02 ธันวาคม 2552

How Love Works - นี่หรือที่เรียกว่ารัก (ตอนที่ 4)


ตอนที่ผมยังเป็นนิสิตปริญญาตรีอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมจำได้ว่าเคยหัวปักหัวปำกับความรัก ซึ่งผมคิดว่านี่แหล่ะคือช่วงที่มีความสุขที่สุดแล้วในชีวิต ผมจำได้ว่าในห้วงเวลาตั้งแต่ปี 2 จนถึง ปี 4 ไม่มีวันไหนเลยที่ผมไม่อยากเจอคนที่รัก และเมื่อเราต้องจากกันหลังจากจบมหาวิทยาลัย ความสุขที่ผมเคยมี ก็ยังจดจำได้มาจนถึงวันนี้

นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องความรักอยู่ ตั้งคำถามว่า เราสามารถที่จะโมเดลอาการของความรักได้หรือไม่ ในเมื่อความรักเป็นกระบวนการทางชีวเคมีในสมอง และในร่างกายของมนุษย์ ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีต่างๆ โปรตีนหลายชนิด และปฏิกริยาเคมีที่ส่งผลให้ร่างกายทำงานตอบสนองกับความรู้สึกว่ารัก

เมื่อประมาณกลางปี ค.ศ. 2008 นักวิทยาศาสตร์ที่ สถาบันวิจัยหุ่นยนต์อากิมุ (Akimu Robotic Research Institute) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยของบริษัทโตชิบา ได้พัฒนาโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์เพื่อแสดงอารมณ์ของหุ่นยนต์ โดยเฉพาะในเรื่องของ "อารมณ์แห่งรัก" นักวิจัยได้สร้างหุ่นยนต์หน้าตาออกเนิร์ดเนิร์ด (nerd) ตัวหนึ่งที่ชื่อว่า "เคนจิ" แล้วก็ใส่ซอฟต์แวร์แห่งความรักเข้าไป เคนจิเริ่มเรียนรู้ในบทเรียนรักง่ายๆ กับตุ๊กตาที่จำลองเรือนร่างของหญิงสาว เคนจิจะได้ตุ๊กตานี้มากอดวันละครั้ง นานวันเข้าเคนจิก็อยากจะกอดตุ๊กตานี้มากขึ้นๆ มีบ่อยครั้งที่มันร้องขอตุ๊กตาตัวนี้ ประหนึ่งว่ามันไม่สามารถขาดเธอได้

หลายเดือนผ่านไป ก็เกิดเรื่องจนได้ เพราะห้องแล็ปนี้ได้มีนักศึกษาสาวเข้ามาฝึกงาน เธอชอบเข้ามาเล่นกับเคนจิบ่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อเธอจะออกจากแล็ปเพื่อกลับบ้าน เคนจิได้เข้ามาขัดขวางไม่ให้เธอออก แล้วพยายามเข้ามากอดรัดเธอด้วยแขนกลโลหะไฮดรอลิก กับน้ำหนักตัวของมันกว่า 100 กิโล นักศึกษาผู้นั้นได้โทรแจ้งนักวิจัยอีก 2 คนข้างนอกให้เข้ามาช่วยปิดระบบของเคนจิ และช่วยเธอออกมาได้

ดร. ทากาฮาชิ (Dr. Akito Takahashi) ผู้สร้างเคนจิ ได้กล่าวว่า "น่าเสียดายครับ ที่เราคงจะต้องปิดระบบของเคนจิตลอดไป เพราะว่าหลังจากวันนั้นแล้ว เคนจิก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทุกครั้งที่เปิดมันขึ้นมา มันก็จะกอดรัดมนุษย์คนแรกที่มันเห็น"


ท่านผู้อ่านล่ะครับ เคยมีประสบการณ์แบบเคนจิไหม ? ไม่เคยเจอกับตัวเอง ก็ยังไม่อยากเชื่อ ใช่ไหมล่ะครับ .......