สภาพล้อมรอบอัจฉริยะ (Ambient Intelligence) หรือ สภาพแวดล้อมที่ตอบสนอง (Responsive Environment) หรือ สถาปัตยกรรมแบบอันตรกริยา (Interactive Architecture) เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการทำให้สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย อาคารบ้านช่อง มีความฉลาด ทำงานตอบสนองต่อผู้อยู่อาศัย ทั้งในเชิงกายภาพ เชิงจิตใจ และ อารมณ์ สิ่งแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่นี้จะรับรู้ด้วยสัมผัสของมันว่า เราใช้ชีวิตอยู่อย่างไร กำลังทำอะไร มีความสุขหรือหงุดหงิดไหม นอนหลับดีหรือว่ากระสับกระส่าย ใช้เวลาอยู่กับสิ่งไหนมากน้อยอย่างไร แล้วมันก็จะพยายามเอาใจใส่เรา ทำในสิ่งที่เราต้องการ ด้วยการดูแลเรา และช่วยเหลือเราให้อยู่อย่างมีความสุข
ในบทความซีรีย์นี้ ตอนที่ 1 ผมได้ให้ตัวอย่างความสามารถของสภาพแวดล้อมอัจฉริยะ ซึ่งเมื่อนำมาใช้กับเมือง จะทำให้เมืองกลายเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เมื่อนำมาใช้กับบ้าน ก็จะทำให้บ้านกลายเป็นบ้านอัจฉริยะ (Smart Home) ถ้านำมาใช้กับฟาร์ม ก็จะทำให้ฟาร์มเป็นฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farm)
เทคโนโลยีสภาพแวดล้อมอัจฉริยะนี้ จึงเป็นเทคโนโลยีเกิดใหม่อันหนึ่งที่กำลังมาแรงที่สุด มีกลุ่มวิจัยทั่วโลกทั้งในมหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชน ให้ความสนใจและลงทุนศึกษาพัฒนา สำหรับกลุ่มวิจัยของผมที่มหาวิทยาลัยมหิดลเองนั้น เราก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านนี้หลายตัวเหมือนกันครับ ตัวอย่างได้แก่
- Interactive Data Glove ถุงมือรับส่งข้อมูล เมื่อผู้ใช้นำมาสวมใส่แล้ว สามารถใช้ออกคำสั่งควบคุม ระบบอัตโนมัติภายในบ้าน เช่น เปิด ปิดไฟฟ้า แอร์ พัดลม เป็นต้น ผู้ใช้สามารถแสดงท่าทาง เช่น เอามือปัดไปปัดมาเหมือนกำลังพัดตัวเองอยู่ ถุงมือก็จะสั่งเครื่องปรับอากาศให้เย็นขึ้น หรือหากทำมือสั่นๆ เหมือนหนาว มันก็จะสั่งให้เครื่องปรับอากาศเพิ่มอุณหภูมิให้อุ่นขึ้น ตัวถุงมือสามารถโปรแกรมคำสั่งได้หลากหลาย เช่น เราอาจทำมือกางออกแล้วชี้ไปที่ไฟ เพื่อเปิดไฟ หรือ ทำมือหุบชี้ไปทางหลอดไฟเพื่อปิดไฟ เป็นต้น
- Smart Shoe รองเท้าอัจฉริยะ เป็นรองเท้าที่เก็บข้อมูลการเดิน ของผู้สวมใส่ มีทั้งเวอร์ชั่น outdoor และ indoor รองเท้าจะเก็บอากัปกริยาการเดิน วิเคราะห์ว่า ผู้เดินมีปัญหาในการเดินหรือไม่ สามารถตรวจวัด ท่าเดินที่ผิดปกติ การเดินมากเกินไป การลงน้ำหนักที่ไม่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการฟกช้ำ ในกรณีผู้ป่วยเบาหวาน รองเท้าสามารถเตือนได้ว่า คุณเดินแบบนี้มากไปแล้วนะ รองเท้าจะแนะนำให้เลิกเดิน หรือ ให้เดินปรับน้ำหนักที่ลงที่เท้า เพื่อไม่ให้บริเวณที่น้ำหนักลงไปเยอะแล้วได้พักบ้าง
- Smart Pillow หมอนอัจฉริยะ สำหรับตรวจวัดอากัปกริยาการนอน นอนหลับสนิทหรือไม่ มีการตื่นบ่อยหรือไม่ ตรวจวัดการกรน การพลิกตัว อัตราการหายใจ มีการหยุดหายใจหรือไม่ ไปจนถึง Level ในการนอนหลับ ผู้นอนสามารถตรวจวิเคราะห์ได้ด้วยตนเอง สามารถติดตามและพัฒนาการนอนได้ เพื่อสุขภาพการนอนที่ดี ด้วยเทคโนโลยีนี้ ต่อไปผู้นอนสามารถย้อนกลับไปดูข้อมูลการนอนของตัวเอง สามารถเปรียบเทียบการนอนแต่ละวันในหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งจะนำมาสู่การปรับปรุงการนอนของตนเอง ให้มีสุขภาวะมากขึ้น
- Smart Bed ตรวจวัดอากัปกริยาการนอน การใช้งานสามารถใช้ร่วมกับ smart pillow เพื่อตรวจวิเคราะห์การนอน โดยทางคณะวิจัยได้พัฒนาในรูปแบบของผ้าปูที่นอน ที่สามารถนำไปใช้ปูบนเตียง เพื่อความสะดวกในการใช้งาน
- Smart Nose จมูกอัจฉริยะสำหรับตรวจกลิ่น สามารถใช้ตรวจกลิ่นของมนุษย์ เพื่อระบุสถานะทางสุขภาพ ตรวจกลิ่นในบ้าน ตรวจกลิ่นห้องน้ำ เป็นต้น
- โปรเจคต์ต่อไปของคณะวิจัยคือ การพัฒนา Home Robot สำหรับช่วยเหลือดูแลบ้าน
วันนี้ขอคุยแค่นี้ก่อนนะครับ ....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น