29 ตุลาคม 2552

Are We Simulated in Computer ? - ฤาโลกนี้เป็นเพียงฝัน (ตอนที่ 5)


ในปี ค.ศ. 2002 สตีเฟน วูลแฟรม (Stephen Wolfram) นักฟิสิกส์ผู้โด่งดังจากผลงานซอฟต์แวร์ทางด้านคณิตศาสตร์ ที่มีชื่อว่า Mathematica ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่เด็กมหาวิทยาลัยปี 1 มักจะใช้แก้โจทย์แคลคูลัส ได้ตีพิมพ์หนังสือที่มีชื่อว่า A New Kind of Science ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับแนวคิดใหม่ ที่มองโลกแห่งความเป็นจริงทั้งหลายว่า สามารถที่จะจำลองได้ด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งหมด เพราะจักรวาลที่เราอาศัยอยู่นี้ อยู่ภายใต้กฏทางฟิสิกส์ หากเราสามารถเข้าใจกฏต่างๆเหล่านั้นได้ ทุกอย่างก็จะจำลองได้หมด หนังสือเล่มนี้ได้ปอกเปลือกปรากฏการณ์ต่างๆในธรรมชาติ ที่สามารถโมเดลได้ด้วยคอมพิวเตอร์

ในช่วงที่ผมเรียนระดับปริญญาเอก ผมได้ทำวิทยานิพนธ์ทางด้านการจำลองคอมพิวเตอร์ (Computer Simulation) ของระบบโมเลกุล โดยปล่อยให้โมเลกุลจำนวนมากเคลื่อนที่ไปตามกฏของฟิสิกส์ โมเลกุลจะเคลื่อนที่ไปมา ชนกันบ้าง ดูดกันบ้าง วิ่งไปวิ่งมา ซึ่งสิ่งที่คำนวณออกมาได้จากคอมพิวเตอร์นี้ เมื่อนำมาเทียบเคียงกับผลจากการสังเกตด้วยการทดลอง พบว่ามีค่าใกล้เคียงกันมาก ในสมัยนั้น การทำการจำลองคอมพิวเตอร์ของระบบโมเลกุล เป็นสิ่งที่แปลกใหม่ แต่ในปัจจุบัน การจำลองคอมพิวเตอร์ได้ถูกนำมาแทนที่การทดลองหลายๆ ชนิดที่มีราคาแพง เสี่ยงภัย หรือไม่ก็เป็นงานน่าเบื่อ สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำทางด้านการทหารได้ในปัจจุบัน เพราะมีความก้าวหน้าทางด้านการจำลองคอมพิวเตอร์ของอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งตัวเองไปเที่ยวห้ามไม่ให้คนอื่นทำการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ทั้งใต้ดินและบนดิน เพราะตนเองมีขีดความสามารถในการจำลองการระเบิดด้วยคอมพิวเตอร์


ปัจจุบันเราได้นำการจำลองคอมพิวเตอร์มาใช้อย่างกว้างขวางในหลายสาขาวิชาทั้ง ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเงิน จิตวิทยา ไปจนถึงสังคมศาสตร์ การทหาร อุตุนิยมวิทยา การจราจร สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ อีกมากมาย ในอนาคต เมื่อเรามีศักยภาพทางด้านการคำนวณก้าวหน้าขึ้นไประดับหนึ่ง เราคงจะเริ่มจำลองอารมณ์ ความรู้สึก ความรัก ไปจนถึงชีวิต ..... สิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจจะทำให้เราอยากตั้งคำถามเหมือนกันว่า .... ชีวิตที่เรากำลังอาศัยอยู่นี้ แฟนของเราที่เดินจูงมือกันอยู่ทุกวันนี้ รวมทั้งตัวเราเอง .... เป็นของจริง หรือ เกิดจากการจำลองกันแน่ ???