ในช่วงที่ผมเดินทางพาครอบครัวไปพักผ่อนที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน นั้น ตอนขากลับผมได้มีโอกาสเข้าไปเที่ยว อะควอเรียม ของสวนสัตว์เชียงใหม่ ซึ่งเป็นอะควอเรียมที่ทำได้ดูดี ไม่ได้ด้อยไปกว่าอะควอเรียมของสยามพารากอน และของพัทยานัก โดยเฉพาะอุโมงค์ลอดใต้น้ำของที่นี่ถือว่ายาวที่สุดเท่าที่ผมเคยไปดูมา ก็ว่าได้ครับ
เดินไปเดินมา ผมได้ไปสะดุดตาเข้ากับปลาน้ำจืดของไทยชนิดหนึ่ง นั่นคือ ปลาหนวดพราหมณ์ มันมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Polynemus paradiseus และอยู่ในวงศ์ปลากุเรา (Polynemidae) ปลาชนิดนี้มีหนวดจำนวนมาก ประมาณว่า 20 เส้น หนวดบางเส้นยาวมาก ประมาณยาวกว่าลำตัวเกือบ 2 เท่า ผมถามเจ้าหน้าที่แถวนั้นว่า ทำไมมันถึงมีหนวดเยอะขนาดนี้ หนวดของมันมีไว้เพื่ออะไร เจ้าหน้าที่เขาบอกกับผมว่า ปลาชนิดนี้ตาไม่ค่อยดี มันอาศัยหนวดเป็นเครื่องช่วยในการหาอาหาร และรักษาการทรงตัว ผมเข้าใจว่าหนวดของมันคงมีเซ็นเซอร์รับสัมผัส ซึ่งจะทำให้มันสามารถจับความเคลื่อนไหวของสายน้ำ ซึ่งก็จะเป็นตัวบอกมันว่ามีความเคลื่อนไหวของอาหาร หรือ ศัตรูของมันหรือไม่
ศาสตร์ของสัมผัสประดิษฐ์กำลังเป็นที่สนใจกันทั่วโลกครับ มนุษย์เรามีสัมผัสเพียง 5 อย่าง แต่เราอยากมีมากกว่านั้น นี่เป็นเหตุผลที่เราต้องศึกษาประสาทสัมผัสของสัตว์ เพื่อที่จะทำให้เราสามารถสร้างเทคโนโลยีสัมผัสประดิษฐ์ เพื่อที่เราจะได้มีสัมผัสที่ 6 ขึ้นมาครับ คณะวิจัยของผมก็ทำการศึกษาเรื่องสัมผัสประดิษฐ์นี้ ขณะนี้เราได้พัฒนาเทคโนโลยี จมูกอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic nose) ลิ้นอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic tongue) และ กายสัมผัสอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic skin)
ในวงการวิจัยเซ็นเซอร์ เราอาจแบ่งเซ็นเซอร์ออกได้ 3 ประเภทได้แก่
(1) Physical sensor - เซ็นเซอร์กายภาพ เช่น เซ็นเซอร์วัดแสง อุณหภูมิ ความชื้น เสียง สนามแม่เหล็ก สนามไฟฟ้า คลื่นวิทยุ เป็นต้น
(1) Physical sensor - เซ็นเซอร์กายภาพ เช่น เซ็นเซอร์วัดแสง อุณหภูมิ ความชื้น เสียง สนามแม่เหล็ก สนามไฟฟ้า คลื่นวิทยุ เป็นต้น
(2) Chemical sensor - เซ็นเซอร์เคมี เช่น เซ็นเซอร์ตรวจวัด pH เซ็นเซอร์ตรวดกลิ่น ก๊าซ สารเคมี เป็นต้น
(3) Biosensor - เซ็นเซอร์ชีวภาพ เช่น เซ็นเซอร์ตรวจเชื้อโรค ดีเอ็นเอ เป็นต้น
แต่ขณะนี้เซ็นเซอร์อีกประเภทกำลังมาแรงครับ นั่นคือ Biophysical sensor ซึ่งเป็นเซ็นเซอร์กายภาพที่อาศัยหลักการของสิ่งมีชีวิต ซึ่งศาสตร์นี้เพิ่งอยู่ในขั้นเบบี๋ เพราะเรายังมีความรู้ด้านนี้ไม่มาก ยังต้องการงานวิจัยพื้นฐานทางนี้อีกเยอะ ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือระหว่างนักฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา รวมทั้งวิศวกรด้วยครับ ......