วิเคราะห์สถานภาพทางด้านนาโนศาสตร์ และ นาโนเทคโนโลยี ของประเทศไทย เปรียบเทียบกับ ประเทศคู่แข่ง เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทย เป็น Nano Valley of ASEAN
27 กรกฎาคม 2555
The Future of City - อนาคตของเมืองใหญ่ (ตอนที่ 3)
(Picture from http://www.freakingnews.com/)
ทศวรรษนี้ เรื่องของการทำให้สิ่งของและสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว มีความฉลาด รู้จักคิด และอาจะเลยไปถึงการสัมผัสอารมณ์ ความรู้สึก และแลกเปลี่ยนเชิงอารมณ์กับมนุษยได้ น่าจะเป็นกระแสที่มาแรงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบ้านอัจฉริยะ (smart home) รถอัจฉริยะ (smart/intelligent vehicle) ฟาร์มอัจฉริยะ (smart farm) อาคารอัจฉริยะ (smart building) ทางหลวงอัจฉริยะ (smart highway) ระบบพลังงานอัจฉริยะ (smart grid) ไปจนถึงเมืองทั้งเมือง เป็นเมืองอัจฉริยะ (smart city)
เมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก ล้วนใฝ่ฝันที่จะเป็นเมืองน่าอยู่ มีสภาพแวดล้อมที่น่ารื่นรมย์ ประชากรมีสุขภาพและสวัสดิภาพที่ดี สิ่งแวดล้อมในเมืองมีคุณภาพ การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพ การขนส่งและการจราจรมีความสะดวกสบาย อาชีพการงานมีความมั่นคง มีความบันเทิงเริงใจ มีระบบการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของทุกชนชั้น การเมืองมีความโปร่งใส มีการเอาใจใส่ในเรื่องผังเมือง เมืองมีอัตลักษณ์ มีเสน่ห์ มีการดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมและประเพณี และอื่นๆ อีกมากมาย เมืองอัจฉริยะอย่างแท้จริง ต้องสามารถทำให้ปัจจัยที่กล่าวมาส่วนใหญ่เป็นจริงได้ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผนวกกับการจัดการขั้นเทพ และความตั้งใจของภาคส่วนต่างๆ ที่ประกอบกันเป็นเมือง เราสามารถที่จะสร้างเมืองอัจฉริยะขึ้นที่ใดก็ได้บนโลกใบนี้ครับ
ตัวอย่างหนึ่งที่กำลังเป็นที่กล่าวขานกันมากในช่วง 2-3 ปีมานี้ และเป็นตัวอย่างที่เมืองใหญ่ทั่วโลกกำลังจับตามองก็คือ โครงการ Amsterdam Smart City ซึ่งเป็นความร่วมมือร่วมใจของภาครัฐและเอกชน ที่จะผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่สำหรับใช้ในเมืองใหญ่ โดยโครงการนี้มีจุดเน้นที่การประหยัดพลังงาน และใช้พลังงานในเมืองให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อเป็นการลดการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ โครงการ Amsterdam Smart City นี้ประกอบด้วยโครงการย่อยๆ มากมาย ที่นำมาทดลองใช้พร้อมๆ กัน เป็นการทดลองนวัตกรรมต่างๆ ในพื้นที่จริง ซึ่งฉลาดมาก เพราะเป็นการทำการวิจัยโดยใช้เมืองทั้งเมืองเป็นห้องทดลอง
ผมขอยกตัวอย่างโครงการย่อยต่างๆ ที่มีการทดลองในเมืองอัมสเตอร์ดัมกันนะครับ ซึ่งโครงการย่อยต่างๆ เหล่านี้ เมื่อรวมกัน ก็จะทำให้เมืองนี้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะ
- ติดตั้งระบบประหยัดพลังงานไฟฟ้าในบ้านหลายพันหลัง เพื่อช่วยลดการใช้กระแสไฟฟ้า ระบบสมาร์ทมิเตอร์ ที่ทำให้การเก็บข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้า และนำไปสู่การประหยัดพลังงาน
- การปล่อยเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย เพื่อการปรับปรุงอาคารให้มีการลดการใช้พลังงาน เช่น การเปลี่ยนฉนวนความร้อนให้เป็นฉนวนความร้อนแบบใหม่ที่ดีกว่าเดิม การเปลี่ยนหลอดไฟทั้งหมดให้เป็นหลอดประหยัดพลังงาน
- โครงการ Climate Street ในย่านช็อปปิ้งหลักในเมืองอัมสเตอร์ดัม มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ มีการใช้สมาร์มิเตอร์เพื่อติดตามการใช้พลังงานในย่านนี้ เปลี่ยนหลอดไฟทั้งหมดไปใช้หลอดไฟประหยัด เพิ่มประสิทธิภาพการทำความเย็น การทำความร้อนในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าตลอดแนว ถังขยะอัจฉริยะที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงมีการนำรถขยะพลังงานไฟฟ้ามาใช้เก็บขยะในย่านนี้
- ทยอยติดตั้งสถานีชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเริ่มมีการใช้งานมากขึ้นในอนาคต โดยสถานีชาร์จไฟเหล่านี้เชื่อมต่อเข้ากับระบบอินเตอร์เน็ต รถยนต์สามารถที่จะหาสถานีชาร์จที่ใกล้ที่สุดเพื่อเติมไฟ รวมทั้งสถานภาพการใช้งาน เช่น มีที่จอดชาร์จว่างอยู่หรือไม่
- จัดทำระบบรับซื้อพลังงานจากอาคารบ้านเรือนที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และ กังหันลมผลิตไฟฟ้า นำเข้าสู่ระบบจำหน่าย
- อาคารของรัฐบาลมีการติดตั้งระบบตรวจวัดการใช้พลังงานแบบเรียลไทม์ และ ออนไลน์ เพื่อบอกให้ผู้ที่ทำงานอยู่ทราบตลอดเวลาว่ามีการใช้พลังงานอยู่เท่าไหร่ ทำให้เกิดความตระหนักในการลดการใช้พลังงานให้มากที่สุด เท่าที่ทำได้
- พัฒนาเทคโนโลยีอาคารอัจฉริยะ (Smart Building) เมืองใดก็ตามมีอาคารแบบนี้เยอะๆ เมืองนั้นก็มีสิทธิ์เป็น Smart City ได้ง่ายขึ้นครับ โดยในอาคารเหล่านี้จะมีการติดตั้ง Smart Meter, Smart Plug, Smart Lighting
- การทดลองผลิตไฟฟ้าใช้เองในอาคาร โดยการใช้เซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) เป็นการลดการใช้ไฟฟ้าจากระบบส่งของการไฟฟ้า
- การทดลองใช้เรือพลังงานไฟฟ้า โดยจัดทำสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับเรือจำนวน 200 แห่งตลอดชายฝั่งของแม่น้ำ เพื่อให้เรือขนส่งหันมาใช้ไฟฟ้าทดแทนน้ำมันดีเซล ซึ่งก็ช่วยทำให้อากาศในเมืองอัมสเตอร์ดัมสะอาดขึ้น
- Vertical Farming คือการทดลองปลูกพืชผักสำหรับบริโภคในเมือง โดยในอนาคตอาจจะทดแทนพืชผักที่ต้องขนส่งมาจากชนบทได้ เป็นการทำให้เมืองอยู่ได้ด้วยตนเอง และไม่ต้องพึ่งพาภาคเกษตรในชนบทอีกต่อไป
- โรงเรียนอัจฉริยะ (Smart School) เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้โรงเรียนต่างๆ ในอัมสเตอร์ดัมแข่งกันลดการใช้พลังงาน โดยครูและนักเรียนจะช่วยกันออกความคิด และพัฒนานวัตกรรมในการใช้พลังงานในโรงเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ
ถามว่าสิ่งที่อัมสเตอร์ดัมทำอยู่ กรุงเทพฯ จะทำบ้างได้มั้ย ผมคิดว่า คนไทยทำได้ครับ .....
ป้ายกำกับ:
climate change,
crisis,
energy,
energy conservation,
Europe,
smart city
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น