04 พฤศจิกายน 2552

Smart Vineyard - ไร่องุ่นอัจฉริยะ (ตอนที่ 2)


2-3 วันนี้ ผมมาทำงานที่ไร่องุ่นกรานมอนเต้ เขาใหญ่ เมื่อคืนนี้อากาศเย็นมากครับ กลางคืนเหลือเพียง 18 องศาเซลเซียส ซึ่งก็ถือว่าเย็นครับ สำหรับอากาศในช่วงต้นฤดูหนาวของเดือนพฤศจิกายน วันนี้ผมขอพูดถึงเรื่อง smart vineyard หน่อยนะครับ ไหนๆ ก็มาทำงานอยู่ที่นี่แล้ว

เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่าน (25-28 ตุลาคม 2552) ลูกศิษย์ของผมคือคุณสบู่ และ เพื่อนร่วมงานคือ ดร.อดิสร แห่ง NECTEC ได้มีโอกาสไปเสนอผลงานและร่วมการประชุม IEEE Sensors 2009 ที่เมือง Christchurch ประเทศนิวซีแลนด์ คนที่อยู่ในวงการเซ็นเซอร์จะทราบดีว่าการประชุมนี้เป็นสุดยอดของศาสตร์นี้เลยก็ว่าได้ ทุกๆ ปีจะมีนักวิทยาศาสตร์และวิศวกร มาเสนอผลงานกว่า 600 เรื่อง ปกติก็จะมีคนส่งผลงานมาประมาณ 1,000 กว่าเรื่องขึ้นไป แต่เขาจะรับแค่ไม่เกิน 500-600 เรื่องเท่านั้น ทางคณะวิจัยของเพื่อนๆ เราก็ส่งผลงานไปที่ประชุมนี้หลายเรื่องครับ แต่ผลก็คือ เขาตอบรับให้ไปเสนอแค่ไม่กี่เรื่องเท่านั้น หนึ่งในเรื่องที่เขาตอบรับก็คือ เรื่องเกี่ยวกับ smart vineyard นี่แหล่ะครับ นั่นแสดงว่า ผลงานวิจัยทางด้านนี้ของคนไทย เข้าตากรรมการชาวต่างชาติแล้ว ....

ผลงานที่เรานำไปเสนอนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตรวจวัดสภาพภูมิอากาศย่อยๆ ที่เรียกว่า microclimate ในไร่องุ่น ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่ว่า ในอาณาบริเวณของไร่องุ่นไร่หนึ่งๆ นั้น พื้นที่ในแต่ละแปลง มีสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน ซึ่งจะมีผลต่อการเจริญเติบโตขององุ่น ทำให้องุ่นมีอัตราการเติบโตแตกต่างกัน ให้ผลผลิตแตกต่างกันได้ เช่น ในพื้นที่ 100 ไร่ของไร่องุ่นกรานมอนเต้นี้ ถึงแม้จะเป็นไร่เดียวกันก็ตาม แต่เราพบว่าในช่วงกลางวัน แปลงที่อยู่กลางไร่จะมีอุณหภูมิสูงกว่า แปลงที่อยู่ใกล้แนวเชิงเขา 2 องศาเซลเซียส และในตอนกลางคืนช่วงเดือนมกราคม แปลงที่อยู่กลางไร่ จะแห้ง (ความชื้นสัมพัทธ์ 60%) กว่าแปลงที่อยู่ใกล้เชิงเขา (ความชื้น 90%) ส่งผลให้แปลงใกล้เชิงเขาเสี่ยงต่อโรคมากกว่า ยกเว้นในช่วงที่มีที่ลมแรง (20 - 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ซึ่งจะทำให้ความชื้นของแปลงติดเชิงเขาลดลงมาใกล้เคียงกับแปลงอื่นๆ ความรู้ที่ได้จากการศึกษานี้ ทางด้านเจ้าของไร่ คือ คุณวิสุทธิ์ โลหิตนาวี ได้ให้ความสนใจและนำไปใช้เพื่อดูแลแปลงดังกล่าวอย่างใกล้ชิดในช่วงฤดูองุ่นออกลูกนี้ด้วยครับ


ผลงานที่เรานำไปเสนอในที่ประชุมวิชาการนั้น เป็นเพียงข้อมูลบางส่วนที่เราเปิดเผยได้เท่านั้นครับ ซึ่งลูกศิษย์ผมบอกว่า ในการประชุมนี้มี paper ทางด้านเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สายไปเสนอกันนับร้อย หลังการนำเสนอมีโปรเฟสเซอร์ญี่ปุ่นและฝรั่ง ได้เข้ามาคุยกับลูกศิษย์ และแสดงความสนใจในงานวิจัยของคนไทย ซึ่งเขาก็อยากรู้ว่าเมืองไทยทำอะไรไปบ้างแล้ว งานวิจัยนี้เป็นตัวอย่างของเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ในประเทศเขตร้อน ซึ่งจะทำให้คนไทยเราเข้าไปมีส่วนในศาสตร์ทางด้านนี้ แข่งกับประเทศอื่นเขาครับ

ทริปหน้าที่จะมาทำงานที่ไร่ ผมค่อยมาเล่าให้ฟังต่อนะครับ .....