หายไปหลายวันครับ ช่วงสัปดาห์นี้ผมมาอยู่ที่เกาะเจจู เกาหลีใต้ครับ ช่วงนี้ที่เกาหลีอากาศเริ่มเย็นลงมากแล้วครับ แถมมีลมแรงด้วย วันนี้ผมขอนำเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับการนำศาสตร์ทางด้านวิทยาศาสตร์การรับรู้ ประสาทวิทยา และชีวเคมี ไปใช้ในทางทหารมาเล่าให้ฟังครับ อย่างที่ผมพูดเสมอครับว่า ศตวรรษนี้เป็นช่วงเวลาของ Materials-Mind-Man-Machine Integration หรือ การบูรณาการระหว่าง วัตถุ-จิตใจ-คน-จักรกล ซึ่งเทคโนโลยีทางด้านนี้เริ่มพัฒนาจนเห็นรูปธรรมแล้วครับ ......
ในปี พ.ศ. 2127 องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงยกทัพไปปราบเมืองเชลียง ซึ่งเป็นหัวเมืองของไทยที่หันไปสวามิภักดิ์กับพม่า ระหว่างนั้นพระองค์ได้ชุมนุมทัพ ณ วัดศรีชุม จ. สุโขทัย เนื่องจากการรบครั้งนี้เป็นการรบระหว่างคนไทยด้วยกัน ทำให้ทหารไม่อยากรบและขาดความฮึกเหิมอย่างยิ่ง ระหว่างที่แม่ทัพนายกองต่างนั่งประชุมกันอยู่ที่อุโบสถวัดศรีชุมนั้น องค์พระนเรศได้ออกอุบายให้มหาดเล็กคนสนิท ปีนขึ้นไปทางด้านหลังพระประธานองค์ใหญ่ ซึ่งรู้จักในกาลต่อมาว่า หลวงพ่ออจนะ (พระพุทธอจนะ) หรือที่เรามักเรียกท่านว่า "หลวงพ่อพูดได้" โดยมหาดเล็กได้เปล่งเสียงออกมาว่า ในการศึกครั้งนี้พวกเจ้าจงรบเถิดและจงมีชัยชนะ เสียงดังก้องในอุโบสถเวลานั้นได้ทำให้ทหารเกิดขวัญและกำลังใจ จนนำมาซึ่งชัยชนะเหนือเมืองเชลียงในที่สุด
กองทัพอากาศสหรัฐฯกำลังสนใจศึกษาว่า กำลังใจของทหารคืออะไร ทำไมทหารบางคนถึงมีความเข้มแข็ง ฮึกเหิม และสามารถผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ ต่างๆ มาได้โดยไม่เสียขวัญ โครงการหนึ่งที่มีชื่อว่า Biobehavioral Performance ซึ่งเป็นการศึกษาสมอง และชีววิทยา ของทหารกลุ่มหนึ่งที่มีความอึดเป็นพิเศษ เพื่อดูว่าทหารเหล่านี้มีโครงสร้างชีวเคมีในร่างกายอย่างไร ถึงได้ทนทานความเครียดและแรงกดดันทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ได้เหนือทหารกลุ่มอื่นๆ ซึ่งกองทัพอากาศ หวังว่าจะสามารถหาโมเลกุลที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาทำเป็นยา สำหรับช่วยให้ทหารกลุ่มปกติ สามารถที่จะมีความสามารถแบบนั้นได้บ้าง โดยเฉพาะนักบินรบ ซึ่งต้องการบุคคลที่สามารถทำหน้าที่ในขีดสมรรถนะสูงสุดของมนุษย์
ล่าสุดทางกองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้ออกมาประกาศสนับสนุนทุนวิจัย แก่คณะวิจัยที่สามารถค้นคว้าหากลไกในสมอง ที่อธิบายการเกิดขวัญกำลังใจของทหารได้ รวมไปถึงงานวิจัยที่จะสร้างเทคโนโลยีที่สามารถทำลายขวัญข้าศึก ทำให้ข้าศึกเกิดความรู้สึกกลัว หรือไม่อยากรบ หรือทำให้ข้าศึกเกิดการเสื่อมถอยทางจิตใจ จนนำไปสู่การยอมแพ้หรือเลิกรบ