21 เมษายน 2555

The Future of City - อนาคตของเมืองใหญ่ (ตอนที่ 1)


สหประชาชาติได้ประมาณการว่า ในปี ค.ศ. 2030 หรืออีก 18 ปีข้างหน้า โลกจะมีประชากรจำนวน 8,100 ล้านคน มากกว่าครึ่งคือประมาณ 5,000 ล้านคน จะเป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ตัวเลข 5 พันล้านนี้ น่าจะยังเป็นตัวเลขที่ถือว่าต่ำไปนะครับ ในความรู้สึกของผม แนวโน้มของคนอยู่ในเมือง น่าจะมากกว่านี้เสียด้วยซ้ำ ถ้าพิจารณาจากแนวโน้มความก้าวหน้าของเทคโนโลยี วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม อาหาร และพลังงาน มนุษย์น่าจะมีแนวโน้มที่จะมากระจุกตัวอยู่กันเยอะๆ มากยิ่งขึ้น การที่คนเราไปอาศัยกันอยู่ห่างไกล ทำให้การใช้พลังงานไม่มีประสิทธิภาพ เกษตรกรรมในชนบทและที่ห่างไกล ทำให้ต้องมีการขนส่ง ถ้าหากเกษตรกรรมสามารถทำในเมือง และใกล้ๆ เมือง การขนส่งก็จะลดลง พื้นที่เกษตรกรรมที่มนุษย์ไปรุกล้ำจากป่า จะสามารถคืนสู่ธรรมชาติ ให้เป็นที่กักเก็บคาร์บอนได้ (Carbon Storage) ถ้ามองในมุมนี้ การที่เมืองใหญ่ขึ้น การที่ผู้คนมาอาศัยในเมืองมากขึ้น ดูเหมือนจะแก้ปัญหาได้หลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม การเกิดชุมชนเมืองหนาแน่น เป็นการนำมนุษย์ออกมาจากธรรมชาติที่เคยเข้าไปรุกล้ำ ถ้าทำได้จริง ปัญหาต่างๆ ของมนุษย์จะถูกจำกัดวง ให้มาแก้กันในบริเวณเมืองที่มีขอบเขต

เรื่องเกี่ยวกับ Future City นักคิดนักเทคโนโลยีทั่วโลกที่มีวิสัยทัศน์เขามองว่าเป็นเรื่องใหญ่จริงๆ ครับ เรียกว่าเป็น Megatrend อันหนึ่งเลยทีเดียว มหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลกตั้งศูนย์วิจัยที่เกี่ยวกับ Future City นี้ เช่น มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียลอสแองเจลีส (UCLA) สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาจูเสตต์ (MIT) และใกล้ๆ บ้านเรานี่เอง สถาบันเทคโนโลยีแห่งสวิตเซอร์แลนด์ ก็ได้มาตั้งศูนย์วิจัยเกี่ยวกับเมืองอนาคตที่สิงคโปร์ (Future Cities Laboratory หรือ FCL) โดยมีการว่าจ้างนักวิจัยมากถึง 200 คนเพื่อทำงานวิจัยเทคโนโลยีเมืองโดยเฉพาะ หัวข้อก็มีการทำระบบอาคารอัจฉริยะ (Intelligent Building) ซึ่งจะช่วยทำให้อาคารใช้พลังงานอย่างประหยัด โดยเฉพาะเมืองในเขตร้อนอย่างสิงคโปร์ ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้ สามารถที่จะขยับขยายนำไปใช้กับเมืองอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพ มนิลา ไซง่อน จาร์กาตา ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่มีการใช้เครื่องปรับอากาศกันเยอะมาก

งานวิจัยของ FCL ที่น่าสนใจก็คือ การทำระบบซอฟต์แวร์เพื่อจัดการเมืองใหญ่ โดย FCL จะทำการวิเคราะห์เรื่องการใช้น้ำ ไฟฟ้า การจราจรขนส่งในเมือง ซึ่งจะเก็บข้อมูลจากระบบดิจิตอลต่างๆ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานเดิม โดยการสนับสนุนข้อมูลจากรัฐบาลสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังจะมีการนำหุ่นยนต์บินได้ขนาดเล็ก (Flying Robots) แบบเป็นฝูงมาใช้เพื่อบินสำรวจบนท้องฟ้า โดยจะเก็บข้อมูลเชิงรายละเอียดของสิงคโปร์ทั้งหมด ทั้งในเรื่องของภาพและแง่มุมต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของการเกิดชุมชนต่างๆ เพื่อนำมาสู่การวางแผนการจัดโซน การวางแผนการจัดการพลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

ในขณะที่กรุงเทพฯ กำลังสาละวนอยู่กับเรื่องทำยังไงไม่ให้น้ำท่วม สิงคโปร์กำลังพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น