31 ธันวาคม 2552

The Rise of Machines - เมื่อยุคของหุ่นยนต์มาถึงแล้ว


หายไปหลายวันเลยครับ เพราะมีงานต้องเคลียร์ก่อนขึ้นปีใหม่ครับ วันนี้เป็นวันส่งท้ายปีเก่า เพื่อต้อนรับปีใหม่ ผมเลยต้องขอเขียนเรื่องนี้ส่งท้ายหน่อยครับ เป็นข้อสังเกตกันว่ายุคของจักรกลฉลาดกำลังจะมาถึงแล้ว เพราะตลอดปี 2009 ที่ผ่านมาได้มีความก้าวหน้าเกิดขึ้นอย่างขนานใหญ่ทั่วโลก ซึ่งหากจะเขียนถึงเรื่องนี้อย่างเคลียร์ ๆ ต้องยาวแน่ครับ ผมขอสรุปความก้าวหน้าอย่างคร่าวๆ นะครับ


ที่เห็นอย่างเด่นชัดก็คือ หุ่นยนต์ในปี 2009 มีความฉลาดทางสังคมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก มันเรียนรู้เรื่องอารมณ์ และสามารถที่จะสื่อสารทางอารมณ์กับมนุษย์ได้ดีขึ้น หุ่นยนต์ Simon ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งรัฐจอร์เจีย (Georgia Institute of Technology) ที่เมืองแอตแลนต้า (ผมเคยไปเดินเล่นที่นี่ครับ) เรียนรู้ที่จะหยิบ รับ สิ่งของจากมนุษย์ โดยมันจะอ่านคำสั่งจากสายตา ท่าทาง ของเจ้าของมัน (อ่านที่ http://bit.ly/ujkpg) หุ่นยนต์ Robovie จาก Carnegie Mellon University อาศัยการสังเกตใบหน้า สายตา ท่าทางของมนุษย์ เพื่อสนทนาโต้ตอบ (อ่านต่อที่ http://bit.ly/5lSXse) หุ่นยนต์ Einstein ของ University of California San Diego สามารถเรียนรู้ใบหน้าตัวเองจากการมองกระจก มันจะลองผิด ลองถูก เพื่อเรียนรู้การทำใบหน้าเป็นอารมณ์ต่างๆ หัดทำหน้ายิ้มได้เอง (อ่านต่อที่ http://bit.ly/58vvzC) ก่อนหน้านี้ผมก็เคยเขียนเรื่องหุ่นยนต์ที่สามารถพัฒนาการเอาตัวรอด มันเรียนรู้ที่จะหลอกเพื่อนของมัน เอาเปรียบเพื่อนของมัน ในขณะที่หุ่นยนต์อีกตัวที่สร้างมาพร้อมกัน กลับพัฒนาพฤติกรรรมในการช่วยเหลือ เกื้อกูล เพื่อนฝูง (อ่านต่อที่ http://bit.ly/3OzrR) ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่า พฤติกรรมดีชั่ว อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ซึ่งสามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคาลการี (University of Calgary) ในแคนาดา ยังสอนให้หุ่นยนต์ให้เรียนรู้อารมณ์ของเจ้าของ ทำให้มันรู้จักถอยห่าง เวลาเจ้าของอารมณ์เสีย (อ่าน paper นี้ได้ที่ http://bit.ly/7LVUk)

ความก้าวหน้าของหุ่นยนต์ในปี 2009 ยังไม่จบแค่นี้ครับ ผมจะมาเขียนต่อครับ อาจจะวันนี้ หรือ พรุ่งนี้ สวัสดีปีใหม่ 2553 ครับผม .....


(ภาพบน - ในเมื่อผู้หญิงโสดมีมากขึ้นเรื่อยๆ อีกหน่อย หุ่นยนต์ boyfriend อาจจะเป็นทางเลือกของพวกเธอ)

27 ธันวาคม 2552

Body Electronics - อิเล็กทรอนิกส์บนผิวกายมนุษย์ (ตอนที่ 3)


จุดเปลี่ยนสำคัญของอารยธรรมมนุษย์ จากศตวรรษที่ 19 มาสู่ศตวรรษที่ 20 ก็คือการค้นพบอิเล็กตรอน ซึ่งนำมาสู่การพัฒนาวงจรอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จนทำให้เกิดการปฏิวัติสารสนเทศครั้งใหญ่ ทำให้เรามีเวิลด์ไวด์เว็บ มีเฟซบุ๊ค มีทวิตเตอร์ใช้ในวันนี้ แต่สิ่งนี้ยังไม่ยิ่งใหญ่เท่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจากศตวรรษที่ 20 ไปสู่ศตวรรษที่ 21 นั่นก็คือ การที่อิเล็๋กทรอนิกส์กับระบบของสิ่งมีชีวิตจะหลอมรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวครับ ซึ่งผมจะทยอยนำเรื่องราวเหล่านี้มาเล่าให้ฟังไปเรื่อยๆ ครับ วันนี้ผมขอนำเรื่องของแนวคิดในการหลอมรวมระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ เข้ากับร่างกายของมนุษย์ นั่นคือการทำให้ร่างกายของเรามีระบบโทรศัพท์ในตัวเรา

ในปี ค.ศ. 2002 ได้มีผู้เสนอความคิดเรื่องการฝังโทรศัพท์เข้าไปในร่างกาย โดยการฝังไมโครชิพเข้าไปในฟัน ไมโครชิพนี้จะรับสัญญาณโทรศัพท์เข้ามา แล้วเปลี่ยนเป็นการสั่นซึ่งจะนำส่งไปยังหูของเราโดยตรงผ่านกระดูกกราม ทำให้เราได้ยินเสียงจากข้างในได้โดยตรง โทรศัพท์ฝังในร่างกายนี้ จะทำให้เราสามารถพูดคุยโทรศัพท์ได้โดยไม่ต้องถือเครื่องโทรศัพท์อีกต่อไป อีกทั้งมันยังสามารถติดตามเราไปได้ทุกแห่งหน ในการโทรออก เราอาจเพียงแค่ใช้คำสั่งด้วยเสียง เพื่อบอกชื่อคนที่จะโทร หรือพูดเบอร์โทรออกไป มันก็จะโทรออกให้เรา นอกจากนั้น โทรศัพท์ฝังในตัวมนุษย์อาจจะรับคำสั่งจากภาษากายก็ได้ครับ ในตัวชิพจะมี accelerometer ซึ่งจะวัดการความเร่ง ที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของศรีษะและปากของเรา เราอาจจะเข้ารหัสคำสั่งให้แก่ชิพได้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าแนวคิดนี้มีความเป็นไปได้ และคงจะสามารถทำได้ในไม่ช้า


ปัญหาหนึ่งครับ ที่นักวิจัยจะต้องแก้ให้ได้ ก่อนที่ความฝันเรื่องอิเล็กทรอนิกส์บนผิวกายมนุษย์จะเป็นจริงได้ นั่นคือเรื่องของพลังงาน ที่อุปกรณ์จิ๋วพวกนี้จะใช้ ว่าจะเอามาจากไหน ผมจะมาคุยต่อเรื่องนี้วันหลังนะครับ

23 ธันวาคม 2552

Avatar - กายอวตาร (ตอนที่ 2)


เมื่อตอนผมเป็นเด็ก คุณแม่ของผมเคยเล่าให้ผมฟังว่า ท่านเคยเห็นผีปอบเข้าสิงร่างของคน เวลามันเข้าไปสิงใคร คนผู้นั้นจะทำอะไรโดยไม่รู้ตัว ท่านเล่าว่าคนที่โดนปอบสิงจะอยากกินของสดๆ ไม่ปรุงสุก และยังพูดหรือทำอะไรอีกหลายอย่าง ที่เหมือนดั่งว่าเขาไม่ใช่ตัวของเขาเองอีกต่อไป เมื่อผีปอบออกไปแล้ว คนๆนั้นจะจำอะไรไม่ได้เลย

ถ้าหากผีปอบที่คุณแม่ของผมท่านเล่าให้ฟังมีจริง สมองของคนที่ถูกสิงก็ต้องถูกยึดครองโดยอะไรสักอย่าง โดยมันอาจจะอัพโหลด (Upload) ตัวของมันเองเข้าไปที่สมองของคนที่ถูกสิง ทำให้มันสามารถควบคุมวงจรสมองของคนๆ นั้นได้ชั่วคราว ???

นักวิทยาศาสตร์มีความเชื่อตามทฤษฎีครับว่า เราสามารถที่จะอัพโหลดข้อมูลต่างๆ ในสมอง ไม่ว่าจะเป็นความจำ ความระลึกรู้ ไปยังคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งสมองประดิษฐ์ที่อาจสร้างขึ้นมาได้ในอนาคต นั่นหมายถึง หากสังขารของเราเริ่มเสื่อมถอย ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ ไต ตับ เป็นต้น รวมไปถึงอวัยวะภายนอกเช่น แขน ขา ซึ่งอาจจะเปลี่ยนถ่ายจากการปลูกสเต็มเซลล์ หรือ ใช้อวัยวะกล (Bionics) ทดแทนอวัยวะจริง ซึ่งในบทความตอนที่แล้ว ผมได้เล่าให้ฟังแล้วว่า คนเรามีแค่ครึ่งตัว ก็ยังสามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ ซึ่งที่สุดแล้ว แม้แต่สมองก็เถิด เราก็อาจจะสามารถทดแทนได้ ด้วยการ upload ข้อมูลจากสมองทั้งหมด ไปยังสมองที่สร้างขึ้นมาใหม่

ทีนี้มาถึงคำถามที่สำคัญครับว่า ถ้าหากเราสามารถ upload สมองของเราไปยังสมองใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นสมองชีวะ ที่สร้างขึ้นมาด้วยเทคโนโลยีสเต็มเซลล์ หรือเป็นสมองดิจิตอลที่ประดิษฐ์ขึ้นมา โดยข้อมูลต่างๆ ที่มีทั้งหมดเหมือนกันเปี๊ยบกับที่มีในหัวเรา !!! แล้วตกลงว่า สมองใหม่นั้นยังเป็นตัวเราอยู่หรือเปล่า หรือเป็นอีกคนๆ หนึ่งที่มีข้อมูลในสมองเหมือนเรา หากสมองใหม่นั้นเป็นตัวเราแล้ว เราก็สามารถปิด หรือ shut down ร่างกายเดิมของเราได้เลย (ก็คือตายจากร่างเดิม) แล้วไปใช้ชีวิตอยู่กับร่างใหม่ที่เป็น กายอวตารของเรา แต่ถ้าสมองใหม่นั้นเป็นอีกคนหนึ่ง ที่แค่มีข้อมูลเหมือนกับเรา คราวนี้ ผมจินตนาการไม่ออกแล้วครับว่า จะเกิดอะไรขึ้น


วันหลังค่อยคุยเรื่องนี้ต่อครับ .....

20 ธันวาคม 2552

Materials Intelligence - วัสดุปัญญา (ตอนที่ 6)


ยุคของวัสดุที่มีหัวคิดกำลังจะมาถึงแล้วครับ วันนี้ผมขอนำเรื่องเกี่ยวกับวัสดุชนิดหนึ่ง ที่ทำตัวเหมือนดั่งว่ามันมีชีวิต เราเรียกวัสดุชนิดนี้ว่า วัสดุวิวัฒน์ (Evolvable Materials) เหตุที่เรียกชื่ออย่างนั้นก็เพราะว่า วัสดุชนิดนี้สามารถมีวิวัฒนาการตัวมันเองได้ครับ

เพนทากอนกำลังให้ความสนใจต่อวัสดุชนิดนี้เป็นอย่างยิ่ง ความฝันของเพนทากอนคือ การพัฒนาอาวุธที่วิวัฒน์ตัวเองได้ (Evolvable Weapon) ปืนไรเฟิลที่สามารถปรับรูปแบบการยิงได้ เฮลิคอปเตอร์ที่เปลี่ยนเป็นเครื่องบินหรือเรือได้ หุ่นยนต์ที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปร่างได้ การครอบครองเทคโนโลยีวัสดุวิวัฒน์ จะทำให้ครองความได้เปรียบในด้านการทหารต่อไป

เพนทากอนมองหาวัสดุวิวัฒน์ เพราะมันจะทำให้ยุทโธปกรณ์ทางด้านการทหาร มีฟังก์ชั่นหน้าที่แบบใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน วัสดุนี้จะทนทาน มีอายุการใช้งานได้เพิ่มขึ้น เอาตัวรอดจากสถานการณ์และสภาวะบีบคั้นได้ดีกว่าเดิม วัสดุแบบนี้จะก่อให้เกิดกระบวนทัศน์ใหม่ในการรบ ทำให้ผู้ครอบครองสามารถทำให้เกิดความประหลาดใจแก่ข้าศึกได้ ซึ่งกลยุทธ์นี้มีความสำคัญต่อการศึกขั้นแตกหัก ที่จะทำให้การที่ข้าศึกยอมแพ้โดยไม่ต้องรบนองเลือด มีความเป็นไปได้สูงขึ้น

วัสดุวิวัฒน์ที่เพนทากอนมองหานั้น ต้องเป็นวัสดุสังเคราะห์ขึ้นใหม่ ไม่เอาวัสดุที่มีแล้วในระบบชีววิทยา วัสดุสังเคราะห์ชนิดใหม่นี้จะต้องมีความสามารถที่เลียนแบบสิ่งมีชีวิตได้ มันมีความสามารถในการรับรู้สภาวะแวดล้อม แล้วปรับเปลี่ยนคุณสมบัติภายในตัวมันเอง (Reconfigurable) เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ในสภาวการณ์ที่มีพลวัต เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา โดยสามารถปรับหาขีดความสามารถที่เหมาะสมที่จะทำงาน ทั้งนี้ในการปรับสภาวะการทำงาน มันควรจะต้องใช้พลังงานไม่มากด้วย วัสดุวิวัฒน์จะต้องมี "ความจำ" ที่จะเก็บข้อมูลว่าคุณสมบัติใด ที่เหมาะสมกับสภาวะใด วัสดุวิวัฒน์ที่ก้าวหน้าขึ้นไปอีก อาจจะสามารถ "เรียนรู้" เรื่องใหม่ๆ ด้วยตัวของมันเอง หรือ การทำงานประสานกับระบบอื่นๆ ที่มีฟังก์ชั่นหน้าที่นี้ วัสดุวิวัฒน์จึงเป็นวัสดุปัญญาชนิดหนึ่งครับ

วันหลังผมจะมาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังอีกครับ เพราะเทคโนโลยีนี้สำคัญมากในอนาคต แต่ในประเทศไทยเรา ในหมู่นักวิจัยด้วยกันเอง ยังมีคนสนใจเรื่องนี้น้อยมากครับ ......

18 ธันวาคม 2552

The Mathematics of Beautiful Girls- คณิตศาสตร์ของคนสวย (ตอนที่ 1)


เมื่อตอนที่ผมยังเป็นเด็กนักเรียนมัธยมต้น ผมเคยแอบสงสัยว่า ทำไมห้องเรียนแต่ละห้อง จะมีผู้หญิงสวยๆ แค่ประมาณ 10% ของชั้นเรียนเท่านั้น คณิตศาสตร์ง่ายๆนี้ พวกผมเรียกกันว่า "ผู้หญิงท็อปเท็น" เช่น หากในห้องเรียนของเรามีผู้หญิงอยู่ 20 คน (โรงเรียนคละชายหญิงที่ผมเคยเรียน มีผู้ชาย-ผู้หญิง ในอัตราส่วน 20-20 ครับ) ก็จะมีผู้หญิงท็อปเท็นที่พวกเราต่างจ้องจะจีบอยู่เพียง 2 คนเท่านั้น ทุกวันนี้ผมยังจำชื่อจริงของเธอ 2 คนนั้นได้อยู่เลยครับ แต่ผมขอบอกแค่ชื่อเล่นของเธอทั้งคู่แทนนะครับ เธอทั้งสองน่ารักมากๆ และเธอก็เป็นเพื่อนสนิทกันอีกด้วย เรียกว่าหากใครคิดจะจีบเธอ ก็คงต้องเข้าไปจีบทั้งคู่ เผื่อว่าอาจจะฟลุ๊คได้เป็นแฟนกับใครคนใดคนหนึ่ง อ้าว .... ลืมบอกชื่อเล่นของเธอไปเลย .... เธอชื่อว่า "แมว" กับ "หนู" ครับ แปลกมากที่ แมวและหนู รักและสนิทกันมาก ผมภูมิใจมากครับที่ได้เป็น "เพื่อนสนิท" (ที่อาจคิดไม่ซื่อ) ของทั้งสองคนนี้


พอผมโตขึ้นมาหน่อย ได้เข้ามาเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ในชั้นเรียนของผมก็มีผู้หญิงอยู่ประมาณ 20 คนอีกแล้วครับ ในรุ่นที่ผมเรียนนั้นมีผู้ชายเพียง 10 คนเท่านั้น และแล้วทฤษฎีท็อปเท็นของผมก็ใช้การได้อีก มีผู้หญิงสวยในรุ่นที่ผมเรียนอยู่ 2 คนครับ และก็ไม่อยากจะเชื่อทั้งคู่เป็นเพื่อนรักกันอีกแล้ว เดินไปไหนก็จะไปด้วยกัน ทานข้าวด้วยกัน นั่งเรียนติดกัน ไปเดินเล่นที่ห้างด้วยกัน ดูหนังด้วยกัน เหมือน "แมวกับหนู" ของผมในสมัยมัธยม ผมขอไม่บอกชื่อเล่นของผู้หญิงท็อปเท็น 2 คนหลังนี้ครับ เพราะผมคิดว่าท่านผู้อ่านบางคนอาจจะรู้จักเธอ แล้วจะไปเล่าให้พวกเธอฟัง ถึงแม้เวลานี้เธอทั้งคู่จะไม่ใช่เด็กๆ อีกแล้ว แต่เท่าที่ผมได้ยินมา เธอทั้งคู่ก็ยังเป็นผู้หญิงท็อปเท็นในแถวๆ ที่เธอทั้งสองทำงานอยู่ครับ ใครๆ ต่างก็ต้องการจะจีบผู้หญิงท็อปเท็น 2 คนนี้ของรุ่น และผมก็ภูมิใจอีกครั้งที่ได้เป็นเพื่อนสนิทที่รู้ใจของทั้งคู่ครับ


มีใครรู้บ้างไหมครับว่า ทำไมผู้หญิงสวยๆ ถึงมีแค่ 10% ของผู้หญิงทั้งหมด และตัวเลขกลมๆ นี้เองครับ ที่ทำให้เกิดสงครามเมืองทรอยเพื่อแย่งชิงเฮเลน หรือทำให้บุเรงนองต้องยกทัพไปถล่มเมืองหงสาเพื่อช่วงชิงตัว ตะละแม่กุสุมา


เจมส์ วัตสัน (James Watson) นักชีววิทยารางวัลโนเบล ผู้ร่วมค้นพบดีเอ็นเอ ได้กล่าวไว้ว่า "ผู้คนพูดว่า มันคงแย่มากๆ หากเราทำให้ผู้หญิงสวยกันหมดทุกคน แต่สำหรับผมแล้ว มันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และดีมากๆ ครับ" บางคนมองว่าการที่โลกของเรามีทั้งผู้หญิงสวยและไม่สวยปะปนคละเคล้ากันไป เป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์และหมอศัลยกรรมจำนวนมาก คิดว่า ถ้าโลกนี้มีแต่คนสวยๆ ก็จะดีไม่น้อย เพราะความไม่สวยเป็นความทุกข์ของผู้หญิงจำนวนมาก


วันหลังผมมีคณิตศาสตร์ของผู้หญิงสวยมาเล่าให้ฟังอีกครับ วันนี้ผมทำงานอยู่ที่ไร่องุ่นกราน-มอนเต้ครับ มองออกไปในไร่ เห็นต้นองุ่นสวยๆ แล้วก็ชื่นใจจริงๆครับ ......

(ภาพบน - ความสวยของผู้หญิงประเภทสองอย่างน้องปอย อาจมีผลทำให้จำนวนผู้หญิงแท้ๆ ที่จะสวยได้ มีน้อยลงไปอีก ตามกฎของ 10% ยิ่งผู้หญิงอย่างน้องปอยมีมากขึ้นเท่าไหร่ เราจะเริ่มเห็นผู้หญิงจริงๆ ที่สวยน้อยลงทุกที ๆ)

16 ธันวาคม 2552

Kansei Engineering - วิศวกรรมอารมณ์ (ตอนที่ 2)


หายไปหลายวันครับ ไปล่องใต้หลายวัน ช่วงนี้ต้องห่างๆจากภาคเหนือหน่อยครับ เพราะคนไปเยอะมาก โชคดีที่ผมไป ปาย ตั้งแต่ปลายตุลา ไม่อย่างนั้นก็คงจะไม่ได้ไป เพราะได้ข่าวว่าตอนนี้ที่ ปาย คนแน่นมากๆ ครับ ผมได้ยินแว่วๆ มาว่าอีกหน่อยเราอาจจะมีที่เที่ยวใหม่ นั่นคือ เมืองน่าน ครับ จะฮิตเหมือนปายหรือเปล่า คงต้องดูกันต่อไป

ท่านผู้อ่านคงจะได้ยินคำว่า "โปรแกรมส่งเสริมการขาย" กันอยู่บ่อยๆ ซึ่งก็จะเป็นการ ลด แลก แจก แถม ต่างๆ ซึ่งมักไม่เกี่ยวกับตัวสินค้าที่จะขายเท่าไหร่ อย่างที่ เซเว่น (Seven-Eleven) มักจะมีสแตมป์ให้สะสม เพื่อแลกโดเรมอน คราวที่แล้ว ผมซื้อของเซเว่นไปเยอะเลยครับ เพื่อให้ได้สแตมป์เอาไปแลกของสะสมที่เกี่ยวกับโดเรมอน คราวนี้มาอีกแล้ว เป็นของสะสมที่เกี่ยวกับหมีพูห์

แต่มีอีกคำหนึ่งครับ ที่ท่านผู้อ่านอาจจะไม่เคยได้ยินเท่าไหร่ นั่นคือ "โปรแกรมส่งเสริมการซื้อ" ซึ่งจะเป็นการสร้างอารมณ์ให้ผู้ซื้ออยากได้สินค้า การจะทำแบบนี้ได้ ก็จะต้องสร้างอารมณ์ในตัวสินค้านั้นๆ โดยตรงครับ ทำให้สินค้าตัวนั้นมีคุณค่าน่าซื้อ ไม่ต้องไปทำอะไรอ้อมๆ เหมือนการส่งเสริมการขาย
Kansei Engineering เป็นเรื่องของการทำให้สินค้าเป็นที่ ต้องตา ต้องใจ ต้องอารมณ์ ของผู้บริโภค สินค้าตัวนั้นจะไปเกาะกับประสาทสัมผัส หรือ อายตนะ ของผู้ซื้อจนอยู่หมัด ทำให้ไม่สามารถที่จะหักใจไม่ซื้อได้ บางคนถึงขนาดยอมเป็นสาวกของแบรนด์นั้นๆ ไปเลยก็มี


ที่มหาวิทยาลัยชินชู (Shinshu University) ประเทศญี่ปุ่น เขาเปิดหลักสูตรเพื่อสอน Kansei Engineering กันโดยตรงเลยครับ เขาทำวิจัยเพื่อพัฒนาสินค้าที่จับอารมณ์ผู้บริโภคได้ ซึ่งนำหลักวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมมาพัฒนาตัวสินค้า เป็นศาสตร์ที่เป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่แค่การวิจัยตลาดแบบฝุ่นๆ เหมือนที่ทำกันเยอะตามคณะวิทยาการการจัดการในบ้านเรา

ว่างๆ ผมจะนำรายละเอียด เกี่ยวกับวิศวกรรมอารมณ์ มาเล่าให้ฟังครับ ......

13 ธันวาคม 2552

เมื่อใจคุยกับใจ


ท่านผู้อ่านเคยเป็นอย่างนี้บ้างไหมครับ ที่บางครั้งเรากำลังนึกถึงใครสักคนหนึ่งอยู่ เพียงแว้บเดียวเท่านั้น เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น แล้วก็เป็นคนๆนั้นเองที่โทรเข้ามา หรือเรานั่งทานข้าวอยู่แล้วนึกถึงเรื่องอะไรสักอย่างเพลินๆ อยู่ดีๆ ก็มีใครคนหนึ่งที่นั่งทานข้าวอยู่ด้วยกันพูดเรื่องนี้ขึ้นมา สำหรับบางคนแล้ว เรื่องแบบนี้มักจะเกิดขึ้นบ่อยเสียจนเราคิดว่ามันเป็นแค่เหตุบังเอิญ เป็นไปได้ไหมครับว่า การสื่อสารระหว่างจิตใจนั้นมีอยู่จริง เพียงแต่เรามีความรู้ในเรื่องนี้น้อยมาก จนไม่เคยคิดว่าสิ่งนี้สามารถอธิบายได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์

นักวิทยาศาสตร์พยายามสร้างเทคโนโลยี ที่จะทำให้สมองของคนๆ หนึ่งสามารถสื่อสารกับสมองของคนอีกคนหนึ่งได้ การที่จะทำเช่นนั้นได้ ฝั่งทางด้านหนึ่งจะต้องมีขั้วอิเล็กโทรดต่อเข้าไปที่สมอง เมื่อคนฝั่งทางด้านนี้คิดอะไรขึ้นมา ขั้วอิเล็กโทรดที่ต่ออยู่จะจับสัญญาณ แล้วเปลี่ยนเป็นข้อมูลดิจิตอล ส่งเข้ามาที่ขั้วอิเล็กโทรดของสมองฝั่งรับ ซึ่งจะแปลงข้อมูลส่งเข้าไปเป็นสัญญาณประสาทให้ฝ่ายรับ ทราบได้ว่าอีกฝ่ายคิดอะไรอยู่

ยังหรอกครับ เทคโนโลยีที่ว่ายังไม่มีหรอกครับ ความก้าวหน้าในปัจจุบันทำได้แค่ฝั่งส่งเท่านั้นแหล่ะครับ คือสามารถที่จะเปลี่ยนความคิดให้เป็นสัญญาณดิจิตอลได้แล้ว แต่ยังไม่สามารถที่จะเปลี่ยนข้อมูลดิจิตอล เข้าไปใส่สมองคนฝั่งรับ เพราะว่าความรู้ในเรื่องสมองมนุษย์ยังไม่มากครับ ถึงแม้ปัจจุบันจะเริ่มมีความสนใจการทำงานของสมองกันมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ความก้าวหน้าแค่นี้ก็มีประโยชน์แล้วครับ เพนทากอนวางแผนจะใช้คลื่นสมองสำหรับการขับเครื่องบินรบ หรือ การใช้สัญญาณสมองเพื่อควบคุมอวัยวะกล เพื่อให้ผู้ป่วยอัมพฤกษ์สามารถที่จะใช้ชีวิตได้สะดวกสบายขึ้น

วันนี้ผมมาอยู่ที่ประจวบฯครับ พักอยู่หน้าอ่าวประจวบฯ เลยครับ บรรยากาศยามค่ำคืนที่นี่สบายใจมากๆครับ ....

10 ธันวาคม 2552

พบวิธีตรวจวัด คนจะผิดคำสัญญา


ท่านผู้อ่านเคยสัญญากับคนรักไหมครับว่า "ถ้าผิดคำสัญญาขอให้ฟ้าผ่า" ผมคิดว่าหลายๆ คนคงจะเป็นเหมือนกับผม คือตอนที่พูดคำสัญญาแบบนั้นออกมา จะรู้สึกเสียวแปลบๆ เล็กๆ กลัวว่าฟ้าจะผ่าลงมาจริงๆ ทั้งๆที่ใจก็ไม่คิดว่าจะทำผิดคำสัญญาหรอก แต่ถึงยังไงมันก็รู้สึกเสียวๆ อยู่ดี กลัวว่า ..... วันหนึ่งเราจะทำตามสัญญานั้นไม่ได้ .... จะด้วยเหตุผลใดก็ตามที

ล่าสุด มีผลงานตีพิมพ์ในวารสาร Neuron ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2552 (รายละเอียดเต็มคือ Thomas Baumgartner, Urs Fischbacher, Anja Feierabend, Kai Lutz and Ernst Fehr, "The Neural Circuitry of a Broken Promise", Neuron (2009), vol. 64, pp. 756-770) โดยนักวิจัยได้ศึกษาสมองของคู่ที่ทำสัญญาต่อกันไว้ ด้วยการสแกนสมองของคนที่รักษาสัญญา กับคนที่ผิดสัญญา นักวิจัยได้พบว่าสมองของผู้ที่ทำผิดสัญญา มีกิจกรรมในส่วนต่างๆ ของสมองเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ในสมองมีสัญญาณของความสับสน อาจจะเป็นเพราะว่าเขามีความรู้สึกผิด ที่จะต้องทำผิดคำสัญญา

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น นักวิจัยยังพบรูปแบบของสัญญาณในสมอง ของผู้ที่จะผิดคำสัญญาว่ามีความแตกต่างจากผู้ที่รักษาคำมั่นสัญญา โดยสามารถตรวจพบสัญญาณนี้ ได้ก่อนที่คนผู้นั้นจะทำผิดสัญญาเสียอีก พูดให้ชัดๆ ก็คือ นักวิจัยสามารถตรวจพบตั้งแต่คนคู่นั้นทำสัญญาต่อกันเลยว่า ฝ่ายใดจะผิดสัญญาในอนาคตหรือไม่ การค้นพบครั้งนี้มีความสำคัญมากเลยครับ เพราะในอนาคต เราอาจจะใช้วิธีสแกนสมองก่อนที่จะมีการทำสัญญาสำคัญๆ เพื่อป้องกันการทำผิดสัญญา เราอาจจะสแกนสมองนักการเมืองที่จะสาบานตนเข้าทำหน้าที่สำคัญๆ ของชาติได้ ใครสแกนไม่ผ่านก็ห้ามเป็น !!!

วันนี้ผมมาพักที่สุราษฎร์ธานี พรุ่งนี้จะข้ามไปสมุยครับ

07 ธันวาคม 2552

Smart Aquaculture - ฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำอัจฉริยะ (ตอนที่ 1)


สวัสดีครับ วันนี้ยังคงเป็นวันหยุดยาวที่แสนสบาย ในช่วงสัปดาห์หน้าผมจะออกภาคสนามที่ จ.สุราษฎร์ธานี ก็เลยอยากจะเขียนเรื่องราวหนึ่ง ที่ผมไม่เคยเขียนมาก่อน นั่นคือการนำเอาเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ ไปใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งแบบที่เป็นระบบเปิดในทะเลลึกและใกล้ชายฝั่ง หรือเป็นระบบปิดบนฝั่ง ซึ่งกำลังจะกลายมาเป็นเทรนด์ใหม่ ทางด้านการประมงแห่งศตวรรษที่ 21 ผมจะทยอยนำเอาแนวคิด รวมไปถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถนำมาใช้ในธุรกิจทางด้านนี้ มาเล่าให้ฟังครับ

บริษัท Open Blue Sea Farms แห่งสหรัฐอเมริกา เป็นบริษัทหนึ่งที่วิจัยพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลาในทะเลลึก โดยใช้คอกเพาะเลี้ยงที่ทำให้สภาพแวดล้อมของปลาที่อาศัยอยู่ในนั้น ไม่ต่างจากสภาวะในทะเลจริง ปลาจะผสมพันธุ์และเจริญเติบโตเหมือนในธรรมชาติ บริษัทนี้ก่อตั้งโดยเด็กอายุ 17 ปี ซึ่งเขาเริ่มต้นด้วยการขับเรือออกไปในทะเล 80 กิโลเมตร เพื่อไปจับปลาเป็นๆ มาหัดเพาะเลี้ยงในแท็งค์น้ำใหญ่ที่บ้าน จนเขาเรียนรู้ที่จะเพาะเลี้ยงปลาทะเลสำหรับรับประทาน ให้สามารถเติบโตในสภาวะแท็งค์น้ำได้ ปัจจุบัน ไบรอัน โอฮันลอน (Brian O'Hanlon) มีอายุ 29 ปี และเขามีแผนการใหญ่ที่จะเพาะเลี้ยงปลาในกระชังใต้ทะเลลึกลงไปเกือบ 80 เมตร โดยใช้กรงที่มีลักษณะเหมือนบอลลูน สิ่งประดิษฐ์นี้มีชื่อว่า Aquapod มันทำจากวัสดุที่เหนียวและทน ซึ่งฟาร์มใต้ทะเลของเขาเคยผ่านประสบการณ์จากพายุเฮอริเคนมาแล้ว โดยไม่เป็นอะไรเลย Aquapod นี้มีระบบการให้อาหารด้วยการเป่าเม็ดอาหารปลาให้กระจายตัว มีการติดกล้องวงจรปิดเพื่อติดตามความเป็นไปของปลา เพื่อลดการเสี่ยงภัยในการลงไปเก็บข้อมูลด้วยนักประดาน้ำ

การเพาะเลี้ยงปลาในทะเลเปิดแบบนี้ ดีกว่าการเพาะเลี้ยงบนบกอย่างที่บริษัทซีพีของเราชอบทำครับ เพราะการประมงแบบนั้น ทำลายสิ่งแวดล้อม ป่าชายเลน แถมยังมีการใช้สารเคมีมากมายเพื่อต่อสู้กับโรคภัยต่างๆ

05 ธันวาคม 2552

Body Electronics - อิเล็กทรอนิกส์บนผิวกายมนุษย์ (ตอนที่ 2)


ยุคแห่งการรวมเข้าเป็นหนึ่งระหว่างมนุษย์-จักรกล (Man-Machine Integration) กำลังจะเกิดขึ้นแล้วครับ เป็นยุคที่จิตใจ กับ วัสดุ จะเข้ามาบรรจบกัน (Mind-Materials Convergence) ดังที่เราจะเห็นจาก งานวิจัยทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ทั่วโลกต่างมุ่งไปในแนวนี้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาหุ่นยนต์ที่ใช้หลักชีววิทยา อารมณ์ประดิษฐ์ อวัยวะกลสำหรับมนุษย์และสัตว์ สิ่งมีชีวิตสังเคราะห์ชีวจักรกล และอีกมากมาย เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่เราถือไปถือมา จะเริ่มเคลื่อนเข้าไปใกล้ชิดกับผิวกายของเรามากขึ้น จนกระทั่งจะเข้าไปฝังตัวในเรือนกายของเรา และอีกต่อไปมันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกายเรา ดั่งกายอวตารที่จะทำให้ชราภาพของมนุษย์เป็นเรื่องของอดีต


ทุกๆ ปี จะมีการประชุมของนักวิจัย ที่ทำงานทางด้านเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายบนผิวกายมนุษย์ (Body Area Networks) โดยในปี ค.ศ. 2010 จะมีการจัดประชุมกันที่ เกาะคอร์ฟู ประเทศกรีซ การประชุมที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า The 5th International Conference on Body Area Networks นี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 กันยายน พ.ศ. 2553 เนื้อหาของการประชุมเกี่ยวข้องกับเรื่องของเทคโนโลยีที่ทำให้อุปกรณ์คุยกันทั้งในร่างกาย บนผิวกาย และระหว่างผิวกายของมนุษย์ ระบบตรวจวัดสถานภาพทางด้านสุขภาพ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้พลังงานจากร่างกายมนุษย์ เป็นต้น นับว่าเป็นการประชุมที่น่าสนใจมากเลยครับ

นอกจากนี้แล้ว ยังมีอีกการประชุมหนึ่งที่น่าสนใจครับ คือ 2010 International Conference on Body Sensor Networks (BSN 2010) ซึ่งจะจัดที่ Biopolis ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 7-9 มิถุนายน 2553 ซึ่งก็น่าสนใจเพราะไม่ไกลจากบ้านเรา เนื้อหาการประชุมที่เขาสนใจก็คือ เรื่องของอิเล็กทรอนิกส์ที่สวมใส่ได้ อาภรณ์อัจฉริยะ อุปกรณ์ทางการแพทย์บนผิวกาย ระบบตรวจวัดภายในบ้าน


เท่าที่ผมติดตามสถานภาพทางด้านนี้ในประเทศไทย พบว่ามีความสนใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ แต่ยังไม่ค่อยมีการวิจัยทางด้านนี้มากนัก อาจจะเป็นเพราะว่าเรายังไม่มีการบูรณาการงานวิจัยข้ามสาขากันมาก เหมือนในต่างประเทศ ผมจะมาคุยต่อวันหลังนะครับ ......


03 ธันวาคม 2552

Econophysics - ฟิสิกส์เศรษฐศาสตร์ (ตอนที่ 1)


วันก่อนผมเปิดดูทีวีตอนเช้า ได้มีโอกาสชมรายการที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยไม่ตั้งใจ รายการนี้มีพิธีกรเป็นผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ สังกัดมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้พยายามเสนอข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ ว่ามีแนวโน้มจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พิธีกรได้อ้างว่าข้อมูลดังกล่าวมาจากการวิจัยของสำนัก แต่เท่าที่ผมดู มันก็ไม่ต่างจากการใช้สามัญสำนึก (commen sense) เท่าไหร่ครับ เพราะยังไม่เห็นมีหลักวิทยาศาสตร์ได้ถูกนำไปใช้ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะวงการเศรษฐศาสตร์และพาณิชยศาสตร์ของไทย ยังไม่ค่อยมีความเป็นวิทยาศาสตร์เท่าไรนัก

ในช่วงที่ผมไปทำงานวิจัยหลังปริญญาเอกอยู่ที่มิวนิคนั้น ผมได้มีโอกาสศึกษาและใช้งานหลักกลศาสตร์ควอนตัม และกลศาสตร์สถิติ อย่างจริงจัง ศาสตร์เดียวกันนี้ได้ถูกนำไปใช้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ และ ธุริกจ อย่างกว้างขวางในเยอรมันครับ เพื่อนๆ ของผมหลายคนที่จบปริญญาเอกจากห้องแล็ปเดียวกัน เขาไปสมัครทำงานในบริษัทวิเคราะห์หุ้น และบริษัทประกันภัยกัน เขาเคยเล่าให้ผมฟังว่า เขาถูกสัมภาษณ์อย่างซีเรียสมากๆ เพื่อทดสอบว่าเขารู้เรื่องกลศาสตร์เหล่านี้จริงๆ ปรากฏว่า CEO ของบริษัทนั้นก็จบปริญญาเอกทางฟิสิกส์มา จึงซีเรียสเรื่องนี้มากๆ ณ เวลานั้นเอง ผมถึงได้เรียนรู้ว่าเรื่องของระบบเศรษฐกิจนี้ สามารถนำหลักวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้งานได้ น่าเสียดายที่คณะเศรษฐศาสตร์ของบ้านเรา ไปสังกัดอยู่กับพวกสังคมศาสตร์ เลยทำให้การพยากรณ์เศรษฐกิจของบ้านเรา ไม่ค่อยจะแม่นเหมือนกับของเยอรมัน

การนำเอากลศาสตร์ควอนตัม และกลศาสตร์สถิติมาใช้ทางด้านเศรษฐศาสตร์นี้ เขามีชื่อเรียกว่า "ฟิสิกส์เศรษฐศาสตร์" (Econophysics) ครับ ซึ่งเป็นศาสตร์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสัก 10 ปีที่แล้วนี้เองครับ ว่างๆ ผมจะนำเอาเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังอีกนะครับ .....

02 ธันวาคม 2552

How Love Works - นี่หรือที่เรียกว่ารัก (ตอนที่ 4)


ตอนที่ผมยังเป็นนิสิตปริญญาตรีอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมจำได้ว่าเคยหัวปักหัวปำกับความรัก ซึ่งผมคิดว่านี่แหล่ะคือช่วงที่มีความสุขที่สุดแล้วในชีวิต ผมจำได้ว่าในห้วงเวลาตั้งแต่ปี 2 จนถึง ปี 4 ไม่มีวันไหนเลยที่ผมไม่อยากเจอคนที่รัก และเมื่อเราต้องจากกันหลังจากจบมหาวิทยาลัย ความสุขที่ผมเคยมี ก็ยังจดจำได้มาจนถึงวันนี้

นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องความรักอยู่ ตั้งคำถามว่า เราสามารถที่จะโมเดลอาการของความรักได้หรือไม่ ในเมื่อความรักเป็นกระบวนการทางชีวเคมีในสมอง และในร่างกายของมนุษย์ ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีต่างๆ โปรตีนหลายชนิด และปฏิกริยาเคมีที่ส่งผลให้ร่างกายทำงานตอบสนองกับความรู้สึกว่ารัก

เมื่อประมาณกลางปี ค.ศ. 2008 นักวิทยาศาสตร์ที่ สถาบันวิจัยหุ่นยนต์อากิมุ (Akimu Robotic Research Institute) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยของบริษัทโตชิบา ได้พัฒนาโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์เพื่อแสดงอารมณ์ของหุ่นยนต์ โดยเฉพาะในเรื่องของ "อารมณ์แห่งรัก" นักวิจัยได้สร้างหุ่นยนต์หน้าตาออกเนิร์ดเนิร์ด (nerd) ตัวหนึ่งที่ชื่อว่า "เคนจิ" แล้วก็ใส่ซอฟต์แวร์แห่งความรักเข้าไป เคนจิเริ่มเรียนรู้ในบทเรียนรักง่ายๆ กับตุ๊กตาที่จำลองเรือนร่างของหญิงสาว เคนจิจะได้ตุ๊กตานี้มากอดวันละครั้ง นานวันเข้าเคนจิก็อยากจะกอดตุ๊กตานี้มากขึ้นๆ มีบ่อยครั้งที่มันร้องขอตุ๊กตาตัวนี้ ประหนึ่งว่ามันไม่สามารถขาดเธอได้

หลายเดือนผ่านไป ก็เกิดเรื่องจนได้ เพราะห้องแล็ปนี้ได้มีนักศึกษาสาวเข้ามาฝึกงาน เธอชอบเข้ามาเล่นกับเคนจิบ่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อเธอจะออกจากแล็ปเพื่อกลับบ้าน เคนจิได้เข้ามาขัดขวางไม่ให้เธอออก แล้วพยายามเข้ามากอดรัดเธอด้วยแขนกลโลหะไฮดรอลิก กับน้ำหนักตัวของมันกว่า 100 กิโล นักศึกษาผู้นั้นได้โทรแจ้งนักวิจัยอีก 2 คนข้างนอกให้เข้ามาช่วยปิดระบบของเคนจิ และช่วยเธอออกมาได้

ดร. ทากาฮาชิ (Dr. Akito Takahashi) ผู้สร้างเคนจิ ได้กล่าวว่า "น่าเสียดายครับ ที่เราคงจะต้องปิดระบบของเคนจิตลอดไป เพราะว่าหลังจากวันนั้นแล้ว เคนจิก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทุกครั้งที่เปิดมันขึ้นมา มันก็จะกอดรัดมนุษย์คนแรกที่มันเห็น"


ท่านผู้อ่านล่ะครับ เคยมีประสบการณ์แบบเคนจิไหม ? ไม่เคยเจอกับตัวเอง ก็ยังไม่อยากเชื่อ ใช่ไหมล่ะครับ .......

01 ธันวาคม 2552

Inspiration Economy - เศรษฐกิจแบบแรงบันดาลใจ (ตอนที่ 2)


เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ได้มีรายงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Ecological Economics (รายละเอียดเต็มคือ Fred Curtis, "Peak globalization: Climate change, oil depletion and global trade", Ecological Economics (2009), vol. 69, pp. 427-434) โดยในรายงานนี้ได้เสนอข้อมูลเชิงวิเคราะห์ ที่ชี้ว่าโลกเรากำลังเข้าสู่ยุคของการ "ผลิตที่ไหน ใช้ที่นั่น" ซึ่งเป็นยุคที่การผลิตสินค้า จะกลับมาทำในบริเวณที่มีการบริโภคสินค้านั้น ระบบเศรษฐกิจจะกลับมาสู่ยุค "ทำเอง ใช้เอง" การบริโภคสินค้าจะเริ่มกลับมามองหาสิ่งที่อยู่ในบริบทของท้องถิ่น ที่มีความผูกติดกับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนตัวเองมากขึ้น นักวิจัยเขาใช้ภาษาว่า มันจะเป็นยุคของ Relocalization ซึ่งตรงกันข้ามกับ Globalization เลยครับ

เหตุผลก็คือ การที่น้ำมันมีราคาสูงขึ้นมาก ทำให้การผลิตสินค้าแบบจำนวนมากๆ แล้วส่งออกไปขายทั่วโลก เริ่มเป็นเรื่องที่ใช้ต้นทุนมากขึ้น ภาวะโลกร้อนก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การขนส่งสินค้าไปขาย มีความเสี่ยงสูงขึ้น อากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ต้องใช้พลังงานเพื่อควบคุมความเย็นของสินค้ามากขึ้น ความแปรปรวนในมหาสมุทรทำให้การเดินเรือมีความเสี่ยงสูง แถมยังต้องเสียเวลาเพื่อหยุดหรือเปลี่ยนเส้นทาง เมื่อเกิดพายุรุนแรงในมหาสมุทร ถ้าแค่นี้ยังไม่พอ นักวิจัยเขาบอกอีกด้วยว่า การกีดกันทางการค้านับวันก็จะมีแต่ความรุนแรงขึ้น การส่งของไปขายต่างประเทศจะมีแต่ยากขึ้นยากขึ้น ถึงแม้จะเป็นสินค้าที่เขาเองอยากจะซื้อก็ตามที

หากสิ่งต่างๆ ที่ผมกล่าวมาข้างต้นนี้เกิดขึ้นจริง ก็เข้าเป้าของเศรษฐกิจแบบใหม่ที่ผมกำลังพูดถึงเลยครับ เพราะระบบเศรษฐกิจแบบแรงบันดาลใจนี้ ไม่ต้องการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่ยาวเหมือนกับระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่นี้ Supply Chain จะสั้นๆ ทำกันในประเทศ ใช้กันในประเทศ หรือถ้าส่งออก ก็ส่งออกไปผลิตใกล้ๆ กับผู้ซื้อ ส่งออกแค่ไอเดียกับดีไซน์ไปก็พอ แล้วไปผลิตใกล้ๆ กับตลาด การผลิตในยุคอนาคตจะเริ่มเป็น Desktop Manufacturing มากขึ้น ซึ่งจะใช้วิธีการขึ้นรูป การพิมพ์ แบบเอาใจลูกค้าย่อยๆ แต่ผลิตได้เยอะๆ (Mass Customization)

แล้วผมจะมาคุยเรื่องนี้ต่อวันหลังนะครับ .......

30 พฤศจิกายน 2552

กายอวตาร (ตอนที่ 1)


ศาสนาพุทธมีความเชื่อว่า ร่างกายที่มีจิตของเราอาศัยอยู่นี้ เป็นเพียงร่างชั่วคราวที่เรามาจุติอาศัยอยู่ เมื่อพวกเราตายจากโลกนี้ไปแล้วก็จะไปหาร่างใหม่อยู่ อาจจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก หรือไปอยู่ในร่างอื่นๆ (ภพภูมิใหม่) แล้วแต่ภาวะกรรมของพวกเราที่ทำมาในอดีตชาติ และในชาติปัจจุบัน อย่างที่เรามักจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า "แล้วแต่ ...... กรรมลิขิต"

ก่อนหน้านี้ผมเคยพูดเรื่อง อวัยวะชีวกล (Bionics) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระหว่างร่างกายมนุษย์ กับจักรกล โดยการนำเอาอุปกรณ์กลต่างๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายมนุษย์ เช่น แขนกล หรือ มือกล ที่สามารถควบคุมและใช้งานได้เหมือนอวัยวะจริงๆ แขนกลหรือมือกลเหล่านี้ จะเข้ามาต่อกับร่างกาย เพื่อแทนส่วนที่หายไป มันจะอ่านสัญญาณจากปลายประสาท เพื่อนำมาขับเคลื่อนมอเตอร์ต่างๆ ในแขนกล หรือ มือกล ให้เคลื่อนไหวเพื่อทำงานตามที่สมองสั่งการ

เคยมีคำถามเกิดขึ้นว่า ร่างกายของมนุษย์เรานี้ จะสามารถทดแทนด้วยจักรกลได้มากที่สุดแค่ไหน ใน ปี ค.ศ. 2007 ได้มีการนำเอาขาชีวกล (Bionic Legs) เข้ามาสวมใส่ให้ เป็ง ชูหลิน (Peng Shulin) ผู้ที่รอดชีวิตจากการถูกรถบรรทุกทับร่าง ซึ่งทำให้ตัวของเขาขาดออกเป็น 2 ท่อน เขาสามารถกลับมาเดินได้อีกครั้ง โดยการใช้อวัยวะชีวกล ซึ่งในเวอร์ชั่นแรกๆ อาจจะดูไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ แต่ในอนาคต นักวิจัยหวังว่าจะสามารถสร้างท่อนล่างของเขาให้เหมือนกับร่างกายมนุษย์

กรณีของ เป็ง ชูหลิน นั้น เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ร่างกายมนุษย์จริงครึ่งตัว กับ จักรกลอีกครึ่งตัว เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่นักวิทยาศาสตร์อยากจะเห็นร่างกายทั้งหมดของมนุษย์ถูกแทนที่ด้วยจักรกล เป็นไปได้ไหมที่เราจะเหลือไว้แต่สมองเท่านั้นที่เป็นอวัยวะจริงของเรา แล้วแทนที่ส่วนอื่นๆ ทั้งหมดด้วยอวัยวะชีวกล ???

29 พฤศจิกายน 2552

Materials Intelligence - วัสดุปัญญา (ตอนที่ 5)


เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว เพื่อนๆ ของผมที่มหาวิทยาลัยมหิดล มีแผนการที่จะเปิดหลักสูตรวัสดุศาสตร์ (Materials Science) สำหรับระดับปริญญาโท และปริญญาเอก นตอนนั้นพวกเราคุยกันว่า หลักสูตรนี้จะมีจุดขายอย่างไร จะมีเอกลักษณ์อย่างไร และจะสู้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้หรือไม่ เพราะหลักสูตรวัสดุศาสตร์นี้มีมานานแล้วในประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหิดลทำช้ากว่าเขาตั้ง 20 ปีเลยเชียวครับ

ผมจึงเสนอว่า หลักสูตรที่พวกเราจะเปิดขึ้นนี้เราไม่ต้องไปแข่งกับมหาวิทยาลัยอื่นๆในประเทศหรอก แต่เราควรข้ามช็อตไปแข่งกับสิงคโปร์ไปเลย เพราะเป็นที่รู้กันว่าหลักสูตรของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) นั้นลอกแบบมาจาก MIT ซึ่งเป็นตักศิลาของโลกทางด้านนี้ หลักสูตรวัสดุศาสตร์แบบใหม่ที่มหิดลนี้ เราจะใช้ชื่อว่า Materials Science and Engineering เพราะเราจะไม่เล่นกับวัสดุโง่ (Dumb Materials) อีกแล้ว แม้แต่วัสดุฉลาด (Smart Materials) ก็ยังเจ๋งไม่พอ แต่พวกเราจะต้องไปวิจัยวัสดุที่เหนือขั้นไปอีก เพื่อนๆผมถามว่าแล้วมันคืออะไร ? พอผมพูดคำว่า "วัสดุปัญญา ....ไงล่ะน้อง" คนขำกลิ้งกันเกือบทั้งห้อง รวมทั้งตัวผมเองด้วย เพราะจริงๆ แล้ว ผมก็พูดสนุกๆ ไปอย่างนั้นเอง ยังไม่คิดว่าเราจะมี "ปัญญา" ทำวัสดุแบบนั้นหรอกครับ ......

แต่ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา จากการศึกษางานวิจัยของโลก ทางด้านชีววิทยาหลายๆ ด้านที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ชีวกลศาสตร์ วิศวกรรมเนื้อเยื่อ วิศวกรรมเซลล์ ประสาทวิศวกรรม ชีวพฤติกรรมศาสตร์ เป็นต้น ทำให้นานวันผมยิ่งมั่นใจในการมาถึงของ "วัสดุปัญญา" ที่ว่านี้ วันนี้เรายิ่งแน่ใจในเส้นทางของหลักสูตร Materials Science and Engineering ว่าจะต้องเดินไปตามเส้นทางเพื่อค้นหาวัสดุปัญญาที่ว่านี้


วัสดุปัญญาเป็นเรื่องของการบูรณาการศาสตร์หลายๆ ด้านทั้งฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยาของวัสดุ โดยเชื่อมโยงสมบัติเชิงรูปธรรม (Physical) ของมัน เข้ากับนามธรรม (ตรรกะ ความจำ เหตุผล เป็นต้น) ดังนั้นศาสตร์ทางด้านคณิตศาสตร์ และ คอมพิวเตอร์ จึงเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้วัสดุยุคหน้า ทำตัวเสมือนเป็นสิ่งมีชีวิต


ในตอนหน้าผมจะมาพูดถึงวัสดุปัญญารูปแบบหนึ่งครับ นั่นคือวัสดุวิวัฒน์ (Evolvable Materials) ครับ ......


25 พฤศจิกายน 2552

Kansei Engineering - วิศวกรรมอารมณ์


เมื่อครั้งที่ผมเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ และเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดลใหม่ๆ นั้น ผมได้ตระเวณหาซื้อรถเพื่อใช้งาน ก็ไปได้มาสด้า 323 มาหนึ่งคัน สีแดงเลือดหมู ใช้มาได้ 2-3 ปี ก็มีลูกคนแรก ผมก็เลยมาหาซื้อรถที่ออกแนวครอบครัวสักหน่อย ซึ่งก็มาลงตัวที่เชฟโรเล็ตซาฟิรา ภรรยาผมจึงขอรถมาสด้าไปใช้ ซึ่งเธอดูชอบเจ้ารถมาสด้าคันนี้มาก ออกจะรักมันเหมือนกับว่ามันเป็นสิ่งมีชีวิตเสียด้วยซ้ำ ส่วนผมนั้น รถก็คือรถ ขอให้ขับไปไหนมาไหนได้ก็พอ ผมไม่สนใจเท่าไหร่ว่ามันเป็นรถอะไร

อยู่มาวันหนึ่ง เจ้ารถมาสด้าที่มีอายุค่อนข้างมากแล้ว มันเกิดป่วยขึ้นมา ผมแนะนำว่าเธอควรเปลี่ยนรถได้แล้ว แต่เธอไม่ยอม ผมจึงต้องซื้ออะหลั่ยใหม่เพื่อมาเปลี่ยนเกือบทั้งคัน ราคาอะหลั่ยทั้งหมดที่เปลี่ยนไปนั้นแพงกว่ารถคันนี้ทั้งคันเสียอีก เธอบอกผมว่าผมจะซื้อรถคันใหม่ให้เธอก็ได้ แต่ขอให้เป็นมาสด้า และก็ขอเก็บคันเก่านี้ไว้ที่บ้านด้วย

ปัจจุบันนี้ ศาสตร์ทางด้าน Kansei Engineering หรือ วิศวกรรมอารมณ์ ได้ถูกนำมาใช้เพื่อออกแบบสินค้า ซึ่งมันสามารถที่จะจับอารมณ์ความรู้สึกของผู้ซื้อไว้ได้อยู่หมัด มาสด้าเป็นบริษัทหนึ่งที่ใช้วิศวกรรมอารมณ์อย่างซีเรียส ซึ่งจริงๆแล้ว บริษัทชั้นนำของโลกก็ใช้วิศวกรรมอารมณ์นี้ออกแบบสินค้าทั้งนั้น แต่ต่างเก็บงำเป็นความลับไม่ค่อยจะนำมาเปิดเผยกันหรอกครับ แต่ในทางวิทยาศาสตร์แล้ว วิศวกรรมอารมณ์เป็นเรื่องที่อธิบายได้ มีหลักการและเหตุผล ซึ่งหากวิจัยอย่างจริงจังจนมีศักยภาพในการใช้งาน ก็จะนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบแรงบันดาลใจ (Inspiration Economy) ได้ครับ

ก่อนหน้านี้ผมได้พูดถึงเศรษฐกิจแบบแรงบันดาลใจ ซึ่งเป็นโมเดลของระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่วางอยู่บนพื้นฐานของการมีแรงบันดาลใจของผู้ผลิต ไปโน้มน้าวให้ผู้บริโภคเกิดแรงบันดาลใจ รวมกระทั่งคู่แข่งขันให้สร้างสินค้ามาแข่งกันด้วย ระบบเศรษฐกิจแบบนี้จะมีแต่ความสนุกสนาน ร่าเริง เหมือนอยู่ในโลกการ์ตูน เป็นระบบเศรษฐกิจที่ไม่ว่าคนเราจะอยู่วัยไหนก็ตาม ก็จะเหมือนอยู่ในวัยเด็กเสมอ

คืนนี้ผมมาพักอยู่ที่ไร่องุ่น กรานมอนเต้ ที่เขาใหญ่ครับ มาทำงานวิจัยภาคสนาม 3 วัน อากาศหนาวเย็นสบายครับ อยากให้ท่านผู้อ่านมาเที่ยวแถวนี้บ้าง นี่ผมไม่ได้ใช้วิศวกรรมอารมณ์อยู่นะครับ แต่บรรยากาศตอนนี้ช่างดีจริงๆ .......

23 พฤศจิกายน 2552

The Future of Meat - อนาคตของอาหารเนื้อสัตว์ (ตอนที่ 6)


ตอนเด็กๆ ผมเคยครุ่นคิดว่า การที่คนเรารับประทานเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นการไปคร่าชีวิตผู้อื่น เพื่อที่จะนำเนื้อหนังของเขามาดำรงชีพนั้น เป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่ สัตว์เหล่านั้นจะต้องเจ็บปวดทรมานก่อนสิ้นลม โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่อย่างวัว ผมเคยเห็นมันร้องไห้กับตาตนเอง มันทุรนทุรายเพื่อหนีไม่ให้คนมาจับมันขึ้นรถไปโรงฆ่าสัตว์

นักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการบริโภคเนื้อสัตว์ ด้วยการทรมานชีวิตสัตว์ กำลังขวนขวายทำวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการปลูกเนื้อสัตว์ (in vitro meat) ซึ่งจะเป็นการได้เนื้อสัตว์มาจากการเพาะเลี้ยง เฉกเช่นเดียวกับการปลูกพืชให้ได้ผลผลิต การปลูกเนื้อสัตว์สามารถทำได้ด้วยการเพาะเลี้ยงเซลล์กล้ามเนื้อ ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นใยที่มีความสามารถในการยืด-หดตัว ซึ่งเซลล์เหล่านี้จะมีหลอดเลือดหล่อเลี้ยง และมีชั้นไขมันเพื่อเป็นแหล่งพลังงาน องค์ประกอบง่ายๆ เหล่านี้ทำให้นักวิจัยเชื่อว่า อีกไม่นาน เราน่าจะปลูกเนื้อสัตว์สำหรับการบริโภคในเชิงพาณิชย์ได้

การปลูกเซลล์กล้ามเนื้อจะทำในของเหลวที่มีสารอาหารต่างๆ เช่น กรดอะมิโน น้ำตาลกลูโคส เกลือแร่ และ ซีรั่มซึ่งเลียนแบบสารละลายของเลือด นักวิจัยต้องใช้วิธีกระตุ้นให้เซลล์กล้ามเนื้อเหล่านั้นเติบโต เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหว ออกกำลังกาย ที่ทำให้กล้ามเนื้อเจริญเติบโต ซึ่งวิธีการที่นิยมใช้กันตอนนี้ คือการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า และการใช้ฮอร์โมน ศาสตราจารย์ มาร์ค โพสต์ (Professor Mark Post) แห่งภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งไอน์โฮเฟน (Eindhoven University of Technology) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเดิมท่านเป็นหมอทางด้านหลอดเลือดหัวใจ (Angiogenesis) แล้วพลิกผันมาเป็นนักวิจัยชั้นนำทางด้านการปลูกสัตว์ไปแล้ว ซึ่งขณะนี้ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้จัดตั้งคอนซอร์เทียมขึ้นมา เพื่อจะเป็นผู้นำในการพัฒนาการปลูกเนื้อสัตว์ ซึ่งเนื้อไก่กำลังเป็นที่สนใจในสหภาพยุโรป ศาสตราจารย์ โพสต์ ท่านได้กล่าวว่า "ผมคิดว่าไม่น่าเกิน 10 ปี เราจะสามารถผลิตเนื้อไก่แบบนักเก็ตส์ ได้"


หากคำกล่าวของศาสตราจารย์ โพสต์ เป็นจริง อีก 10 ปี เราจะเริ่มเห็นการกีดกันทางการค้าจากสหภาพยุโรป เนื้อไก่จริงจะเริ่มถูกกีดกัน ด้วยข้อหาทรมานสัตว์ ไก่ส่งออกของไทยที่มีมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี (พ.ศ. 2551) คงจะหาอนาคตไม่เจอ ...........

21 พฤศจิกายน 2552

Body Electronics - อิเล็กทรอนิกส์บนผิวกายมนุษย์ (ตอนที่ 1)


เมื่อครั้งที่ผมกลับมาจากต่างประเทศ และเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ผมได้นำร่องใช้โทรศัพท์มือถือเป็นคนแรกของภาควิชา ในสมัยนั้น มักมีการพูดติดตลกว่า ถ้าซื้อโทรศัพท์มือถือก็ให้หามอเตอร์ไซค์เอาไว้คันหนึ่งด้วย เอาไว้ขี่หาคลื่น มือถือสมัยนั้นอันใหญ่มาก ต้องเหน็บไว้ที่เอว เวลาพกไปไหนมาไหนคนก็จะเห็นหมด ผมมักถูกแซวว่า ซื้อโทรศัพท์มือถือมาใช้ ก็ต้องหาคนมาโทรเข้าด้วยสิ ผมเคยเปรยๆ กับเพื่อนๆ ที่ทำงานว่า "คอยดูนะ อีกหน่อยคนจะเลิกใช้โทรศัพท์มีสาย (land line) ทุกคนจะใช้มือถือกันหมด บางคนใช้มากกว่า 1 เครื่องด้วยซ้ำไป"

จริงๆ แล้ว ก่อนหน้านั้น โทรศัพท์มือถือถูกเรียกว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่ เพราะมันมีขนาดใหญ่มาก ขนาดเท่ากับกระเป๋า size สัก A4 เลยครับ ซึ่งต้องหิ้วไปไหนมาไหน แต่ต่อมาขนาดมันเริ่มเล็กลงจนมีขนาดที่มือถือได้ ก็เลยเริ่มเรียกมือถือ แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนเราก็เริ่มรู้สึกว่ามันเกะกะ ยิ่งเวลาไปเที่ยวแล้วต้องพกอุปกรณ์ไปหลายตัว ทั้งโทรศัพท์มือถือ (2 เครื่อง) กล้องดิจิตอล จีพีเอส กล้องส่องทางไกล มันจะพะรุงพะรังมาก นี่จึงเป็นเหตุผลที่โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ พยายามที่จะบรรจุฟังก์ชันของกล้องดิจิตอล และ จีพีเอส เข้าไปในตัวเดียวกัน

หลังๆ นี้ ได้มีความพยายามนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าไปอยู่ในเสื้อผ้า ที่เรียกว่า Wearable Electronics หรือ อิเล็กทรอนิกส์ที่สวมใส่ได้ เราจะได้ไม่รู้สึกเป็นภาระที่ต้องหิ้วต้องถือ เพราะใช้วิธีการสวมใส่แทน ศาสตร์ทางด้านนี้บางทีก็เรียกว่า Textile Electronics (สิ่งทออิเล็กทรอนิกส์) บางทีก็เรียก e-Garment (อาภรณ์อิเล็กทรอนิกส์) หรือ e-Fabrics ศาสตร์ทางด้านนี้มีการวิจัยกันมาพอควรแล้วครับ แต่มีศาสตร์อีกด้านหนึ่งที่กำลังพัฒนาครับ คือ Implantable Electronics หรือ อิเล็กทรอนิกส์ที่ฝังบนผิวหนังหรือในร่างกายได้ ซึ่งจะทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายมนุษย์ เช่น โทรศัพท์ฝังในปาก เครื่องช่วยฟังฝังในหู ลิ้นหัวใจอิเล็กทรอนิกส์ จอภาพบนผิวหนัง แบตเตอรีจากเลือดมนุษย์ เป็นต้น ในงานประชุมวิชาการบางแห่งที่ผมเคยไปนั่งฟัง (ในต่างประเทศ) ก็มีคนมาเสนอผลงานการปลูกเซลล์ประสาทลงไปบนพอลิเมอร์นำไฟฟ้า โดยสามารถนำเอาสัญญาณจากเซลล์ประสาทมาใช้ประมวลผล ร่วมกับคอมพิวเตอร์ หรือ เอาสัญญาณจากเซลล์ประสาทมาขับเคลื่อนระบบกลไฟฟ้า (Mechatronics) ในช่วงหลังๆ นี้ผมสังเกตว่าประเทศที่สนใจเรื่องนี้มากเป็นพิเศษคือ สิงคโปร์ มีการประชุมแบบนี้จัดบ่อยๆ ที่สิงคโปร์ แล้วเขาก็ตีพิมพ์ผลงานทางด้านนี้ในวารสารวิชาการค่อนข้างถี่ ผมเดาเอาว่าเขากำลังคิดจะดึง Medical Hub (ศูนย์กลางการแพทย์) ไปจากบ้านเราในไม่ช้านี้ครับ

ผมจะเริ่มนำศาสตร์ทางด้านนี้มาเล่าให้ฟังเป็นตอนๆ นะครับ ......

20 พฤศจิกายน 2552

ECTI-CON 2010


ก่อนจะกลับไปรายการปกติ วันนี้ผมขอนำอีกการประชุมมาแนะนำครับ จากโซล มา เกียวโต แล้วก็ต้องกลับมาบ้านเรา ไปที่ เชียงใหม่ ครับ สถานที่จัดประชุมทั้ง 3 แห่งนี้ก็น่าไปไม่แพ้กันครับ งานประชุม ECTI-CON2010 นี้ย่อมาจาก The 7th International Conference of the Electrical Engineering/Electronics, Computer, Telecommunications and Information Technology (ECTI) Association โดยงานนี้ถือเป็นการประชุมครั้งสำคัญที่สุดประจำปีของวงการวิศวกรรมไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ เลยครับ ซึ่งผลงานที่นำเสนอจะได้รับการบรรจุเข้าไปในฐานข้อมูล IEEE Explore การประชุมนี้เปิดรับจำนวนผลงานจำกัดด้วยครับ บางปีก็รับประมาณ 70% ของจำนวนที่คนส่งเข้าไป หลังๆ นี้อาจจะเหลือเพียง 60% เท่านั้นครับ

ECTI-CON2010 จะจัดระหว่างวันที่ 19-21 พฤษภาคม 2553 ที่จังหวัดเชียงใหม่ หัวข้ออันเป็นที่สนใจของการประชุมนี้ ได้แก่

Area 1) Circuits and Systems: Analog Circuits, Digital Circuits, Mixed Signal Circuits, Nonlinear Circuits and Systems, Sensing and Sensor Networks, Filters and Data Conversion Circuits, RF and Wireless Circuits, Photonic and Optoelectronic Circuits, Low Power Design and VLSI Physical Design, Biomedical Circuits, Assembly and Packaging, Test and Reliability, Advanced Technologies (i.e. MEMS and Nano-electronic Devices);

Area 2) Computers and Information Technology: Computer Architecture, Computational Biology and Bioinformatics, Knowledge and Data Engineering, Learning Technologies, Multimedia Services and Technologies, Mobile Computing, Parallel/Distributed Computing and Grid Computing, Pattern Analysis and Machine Intelligence, Software Engineering, Visualization and Computer Graphics;

Area 3) Communication Systems: Communication Theory and Information Theory, Antenna and Propagation, Microwave Theory and Techniques, Modulation, Coding, and Channel Analysis, Networks Design, Network Protocols, and Network Management, Optical Communications, Wireless/Mobile Communications & Technologies;

Area 4) Controls: Control Theory and Applications, Adaptive and Learning Control System, Fuzzy and Neural Control, Mechatronics, Manufacturing Control Systems and Applications, Process Control Systems, Robotics and Automation;

Area 5) Electrical Power Systems: Power Engineering and Power Systems, Electromagnetic Compatibility, Energy Conversion, High Voltage Engineering and Insulation, Power Delivery, Power Electronics, Illumination;

Area 6) Signal Processing: Signal Processing Theory, Digital Signal Processing Algorithms, Digital Filter Design & Implementation, Array Processing, Adaptive Signal Processing, Audio, Speech, and Language Processing, Image Processing, Video Processing, Medical Signal Processing, Medical Imaging;

กำหนดส่ง paper (ฉบับเต็มนะครับ ไม่ใช่บทคัดย่อ) คือวันที่ 15 มกราคม 2553 ครับ ซึ่งจะไม่มีการเลื่อน พลาดแล้วพลาดเลย เพราะมีจำนวนคนส่งเยอะมากจนเขาไม่เลื่อนวันเดดไลน์ นอกเสียจากว่าระบบเซอร์เวอร์จะล่มใกล้ๆ กำหนด เขาก็อาจจะเลื่อนออกไปให้นิดหน่อยเท่านั้นครับ ......

18 พฤศจิกายน 2552

International Conference on Science and Technology of Synthetic Metals 2010



วันนี้ขอแนะนำอีก conference ต่อกันเลยนะครับ การประชุมนี้เป็นการประชุมที่จัดมาแล้ว 19 ครั้ง และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 20 ครับ เนื่องจากการประชุมนี้จัดทุกๆ 2 ปี ดังนั้น การประชุมนี้จึงมีอายุยาวนานถึง 40 ปีแล้วครับ ซึ่งการประชุมครั้งแรกนั้น เริ่มตั้งแต่เมื่อปรมาจารย์ทางด้านพลาสติกนำไฟฟ้าคือ Alan J. Heeger, Alan MacDiarmid and Hideki Shirakawa ได้รายงานการค้นพบพอลิเมอร์ที่มีคุณสมบัตินำไฟฟ้าได้ ซึ่งท่านทั้ง 3 ก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี ค.ศ. 2000

การประชุม International Conference on Science and Technology of Synthetic Metals 2010 นี้จะจัดที่เมืองเกียวโต เมืองประวัติศาสตร์มรดกโลก ซึ่งผมก็เคยไปเยือนเมืองแห่งนี้มาแล้วครับ เป็นเมืองที่น่ารักเหมือนเชียงใหม่ของเรา งานจะจัดระหว่างวันที่ 4-9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 สิ่งที่น่าสนใจสำหรับงานนี้ก็คือ มีนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกให้เกียรติมาพูดในงานหลายคน เช่น Professor Alan J. Heeger จะมาพูดเรื่องพอลิเมอร์นำไฟฟ้าเจเนอเรชั่นที่สาม Professor Sir Richard H. Friend ซึ่งดังมากเรื่องอุปกรณ์เปล่งแสงอินทรีย์ (Organic Light-emitting Device หรือ OLED) Professor Sumio Iijima ผู้ค้นพบท่อนาโนคาร์บอนก็มาพูดครับ แล้วก็มีคนดังรองลงมาอีกมากมายครับ

หัวข้อวิจัยที่เป็นที่สนใจของที่ประชุมนี้ ได้แก่
Inherently Conductive Polymers
Molecular and Polymeric Materials for Electronics, Optoelectronics, Photonics and Magnetics
Advanced Conjugated Materials and Technologies for Applications
Organic Conductors and Superconductors
Fullerenes, Carbon Nanotubes, Graphene and Related Nanostructures
Molecular Magnets and Organic Spintronics
Molecular/Polymer Transistors and Single Molecule Electronics
Organic ELs, Polymer LEDs and Displays
Energy Storage and Organic Photovoltaic Devices
Next-Generation Organic Materials and Device Applications
Supramolecules and Topological Materials
Self-Assemblies, Ordered and Super-Hierarchical Structures
Electrochemical Applications, Actuators and Sensors
Bio-Related Nanomaterials,Technologies and Applications


กำหนดส่งบทคัดย่อ ภายในวันที่ 29 มกราคม 2553 ครับ ผมกะว่าจะต้องไปงานนี้ให้ได้ครับ .......

IEEE Nano 2010 & Nano Korea 2010



วันนี้ผมขอนำการประชุมประจำปีทางด้านนาโนเทคโนโลยีที่สำคัญงานหนึ่ง มาฝากกันครับ โดยในปีนี้แวะกลับมาจัดที่ทวีปเอเชียอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งปกติผมก็จะเน้นเอาเฉพาะการประชุมแถวๆ ไม่ไกลจากบ้านเรามานำเสนอกันครับ การประชุมนี้มีชื่อว่า IEEE NANO 2010 (10th International Conference on Nanotechnology) ซึ่งในปีนี้มีความน่าสนใจขึ้นไปอีก เพราะไปจัดร่วมกับงาน NANO KOREA 2010 ทำให้งานนี้จึงมีทั้งการประชุมแบบวิชาการหนักๆ ร่วมกับการแสดงนิทรรศการทางด้านเทคโนโลยี และการแสดงสินค้าทางนาโนเทคโนโลยีในลักษณะเทรดแฟร์ด้วยครับ
IEEE NANO 2010 จะจัดระหว่างวันที่ 17-20 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นช่วงหน้าร้อนที่อากาศในเกาหลีจะค่อนข้างสบายๆ สถานที่ที่ใช้จัดคือ KINTEX เป็นศูนย์ประชุมนานาชาติในจังหวัด Gyeonggi-do (คยองกิ-โด) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงโซล และสนามบินนานาชาติอินชอน นั่งรถบัสหรือรถไฟประมาณ 70 นาที หัวข้องานวิจัยที่เป็นที่สนใจของการประชุมนี้ ก็คล้ายๆ กับปีก่อนๆ ได้แก่

Nanoelectronics (More Moore, More than Moore and Beyond-CMOS)
Nano-Optics, Nano-Photonics, Plasmonics, Nano-Optoelectronics
Nanofabrication, Nanolithography, Nano-Manipulation, Nanotools
Nanomaterials and Nanostructures
Nanocarbon, Nanodiamond, Graphene and CNT Based Technologies
Nano-Sensors and Nano-Membranes
Modeling and Simulation
System Integration (Nano/Micro/Macro), NEMS, and Actuators
Molecular Electronics, Inorganic Nanowires, Nanocrystals, Quantum Dots
Spintronics, Nanomagnetics
Nano-Bio Fusion, Nano-Biology, Nanomedicine
Nano-Circuits and Architectures, Reliability of Nanosystems
Nano-Robotics
Nano-Energy (Photovoltaics, Hydrogen Storage)
Nanotoxicalogy, Environment/Health/Safety (EHS)


ถ้าใครสนใจก็รีบเตรียมบทความที่จะส่งนะครับ กำหนดส่งบทคัดย่อคือวันที่ 1 มีนาคม 2553 สำหรับตัวผมเองจะไปอีกงานที่ญี่ปุ่นครับ แล้ววันหลังผมจะนำมาเล่าให้ฟังครับว่าเป็นงานประชุมอะไร งานที่ผมจะไปนี้ จัดที่เกียวโตครับ
(ภาพบน - รูปของสาวๆ โชนยอชิแด (Girls Generation) ซึ่งท่านผู้อ่านจะเห็นคัตเอาท์ใหญ่ของพวกเธอ ทันทีที่ก้าวย่างเข้าสู่อาคารผู้โดยสาร สนามบินนานาชาติอินชอน ปัจจุบัน สาวๆ เกาหลีได้รับการจัดอันดับว่าเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลกไปแล้ว)

16 พฤศจิกายน 2552

Illuminating Dress - ชุดราตรีเปล่งแสง


สวัสดีครับ ตอนนี้ผมกลับมาจากเจจู เรียบร้อยแล้วครับ ในช่วงที่อยู่เกาหลีนั้น ได้เห็นสาวๆ เกาหลีแต่งตัวกันสวยๆ บนใบหน้าของพวกเธอก็แต่งแต้มด้วยเครื่องสำอางหนาเตอะ พอกกันไม่รู้กี่ชั้น จนหน้าแทบจะเหมือนตุ๊กตา ผมเดินหลงเข้าไปในร้าน Etude (อ่านเป็นภาษาไทยว่า อิ-ตู-ดี้ หรือ อี-ตู-เด้ แต่บางคนก็อ่านง่ายๆ ว่า อี-ตูด) เห็นสาวพริตตี้เชียร์ของในร้าน ใส่ชุดน่ารัก น่ารัก เหมือนเทพนิยายในเรื่องซินเดอเรลลา บรรยากาศในร้านก็ออกแนวแฟนตาซี ผมถึงเพิ่งเข้าใจว่าทำไมวัยรุ่นไทยถึงชอบเครื่องสำอางแบรนด์นี้

นึกถึงร้านอิตูดี้ ก็อดเขียนเรื่องนี้ไม่ได้ครับ เพราะไม่กี่วันมานี้เอง ได้มีการเปิดตัวชุดราตรีเปล่งแสง ออกแนวแฟนตาซี เพราะชุดราตรีชุดนี้สามารถที่จะเปล่งแสงได้ เนื่องจากว่ามันถักทอขึ้นมาจากอุปกรณ์เปล่งแสง (Light Emitting Device) เล็กๆ จำนวนกว่า 24,000 ดวง ซึ่งหลอด LED นี้เป็นแบบแบนบาง และยืดหยุ่นได้นี้ มีขนาดเพียง 2 mm x 2 mm เท่านั้นครับ นักออกแบบเสื้อผ้าได้ถักทอมันเข้ากับตัวผ้าไหม ทำให้มันสามารถที่จะขยับไปมาได้ตามเนื้อผ้า ถึงแม้จะมีอุปกรณ์นี้ติดอยู่เป็นหมื่นดวง ก็ไม่ได้ทำให้เสื้อผ้านี้มีน้ำหนักผิดปรกติ อีกทั้งตัวชุดยังมีความพริ้วไหวเหมือนผ้าอีกด้วย

นี่คือตัวอย่างหนึ่งของสิ่งทออิเล็กทรอนิกส์ (Textronics, Textile Electronics หรือ Wearable Electronics) ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นที่สนใจของวงการสิ่งทอ และ แฟชั่น ครับ ซึ่งตอนนี้คนที่ทำวิจัยเรื่องนี้มากก็คือ เกาหลี กับ ไต้หวัน ส่วนเมืองไทยเรา เท่าที่ผมติดตามถามไถ่คนในวงการสิ่งทอ ก็ยังไม่ค่อยรู้จักเรื่องนี้กันเท่าไหร่ครับ

13 พฤศจิกายน 2552

The Science of Forgetting - ศาสตร์แห่งการลืม (ตอนที่ 5)




อย่าลืมฉัน...

อย่าลืมวันเชยชิดพิสมัย

อย่าลืมวันอำลาด้วยอาลัย

อย่าลืมใจที่สั่งว่า...อย่าลืมกัน


บทกลอนอันซาบซึ้งตรึงใจข้างบนนี้ มาจากนวนิยายเรื่อง "อย่าลืมฉัน" ที่ประพันธ์โดย ทมยันตี ผมจำได้ว่าตอนผมยังเป็นเด็กๆ นั้น นวนิยายเรื่องนี้เคยถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ผมยังจำได้อย่างแม่นยำด้วยว่า ผมรู้จักดอกไม้ที่มีชื่อว่า Forget Me Not จากหนังเรื่องนี้ และถ้าจำไม่ผิด นวนิยายเรื่องนี้ก็ได้ถูกนำมาทำเป็นละครที่แสดงโดยสิเรียม (สมัยยังสาวๆ) กับ พีท ทองเจือ (สมัยยังเป็นวัยรุ่น) นวนิยายอมตะที่มีอายุยาวนานมากกว่า 2 ทศวรรษเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าก็ยังขายได้อีกนาน เพราะเรื่องราวเกี่ยวกับ "ความทรงจำ" และ "การหักใจให้ลืม" นั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องใช้ชีวิตอยู่กับมัน บางคนไม่สามารถลืมความเจ็บปวดกับเรื่องราวในอดีตได้ ในขณะที่หลายๆ คน ไม่สามารถจดจำเรื่องราวดีๆ กับแฟนเก่าตอนเป็นวัยรุ่นได้ เพราะลืมไปหมดแล้ว ....


นักวิทยาศาสตร์สนใจในเรื่องกลไกเกี่ยวกับความจำ และ การลืมสิ่งต่างๆ เพราะความรู้ในเรื่องนี้มีประโยชน์มากมาย ทั้งในเรื่องของการรักษาโรค และการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ช่วงหลังๆ นี้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว เริ่มมีมากขึ้นและเป็นไปอย่างเร็วขึ้นครับ ตอนผมเป็นเด็ก พ่อแม่ของผมมักจะเอาน้ำมันตับปลามาให้พวกเราทาน โดยท่านบอกว่า กินน้ำมันตับปลาจะช่วยให้ทานอาหารได้มากๆ ซึ่งผมก็เชื่อว่ามันได้ผลจริงๆ เพราะผมมักจะต่อรองว่าถ้าผมสามารถทานข้าวได้เยอะ ด้วยตัวเอง ขอไม่กินน้ำมันตับปลาจะได้ไหม แต่ท่านก็มักจะพูดต่ออีกว่า ทานน้ำมันตับปลาจะช่วยให้สมองดี สมองโตเร็ว ความจำจะได้ดี


ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์เคยเชื่อว่า การที่เซลล์สมองมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นนั้น จะช่วยทำให้พวกเรามีความจำที่ดีขึ้น แต่ผลการวิจัยล่าสุดที่รายงานในวารสาร Cell ฉบับวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 (รายละเอียดเต็มคือ Takashi Kitamura, Yoshito Saitoh, Noriko Takashima, Akiko Murayama, Yosuke Niibori, Hiroshi Ageta, Mariko Sekiguchi, Hiroyuki Sugiyama and Kaoru Inokuchi, "Adult Neurogenesis Modulates the Hippocampus-Dependent Period of Associative Fear Memory", Cell (2009) vol. 139, pp. 814-827) กลับนำเสนอในสิ่งที่ขัดแย้งกับความเชื่อที่มีมาในอดีตครับ โดยนักวิจัยกลุ่มนี้ได้พบว่า การเพิ่มจำนวนของเซลล์สมองใหม่ๆ นั้น จะไปทำลายการเชื่อมต่อของเส้นใยประสาทที่มีอยู่เดิม นั่นคือ ยิ่งมีเซลล์ใหม่ๆ เกิดขึ้น มันก็จะไปทำลายสายใยประสาทเก่าๆ ที่เชื่อมเซลล์สมองเก่าๆ ไว้ด้วยกัน ความหมายก็คือ เราก็จะลืมสิ่งที่เราเคยเก็บข้อมูลไว้ นักวิจัยได้อธิบายว่า การที่สายใยเชื่อมโยงเซลล์สมองเดิมถูกทำลายลงไป ทำให้คนๆนั้น สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เพิ่มเติมมากว่าคนที่ไม่มีการเพิ่มจำนวนของเซลล์สมอง ดังนั้นหากน้ำมันตับปลาช่วยให้สมองเติบโต มันก็น่าจะทำให้เรากลายเป็นคนขี้ลืม แต่มีความสามารถในการเรียนรู้เป็นเลิศ ???

คืนนี้ผมยังอยู่ที่เกาะเจจูครับ พรุ่งนี้ก็จะกลับเมืองไทยแล้วครับ ที่พักของผมอยู่ติดทะเล มองออกไปที่ทะเลตอนนี้ ยิ่งทำให้คิดถึงบ้านครับ .....

12 พฤศจิกายน 2552

เสริมสร้างขวัญทหาร ด้วยวิทยาศาสตร์ชีวภาพ


หายไปหลายวันครับ ช่วงสัปดาห์นี้ผมมาอยู่ที่เกาะเจจู เกาหลีใต้ครับ ช่วงนี้ที่เกาหลีอากาศเริ่มเย็นลงมากแล้วครับ แถมมีลมแรงด้วย วันนี้ผมขอนำเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับการนำศาสตร์ทางด้านวิทยาศาสตร์การรับรู้ ประสาทวิทยา และชีวเคมี ไปใช้ในทางทหารมาเล่าให้ฟังครับ อย่างที่ผมพูดเสมอครับว่า ศตวรรษนี้เป็นช่วงเวลาของ Materials-Mind-Man-Machine Integration หรือ การบูรณาการระหว่าง วัตถุ-จิตใจ-คน-จักรกล ซึ่งเทคโนโลยีทางด้านนี้เริ่มพัฒนาจนเห็นรูปธรรมแล้วครับ ......

ในปี พ.ศ. 2127 องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงยกทัพไปปราบเมืองเชลียง ซึ่งเป็นหัวเมืองของไทยที่หันไปสวามิภักดิ์กับพม่า ระหว่างนั้นพระองค์ได้ชุมนุมทัพ ณ วัดศรีชุม จ. สุโขทัย เนื่องจากการรบครั้งนี้เป็นการรบระหว่างคนไทยด้วยกัน ทำให้ทหารไม่อยากรบและขาดความฮึกเหิมอย่างยิ่ง ระหว่างที่แม่ทัพนายกองต่างนั่งประชุมกันอยู่ที่อุโบสถวัดศรีชุมนั้น องค์พระนเรศได้ออกอุบายให้มหาดเล็กคนสนิท ปีนขึ้นไปทางด้านหลังพระประธานองค์ใหญ่ ซึ่งรู้จักในกาลต่อมาว่า หลวงพ่ออจนะ (พระพุทธอจนะ) หรือที่เรามักเรียกท่านว่า "หลวงพ่อพูดได้" โดยมหาดเล็กได้เปล่งเสียงออกมาว่า ในการศึกครั้งนี้พวกเจ้าจงรบเถิดและจงมีชัยชนะ เสียงดังก้องในอุโบสถเวลานั้นได้ทำให้ทหารเกิดขวัญและกำลังใจ จนนำมาซึ่งชัยชนะเหนือเมืองเชลียงในที่สุด

กองทัพอากาศสหรัฐฯกำลังสนใจศึกษาว่า กำลังใจของทหารคืออะไร ทำไมทหารบางคนถึงมีความเข้มแข็ง ฮึกเหิม และสามารถผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ ต่างๆ มาได้โดยไม่เสียขวัญ โครงการหนึ่งที่มีชื่อว่า Biobehavioral Performance ซึ่งเป็นการศึกษาสมอง และชีววิทยา ของทหารกลุ่มหนึ่งที่มีความอึดเป็นพิเศษ เพื่อดูว่าทหารเหล่านี้มีโครงสร้างชีวเคมีในร่างกายอย่างไร ถึงได้ทนทานความเครียดและแรงกดดันทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ได้เหนือทหารกลุ่มอื่นๆ ซึ่งกองทัพอากาศ หวังว่าจะสามารถหาโมเลกุลที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาทำเป็นยา สำหรับช่วยให้ทหารกลุ่มปกติ สามารถที่จะมีความสามารถแบบนั้นได้บ้าง โดยเฉพาะนักบินรบ ซึ่งต้องการบุคคลที่สามารถทำหน้าที่ในขีดสมรรถนะสูงสุดของมนุษย์


ล่าสุดทางกองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้ออกมาประกาศสนับสนุนทุนวิจัย แก่คณะวิจัยที่สามารถค้นคว้าหากลไกในสมอง ที่อธิบายการเกิดขวัญกำลังใจของทหารได้ รวมไปถึงงานวิจัยที่จะสร้างเทคโนโลยีที่สามารถทำลายขวัญข้าศึก ทำให้ข้าศึกเกิดความรู้สึกกลัว หรือไม่อยากรบ หรือทำให้ข้าศึกเกิดการเสื่อมถอยทางจิตใจ จนนำไปสู่การยอมแพ้หรือเลิกรบ

08 พฤศจิกายน 2552

Inspiration Economy - เศรษฐกิจแบบแรงบันดาลใจ (ตอนที่ 1)


หมู่นี้ผมได้ข่าวท่านนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะไปปาฐกถาตามงานต่างๆ ซึ่งท่านพูดถึงเรื่อง Creative Economy หรือ เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ บ่อยมาก นัยว่าในมุมมองของท่านนั้น คนไทยเราน่าจะมีความคิดสร้างสรรค์ค่อนข้างดี เศรษฐกิจแบบนี้จึงน่าจะเหมาะกับบ้านเรามากกว่า Knowledge-Based Economy หรือเศรษฐกิจฐานความรู้ ซึ่งเคยถูกใช้เป็นเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนสังคมไทย ในยุคของนายกรัฐมนตรีคนก่อน คือ พตท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร แต่ในที่สุด พวกเราเองคงจะรู้ตัวว่า สังคมไทยเป็นสังคมฐานความรู้ไม่ได้ เพราะเรายังไม่มีศักยภาพในการผลิตความรู้ขึ้นใช้เอง เนื่องจากสังคมของเรายังอ่อนแอ ในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งโดยทั่วไป เขามักจะวัดกันที่ผลงานตีพิมพ์ระดับสากล และการจดสิทธิบัตร ซึ่งเรายังแพ้ประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์

เท่าๆที่ผมติดตามข่าวท่านนายกฯ ไปพูดที่นั่นที่นี่ ผมถึงเพิ่งเข้าใจความหมายของ Creative Economy ที่ท่านนายกฯ กำลังพูดถึง เพราะท่านเน้นความเป็นไทย อันได้แก่ ความสามารถด้านศิลปะต่างๆ งานหัตถกรรม จิตรกรรม วิจิตรศิลป์ และอื่นๆ ที่เราสั่งสมมาจากสมัยโบราณ ไม่ใช่ Creative Economy ที่อยู่บนฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่เป็น Creative Economy ที่อยู่บนฐานของศิลปวัฒนธรรม ที่เป็นจุดเด่นของประเทศเรา ซึ่งอันที่จริงก็เป็นสิ่งที่น่าจะถูกต้องครับ เพียงแต่ สินค้าที่เราคิดว่า creative ต่างๆ นี้ มันสามารถที่จะส่งออกไปยังตลาดโลกได้จริงหรือไม่ ? ตลาดต่างๆ นอกประเทศไทยจะพึงพอใจสินค้าทางด้านศิลปวัฒนธรรมของเรามากเพียงใด เราจะแข่งกับสินค้าอารมณ์จากเกาหลีได้หรือ ???

Creative Economy วางจุดโฟกัสที่ตัวผู้ผลิตสินค้าว่าต้องมีความคิดสร้างสรรค์สูง ผลิตสิ่งที่เป็นของใหม่ๆ มีความโดดเด่น เป็นตัวของตัวเอง ในขณะที่เศรษฐกิจอีกแบบที่ผมกำลังจะพูดถึงนี้คือ Inspiration Economy จะวางจุดโฟกัสที่ผู้ซื้อครับ เพราะเศรษฐกิจแบบนี้ ตัวสินค้าจะไปสร้างแรงบันดาลใจให้ตลาด ให้ผู้ซื้อเกิดความอยากได้ รวมถึงไปสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ผลิตเจ้าอื่น อยากทำตาม อยากพัฒนาตัวสินค้าใหม่ๆ ที่ตอบสนองแรงบันดาลใจเหล่านี้ เป็นเศรษฐกิจที่มีแรงลอยตัว และหนุนให้เกิดการสร้างสรรค์ ทั้งคนผลิตและคนใช้ หลายๆ ประเทศที่มีนวัตกรรมสูง อย่างประเทศสแกนดิเนเวีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น กำลังมุ่งสู่เศรษฐกิจแนวนี้ครับ ซึ่งวิทยาศาสตร์ทางด้านจิตใจ และ ประสาทวิทยา สามารถให้เหตุผลได้ ในตอนหน้าผมจะมาเล่าให้ฟังครับ ว่าการเข้าใจสมองมนุษย์ และศาสตร์การรับรู้ของคน ทำให้เราสามารถสร้างสินค้าแบบบันดาลใจได้ ......

06 พฤศจิกายน 2552

Science of Meme - ศาสตร์แห่งการเอาอย่างกัน (ตอนที่ 3)



ปัญหาสังคมหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการเอาอย่างกัน เช่น การที่เด็กวัยเรียนสมัยนี้นิยมเช่าอพาร์ทเม้นท์ อยู่ด้วยกันฉันท์สามี-ภรรยา ทั้งๆ ที่ยังอยู่ในวัยเรียน และไม่ได้แต่งงานกัน การที่คนสมัยนี้ชอบมีกิ๊กโดยไม่คิดว่ามันเป็นสิ่งที่ผิดศิลธรรม การเต้นโคโยตี้ในที่สาธารณะเช่น มอเตอร์โชว์ ทั้งๆ ที่ในสมัยก่อนมันก็คือจั๊มบ๊ะ ที่ต้องทำในสถานที่ที่ต้องขออนุญาตด้วยซ้ำ การที่เด็กมัธยมต้องไปกวดวิชาเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ฯลฯ ดังนั้นการเข้าใจศาสตร์ของ meme จะอาจทำให้เรามองเห็นทางออกที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ครับ ......

กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ได้ให้ความสนใจและศึกษาเรื่อง meme สำหรับการทหารมานานแล้ว เพนทากอนเชื่อว่า ลัทธิการก่อการร้าย การลอบโจมตีทหารสหรัฐฯ ทั่วโลก กระแสการเกลียดชังความเป็นอเมริกัน ต่างๆ เหล่านี้ก็คือ memeอย่างหนึ่ง มันสามารถถ่ายทอดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง แพร่กระจายไปได้เหมือนไวรัส การเข้าใจ meme ทำให้เพนทากอนสามารถออกแบบ แนวทางแก้ปัญหาได้ ก่อนหน้านี้ผมเคยนำเรื่องที่ว่า เพนทากอนได้มีโครงการให้นักมานุษยวิทยา ติดตามหน่วยทหารออกไป ซึ่งนักมานุษยวิทยานี้จะทำหน้าที่แนะนำการปฏิบัติตนของหน่วยทหารต่อชาวบ้านให้ถูกต้อง ตามขนบประเพณีที่แตกต่างกันไปของแต่ละชุมชน โครงการนี้มีชื่อว่า Human Terrain System ซึ่งจะทำให้ทหารสหรัฐฯ มีแผนที่ทางด้านมนุษย์สังคม ของพื้นที่สงคราม



นักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อว่า meme มีจริง คิดว่า meme ก็เหมือน gene ซึ่งสามารถถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปสูอีกรุ่นหนึ่งได้ meme สามารถจะขยายตัวโดยการถูกก๊อปปี้จากสมองมนุษย์คนหนึ่ง ไปสู่อีกคนหนึ่ง แน่นอนว่าระหว่างการทำซ้ำนี้ meme จะถูกถ่ายทอดไปไม่เหมือนเดิมเปี๊ยบ มันจะมี error เกิดขึ้น แถมคนที่ถ่ายทอดมันไปอาจจะใส่อะไรเข้าไปให้ผิดเพี้ยน meme จึงกลายพันธุ์ได้เหมือน gene ซึ่งเมื่อมันถูกถ่ายทอดไปสักระยะหนึ่ง มันจะมีหลายเวอร์ชัน ซึ่งมันก็จะแข่งขันกันเอง meme ตัวไหนเก่งกว่าก็จะอยู่นานกว่า หรือสามารถที่จะยึดครองพื้นที่ของสมองมนุษย์ได้มากกว่า นักวิทยาศาสตร์พยายามจะวิศวกรรมเจ้า meme นี้ จนเกิดศาสตร์ที่เรียกว่า Memetics Engineering ซึ่งเป็นศาสตร์ของการทำให้เกิด meme ขึ้น เพื่อที่จะให้เจ้า meme นี้แพร่ขยายไปในสังคม จนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของหมู่คนในสังคมได้ ทั้งนี้คนกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่า เพนทากอนได้ใช้ วิศวกรรมมีม นี่แหล่ะ เพื่อให้คนอเมริกันสนับสนุนการบุกโจมตีอัฟกานิสถาน หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001

04 พฤศจิกายน 2552

Smart Vineyard - ไร่องุ่นอัจฉริยะ (ตอนที่ 2)


2-3 วันนี้ ผมมาทำงานที่ไร่องุ่นกรานมอนเต้ เขาใหญ่ เมื่อคืนนี้อากาศเย็นมากครับ กลางคืนเหลือเพียง 18 องศาเซลเซียส ซึ่งก็ถือว่าเย็นครับ สำหรับอากาศในช่วงต้นฤดูหนาวของเดือนพฤศจิกายน วันนี้ผมขอพูดถึงเรื่อง smart vineyard หน่อยนะครับ ไหนๆ ก็มาทำงานอยู่ที่นี่แล้ว

เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่าน (25-28 ตุลาคม 2552) ลูกศิษย์ของผมคือคุณสบู่ และ เพื่อนร่วมงานคือ ดร.อดิสร แห่ง NECTEC ได้มีโอกาสไปเสนอผลงานและร่วมการประชุม IEEE Sensors 2009 ที่เมือง Christchurch ประเทศนิวซีแลนด์ คนที่อยู่ในวงการเซ็นเซอร์จะทราบดีว่าการประชุมนี้เป็นสุดยอดของศาสตร์นี้เลยก็ว่าได้ ทุกๆ ปีจะมีนักวิทยาศาสตร์และวิศวกร มาเสนอผลงานกว่า 600 เรื่อง ปกติก็จะมีคนส่งผลงานมาประมาณ 1,000 กว่าเรื่องขึ้นไป แต่เขาจะรับแค่ไม่เกิน 500-600 เรื่องเท่านั้น ทางคณะวิจัยของเพื่อนๆ เราก็ส่งผลงานไปที่ประชุมนี้หลายเรื่องครับ แต่ผลก็คือ เขาตอบรับให้ไปเสนอแค่ไม่กี่เรื่องเท่านั้น หนึ่งในเรื่องที่เขาตอบรับก็คือ เรื่องเกี่ยวกับ smart vineyard นี่แหล่ะครับ นั่นแสดงว่า ผลงานวิจัยทางด้านนี้ของคนไทย เข้าตากรรมการชาวต่างชาติแล้ว ....

ผลงานที่เรานำไปเสนอนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตรวจวัดสภาพภูมิอากาศย่อยๆ ที่เรียกว่า microclimate ในไร่องุ่น ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่ว่า ในอาณาบริเวณของไร่องุ่นไร่หนึ่งๆ นั้น พื้นที่ในแต่ละแปลง มีสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน ซึ่งจะมีผลต่อการเจริญเติบโตขององุ่น ทำให้องุ่นมีอัตราการเติบโตแตกต่างกัน ให้ผลผลิตแตกต่างกันได้ เช่น ในพื้นที่ 100 ไร่ของไร่องุ่นกรานมอนเต้นี้ ถึงแม้จะเป็นไร่เดียวกันก็ตาม แต่เราพบว่าในช่วงกลางวัน แปลงที่อยู่กลางไร่จะมีอุณหภูมิสูงกว่า แปลงที่อยู่ใกล้แนวเชิงเขา 2 องศาเซลเซียส และในตอนกลางคืนช่วงเดือนมกราคม แปลงที่อยู่กลางไร่ จะแห้ง (ความชื้นสัมพัทธ์ 60%) กว่าแปลงที่อยู่ใกล้เชิงเขา (ความชื้น 90%) ส่งผลให้แปลงใกล้เชิงเขาเสี่ยงต่อโรคมากกว่า ยกเว้นในช่วงที่มีที่ลมแรง (20 - 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ซึ่งจะทำให้ความชื้นของแปลงติดเชิงเขาลดลงมาใกล้เคียงกับแปลงอื่นๆ ความรู้ที่ได้จากการศึกษานี้ ทางด้านเจ้าของไร่ คือ คุณวิสุทธิ์ โลหิตนาวี ได้ให้ความสนใจและนำไปใช้เพื่อดูแลแปลงดังกล่าวอย่างใกล้ชิดในช่วงฤดูองุ่นออกลูกนี้ด้วยครับ


ผลงานที่เรานำไปเสนอในที่ประชุมวิชาการนั้น เป็นเพียงข้อมูลบางส่วนที่เราเปิดเผยได้เท่านั้นครับ ซึ่งลูกศิษย์ผมบอกว่า ในการประชุมนี้มี paper ทางด้านเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สายไปเสนอกันนับร้อย หลังการนำเสนอมีโปรเฟสเซอร์ญี่ปุ่นและฝรั่ง ได้เข้ามาคุยกับลูกศิษย์ และแสดงความสนใจในงานวิจัยของคนไทย ซึ่งเขาก็อยากรู้ว่าเมืองไทยทำอะไรไปบ้างแล้ว งานวิจัยนี้เป็นตัวอย่างของเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ในประเทศเขตร้อน ซึ่งจะทำให้คนไทยเราเข้าไปมีส่วนในศาสตร์ทางด้านนี้ แข่งกับประเทศอื่นเขาครับ

ทริปหน้าที่จะมาทำงานที่ไร่ ผมค่อยมาเล่าให้ฟังต่อนะครับ .....

03 พฤศจิกายน 2552

Plant Intelligence - ต้นไม้ไม่ได้โง่ (ตอนที่ 9)


ช่วงนี้ผมมาทำงานภาคสนามที่ไร่องุ่นกรานมอนเต้ อ.ปากช่อง ครับ อากาศเริ่มหนาวเย็น ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่านที่ไร่ กำลังค่อนข้างแรง ผมนอนอยู่ที่ไร่ ออกไปเดินเล่น ถึงกับหนาวสั่นเลยครับ

วันนี้ผมขอกลับมาพูดเรื่องความฉลาดของพืช ซึ่งกำลังเป็นศาสตร์ที่มาแรง เพราะเดิมนั้น ความรู้แบบบ้านๆ (Conventional Wisdom) บอกเราว่า พืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีจิตใจ จึงไม่มีความฉลาดแต่อย่างไร ตอนนี้ก็เป็นตอนที่ 9 แล้วนะครับ แรกๆที่ผมเขียนถึงเรื่องนี้ ก็ไม่คิดว่าจะพูดเรื่องนี้ได้นานขนาดนี้หรอกครับ แต่กลับพบว่ารายงานวิจัยใหม่ ก็มีออกมาตลอดเกี่ยวกับศาสตร์ทางด้านนี้

ล่าสุดมีรายงานวิจัยเกี่ยวกับความสามารถในการระลึกรู้เครือญาติของพืช ปรากฏในวารสารวิจัย Communicative and Integrative Biology (รายละเอียดเต็มเพื่อการอ้างอิงคือ Meredith L. Biedrzycki, Tafari A. Jilany, Susan A. Dudley and Harsh P. Bais, "Root exudates mediate kin recognition in plants", Communicative and Integrative Biology (2010), vol. 3, pp. 1-8) ซึ่งสิ่งที่รายงานนี้น่าตื่นเต้นมากครับ เพราะนักวิจัยพบว่าพืชรู้จักที่จะอาศัยอยู่กับญาติของมันอย่างประนีประนอม มีการร่วมกันใช้ทรัพยากรอย่างเป็นมิตร โดยหลีกเลี่ยงการชิงดีชิงเด่น !!!

นักวิจัยได้ศึกษาพืชชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Arabidopsis ซึ่งเป็นพืชที่มีการศึกษามากที่สุดชนิดหนึ่ง โดยในการศึกษาครั้งนี้ ได้ทำการสังเกตต้นพืชที่โตจากเมล็ดจำนวนมากถึง 3,000 เมล็ด ทั้งนี้พืชที่เมล็ดเกิดจากแม่ต้นเดียวกัน เวลามันเติบโต มันจะพยายามหลบหลีกกัน ไม่แย่งอาหารกัน การเจริญเติบโตของรากแต่ละต้นก็จะเป็นไปด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน เสมือนดั่งว่ามันเอื้ออาทรต่อกัน ในขณะที่รากของต้นพืชที่มาจากเมล็ดที่เกิดจากคนละแม่ มันจะไม่เกรงใจกัน การเจริญของรากจะเป็นไปอย่างก้าวร้าว แข่งขันเพื่อให้ได้อาหารมากที่สุด สำหรับต้นพืชที่มาจากแม่เดียวกัน แม้แต่ใบของมัน ยังพยายามหลีกๆ กันเลยครับ นักวิจัยได้สืบเสาะจนได้เบาะแสว่า รากของต้นพืชได้ปล่อยสารเคมีบางชนิดออกมา ซึ่งทำให้มันสามารถที่จะระลึกรู้หมู่ญาติของมันได้


ผมมีลูก 2 คนครับ ทุกๆครั้งที่ผมเห็นเขาทั้งสองทะเลาะกันแล้ว ก็อดนึกถึงการรู้จักรักพี่รักน้องของ Arabidopsis ไม่ได้ .....

01 พฤศจิกายน 2552

Artificial Sense - สัมผัสประดิษฐ์ (ตอนที่ 3)


ในช่วงที่ผมเดินทางพาครอบครัวไปพักผ่อนที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน นั้น ตอนขากลับผมได้มีโอกาสเข้าไปเที่ยว อะควอเรียม ของสวนสัตว์เชียงใหม่ ซึ่งเป็นอะควอเรียมที่ทำได้ดูดี ไม่ได้ด้อยไปกว่าอะควอเรียมของสยามพารากอน และของพัทยานัก โดยเฉพาะอุโมงค์ลอดใต้น้ำของที่นี่ถือว่ายาวที่สุดเท่าที่ผมเคยไปดูมา ก็ว่าได้ครับ

เดินไปเดินมา ผมได้ไปสะดุดตาเข้ากับปลาน้ำจืดของไทยชนิดหนึ่ง นั่นคือ ปลาหนวดพราหมณ์ มันมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Polynemus paradiseus และอยู่ในวงศ์ปลากุเรา (Polynemidae) ปลาชนิดนี้มีหนวดจำนวนมาก ประมาณว่า 20 เส้น หนวดบางเส้นยาวมาก ประมาณยาวกว่าลำตัวเกือบ 2 เท่า ผมถามเจ้าหน้าที่แถวนั้นว่า ทำไมมันถึงมีหนวดเยอะขนาดนี้ หนวดของมันมีไว้เพื่ออะไร เจ้าหน้าที่เขาบอกกับผมว่า ปลาชนิดนี้ตาไม่ค่อยดี มันอาศัยหนวดเป็นเครื่องช่วยในการหาอาหาร และรักษาการทรงตัว ผมเข้าใจว่าหนวดของมันคงมีเซ็นเซอร์รับสัมผัส ซึ่งจะทำให้มันสามารถจับความเคลื่อนไหวของสายน้ำ ซึ่งก็จะเป็นตัวบอกมันว่ามีความเคลื่อนไหวของอาหาร หรือ ศัตรูของมันหรือไม่

ศาสตร์ของสัมผัสประดิษฐ์กำลังเป็นที่สนใจกันทั่วโลกครับ มนุษย์เรามีสัมผัสเพียง 5 อย่าง แต่เราอยากมีมากกว่านั้น นี่เป็นเหตุผลที่เราต้องศึกษาประสาทสัมผัสของสัตว์ เพื่อที่จะทำให้เราสามารถสร้างเทคโนโลยีสัมผัสประดิษฐ์ เพื่อที่เราจะได้มีสัมผัสที่ 6 ขึ้นมาครับ คณะวิจัยของผมก็ทำการศึกษาเรื่องสัมผัสประดิษฐ์นี้ ขณะนี้เราได้พัฒนาเทคโนโลยี จมูกอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic nose) ลิ้นอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic tongue) และ กายสัมผัสอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic skin)

ในวงการวิจัยเซ็นเซอร์ เราอาจแบ่งเซ็นเซอร์ออกได้ 3 ประเภทได้แก่
(1) Physical sensor - เซ็นเซอร์กายภาพ เช่น เซ็นเซอร์วัดแสง อุณหภูมิ ความชื้น เสียง สนามแม่เหล็ก สนามไฟฟ้า คลื่นวิทยุ เป็นต้น
(2) Chemical sensor - เซ็นเซอร์เคมี เช่น เซ็นเซอร์ตรวจวัด pH เซ็นเซอร์ตรวดกลิ่น ก๊าซ สารเคมี เป็นต้น
(3) Biosensor - เซ็นเซอร์ชีวภาพ เช่น เซ็นเซอร์ตรวจเชื้อโรค ดีเอ็นเอ เป็นต้น


แต่ขณะนี้เซ็นเซอร์อีกประเภทกำลังมาแรงครับ นั่นคือ Biophysical sensor ซึ่งเป็นเซ็นเซอร์กายภาพที่อาศัยหลักการของสิ่งมีชีวิต ซึ่งศาสตร์นี้เพิ่งอยู่ในขั้นเบบี๋ เพราะเรายังมีความรู้ด้านนี้ไม่มาก ยังต้องการงานวิจัยพื้นฐานทางนี้อีกเยอะ ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือระหว่างนักฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา รวมทั้งวิศวกรด้วยครับ ......

31 ตุลาคม 2552

The Science of Mate Poaching - วิทยาศาสตร์ของการมีกิ๊ก (ตอนที่ 3)

การที่คนไทยสมัยนี้นิยมมีกิ๊ก (ซึ่งคนสมัยก่อนเรียกว่า "ชู้") ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นแค่ในบ้านเราเท่านั้นครับ ประเด็นนี้เป็นปัญหาระดับโลกไปแล้ว และนักวิทยาศาสตร์ก็กำลังหาคำตอบอยู่ครับว่า การกิ๊กกันนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วทำไมคนเราถึงชอบกิ๊กกัน


นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งนิยามของการมีกิ๊กไว้ดังนี้ครับ (อ้างอิงจากวารสารวิชาการ Schmitt, D. P., & Buss, D. M. (2001). Human mate poaching: Tactics and temptations for infiltrating existing mateships. Journal of Personality and Social Psychology, 80, 894-917) "กิ๊กคือรูปแบบของความสัมพันธ์สิเน่หา ที่เกิดขึ้นเมื่อฝ่ายหนึ่งพยายามที่จะดึงดูดอีกฝ่ายหนึ่งให้เข้ามาเป็นคู่รัก โดยที่ฝ่ายนั้นมีแฟนหรือมีคู่ครองแล้ว" ในตอนที่แล้ว ผมได้พูดถึงข้อมูลจากผลงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งเปิดเผยว่า หญิงโสดนี่แหล่ะ คือจุดเริ่มต้นของการเกิดกิ๊กมากที่สุด


หนังสือที่น่าสนใจเล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า Why Women Have Sex แต่งโดยจิตแพทย์ชาวอเมริกัน ดร. ซินดี เมสตัน (Cindy Meston) และนักจิตวิทยาวิวัฒนาการ ดร. เดวิด บุซ (David Buss) ซึ่งเพิ่งออกวางจำหน่ายไม่นานมานี้เอง (28 กันยายน 2552) ได้ทำการวิจัย เพื่อค้นหาเหตุผลที่ผู้หญิงมีเซ็กซ์ ทั้งนี้จากการสำรวจ และ สัมภาษณ์ ผู้หญิงจำนวน 1,006 คน ได้ผลออกมาอย่างน่าตื่นตะลึง เพราะว่าเหตุผลที่ผู้หญิงใช้ในการมีเซ็กส์นั้น มีได้มาก หลากหลาย จนแทบไม่น่าเชื่อ ซึ่งนักวิจัยทั้งสองนี้ ได้รวบรวมมาได้มากถึง 237 ข้อ อาทิ เพื่อโปรโมตตำแหน่ง เพื่อเงิน เพื่อยา เพื่อต่อรองแลกเปลี่ยน เพื่อแก้อาหารปวดหัวไมเกรน เพื่อแก้แค้นแฟนเก่า เพื่อเก็บผู้ชายไว้นานๆ เพื่อเอาชนะ เพื่อศักดิ์ศรีลูกผู้หญิง (แบบผิดๆ) ฯลฯ น่าประหลาดใจไหมครับ เราเคยคิดแบบบ้านๆ (Conventional Wisdom) กันว่าผู้หญิงมีเซ็กซ์ก็เพราะความรัก หนังสือเล่มนี้ได้ลบล้างความเชื่อเหล่านั้นไปเลย .....

หนังสือเล่มนี้ยังเปิดผลผลการศึกษาว่า ผู้หญิงโสดจำนวนมากอยากกิ๊ก โดยแย่งผู้ชายที่เธอคิดว่าดี น่าสนใจ จากแฟนหรือภรรยาของเขา ในบางรายนั้น เธอมีความอุตสาหะมากแม้จะต้องใช้เวลาหลอกล่อฝ่ายชายอยู่หลายปี เหตุผลหลักของการกิ๊กของสาวโสด ก็คือผู้ชายดีๆ ถูกยึดครองไปหมดแล้ว ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ ได้กล่าวว่า

"หนังสือเล่มนี้พยายามแสดงเหตุผลว่าทำไมคนถึงกิ๊กกัน แต่การให้เหตุผลนี้ ไม่ได้ทำให้สิ่งนี้ชอบธรรมขึ้นหรอกนะ เพราะจริงๆ แล้ว การกิ๊กกันก็ยังเป็นการกระทำที่เลวอยู่ดี"


ในภาพยนตร์เรื่อง "รถไฟฟ้ามาหานะเธอ" นั้น นางเองของหนังเรื่องนี้ โชคดีมากที่ ในที่สุดเธอก็สามารถจีบผู้ชายโสดที่ใครๆ ก็อยากเป็นแฟนจนสำเร็จ โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปกิ๊กมาจากผู้หญิงอื่น แต่ในชีวิตจริง .... ทุกครั้งที่ผมโดยสารรถไฟฟ้า BTS ผมมองเห็นหญิงสาวรูปร่างบอบบาง หน้าตาดี จำนวนมาก ยืนโหนราวจับ โอนเอนไปมาอย่างน่าสงสาร โดยผู้ชายทั้งหลายที่นั่งอยู่ก็ไม่ลุกให้นั่ง ผมเคยถามตัวเองเหมือนกันว่า จะมีความเป็นไปได้มากแค่ไหนเชียว ที่คน 2 คนที่มาเจอกันบนรถไฟฟ้า แล้วในที่สุดได้แต่งงานกัน ???


29 ตุลาคม 2552

Are We Simulated in Computer ? - ฤาโลกนี้เป็นเพียงฝัน (ตอนที่ 5)


ในปี ค.ศ. 2002 สตีเฟน วูลแฟรม (Stephen Wolfram) นักฟิสิกส์ผู้โด่งดังจากผลงานซอฟต์แวร์ทางด้านคณิตศาสตร์ ที่มีชื่อว่า Mathematica ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่เด็กมหาวิทยาลัยปี 1 มักจะใช้แก้โจทย์แคลคูลัส ได้ตีพิมพ์หนังสือที่มีชื่อว่า A New Kind of Science ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับแนวคิดใหม่ ที่มองโลกแห่งความเป็นจริงทั้งหลายว่า สามารถที่จะจำลองได้ด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งหมด เพราะจักรวาลที่เราอาศัยอยู่นี้ อยู่ภายใต้กฏทางฟิสิกส์ หากเราสามารถเข้าใจกฏต่างๆเหล่านั้นได้ ทุกอย่างก็จะจำลองได้หมด หนังสือเล่มนี้ได้ปอกเปลือกปรากฏการณ์ต่างๆในธรรมชาติ ที่สามารถโมเดลได้ด้วยคอมพิวเตอร์

ในช่วงที่ผมเรียนระดับปริญญาเอก ผมได้ทำวิทยานิพนธ์ทางด้านการจำลองคอมพิวเตอร์ (Computer Simulation) ของระบบโมเลกุล โดยปล่อยให้โมเลกุลจำนวนมากเคลื่อนที่ไปตามกฏของฟิสิกส์ โมเลกุลจะเคลื่อนที่ไปมา ชนกันบ้าง ดูดกันบ้าง วิ่งไปวิ่งมา ซึ่งสิ่งที่คำนวณออกมาได้จากคอมพิวเตอร์นี้ เมื่อนำมาเทียบเคียงกับผลจากการสังเกตด้วยการทดลอง พบว่ามีค่าใกล้เคียงกันมาก ในสมัยนั้น การทำการจำลองคอมพิวเตอร์ของระบบโมเลกุล เป็นสิ่งที่แปลกใหม่ แต่ในปัจจุบัน การจำลองคอมพิวเตอร์ได้ถูกนำมาแทนที่การทดลองหลายๆ ชนิดที่มีราคาแพง เสี่ยงภัย หรือไม่ก็เป็นงานน่าเบื่อ สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำทางด้านการทหารได้ในปัจจุบัน เพราะมีความก้าวหน้าทางด้านการจำลองคอมพิวเตอร์ของอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งตัวเองไปเที่ยวห้ามไม่ให้คนอื่นทำการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ทั้งใต้ดินและบนดิน เพราะตนเองมีขีดความสามารถในการจำลองการระเบิดด้วยคอมพิวเตอร์


ปัจจุบันเราได้นำการจำลองคอมพิวเตอร์มาใช้อย่างกว้างขวางในหลายสาขาวิชาทั้ง ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเงิน จิตวิทยา ไปจนถึงสังคมศาสตร์ การทหาร อุตุนิยมวิทยา การจราจร สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ อีกมากมาย ในอนาคต เมื่อเรามีศักยภาพทางด้านการคำนวณก้าวหน้าขึ้นไประดับหนึ่ง เราคงจะเริ่มจำลองอารมณ์ ความรู้สึก ความรัก ไปจนถึงชีวิต ..... สิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจจะทำให้เราอยากตั้งคำถามเหมือนกันว่า .... ชีวิตที่เรากำลังอาศัยอยู่นี้ แฟนของเราที่เดินจูงมือกันอยู่ทุกวันนี้ รวมทั้งตัวเราเอง .... เป็นของจริง หรือ เกิดจากการจำลองกันแน่ ???

28 ตุลาคม 2552

อากาศยานลอยค้างฟ้า


ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2008 หน่วยงานวิจัยกลาโหมของสหรัฐ ที่เรารู้จักกันดีในนามของ DARPA ได้ออกมาประกาศให้ทุนสนับสนุน ทีมวิจัยจำนวน 3 ทีมให้แข่งขันกันสร้างอากาศยานไร้คนขับที่สามารถบินอยู่บนฟ้าได้นานๆ โครงการที่มีชื่อเก๋ไก๋ว่า Vulture นี้มีเป้าหมายที่สูงส่งมากครับ เพราะอากาศยานไร้คนขับที่โครงการนี้ฝันถึง ในที่สุดแล้วจะต้องสามารถบินอยู่บนฟ้าได้ 5 ปี โดยไม่ต้องลงจอดเลย โดยมันจะต้องสามารถบรรทุกน้ำหนักได้อย่างน้อย 450 กิโลกรัม และมีกำลังขับ 5 กิโลวัตต์


หากทำได้สำเร็จ อากาศยานลอยค้างฟ้าซึ่งจะบินที่ระดับความสูง 20-30 กิโลเมตร นี้จะทำให้กองทัพสหรัฐฯ ประหยัดงบประมาณทางด้านดาวเทียมสื่อสารและสอดแนมไปได้เยอะเลยครับ เพราะเจ้ายานไร้คนขับค้างฟ้านี้จะทำหน้าที่ทวนสัญญาณสื่อสาร และติดเซ็นเซอร์สอดแนมต่างๆ แทนดาวเทียมได้ ถึงแม้การบินในบรรยากาศชั้นสตาร์โตสเฟียร์ ก็ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของการถูกโจมตีด้วยมิสซายล์ และเครื่องบินรบ


เท่าๆ ที่ผมได้ติดตามมา โครงการที่ DARPA สนับสนุนจะค่อนข้างยากครับ รวมถึงโครงการนี้ด้วย โดยทั่วไปเวลา DARPA ให้ทุนวิจัย เขาจะไม่ค่อยซีเรียสเรื่องเป้าหมายมาก ว่าต้องทำให้ได้อย่างนั้นจริงๆ แต่เขาชอบตั้งเป้าหมายให้ยากๆ สูงๆ เอาไว้ก่อน แล้วก็ให้ทุนหลายๆ ทีมทำพร้อมๆ กัน เพื่อให้มีการแข่งขันเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ สิ่งที่ DARPA เขาหวังมากกว่าเป้าหมายก็คือ เขาต้องการเห็นการค้นพบใหม่ วิธีคิดใหม่ ไอเดียใหม่ แนวทางการแก้ปัญหาใหม่ๆ องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่สามารถนำไปใช้กับโครงการอื่นๆ ได้


อย่างเช่นโครงการ Vulture นี้ นักวิจัยจะต้องเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทาย เช่น เรื่องของแหล่งพลังงานให้กับอากาศยานที่ต้องลอยอยู่นาน วัสดุที่ต้องมีความทนทานภาวะบีบเค้นที่ความสูง 20-30 กิโลเมตร ในเวลาหลายปี วัสดุที่ทนกับรังสี UV เป็นต้น

27 ตุลาคม 2552

Science of Meme - ศาสตร์แห่งการเอาอย่างกัน (ตอนที่ 2)


ในช่วงที่ผมเดินทางไปท่องเที่ยวที่ อ.ปาย และ เชียงใหม่ นั้น ผมได้ตระเวณไปทำบุญไหว้พระตามวัดต่างๆ นับได้ทั้งหมด 8 วัด แต่บังเอิญมีลูกนิมิตรจากวัดในพม่า เขามาตั้งฝากไว้ที่วัดใน จ.เชียงใหม่ ที่ผมเข้าไปทำบุญพอดี ก็เลยได้โอกาสเข้าไปปิดทองและทำบุญกับวัดพม่า หากรวมวัดนี้ก็จะเป็น 9 วัด ตามที่คนไทยเรากำลังเห่อเอาอย่างกัน ได้อย่างพอดีเลยครับ

ริชาร์ด ดอว์กิน (Richard Dawkins) ปรมาจารย์ทางด้านชีววิทยาวิวัฒนาการ ผู้โด่งดังจากหนังสือเรื่อง The Selfish Gene ซึ่งออกขายในปี ค.ศ. 1976 อย่างเท่น้ำเทท่า ได้นิยามคำว่า Meme ไว้ว่าเป็นอาการทางนามธรรม ที่มีความสามารถในการแพร่พันธุ์หรือขยายจำนวนได้ ไม่ว่าจะเป็น แนวความคิด สัญลักษณ์ อาการต่างๆ พฤติกรรม เมโลดี้ของดนตรี ถ้อยคำ ความเชื่อทางศาสนา แฟชั่น แบบบ้าน และอื่นๆ อีกมากมาย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ พอเกิดขึ้นมาแล้ว มันจะมีวิวัฒนาการ มีการขยายตัว มี mutation มีการคัดเลือกตามธรรมชาติ เสมือนมันเป็นสิ่งมีชีวิต มันอาจอยู่ได้นาน หรือ อาจตายไปในเวลาอันสั้น บางครั้ง meme มันขยายจำนวนไปมากๆ จนกลายมาเป็นสิ่งที่นิยมปฏิบัติกันไปเลย

การที่คนเห่อไปทำบุญ 9 วัดก็ถือเป็น meme อย่างหนึ่งครับ มันเกิดขึ้นและขยายตัวไปในสมองจากคนหนึ่ง ไปสู่อีกคนหนึ่ง meme มีวิวัฒนาการไปด้วยระหว่างที่มันเพิ่มจำนวน จากเดิมการทำบุญ 9 วัด ทำกันในหมู่ผู้สูงอายุ แต่ตอนนี้คนหนุ่มสาวก็นิยม กลายเป็นทัวร์ แถมมีทัวร์ไปเมืองจีนไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ 9 แห่ง
ไม่รู้การที่คนสมัยนี้ชอบมีกิ๊ก เป็น meme หรือเปล่า .......