31 กรกฎาคม 2555

อาภรณ์อัจฉริยะ - Wearable Intelligence (ตอนที่ 3)


อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่แสดงถึงภูมิปัญญาทางด้านคณิตศาสตร์ของคนโบราณที่แสดงออกบนลายผ้าทอโบราณ ก็คือผ้าทอของชนเชื้อชาติอากัน (Akan) ในทวีปแอฟริกาซึ่งปัจจุบันเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักของประชากรในประเทศกานา และไอวอรีโคสท์ จากลายผ้าทำให้สามารถเชื่อมโยงได้ว่าชนเผ่านี้น่าจะสืบเชื้อสายมาจากชาวอียิปต์โบราณ เนื่องจากคณิตศาสตร์บนลายผ้ามีความเชื่อมโยงกับคณิตศาสตร์ที่นิยมใช้ในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในยุคอียิปต์โบราณ ไม่ว่าจะเป็นหลักการนับเลขแบบสามเหลี่ยม (Triangular Numbers) ซึ่งปรากฎชัดในลวดลายแบบสามเหลี่ยม ที่แฝงความซับซ้อนไปถึงการใช้สามเหลี่ยมปาสคาล (Pascal’s Triangle) กันเลยทีเดียว และที่น่าทึ่งมากก็คือ จากการถอดรหัสลายผ้าของชาวอากันทำให้พบว่าในลายผ้าเหล่านั้นมีการแฝงตัวเลขที่เรียกว่า Fibonacci numbers ซึ่งเป็นรูปแบบที่เลขตัวใดตัวหนึ่งในอนุกรมนี้ เกิดจากการบวกของเลขตัวหน้า 2 ตัว ชุดของตัวเลข Fibonacci ดังกล่าวคือ 1, 1, 2, 3, 5, 8, 13, 21, 34, 55 …… ซึ่งจะเห็นได้ว่า 3 เกิดจาก 1+2 และ 55 เกิดจาก 21+34 นักวิจัยพบว่าชาวอากันได้แฝงตัวเลขเหล่านี้เข้าไปในลายผ้าจำนวนมาก ซึ่งเป็นตัวเลขที่ชาวอียิปต์โบราณมักใช้ในการก่อสร้าง นอกจากลายผ้าทอของชาวอากันจะแสดงถึงอัจฉริยภาพทางด้านตัวเลขแล้ว ยังมีลายผ้าทออีกหลายๆ แบบที่แฝงความรู้ทางด้านรูปทรงเรขาคณิต เช่น รูปทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เตตระฮีตรอน (รูปทรงสี่หน้า) ออกตระฮีตรอน (รูปทรงแปดหน้า) ซึ่งนับเป็นหลักฐานสำคัญในการเชื่อมโยงอารยธรรมของชาวอากันกับชาวอียิปต์โบราณได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นนั้นได้แสดงให้เห็นว่า ผ้าทอเป็นสื่อทางด้านสารสนเทศ ที่เก็บข้อมูลความรู้ ความเป็นตัวตนของชนชาติได้เป็นอย่างดี การอนุรักษ์ลายผ้าทอโบราณเท่ากับเราเก็บรักษาอดีตของเราไม่ให้สูญหายไปจากโลกนี้ ผ้าทอโบราณไม่ได้ถูกสร้างสรรค์มาเพื่อทำหน้าที่สำหรับนุ่งห่มเท่านั้น แต่ยังถูกออกแบบมาให้เก็บข้อมูลความรู้ ความเป็นชนชาติ ที่ไปที่มาของบรรพบุรุษผู้สร้างสรรค์ลายผ้านั้นอีกด้วย จะเห็นว่าตั้งแต่อดีตเป็นต้นมานั้น ผืนผ้าได้ทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นสนามประลองความมีอัจฉริยภาพของชนชาติต่างๆ ได้ว่าใครจะมีความสามารถในการแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์บนผืนผ้าได้มากกว่ากัน ชนเหล่าใดสามารถสืบสานศิลป์และศาสตร์ในการทอให้สืบไปได้ ก็เท่ากับว่าได้สืบทอดทั้งเทคโนโลยีและอัตลักษณ์ของตนเองให้ไปถึงลูกหลานได้

แม้ว่ายุคทองของผ้าทอจะผ่านไปแล้ว และในปัจจุบันอุตสาหกรรมสิ่งทอถูกมองว่าเป็นอุตสาหกรรมอาทิตย์อัศดง (Sunset Industry) แต่กระแสนาโนเทคโนโลยีที่มาแรงและเข้าไปแทรกซึมอยู่ในทุกอุตสาหกรรมนั้น กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมสิ่งทอให้กลับมาสร้างความฮือฮาได้อีกครั้ง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เกิดคำใหม่ๆ ขึ้นมามากมายในวงการสิ่งทอ เช่น ผ้าฉลาด (Smart Fabrics) สิ่งทออิเล็กทรอนิกส์ (e-Textile) เท็กซ็ทรอนิกส์ (Textronics) สิ่งทออัจฉริยะ (Intelligent Textile) อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ได้ (Wearable Electronics) การประมวลผลบนสิ่งทอ (Textile Computing) เสื้อผ้าอันตรกริยา (Garment Interaction) อาภรณ์ตอบสนอง (Interactive Cloth) หรือแม้กระทั่ง ผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ (e-Skin) ซึ่งจะทำให้ผืนผ้ากลับมาเป็นสนามประลอง ให้แสดงออกถึงอัจฉริยภาพของมนุษย์อีกครั้ง

ครั้งหน้า ผมจะเริ่มนำท่านผู้อ่านเข้าสู่เรื่องของ สิ่งทอแห่งยุคอนาคตกันครับ ....




** โครงการ Wearable Intelligence ได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ **



30 กรกฎาคม 2555

Intelligent Vending Machine - ตู้หยอดเหรียญอัจฉริยะ (ตอนที่ 4)



(Picture from http://choco04.wordpress.com/tag/vending-machine/)

วันนี้อยู่ดีๆ ก็คิดถึงญี่ปุ่นขึ้นมา คิดถึงตู้หยอดเหรียญน่ารักๆ คิดถึงวันชื่นคืนสุข เมื่อไหร่ก็ตามที่ไปใช้ชีวิตในญี่ปุ่น ไม่เคยมีวันไหนที่จะไม่ไปใช้บริการตู้หยอดเหรียญ เพื่อซื้อของกิน ของเล่น ของบันเทิงเริงใจ ตีหนึ่ง ตีสอง ก็พึ่งพาได้เสมอๆ วันนี้เลยขอเขียนเกี่ยวกับตู้หยอดเหรียญอัจฉริยะเป็นตอนที่ 4 หลังจากห่างหายจากเรื่องนี้ไปค่อนข้างนานมากๆ เลยครับ

ขอท้าวความเดิมหน่อยนะครับ ว่ากันประเทศญี่ปุ่นมีเครื่องหยอดเหรียญมากมายถึง 5.5 ล้านเครื่อง คิดเป็นจำนวนตู้หยอดเหรียญ 1 ตู้ ต่อประชากร 23 คน มากที่สุดในโลกครับ ครึ่งหนึ่งของ 5 ล้านกว่านี้เป็นตู้สำหรับกดเครื่องดื่มไร้อัลกอฮอล์ครับ ประมาณ 118,000 ตู้จะเป็นของแปลกที่ไม่น่าเอามาใส่ในตู้ ไม่ว่าจะเป็น มีดโกนหนวด ถุงเท้า ไข่ไก่ มี 5,500 ตู้ที่เป็นบะหมี่กระป๋อง รายได้ของตู้หยอดเหรียญทั้งหมดรวมทั้งปีมีมูลค่าถึง 7,000,000,000,000 เยน หรือ ประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท 

นับวันตู้หยอดเหรียญจะฉลาด (และน่ารัก) มากขึ้นเรื่อยๆ มีการเพิ่มเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าไปมากมาย ไม่ว่าจะเป็นจอภาพแบบสัมผัส การตรวจหาอายุของผู้ใช้บริการ ตู้สมัยใหม่ไม่ต้องใช้เหรียญหยอด แต่สามารถใช้บัตรสมาร์ทการ์ด หรือ บัตรเครดิต นอกจากนั้นมันยังเชื่อมต่อกับโครงข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อให้บริการอื่นๆ เช่น แผนที่ไปยังจุดที่น่าสนใจ แนะนำร้านอาหารน่าทานบริเวณนั้น รวมทั้ง มันยังมีการเช็คสต็อกตัวเอง แล้วส่งข้อมูลกลับไปยังบริษัท โดยที่เจ้าของบริษัทสามารถรู้ข้อมูลการให้บริการว่า ส่วนใหญ่คนมากดเอาอะไรในช่วงเวลาไหนบ้าง ทำให้รู้ข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนอีกด้วย นอกจากนั้น แนวโน้มในอนาคตที่ผมคิดว่าน่าจะเกิดขึ้นก็คือ ตู้หยอดเหรียญจะทำตัวเสมือนเป็นเกมส์ ทำให้ผู้ใช้บริการอยากที่จะไปหยอดซื้อมากขึ้น ครั้งหนึ่งที่ผมไปญี่ปุ่นกับภรรยา ภรรยาของผมหยอดน้ำกระป๋องที่มีรูปไอ้มดแดงออกมาทุกรสชาติที่มีขายในตู้นั้น แล้วเทเอาน้ำออก เอากระป๋องกลับมาตั้งโชว์ที่บ้าน

บทบาทที่มากขึ้นเรื่อยๆ ของตู้หยอดเหรียญนี้ ทำให้แม้แต่บริษัทอินเทล ก็เริ่มมาให้ความสนใจ โดยอินเทลมีแผนจะขายตู้หยอดเหรียญอัจฉริยะ เพราะประเมินว่าในปี ค.ศ. 2016 ตลาดจะมีความต้องการตู้หยอดเหรียญอัจฉริยะมากถึง 2 ล้านตู้ต่อปี ตู้หยอดเหรียญที่อินเทลจะสร้างนี้ จะมีจอภาพขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถทำการโฆษณาได้ โดยสามารถส่งการโฆษณาแบบต่างๆ ไปที่ตู้ ให้เหมาะกับเวลาและสถานที่ ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าของตู้ จะมีรายได้จากการโฆษณาเพิ่มเติมจากการขายสินค้า

พูดแล้วก็อยากให้วันนั้น มาถึงไวๆ ครับ .....

27 กรกฎาคม 2555

The Future of City - อนาคตของเมืองใหญ่ (ตอนที่ 3)



(Picture from http://www.freakingnews.com/)

ทศวรรษนี้ เรื่องของการทำให้สิ่งของและสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว มีความฉลาด รู้จักคิด และอาจะเลยไปถึงการสัมผัสอารมณ์ ความรู้สึก และแลกเปลี่ยนเชิงอารมณ์กับมนุษยได้ น่าจะเป็นกระแสที่มาแรงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบ้านอัจฉริยะ (smart home) รถอัจฉริยะ (smart/intelligent vehicle) ฟาร์มอัจฉริยะ (smart farm) อาคารอัจฉริยะ (smart building) ทางหลวงอัจฉริยะ (smart highway) ระบบพลังงานอัจฉริยะ (smart grid) ไปจนถึงเมืองทั้งเมือง เป็นเมืองอัจฉริยะ (smart city)

เมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก ล้วนใฝ่ฝันที่จะเป็นเมืองน่าอยู่ มีสภาพแวดล้อมที่น่ารื่นรมย์ ประชากรมีสุขภาพและสวัสดิภาพที่ดี สิ่งแวดล้อมในเมืองมีคุณภาพ การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพ การขนส่งและการจราจรมีความสะดวกสบาย อาชีพการงานมีความมั่นคง มีความบันเทิงเริงใจ มีระบบการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของทุกชนชั้น การเมืองมีความโปร่งใส มีการเอาใจใส่ในเรื่องผังเมือง เมืองมีอัตลักษณ์ มีเสน่ห์ มีการดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมและประเพณี และอื่นๆ อีกมากมาย เมืองอัจฉริยะอย่างแท้จริง ต้องสามารถทำให้ปัจจัยที่กล่าวมาส่วนใหญ่เป็นจริงได้ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผนวกกับการจัดการขั้นเทพ และความตั้งใจของภาคส่วนต่างๆ ที่ประกอบกันเป็นเมือง เราสามารถที่จะสร้างเมืองอัจฉริยะขึ้นที่ใดก็ได้บนโลกใบนี้ครับ

ตัวอย่างหนึ่งที่กำลังเป็นที่กล่าวขานกันมากในช่วง 2-3 ปีมานี้ และเป็นตัวอย่างที่เมืองใหญ่ทั่วโลกกำลังจับตามองก็คือ โครงการ Amsterdam Smart City ซึ่งเป็นความร่วมมือร่วมใจของภาครัฐและเอกชน ที่จะผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่สำหรับใช้ในเมืองใหญ่ โดยโครงการนี้มีจุดเน้นที่การประหยัดพลังงาน และใช้พลังงานในเมืองให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อเป็นการลดการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ โครงการ Amsterdam Smart City นี้ประกอบด้วยโครงการย่อยๆ มากมาย ที่นำมาทดลองใช้พร้อมๆ กัน เป็นการทดลองนวัตกรรมต่างๆ ในพื้นที่จริง ซึ่งฉลาดมาก เพราะเป็นการทำการวิจัยโดยใช้เมืองทั้งเมืองเป็นห้องทดลอง 

ผมขอยกตัวอย่างโครงการย่อยต่างๆ ที่มีการทดลองในเมืองอัมสเตอร์ดัมกันนะครับ ซึ่งโครงการย่อยต่างๆ เหล่านี้ เมื่อรวมกัน ก็จะทำให้เมืองนี้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะ

- ติดตั้งระบบประหยัดพลังงานไฟฟ้าในบ้านหลายพันหลัง เพื่อช่วยลดการใช้กระแสไฟฟ้า ระบบสมาร์ทมิเตอร์ ที่ทำให้การเก็บข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้า และนำไปสู่การประหยัดพลังงาน

- การปล่อยเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย เพื่อการปรับปรุงอาคารให้มีการลดการใช้พลังงาน เช่น การเปลี่ยนฉนวนความร้อนให้เป็นฉนวนความร้อนแบบใหม่ที่ดีกว่าเดิม การเปลี่ยนหลอดไฟทั้งหมดให้เป็นหลอดประหยัดพลังงาน

- โครงการ Climate Street ในย่านช็อปปิ้งหลักในเมืองอัมสเตอร์ดัม มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ มีการใช้สมาร์มิเตอร์เพื่อติดตามการใช้พลังงานในย่านนี้ เปลี่ยนหลอดไฟทั้งหมดไปใช้หลอดไฟประหยัด เพิ่มประสิทธิภาพการทำความเย็น การทำความร้อนในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าตลอดแนว ถังขยะอัจฉริยะที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงมีการนำรถขยะพลังงานไฟฟ้ามาใช้เก็บขยะในย่านนี้

- ทยอยติดตั้งสถานีชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเริ่มมีการใช้งานมากขึ้นในอนาคต โดยสถานีชาร์จไฟเหล่านี้เชื่อมต่อเข้ากับระบบอินเตอร์เน็ต รถยนต์สามารถที่จะหาสถานีชาร์จที่ใกล้ที่สุดเพื่อเติมไฟ รวมทั้งสถานภาพการใช้งาน เช่น มีที่จอดชาร์จว่างอยู่หรือไม่

- จัดทำระบบรับซื้อพลังงานจากอาคารบ้านเรือนที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และ กังหันลมผลิตไฟฟ้า นำเข้าสู่ระบบจำหน่าย

- อาคารของรัฐบาลมีการติดตั้งระบบตรวจวัดการใช้พลังงานแบบเรียลไทม์ และ ออนไลน์ เพื่อบอกให้ผู้ที่ทำงานอยู่ทราบตลอดเวลาว่ามีการใช้พลังงานอยู่เท่าไหร่ ทำให้เกิดความตระหนักในการลดการใช้พลังงานให้มากที่สุด เท่าที่ทำได้

- พัฒนาเทคโนโลยีอาคารอัจฉริยะ (Smart Building) เมืองใดก็ตามมีอาคารแบบนี้เยอะๆ เมืองนั้นก็มีสิทธิ์เป็น Smart City ได้ง่ายขึ้นครับ โดยในอาคารเหล่านี้จะมีการติดตั้ง Smart Meter, Smart Plug, Smart Lighting

- การทดลองผลิตไฟฟ้าใช้เองในอาคาร โดยการใช้เซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) เป็นการลดการใช้ไฟฟ้าจากระบบส่งของการไฟฟ้า

- การทดลองใช้เรือพลังงานไฟฟ้า โดยจัดทำสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับเรือจำนวน 200 แห่งตลอดชายฝั่งของแม่น้ำ เพื่อให้เรือขนส่งหันมาใช้ไฟฟ้าทดแทนน้ำมันดีเซล ซึ่งก็ช่วยทำให้อากาศในเมืองอัมสเตอร์ดัมสะอาดขึ้น

- Vertical Farming คือการทดลองปลูกพืชผักสำหรับบริโภคในเมือง โดยในอนาคตอาจจะทดแทนพืชผักที่ต้องขนส่งมาจากชนบทได้ เป็นการทำให้เมืองอยู่ได้ด้วยตนเอง และไม่ต้องพึ่งพาภาคเกษตรในชนบทอีกต่อไป

- โรงเรียนอัจฉริยะ (Smart School) เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้โรงเรียนต่างๆ ในอัมสเตอร์ดัมแข่งกันลดการใช้พลังงาน โดยครูและนักเรียนจะช่วยกันออกความคิด และพัฒนานวัตกรรมในการใช้พลังงานในโรงเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ

ถามว่าสิ่งที่อัมสเตอร์ดัมทำอยู่ กรุงเทพฯ จะทำบ้างได้มั้ย ผมคิดว่า คนไทยทำได้ครับ .....

25 กรกฎาคม 2555

Floating Nations - ประเทศลอยน้ำ (ตอนที่ 3)



(ภาพจาก http://www.architectureanddesign.com.au/)

ในสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้ไปออกภาคสนามแถวๆ จ.ชัยภูมิ ทำให้ผมมีโอกาสได้เห็นการก่อสร้างสถานีผลิตไฟฟ้าพลังงานงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) ในพื้นที่แถว จ.เพชรบูรณ์ และ จ.ชัยภูมิ ซึ่งทำให้ผมค่อนข้างปวดใจ เพราะถึงแม้เราจะได้พลังงานไฟฟ้าจาก Solar Farm ซึ่งกินอาณาบริเวณนับพันๆ ไร่ แต่เราก็ต้องสูญเสียที่ดินดีๆ ซึ่งสามารถใช้เพาะปลูกอาหารไปด้วย ปกติการก่อสร้าง Solar Farm ในประเทศที่มีความเจริญ อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ ประเทศจีน มักจะทำในพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ที่ดินในการผลิตอาหารไม่ได้แล้ว เช่น ในทะเลทราย ส่วนในประเทศที่มีประชากรหนาแน่น และมีการใช้พื้นที่ค่อนข้างจะเต็มประสิทธิภาพอย่างเยอรมัน เขาก็จะมักจะติดตั้งเซลล์สุริยะบนหลังคาอาคารเป็นหลัก เช่น ติดตั้งในหมู่บ้านทั้งหมู่บ้านไปเลย ผมไม่ค่อยเห็นการนำพื้นที่ทางการเกษตรไปสร้าง Solar Farm เลยครับ ก็เพิ่งเห็นในประเทศไทยนี่แหล่ะครับ .... ปวดใจจริงๆ .... เท่าที่ทราบมา เห็นว่ายังจะมีการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นี้อีกหลายแห่งด้วยครับ 

ประเทศไทยก็เหมือนหลายๆ ประเทศทั่วโลกหล่ะครับ ที่นับวัน ที่ดินดีๆ ที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกจะน้อยลงไปเรื่อยๆ ทรัพยากรบนพื้นดินมีแต่จะหายากลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น อนาคตอยู่ที่ทะเลและมหาสมุทรครับ ในศตวรรษที่ 21 ประเทศใดที่ไม่มีทางออกทะเล มีแต่จะต้องพึ่งพาประเทศอื่นๆ ส่วนประเทศที่มีทางออกทะเล รวมทั้งประเทศไทย ก็ต้องถามว่า ประเทศนั้นมีศักยภาพในการใช้ทรัพยกรและปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลมากแค่ไหน เช่น การมีกองทัพเรือที่เข้มแข็ง มีเทคโนโลยีทางทะเล (Marine Technology) พร้อมแค่ไหน เพราะนอกจากประเทศเหล่านี้จะต้องแข่งขันเพื่อช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล กับ ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคแล้ว ก็อาจจะต้องเผชิญการแข่งขันกับประเทศเกิดใหม่ ประเทศเล็กๆ ลอยน้ำ (Micronations) ที่พร้อมจะแข่งขันและประสานผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบใหม่ของศตวรรษที่ 21

ประเทศลอยน้ำจะเน้นระบบเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง ดังนั้น อาชีพของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนี้จะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ไอที เทคโนโลยีชีวภาพ การออกแบบ อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศลอยน้ำมีที่ตั้งในมหาสมุทร ประเทศเหล่านี้จึงมีความได้เปรียบในอุตสาหกรรมอีกด้านหนึ่ง ซึ่งต่อไปในอนาคต โลกอาจจะต้องพึ่งพาประเทศเหล่านี้เป็นอย่างมาก นั่นคือ การผลิตอาหารทะเล ประเทศลอยน้ำสามารถใช้ความได้เปรียบในการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเลเปิด (Mariculture) ซึ่งกำลังได้รับการพัฒนาให้มีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันสามารถผลิตอาหารได้หลายชนิด ทั้ง กุ้ง หอย ปลา สาหร่าย ซึ่งเมื่อมีการจับสัตว์น้ำขึ้นมา ก็สามารถทำกรรมวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะทำเป็นอาหารสด แช่แข็ง หรือแปรรูป สามารถทำในทะเลได้เลย (เนื่องจากเป็นประเทศลอยน้ำอยู่ในทะเลอยู่แล้ว) ลองคิดดูสิครับว่า มูลค่าเศรษฐกิจจะมากขนาดไหน ปัจจุบัน ประชากรโลก 1 พันล้านคนบริโภคปลาเป็นอาหารโปรตีนหลัก มนุษย์บริโภคปลาสดเป็นจำนวนปีละ 120 ล้านตัน และจะมากขึ้นไปอีกเรื่อยๆ แต่จำนวนปลาที่จับได้มีแต่จะน้อยลง ทำให้ราคาของปลาทะเลในปัจจุบันสูงมาก โลกในอนาคตจึงต้องพึ่งพาการเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเล เพื่อชดเชยการจับปลาแบบเดิมๆ

พลังงานก็อาจจะเป็นสินค้าอีกอย่างหนึ่ง ที่ประเทศลอยน้ำสามารถส่งออกไปขายยังประเทศที่อยู่บนชายฝั่ง เนื่องจากที่ดินในทะเลค่อนข้างจะฟรีและมีเหลือเฟือ ดังนั้น การสร้างสถานีผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ (Solar Island) ก็ไม่ต้องปวดใจอีกต่อไป เพราะไม่ต้องไปแย่งพื้นที่เกษตรกรรม ในทะเลไม่ได้มีแต่แสงแดด แต่มีทั้งคลื่น ลม ซึ่งสามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้ รวมทั้งพลังงานไฟฟ้าผลิตจากการใช้ความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิของน้ำเย็นที่ระดับความลึกหลายร้อยเมตร กับ อุณหภูมิที่ผิวน้ำ (Ocean Thermal Energy Conversion) ซึ่งหากนำเทคโนโลยีอันหลังนี้มาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ประเทศลอยน้ำจะกลายเป็นเศรษฐีทางด้านพลังงานไปในทันทีครับ

23 กรกฎาคม 2555

Micro Air Vehicle (ตอนที่ 1)



(Picture from http://www.hindustantimes.com/)

ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ได้มีความก้าวหน้าของอากาศยานจิ๋วที่เรียกว่า Micro Air Vehicle หรือเรียกย่อๆ ว่า MAV (ผมขอใช้คำนี้เรียกเจ้าสิ่งนี้ ในบทความตอนต่อๆ ไปนะครับ) โดยตามนิยามแล้ว MAV ถือว่าเป็น UAV แบบหนึ่ง (Unmanned Aerial Vehicles) ซึ่งก็แน่นอนอยู่แล้วครับ เพราะคนจะขึ้นไปขับ MAV ได้ยังไง เพราะขนาดของ MAV นั้น โดยเฉลี่ยก็แค่ 15 เซ็นติเมตรหรือเล็กกว่านั้น โดยมีเป้าหมายจะให้มีขนาดเล็กลงไปเรื่อยๆ จนมีขนาดเท่าแมลง เทคโนโลยี MAV จึงถือเป็นคู่แข่งของเทคโนโลยีแมลงชีวกล (Bionic Insect) โดย MAV จะเป็นจักรกลที่มนุษย์สร้างขึ้นทั้งหมด ในขณะที่แมลงชีวกลนั้น เป็นแมลงกึ่งจักรกล ซึ่งยืมเทคโนโลยีธรรมชาติที่เป็นตัวแมลง มาใช้เป็นส่วนของการเคลื่อนที่ สถานภาพปัจจุบันของเทคโนโลยีทั้งสอง ถ้าเป็นในแง่ขนาด เทคโนโลยีแมลงชีวกลยังนำหน้าอยู่อย่างทิ้งห่างครับ แต่ถ้าในแง่ของการควบคุม (โปรแกรมการบินจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง หรือ โปรแกรมภารกิจให้ทำงาน) เทคโนโลยี MAV นำหน้าไปไกลโขเลยครับ อีกสัก 2-3 ปี เรามาดูกันครับว่า เมื่อต่างฝ่ายต่างต้องการเด่นทั้ง 2 ด้าน ... เทคโนโลยีใดจะเป็นผู้ชนะ

ตอนนี้ ถ้ามีน้องๆ กำลังจะไปเรียนต่อเมืองนอกมาถามผมว่า "เรียนอะไรดีครับ ที่มีอนาคต" ... นี่เลยครับ ไปเรียนเรื่อง MAV นี้เลยครับ มีอนาคตไกลเลย และก็สนุกด้วย

งานวิจัยทางด้าน MAV แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทครับ คือ

(1) MAV ปีกแข็ง เหมือนปีกเครื่องบิน ซึ่งจะทำให้มันสามารถร่อนได้เป็นระยะทางไกลๆ MAV ประเภทนี้จะใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมาก แต่ก็จะมีข้อเสียตรงที่มันไม่สามารถหยุดสังเกตการณ์นิ่งๆ หรือเลี้ยวในมุมแคบ หรือฉวัดเฉวียนในซอกเล็กซอกน้อยได้

(2) MAV ปีกขยับได้ เหมือนนกหรือแมลง หุ่นประเภทนี้มีข้อดีตรงที่ทำการผลิตโดยวิธีการทางไมโครอิเล็กทรอนิกส์ได้ดี การบังคับก็ทำได้ดี แต่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน

(3) MAV ปีกหมุน เหมือนปีกเฮลิคอปเตอร์ มีข้อดีที่สามารถหยุดนิ่งใน อากาศได้ เลี้ยวมุมแคบ ฉวัดเฉวียนในซอกมุมได้ดี แต่ใช้พลังงานมาก ทำให้ระยะเวลาในการปฏิบัติการสั้นกว่าหุ่นบินปีกนิ่ง

จะเห็นได้ว่า MAV มีข้อได้เปรียบแมลงชีวกล ก็ตรงที่มันมีรูปแบบการบินให้เลือกมากถึง 3 รูปแบบครับ ในขณะที่แมลงชีวกลมีรูปแบบการบินแค่แบบเดียวเท่านั้น คือแบบที่ (2) อย่างไรก็ตาม การสร้าง MAV ให้บินเลียนแบบแมลงได้ ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการบินของนกและแมลงครับ  ระยะหลังๆ มานี้เราจึงเห็นวิศวกรรมเครื่องกลเข้ามาร่วมมือกับนักชีววิทยาด้านสัตว์ปีกและแมลง กันมากขึ้น

วันหลังมาคุยเรื่องนี้กันต่อครับ ....

20 กรกฎาคม 2555

Spy Technology for Farming (ตอนที่ 3)



(ภาพจาก www.petapixel.com)

พอผมพูดเกี่ยวกับเรื่อง UAV หรือ drone สำหรับการเกษตรไปสักสัปดาห์ ก็มีข่าวที่น่าตื่นเต้นออกมาแล้วครับ เพราะเมื่อ 2-3 วันก่อน บริษัท Rotary Robotics ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินการทางด้านวิศวกรรมอากาศยานอัตโนมัติ ซึ่งก็รวมถึง drone ด้วยได้ออกมาประกาศว่า ทางบริษัทกำลังพัฒนา drone ราคาถูกสำหรับประชาชนทั่วไป สนนราคาที่ตั้งใจไว้คือ 100 เหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 3,100 บาท) ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า Drones for Peace แต่ในระยะแรก ราคาที่พอทำได้คือที่ประมาณ 250 เหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 8000 บาท) ซึ่งผมคิดว่าราคาแค่นี้ถือว่าถูกมากๆ แล้วกับสิ่งที่มันทำได้

drone ของ Rotary Robotics บินที่ความเร็วประมาณ 30-40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งมันจะทำการบินแบบอัตโนมัติ โดยอาศัยการปรับแต่งเส้นทางการบินด้วย app บนสมาร์ทโฟน เช่น ไอโฟน หรือ แอนดรอยด์ ซึ่งหน้าที่หลักของ drone ประเภทนี้คือการบินขึ้นไปถ่ายภาพ ลองคิดดูสิครับว่า ด้วยเงินไม่ถึงหมื่นบาท เราจะมี drone ส่วนตัว ซึ่งสามารถบินขึ้นไปทำแผนที่ทางอากาศของพื้นที่ที่เราสนใจได้ น่าทึ่งแค่ไหนล่ะครับ ที่อีกไม่นานเราจะมีหุ่นยนต์บินได้ ขึ้นไปบินถ่ายภาพไร่นาของเรา โดยที่เราไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแค่ใส่เส้นทางการบินตามแผนที่ Google Map ให้มัน แล้วก็ปล่อยให้มันบินขึ้นไปถ่ายภาพ ซึ่งแค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็มีประโยชน์มากแล้วครับ เพราะอย่างน้อย เราก็จะได้ภาพมุมสูงของเรือกสวนไร่นาของเรา ซึ่งหากเราถ่ายภาพในช่วงต่างๆ ของการเพาะปลูก ก็อาจจะนำไปเปรียบเทียบให้ได้เห็นข้อมูลบางอย่าง เช่น ความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งการเก็บภาพบ่อยๆ เป็นเวลาหลายๆ ปี ก็จะยิ่งทำให้ข้อมูลมีประโยชน์มากขึ้นเรื่อยๆ ครับ

ไม่แน่นะครับ เลือกตั้งคราวหน้า นอกจากเด็ก ป. 1 จะได้ Tablet กันคนละเครื่องแล้ว เกษตรกรทุกคนอาจจะได้รับแจก drone กันคนละลำด้วยก็ได้ครับ .......

17 กรกฎาคม 2555

Intelligent Automobile - ยานยนตร์อัจฉริยะ (ตอนที่ 1)



(ภาพบน - รถยนต์ที่วิ่งมาโดนคราบน้ำมันลื่น จะส่งข้อมูลเตือนไปยังรถคนอื่นๆ ที่กำลังจะวิ่งมาในเส้นทางเดียวกัน)

ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (embedded computing) ที่นับวันจะเล็กลงๆ ราคาถูกลงๆ แต่มีสมรรถนะมากขึ้นๆ เรื่อยๆ ได้ทำให้เทคโนโลยีหลายๆ อย่างที่เราเคยมองว่าอาจต้องใช้เวลานานถึงจะเป็นจริงๆ มีโอกาสได้ใช้เร็วขึ้นมากกว่าเดิมครับ เช่น อากาศยานไร้คนขับ (UAV) ปัจจุบันกลายมาเป็นของเล่นสนุกๆ กันไปแล้ว อุปกรณ์เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่เราใช้กันในบ้าน พากันเชื่อมโยงเข้าระบบอินเตอร์เน็ต โดยมีโทรทัศน์ (Internet TV) นำร่อง ต่อไปก็จะเป็น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เตาไมโครเวฟ และ  ......  รถยนต์ 

ในบทความซีรีย์นี้ ผมจะทยอยนำความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยียานยนต์อัจฉริยะ (Intelligent Automobile หรือ Intelligent Car หรือ i-Car หรือ Smart Car) ซึ่งจะทำให้ยานพาหนะสุดโปรดของมนุษยชาติ กลายเป็นเครื่องใช้ที่มีหัวคิด สามารถรับรู้อารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการ และ คอยหมั่นดูแลเอาใจใส่ผู้ใช้ เทคโนโลยีเหล่านี้กำลังทยอยเข้ามาใส่ในรถยนต์ยุคต่อไป ผมขอยกตัวอย่างอัจฉริยภาพดังต่อไปนี้ ที่เรากำลังจะมีใช้กันในอนาคตครับ

-  Autonomous Cruise Control เป็นระบบการขับเอง (Self-Driving) ของรถยนต์ ซึ่งรถยนต์จะอาศัยเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งบนรถยนต์ มันจะตรวจสอบแนวเส้นทางของถนน ควบคุมพวงมาลัยและความเร็วที่มันคิดว่าปลอดภัย เซ็นเซอร์จะตรวจสอบระยะห่างจากรถยนต์คันหน้า ตัวรถยนต์อาจมีการสื่อสารกับถนนหรือทางหลวง (Smart Highway) ซึ่งมันจะรับข้อมูลเข้ามา ซึ่งจะทำให้มันรู้ล่วงหน้าเกี่ยวกับข้อมูลที่ควรใส่ใจ เช่น ทางโค้งอันตราย ไฟจราจร หรือ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นข้างหน้า

- Lane Departure Warning เป็นระบบที่คอยเตือน เมื่อรถยนต์ที่เราขับกำลังจะหลุดออกจากเลน จะโดยความไม่ตั้งใจ พลั้งเผลอ หรือ หลับใน ระบบจะตรวจพบวิถีการขับที่ผิดปกติ และจะส่งเสียงเตือนให้เรารีบกลับเข้าเลน แต่ถ้าเราตั้งใจแซงรถแล้วเปิดไฟเลี้ยว ระบบจะเข้าใจว่าเรามีสติรู้อยู่ว่ากำลังจะทำการแซง เค้าก็จะไม่เตือนครับ

- Blind Spot Monitoring เป็นระบบช่วยเหลือในการมองบริเวณที่เราเรียกว่า "จุดบอด" ครับ ซึ่งกระจกมองหลัง และกระจกข้างมักจะไม่เห็น เช่น ด้านข้างรถช่วงใกล้ๆ ประตูหลัง เช่น หากมีรถคันอื่นๆ มาอยู่ใกล้ๆ ก็จะเป็นจุดสีแดงกระพริบๆ ที่กระจกข้าง ทำให้เรารู้ว่ามีพาหนะคันอื่นในบริเวณนั้น เพื่อที่เราจะได้เพิ่มความระมัดระวัง เช่น รอให้รถคันนี้แซงไปก่อนแล้วค่อยเปลี่ยนทิศทางของรถเรา

- Driver Monitoring รถยนต์ที่ติดตั้งระบบดังกล่าว จะคอยตรวจสอบผู้ขับขี่ว่ามีสติสมประดีหรือไม่ พร้อมจะขับหรือไม่ เช่น ถ้าอยู่ในสภาพเมามายไม่ได้สติ รถยนต์ก็จะไม่ยอมสตาร์ท ในระหว่างขับขี่ รถยนต์จะคอยตรวจสอบว่าผู้ขับขี่มีอาการง่วงหรือไม่ ถ้าตรวจพบมันจะเปิดเพลงหรือส่งเสียงเตือน ในสภาวะที่อันตราย ถ้าผู้ขับขี่ไม่ตอบสนองต่อการเตือน รถยนต์จะแย่งพวงมาลัยและทำการหยุดรถ (ในภาพยนต์เรื่องเจมส์ บอนด์ รถสามารถดีดตัวผู้นั่งออกไปนอกรถด้วยนะครับ)

- Adaptive Headlamps เป็นการปิดเปิด ปรับความสว่างของไฟหน้าเองตามสภาพแวดล้อม การปรับทิศทางของไฟหน้าให้ผู้ขับขี่มองเห็นได้ทั่วถึง เช่น ระหว่างเลี้ยว เป็นต้น

- Automatic Parking เป็นการขับเข้าที่จอดให้อัตโนมัติสำหรับผู้ขับขี่ที่จอดรถไม่เก่ง ระบบนี้เริ่มมีใช้ในรถยนต์หลายๆ ยี่ห้อแล้วครับ

- Automotive Night Vision หรือระบบช่วยมองในเวลากลางคืน ปัจจุบันมีใช้กันในรถยนต์หลายยี่ห้อแล้วครับ หรืออาจจะซื้อมาติดตั้งเองก็ได้ แต่ในอนาคตผมเชื่อว่าระบบนี้จะมีอยู่ในรถยนต์ทุกคัน ระบบที่ฉลาดๆ หน่อยจะสามารถตรวจหาจักรยาน คนเดินเท้า หรือ สัตว์ ที่กำลังเดินข้างถนน แล้วจะเตือนเราให้ระวังด้วยครับ

- Traffic Sign Recognition หรือระบบจดจำป้ายจราจร มันจะตรวจสอบและวิเคราะห์ความหมายของป้ายจราจร แล้วจะคอยเตือนเราด้วยเสียง เช่น ป้ายให้ลดความเร็ว หรือ ให้ชะลอรถเข้าสู่ทางแยก หรือ ทางโค้งอันตราย ซึ่งก็จะเป็นระบบที่ช่วยเป็นเพื่อนร่วมทาง และคอยดูทางให้เราอีกทีหนึ่งครับ ในอนาคตระบบนี้สามารถคุยได้โดยตรงกับถนน (Smart Highway) เพื่อรับข้อมูลที่สำคัญเข้ามา แล้วมาเตือนหรือช่วยเหลือคนขับ เช่น สภาพการจราจรในเส้นทางที่เรากำลังจะไป เป็นต้น

- Crash Avoidance เป็นเทคโนโลยีสำหรับหลีกเลี่ยงการชน ซึ่งจะคอยตรวจตราสภาพการขับขี่ของเรา ตรวจตรารถคันหน้า เช่น หากมีการเบรคกะทันหัน แล้วมันคิดว่าเราตอบสนองช้าเกินไป มันจะแย่งเบรคและพวงมาลัยไปจากเราเพื่อไม่ให้การชนเกิดขึ้น ระบบนี้ยังครอบคลุมไปถึงการคุยกันระหว่างรถยนต์ เพื่อป้องกันวิถีการชนด้วยครับ เช่น ในบริเวณทางแยก เมื่อรถของเราเข้าทางแยกพร้อมกับรถอีกคัน รถยนต์ทั้งคู่จะสื่อสารกัน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการชนกัน

- Pre-crash System เป็นระบบการช่วยป้องกันคนในรถ เมื่อรถยนต์คำนวณแล้วว่าการชนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ มันจะกระทำอย่างสุดความสามารถเพื่อป้องกันคนนั่ง เช่น การปรับมุมการชน การเปิดใช้ถุงลมนิรภัย การปรับเบาะนั่งให้ลดแรงกระแทก และส่งข้อมูลเพื่อขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยกูภัย ตำรวจทางหลวง และสถานพยาบาล

- Health Monitoring คนเราใช้เวลาค่อนข้างมากอยู่ในรถ ดังนั้นในอนาคต เราจะได้เห็นรถที่เมื่อเราขึ้นมานั่ง จับพวงมาลัย รถจะทำการตรวจอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันเลือด แล้วเก็บข้อมูลนั้นไว้ หรืออาจจะส่งข้อมูลไปยังโรงพยาบาลที่เราใช้บริการอยู่ ดังนั้น นอกจากเราจะต้องเอารถเข้าศูนย์เมื่อถึงเวลาที่รถเตือนแล้ว (ในอนาคต รถจะไม่เข้าศูนย์ตามจำนวนกิโลเมตรเหมือนตอนนี้ มันจะบอกเราเองว่า มันต้องการเข้าศูนย์เมื่อไหร่ แล้วจะทำการติดต่อนัดรับรถให้เราเสร็จ) มันยังอาจเตือนเราให้ไปพบแพทย์ด้วย


ในตอนต่อๆ ไป ผมจะนำรายละเอียดของเทคโนโลยีที่น่าสนใจบางชนิด มาเล่าให้ฟังนะครับ

16 กรกฎาคม 2555

Vertical Farm - ทำไร่บนตึกสูง (ตอนที่ 5)



ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับ Vertical Farm ครั้งล่าสุดคือเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2010 นั่นคือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งผมได้ติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเรื่อยๆ และตอนนี้น่าจะต้องกลับมาเขียนเรื่องนี้เพิ่มอีกครั้งครับ

Vertical Farm เป็นแนวคิดในการทำไร่ทำนาในแนวตั้ง โดยใช้พื้นที่บนอาคารสูง และที่สำคัญเป็นการทำการเกษตรในเมือง (Urban Farming) ผู้ที่บุกเบิกแนวคิดนี้คือ ศาสตราจารย์ Dickson Despommier แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย การทำไร่บนตึกสูงนี้ มีข้อดีหลายอย่างและสามารถช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มนุษยชาติกำลังเผชิญ ดังต่อไปนี้ครับ

- ในอนาคตอีกไม่นาน ประชากรของโลกส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเมือง ประมาณกันว่าในปี ค.ศ. 2050 ประชากร 80% ของโลก (ประมาณ 9 พันล้านคน) จะอาศัยอยู่ในเมือง

- แต่การเกษตรในปัจจุบันกระทำกันในพื้นที่ชนบท ห่างไกลจากเมือง นั่นหมายถึงต้องมีการขนส่งมาถึงผู้บริโภค ทำให้ต้องใช้พลังงานมาก รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดูแลโครงสร้างพื้นฐาน (ถนน หนทาง) ไปกับจำนวนประชากรที่เบาบาง ที่ต้องทำหน้าที่แรงงานในภาคเกษตร

- การย้ายไร่นามาอยู่บนอาคารในเมือง เป็นการผลิตที่ใกล้ผู้บริโภค เป็นการผลิตอาหารที่มีประสิทธิภาพ สามารถควบคุมให้มีการรบกวนต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด เราสามารถคืนผืนดินสู่ธรรมชาติ คืนพื้นที่เกษตรกรรมให้กลับกลายเป็นผืนป่าอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน (Carbon Storage) ป่าเหล่านี้จะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ เมื่อมีผืนป่า สัตว์ป่าก็จะกลับคืนมาอีกครั้ง

- จะเกิดแรงงานในภาคเกษตรรูปแบบใหม่ ในกระบวนการผลิตอาหารในเมือง จะเกิดฟาร์มเกษตรบนอาคารขึ้นมากมายในเมือง เพื่อเลี้ยงประชากรในเมือง

- เราสามารถปลูกพืชได้ทั้งปีโดยไม่ต้องกังวลกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอีกต่อไป หากเรายังทำเกษตรแบบเดิม ก็มีแต่จะต้องเพิ่มพื้นที่เกษตรในแนวราบ เพื่อจะหล่อเลี้ยงประชากรที่เพิ่มขึ้นของโลก ทั้งนี้โลกของเราแทบจะไม่เหลือพื้นที่ให้ทำการเกษตรได้อีกแล้ว นอกเสียจากจะต้องยอมสูญเสียผืนป่าเขตร้อนอันมีค่า (ตัวอย่าง ป่าอะเมซอน และ ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร)

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แนวคิดของ Vertical Farm ได้มีการนำไปปฏิบัติทั้งในขั้นของการทดลอง หรือ แม้แต่ในเชิงการค้า เช่น ในประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สวีเดน หรือในประเทศสหรัฐอเมริกาเจ้าของความคิดเอง ก็เริ่มตามมาอย่างช้าๆ โดยเฉพาะในประเทศสิงคโปร์เองนั้น มีแนวคิดที่จะทำให้เกิด Vertical Farm ทั่วทั้งเกาะเลยทีเดียว เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้แก่ประเทศ


วันหลังมาคุยเรื่องนี้ต่อนะครับ ....

Smart Environment - สภาพแวดล้อมอัจฉริยะ (ตอนที่ 3)

สภาพล้อมรอบอัจฉริยะ (Ambient Intelligence) หรือ สภาพแวดล้อมที่ตอบสนอง (Responsive Environment) หรือ สถาปัตยกรรมแบบอันตรกริยา (Interactive Architecture) เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการทำให้สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย อาคารบ้านช่อง มีความฉลาด ทำงานตอบสนองต่อผู้อยู่อาศัย ทั้งในเชิงกายภาพ เชิงจิตใจ และ อารมณ์ สิ่งแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่นี้จะรับรู้ด้วยสัมผัสของมันว่า เราใช้ชีวิตอยู่อย่างไร กำลังทำอะไร มีความสุขหรือหงุดหงิดไหม นอนหลับดีหรือว่ากระสับกระส่าย ใช้เวลาอยู่กับสิ่งไหนมากน้อยอย่างไร แล้วมันก็จะพยายามเอาใจใส่เรา ทำในสิ่งที่เราต้องการ ด้วยการดูแลเรา และช่วยเหลือเราให้อยู่อย่างมีความสุข

ในบทความซีรีย์นี้ ตอนที่ 1 ผมได้ให้ตัวอย่างความสามารถของสภาพแวดล้อมอัจฉริยะ ซึ่งเมื่อนำมาใช้กับเมือง จะทำให้เมืองกลายเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เมื่อนำมาใช้กับบ้าน ก็จะทำให้บ้านกลายเป็นบ้านอัจฉริยะ (Smart Home) ถ้านำมาใช้กับฟาร์ม ก็จะทำให้ฟาร์มเป็นฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farm) 

เทคโนโลยีสภาพแวดล้อมอัจฉริยะนี้ จึงเป็นเทคโนโลยีเกิดใหม่อันหนึ่งที่กำลังมาแรงที่สุด มีกลุ่มวิจัยทั่วโลกทั้งในมหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชน ให้ความสนใจและลงทุนศึกษาพัฒนา สำหรับกลุ่มวิจัยของผมที่มหาวิทยาลัยมหิดลเองนั้น เราก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านนี้หลายตัวเหมือนกันครับ ตัวอย่างได้แก่

- Interactive Data Glove ถุงมือรับส่งข้อมูล เมื่อผู้ใช้นำมาสวมใส่แล้ว สามารถใช้ออกคำสั่งควบคุม ระบบอัตโนมัติภายในบ้าน เช่น เปิด ปิดไฟฟ้า แอร์ พัดลม เป็นต้น ผู้ใช้สามารถแสดงท่าทาง เช่น เอามือปัดไปปัดมาเหมือนกำลังพัดตัวเองอยู่ ถุงมือก็จะสั่งเครื่องปรับอากาศให้เย็นขึ้น หรือหากทำมือสั่นๆ เหมือนหนาว มันก็จะสั่งให้เครื่องปรับอากาศเพิ่มอุณหภูมิให้อุ่นขึ้น ตัวถุงมือสามารถโปรแกรมคำสั่งได้หลากหลาย เช่น เราอาจทำมือกางออกแล้วชี้ไปที่ไฟ เพื่อเปิดไฟ หรือ ทำมือหุบชี้ไปทางหลอดไฟเพื่อปิดไฟ เป็นต้น

- Smart Shoe รองเท้าอัจฉริยะ เป็นรองเท้าที่เก็บข้อมูลการเดิน ของผู้สวมใส่ มีทั้งเวอร์ชั่น outdoor และ indoor รองเท้าจะเก็บอากัปกริยาการเดิน วิเคราะห์ว่า ผู้เดินมีปัญหาในการเดินหรือไม่ สามารถตรวจวัด ท่าเดินที่ผิดปกติ การเดินมากเกินไป การลงน้ำหนักที่ไม่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการฟกช้ำ ในกรณีผู้ป่วยเบาหวาน รองเท้าสามารถเตือนได้ว่า คุณเดินแบบนี้มากไปแล้วนะ รองเท้าจะแนะนำให้เลิกเดิน หรือ ให้เดินปรับน้ำหนักที่ลงที่เท้า เพื่อไม่ให้บริเวณที่น้ำหนักลงไปเยอะแล้วได้พักบ้าง

- Smart Pillow หมอนอัจฉริยะ สำหรับตรวจวัดอากัปกริยาการนอน นอนหลับสนิทหรือไม่ มีการตื่นบ่อยหรือไม่ ตรวจวัดการกรน การพลิกตัว อัตราการหายใจ มีการหยุดหายใจหรือไม่ ไปจนถึง Level ในการนอนหลับ ผู้นอนสามารถตรวจวิเคราะห์ได้ด้วยตนเอง สามารถติดตามและพัฒนาการนอนได้ เพื่อสุขภาพการนอนที่ดี ด้วยเทคโนโลยีนี้ ต่อไปผู้นอนสามารถย้อนกลับไปดูข้อมูลการนอนของตัวเอง สามารถเปรียบเทียบการนอนแต่ละวันในหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งจะนำมาสู่การปรับปรุงการนอนของตนเอง ให้มีสุขภาวะมากขึ้น

- Smart Bed ตรวจวัดอากัปกริยาการนอน การใช้งานสามารถใช้ร่วมกับ smart pillow เพื่อตรวจวิเคราะห์การนอน โดยทางคณะวิจัยได้พัฒนาในรูปแบบของผ้าปูที่นอน ที่สามารถนำไปใช้ปูบนเตียง เพื่อความสะดวกในการใช้งาน

- Smart Nose จมูกอัจฉริยะสำหรับตรวจกลิ่น สามารถใช้ตรวจกลิ่นของมนุษย์ เพื่อระบุสถานะทางสุขภาพ ตรวจกลิ่นในบ้าน ตรวจกลิ่นห้องน้ำ เป็นต้น

- โปรเจคต์ต่อไปของคณะวิจัยคือ การพัฒนา Home Robot สำหรับช่วยเหลือดูแลบ้าน

วันนี้ขอคุยแค่นี้ก่อนนะครับ ....

10 กรกฎาคม 2555

Spy Technology for Farming (ตอนที่ 2)




ต้องขอบคุณสตีฟ จ๊อปส์ ที่ทำให้มีสมาร์ทโฟนถือกำเนิดขึ้นในโลก ไม่เพียงแต่เท่านั้น การเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟนได้มีส่วนทำให้เทคโนโลยีที่เคยถูกจัดให้เป็นยุทโธปกรณ์ขั้นสูง ซึ่งปกติมีใช้เฉพาะในกองทัพที่รวยที่สุดในโลก กลายมาเป็นของเล่นที่มีขายตามเว็บ เทคโนโลยีนั้นก็คือ อากาศยานไร้นักบิน (Unmanned Aerial Vehicle หรือ UAV) ซึ่งผมขอเรียกมันสั้นๆ ว่า drone นะครับ

Drone คืออากาศยานที่สามารถบินขึ้นบินลงเพื่อไปปฎิบัติงานตามภารกิจที่เราตั้งโปรแกรมไว้ drone เป็นชื่อทั่วๆ ไปสำหรับเรียกอากาศยานที่ไม่ต้องใช้นักบินควบคุม ดังนั้น เครื่องบินไร้คนขับอย่าง Global Hawk มูลค่า 4,000 ล้านบาท หรือ เครื่องบินขับเองได้ที่ทำด้วยโฟนของเด็กๆ ที่ซื้อจากห้างสรรพสินค้าราคา 15,000 บาท ก็เรียกว่า drone เหมือนกัน อากาศยานทั้ง 2 แบบนี้ต่างทำหน้าที่คล้ายๆ กันคือ บินขึ้นไปบนอากาศ บินไปยังจุดที่ตั้งเอาไว้ ปฏิบัติงานที่รับมอบหมาย แล้วบินกลับ ทั้งคู่มีระบบควบคุมการบินอัตโนมัติ (autopilots) มีกล้องความละเอียดสูง (แน่นอน Global Hawk มีกล้องที่มีความละเอียดสูงกว่ามาก) และระบบสื่อสารกับสถานีภาคพื้นดิน ถึงแม้เครื่องบินแบบแรกจะบินได้สูงเกือบ 20 กิโลเมตร และนานถึง 32 ชั่วโมง ในขณะที่แบบหลังบินได้สูงเพียง 100-200 เมตร และนานเพียงชั่วโมงเดียว แต่ด้วยราคาที่ห่างกับลิบลับ ทำให้ drone แบบที่สองกำลังจะครองโลก !!!

ที่ผมพูดว่าต้องขอบคุณสตีฟ จ๊อปส์ ก็เพราะการเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟน ได้ทำให้เรื่องของสมองกลฝังตัว (embedded computing) มีขนาดที่เล็กลง น้ำหนักเบาขึ้น กินพลังงานน้อยลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ drone ขนาดเล็ก มีความสามารถมากขึ้น การเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟนยังทำให้เกิดการพัฒนาแบตเตอรีที่มีขนาดเบาอย่างลิเธียมพอลิเมอร์ ทำให้ drone ขนาดเล็กบินได้นานขึ้น การรวมเอาเซ็นเซอร์ต่างๆ เข้าไปในสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะเป็น GPS เซ็นเซอร์วัดความเฉื่อย กล้องวีดิโอขนาดเล็ก ทำให้เกิดการพัฒนาวงจรเซ็นเซอร์รวมที่มีขนาดเล็ก ซึ่งเมื่อเอาไปใส่ใน drone ขนาดเล็ก เราก็จะได้ระบบบังคับการบินที่ทำงานได้ไม่แพ้ UAV ขนาดใหญ่ของกองทัพสหรัฐฯ เลยครับ ยิ่งสมาร์ทโฟนพัฒนาไปมากขึ้นเท่าไหร่ เราจะยิ่งเห็น drone ขนาดเล็กพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

ขนาดที่ว่านักเทคโนโลยีทางด้านนี้ ได้ลงความเห็นว่า drone จะเป็นเทคโนโลยีแรกในโลกที่อุตสากรรมของเล่น กับ อุตสาหกรรมกลาโหม ทำของออกมาแข่งกัน

เพราะตอนนี้ มีบริษัทเกิดใหม่มากมาย ที่เริ่มผลิต drone ขนาดเล็กและขนาดกลางออกมาขายแข่งกับทหาร ซึ่งความสามารถในการบินของ drone เหล่านี้สามารถเอาไปทำประโยชน์ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การกีฬา สำรวจทรัพยากรธรรมชาติ งานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ช่วยเหลือเหตุภัยพิบัติ ต่อต้านการก่อการร้าย หรือ แม้กระทั่งใช้แอบดูพฤติกรรมของคนรัก

แต่ที่ผมถูกใจมากที่สุดคือ การนำมาใช้ในทางเกษตร เพราะเจ้า drone เหล่านี้มีราคาไม่แพง เราสามารถต่อยอดเทคโนโลยีให้มันทำงานเป็นฝูง (swarm) เพื่อตรวจหาแมลง ทำแผนที่ผลผลิต เก็บข้อมูลสภาพแวดล้อม ถ่ายรูปมุมสูง พ่นปุ๋ยและยา เป็นต้น

อีกไม่นาน เราจะเริ่มเห็นฝูง drone บินฉวัดเฉวียนเหนือไร่นาแล้วครับ ....

03 กรกฎาคม 2555

Floating Nations - ประเทศลอยน้ำ (ตอนที่ 2)



เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัท Blueseed ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาประกาศว่า ในราวกลางปี ค.ศ. 2013 บริษัทจะเปิดเมืองลอยน้ำ ห่างจากชายฝั่งเมืองซาน ฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ออกไป 12 ไมล์ทะเล ซึ่งเป็นเขตของน่านน้ำสากล โดยเมืองลอยน้ำนี้ (ซึ่งเริ่มแรกน่าจะดัดแปลงจากเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่) จะรองรับบริษัทต่างๆ ที่ต้องมีการจ้างพนักงานต่างชาติที่ไม่สามารถจะได้วีซ่าเข้าทำงานในประเทศสหรัฐอเมริกาได้  โดยมากเป็นบริษัทใน Silicon Valley โดยพนักงานต่างชาติเหล่านี้สามารถพำนักได้บนเมืองลอยน้ำนี้ โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี พนักงานสามารถได้รับวีซ่าประเภท B1 เพื่อเข้าสหรัฐฯ ได้ ในลักษณะการเดินทางเพื่อไปพบลูกค้า ประชุม หรือปฏิบัติงานเชิงธุรกิจ หรือไปท่องเที่ยว โดยจะมีเรือเฟอรี่เดินทางระหว่างเมืองลอยน้ำนี้ กับ ชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย ทุกวัน เมืองลอยน้ำนี้จะมีการจ้างลูกเรือเข้ามาดูแลวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของประชากร เพื่อให้เมืองพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ แพทย์-พยาบาล พ่อครัวชั้นยอด ทนาย ช่าง นักดนตรี และอื่นๆ อีกมากมาย

สิ่งที่บริษัท Blueseed กำลังทำอยู่ นับว่าเป็นปฐมบทของแนวโน้มใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกครับ แนวโน้มที่ว่านี้ก็คือ ประเทศลอยน้ำ (Floating Nations หรือ Floating Countries) ซึ่งเป็นแนวคิดในการสร้างประเทศลอยน้ำได้ขึ้นมาในทะเลหรือมหาสมุทรที่เป็นน่านน้ำสากล ประเทศขนาดจิ๋ว (Micronation) แบบนี้สามารถกำหนดกฎหมายของตัวเองได้ สามารถที่จะคัดเลือกประชากรของประเทศตัวเองได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเลือกคนที่มีอันจะกิน กับ คนฉลาดๆ ที่สามารถจะเข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตัวเองได้ ในอนาคตเราจะเริ่มเห็นเมืองหรือประเทศลอยน้ำแบบ Blueseed นี้ลอยเป็นดอกเห็ด ตามชายฝั่งประเทศต่างๆ ทั่วโลก

แน่นอนว่า ถึงแม้ประเทศลอยน้ำนี้จะลอยไปอยู่ที่ไหนในโลกก็ได้ที่เป็นน่านน้ำสากล แต่ในความเป็นจริง ประชากรของประเทศลอยน้ำมักจะมีความผูกพันกับประเทศที่เป็นถิ่นกำเนิด (Host Nation) ซึ่งเป็นประเทศที่มันอยากลอยอยู่ใกล้ๆ เพราะอย่างไรเสีย ประเทศลอยน้ำนี้ก็ยังต้องพึ่งพาอาศัยทรัพยากรหลายๆ อย่างจากประเทศถิ่นกำเนิด โดยจะตอบแทนกลับคืนในแง่ของมูลค่าทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่นเดียวกับที่ Blueseed ส่งกลับคืนในรูปของผลงานนวัตกรรมต่างๆ แก่ประเทศสหรัฐอเมริกา

ดังนั้นประเทศลอยน้ำที่เกิดใหม่จะต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

(1) ความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศแม่ (Host Nation)
(2) การมีผลประโยชน์ร่วมกันกับชุมชนแนวชายฝั่งที่ประเทศลอยน้ำไปลอยอยู่ใกล้ๆ เช่น การเป็นแหล่งท่องเที่ยว การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
(3) ความสามารถทางเศรษฐกิจ ประเทศลอยน้ำนี้มีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสูง จึงต้องสามารถสร้างรายได้มาชดเชยรายจ่ายทางด้านนี้ 
(4) ศีลธรรม ประเทศลอยน้ำจะอยู่ไม่ได้ถ้าเป็นแหล่งรวมคนที่ขาดศีลธรรม ประเทศลอยน้ำจึงต้องมีความเข้มงวดต่อกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอบายมุข หรือ ผิดกฏหมายสากล เช่น การหนีภาษี การค้ามนุษย์ ซ่องโจร เป็นต้น
(5) มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อธุรกิจ ไม่มีกฎหมายจุกจิก
(6) ลอยไปหาที่อยู่ใหม่ได้เมื่อถึงเวลา เช่น เมื่อเกิดปัญหากับประเทศที่ไปลอยอยู่ใกล้ๆ เป็นต้น

อีกไม่นานหรอกครับ เราคงจะได้ยินข่าวว่ามีคนไทยคนหนึ่งไปสร้างประเทศใหม่ เพราะกลับเข้าประเทศไทยไม่ได้ และเมื่อถึงวันนั้น ประเทศลอยน้ำอันนี้อาจมาลอยอยู่แถวปากอ่าวไทยก็ได้ .....