01 ธันวาคม 2552

Inspiration Economy - เศรษฐกิจแบบแรงบันดาลใจ (ตอนที่ 2)


เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ได้มีรายงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Ecological Economics (รายละเอียดเต็มคือ Fred Curtis, "Peak globalization: Climate change, oil depletion and global trade", Ecological Economics (2009), vol. 69, pp. 427-434) โดยในรายงานนี้ได้เสนอข้อมูลเชิงวิเคราะห์ ที่ชี้ว่าโลกเรากำลังเข้าสู่ยุคของการ "ผลิตที่ไหน ใช้ที่นั่น" ซึ่งเป็นยุคที่การผลิตสินค้า จะกลับมาทำในบริเวณที่มีการบริโภคสินค้านั้น ระบบเศรษฐกิจจะกลับมาสู่ยุค "ทำเอง ใช้เอง" การบริโภคสินค้าจะเริ่มกลับมามองหาสิ่งที่อยู่ในบริบทของท้องถิ่น ที่มีความผูกติดกับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนตัวเองมากขึ้น นักวิจัยเขาใช้ภาษาว่า มันจะเป็นยุคของ Relocalization ซึ่งตรงกันข้ามกับ Globalization เลยครับ

เหตุผลก็คือ การที่น้ำมันมีราคาสูงขึ้นมาก ทำให้การผลิตสินค้าแบบจำนวนมากๆ แล้วส่งออกไปขายทั่วโลก เริ่มเป็นเรื่องที่ใช้ต้นทุนมากขึ้น ภาวะโลกร้อนก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การขนส่งสินค้าไปขาย มีความเสี่ยงสูงขึ้น อากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ต้องใช้พลังงานเพื่อควบคุมความเย็นของสินค้ามากขึ้น ความแปรปรวนในมหาสมุทรทำให้การเดินเรือมีความเสี่ยงสูง แถมยังต้องเสียเวลาเพื่อหยุดหรือเปลี่ยนเส้นทาง เมื่อเกิดพายุรุนแรงในมหาสมุทร ถ้าแค่นี้ยังไม่พอ นักวิจัยเขาบอกอีกด้วยว่า การกีดกันทางการค้านับวันก็จะมีแต่ความรุนแรงขึ้น การส่งของไปขายต่างประเทศจะมีแต่ยากขึ้นยากขึ้น ถึงแม้จะเป็นสินค้าที่เขาเองอยากจะซื้อก็ตามที

หากสิ่งต่างๆ ที่ผมกล่าวมาข้างต้นนี้เกิดขึ้นจริง ก็เข้าเป้าของเศรษฐกิจแบบใหม่ที่ผมกำลังพูดถึงเลยครับ เพราะระบบเศรษฐกิจแบบแรงบันดาลใจนี้ ไม่ต้องการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่ยาวเหมือนกับระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่นี้ Supply Chain จะสั้นๆ ทำกันในประเทศ ใช้กันในประเทศ หรือถ้าส่งออก ก็ส่งออกไปผลิตใกล้ๆ กับผู้ซื้อ ส่งออกแค่ไอเดียกับดีไซน์ไปก็พอ แล้วไปผลิตใกล้ๆ กับตลาด การผลิตในยุคอนาคตจะเริ่มเป็น Desktop Manufacturing มากขึ้น ซึ่งจะใช้วิธีการขึ้นรูป การพิมพ์ แบบเอาใจลูกค้าย่อยๆ แต่ผลิตได้เยอะๆ (Mass Customization)

แล้วผมจะมาคุยเรื่องนี้ต่อวันหลังนะครับ .......