Triangular Numbers) ซึ่งปรากฎชัดในลวดลายแบบสามเหลี่ยม ที่แฝงความซับซ้อนไปถึงการใช้สามเหลี่ยมปาสคาล (Pascal’s Triangle) กันเลยทีเดียว และที่น่าทึ่งมากก็คือ จากการถอดรหัสลายผ้าของชาวอากันทำให้พบว่าในลายผ้าเหล่านั้นมีการแฝงตัวเลขที่เรียกว่า Fibonacci numbers ซึ่งเป็นรูปแบบที่เลขตัวใดตัวหนึ่งในอนุกรมนี้ เกิดจากการบวกของเลขตัวหน้า 2 ตัว ชุดของตัวเลข Fibonacci ดังกล่าวคือ 1, 1, 2, 3, 5, 8, 13, 21, 34, 55 …… ซึ่งจะเห็นได้ว่า 3 เกิดจาก 1+2 และ 55 เกิดจาก 21+34 นักวิจัยพบว่าชาวอากันได้แฝงตัวเลขเหล่านี้เข้าไปในลายผ้าจำนวนมาก ซึ่งเป็นตัวเลขที่ชาวอียิปต์โบราณมักใช้ในการก่อสร้าง นอกจากลายผ้าทอของชาวอากันจะแสดงถึงอัจฉริยภาพทางด้านตัวเลขแล้ว ยังมีลายผ้าทออีกหลายๆ แบบที่แฝงความรู้ทางด้านรูปทรงเรขาคณิต เช่น รูปทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เตตระฮีตรอน (รูปทรงสี่หน้า) ออกตระฮีตรอน (รูปทรงแปดหน้า) ซึ่งนับเป็นหลักฐานสำคัญในการเชื่อมโยงอารยธรรมของชาวอากันกับชาวอียิปต์โบราณได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นนั้นได้แสดงให้เห็นว่า ผ้าทอเป็นสื่อทางด้านสารสนเทศ ที่เก็บข้อมูลความรู้ ความเป็นตัวตนของชนชาติได้เป็นอย่างดี การอนุรักษ์ลายผ้าทอโบราณเท่ากับเราเก็บรักษาอดีตของเราไม่ให้สูญหายไปจากโลกนี้ ผ้าทอโบราณไม่ได้ถูกสร้างสรรค์มาเพื่อทำหน้าที่สำหรับนุ่งห่มเท่านั้น แต่ยังถูกออกแบบมาให้เก็บข้อมูลความรู้ ความเป็นชนชาติ ที่ไปที่มาของบรรพบุรุษผู้สร้างสรรค์ลายผ้านั้นอีกด้วย จะเห็นว่าตั้งแต่อดีตเป็นต้นมานั้น ผืนผ้าได้ทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นสนามประลองความมีอัจฉริยภาพของชนชาติต่างๆ ได้ว่าใครจะมีความสามารถในการแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์บนผืนผ้าได้มากกว่ากัน ชนเหล่าใดสามารถสืบสานศิลป์และศาสตร์ในการทอให้สืบไปได้ ก็เท่ากับว่าได้สืบทอดทั้งเทคโนโลยีและอัตลักษณ์ของตนเองให้ไปถึงลูกหลานได้

แม้ว่ายุคทองของผ้าทอจะผ่านไปแล้ว และในปัจจุบันอุตสาหกรรมสิ่งทอถูกมองว่าเป็นอุตสาหกรรมอาทิตย์อัศดง (Sunset Industry) แต่กระแสนาโนเทคโนโลยีที่มาแรงและเข้าไปแทรกซึมอยู่ในทุกอุตสาหกรรมนั้น กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมสิ่งทอให้กลับมาสร้างความฮือฮาได้อีกครั้ง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เกิดคำใหม่ๆ ขึ้นมามากมายในวงการสิ่งทอ เช่น ผ้าฉลาด (Smart Fabrics) สิ่งทออิเล็กทรอนิกส์ (e-Textile) เท็กซ็ทรอนิกส์ (Textronics) สิ่งทออัจฉริยะ (Intelligent Textile) อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ได้ (Wearable Electronics) การประมวลผลบนสิ่งทอ (Textile Computing) เสื้อผ้าอันตรกริยา (Garment Interaction) อาภรณ์ตอบสนอง (Interactive Cloth) หรือแม้กระทั่ง ผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ (e-Skin) ซึ่งจะทำให้ผืนผ้ากลับมาเป็นสนามประลอง ให้แสดงออกถึงอัจฉริยภาพของมนุษย์อีกครั้ง

ครั้งหน้า ผมจะเริ่มนำท่านผู้อ่านเข้าสู่เรื่องของ สิ่งทอแห่งยุคอนาคตกันครับ ....




** โครงการ Wearable Intelligence ได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ **



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น