วิเคราะห์สถานภาพทางด้านนาโนศาสตร์ และ นาโนเทคโนโลยี ของประเทศไทย เปรียบเทียบกับ ประเทศคู่แข่ง เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทย เป็น Nano Valley of ASEAN
25 กรกฎาคม 2555
Floating Nations - ประเทศลอยน้ำ (ตอนที่ 3)
(ภาพจาก http://www.architectureanddesign.com.au/)
ในสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้ไปออกภาคสนามแถวๆ จ.ชัยภูมิ ทำให้ผมมีโอกาสได้เห็นการก่อสร้างสถานีผลิตไฟฟ้าพลังงานงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) ในพื้นที่แถว จ.เพชรบูรณ์ และ จ.ชัยภูมิ ซึ่งทำให้ผมค่อนข้างปวดใจ เพราะถึงแม้เราจะได้พลังงานไฟฟ้าจาก Solar Farm ซึ่งกินอาณาบริเวณนับพันๆ ไร่ แต่เราก็ต้องสูญเสียที่ดินดีๆ ซึ่งสามารถใช้เพาะปลูกอาหารไปด้วย ปกติการก่อสร้าง Solar Farm ในประเทศที่มีความเจริญ อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ ประเทศจีน มักจะทำในพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ที่ดินในการผลิตอาหารไม่ได้แล้ว เช่น ในทะเลทราย ส่วนในประเทศที่มีประชากรหนาแน่น และมีการใช้พื้นที่ค่อนข้างจะเต็มประสิทธิภาพอย่างเยอรมัน เขาก็จะมักจะติดตั้งเซลล์สุริยะบนหลังคาอาคารเป็นหลัก เช่น ติดตั้งในหมู่บ้านทั้งหมู่บ้านไปเลย ผมไม่ค่อยเห็นการนำพื้นที่ทางการเกษตรไปสร้าง Solar Farm เลยครับ ก็เพิ่งเห็นในประเทศไทยนี่แหล่ะครับ .... ปวดใจจริงๆ .... เท่าที่ทราบมา เห็นว่ายังจะมีการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นี้อีกหลายแห่งด้วยครับ
ประเทศไทยก็เหมือนหลายๆ ประเทศทั่วโลกหล่ะครับ ที่นับวัน ที่ดินดีๆ ที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกจะน้อยลงไปเรื่อยๆ ทรัพยากรบนพื้นดินมีแต่จะหายากลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น อนาคตอยู่ที่ทะเลและมหาสมุทรครับ ในศตวรรษที่ 21 ประเทศใดที่ไม่มีทางออกทะเล มีแต่จะต้องพึ่งพาประเทศอื่นๆ ส่วนประเทศที่มีทางออกทะเล รวมทั้งประเทศไทย ก็ต้องถามว่า ประเทศนั้นมีศักยภาพในการใช้ทรัพยกรและปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลมากแค่ไหน เช่น การมีกองทัพเรือที่เข้มแข็ง มีเทคโนโลยีทางทะเล (Marine Technology) พร้อมแค่ไหน เพราะนอกจากประเทศเหล่านี้จะต้องแข่งขันเพื่อช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล กับ ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคแล้ว ก็อาจจะต้องเผชิญการแข่งขันกับประเทศเกิดใหม่ ประเทศเล็กๆ ลอยน้ำ (Micronations) ที่พร้อมจะแข่งขันและประสานผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบใหม่ของศตวรรษที่ 21
ประเทศลอยน้ำจะเน้นระบบเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง ดังนั้น อาชีพของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนี้จะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ไอที เทคโนโลยีชีวภาพ การออกแบบ อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศลอยน้ำมีที่ตั้งในมหาสมุทร ประเทศเหล่านี้จึงมีความได้เปรียบในอุตสาหกรรมอีกด้านหนึ่ง ซึ่งต่อไปในอนาคต โลกอาจจะต้องพึ่งพาประเทศเหล่านี้เป็นอย่างมาก นั่นคือ การผลิตอาหารทะเล ประเทศลอยน้ำสามารถใช้ความได้เปรียบในการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเลเปิด (Mariculture) ซึ่งกำลังได้รับการพัฒนาให้มีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันสามารถผลิตอาหารได้หลายชนิด ทั้ง กุ้ง หอย ปลา สาหร่าย ซึ่งเมื่อมีการจับสัตว์น้ำขึ้นมา ก็สามารถทำกรรมวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะทำเป็นอาหารสด แช่แข็ง หรือแปรรูป สามารถทำในทะเลได้เลย (เนื่องจากเป็นประเทศลอยน้ำอยู่ในทะเลอยู่แล้ว) ลองคิดดูสิครับว่า มูลค่าเศรษฐกิจจะมากขนาดไหน ปัจจุบัน ประชากรโลก 1 พันล้านคนบริโภคปลาเป็นอาหารโปรตีนหลัก มนุษย์บริโภคปลาสดเป็นจำนวนปีละ 120 ล้านตัน และจะมากขึ้นไปอีกเรื่อยๆ แต่จำนวนปลาที่จับได้มีแต่จะน้อยลง ทำให้ราคาของปลาทะเลในปัจจุบันสูงมาก โลกในอนาคตจึงต้องพึ่งพาการเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเล เพื่อชดเชยการจับปลาแบบเดิมๆ
พลังงานก็อาจจะเป็นสินค้าอีกอย่างหนึ่ง ที่ประเทศลอยน้ำสามารถส่งออกไปขายยังประเทศที่อยู่บนชายฝั่ง เนื่องจากที่ดินในทะเลค่อนข้างจะฟรีและมีเหลือเฟือ ดังนั้น การสร้างสถานีผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ (Solar Island) ก็ไม่ต้องปวดใจอีกต่อไป เพราะไม่ต้องไปแย่งพื้นที่เกษตรกรรม ในทะเลไม่ได้มีแต่แสงแดด แต่มีทั้งคลื่น ลม ซึ่งสามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้ รวมทั้งพลังงานไฟฟ้าผลิตจากการใช้ความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิของน้ำเย็นที่ระดับความลึกหลายร้อยเมตร กับ อุณหภูมิที่ผิวน้ำ (Ocean Thermal Energy Conversion) ซึ่งหากนำเทคโนโลยีอันหลังนี้มาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ประเทศลอยน้ำจะกลายเป็นเศรษฐีทางด้านพลังงานไปในทันทีครับ
ป้ายกำกับ:
climate change,
climate engineering,
crisis,
Economy,
geoengineering,
new paradigm,
water
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น