03 ธันวาคม 2551

เครือข่ายกายสัมผัส - Body Area Network (ตอนที่ 1)


ผมเชื่อว่าทุกคนเคยได้ยินวลีที่ว่า "มองตาก็รู้ใจ" นั่นแสดงว่ามนุษย์เรารู้จักการส่งข้อมูล ผ่านทางสายตามานานแล้ว นอกจากนั้นเรายังใช้การส่งข้อมูลด้วยการสัมผัสกายกัน เราจับมือเพื่อนที่กำลังร้องไห้เสียใจเพราะความรัก เพื่อส่งความรู้สึกแสดงความเห็นใจไปสู่เขา การปลอบโยนผู้อื่นด้วยการตบหลัง หรือลูบหลังเบาๆ ก็เป็นการส่งข้อมูลความรู้สึกเห็นอกเห็นใจให้แก่ผู้อื่น คนที่พึ่งจีบกันหรือแม้แต่สามีภรรยาที่อยู่ด้วยกันมานาน ก็ชอบที่จะจับมือกันเพื่อส่งความรู้สึกดีๆให้แก่กัน จะเห็นได้ว่าข้อมูลที่ส่งให้แก่กันและกันผ่านการสัมผัสทางกายเหล่านี้ เป็นข้อมูลเชิงความรู้สึก ไม่สามารถประเมินเชิงตัวเลขหรือเชิงปริมาณได้ แต่ต่อนี้ไปด้วยเทคโนโลยีเครือข่ายกายสัมผัส Body Area Network หรือ BAN จะปฏิวัติโลก เพื่อทำให้เราสามารถส่งข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ power point รูปภาพถ่ายจากกล้องดิจิตัล เพลง MP3 ต่างๆ ไฟล์ MS Word ไปให้คนอื่นๆ ผ่านการแตะมือกัน ผมจะทยอยมาเล่าความก้าวหน้าของศาสตร์ทางด้านนี้ในตอนต่อๆ ไป รวมไปถึงระบบนี้ทำงานอย่างไรด้วย แต่ตอนที่ 1 นี้เพื่อเรียกน้ำย่อย ผมจะขอยกตัวอย่างความก้าวหน้าในเรื่อง Body Area Network ที่นำออกมาสาธิตโดย Electronics and Telecommunications Research Institute (ETRI) แห่งประเทศเกาหลีครับ

ต้นแบบที่ ETRI นำมาสาธิตนั้นจะทำให้เราสามารถส่งไฟล์ที่เราต้องการพิมพ์ จากโทรศัพท์มือถือ โน๊ตบุ๊ค หรือ PDA ไปยังเครื่องพิมพ์ด้วยการแตะที่เครื่องพิมพ์ครับ ต้นแบบแรกของ ETRI นี้เป็นถุงมือส่งข้อมูลครับ ปัจจุบันเครือข่ายกายสัมผัสของ ETRI ทำความเร็วในการส่งข้อมูลที่ 1 เมกะไบต์ต่อวินาที ซึ่งก็ยังมีโอกาสเร่งความเร็วในต้นแบบรุ่นต่อๆไปได้อีก รวมทั้งอีกหน่อยอาจจะไม่จะเป็นต้องมีถุงมือส่งข้อมูลก็ได้ โดยติดตั้งอุปกรณ์รับส่งที่ตัวอุปกรณ์มือถือ โน๊ตบุ๊ค โดยตรง ต่อไปเราจะเวลาไปเที่ยวเป็นหมู่คณะ ก็ไม่จำเป็นต้องยืนตากแดดนานๆ เพื่อถ่ายรูปหมู่ ซึ่งต้องเอากล้องคนนู้น กล้องคนนี้ เวียนกันไปจนครบ ถ่ายแค่กล้องเดียว แล้วแตะมือกัน ข้อมูลจากกล้องเราก็จะไปอยู่ในกล้องเพื่อนต่อๆ กันไป

(รูปข้างบน: ต่อแต่นี้ไป การแตะมือกันไม่ใช่เพียงถ่ายทอดความรู้สึกหรืออารมณ์เท่านั้น แต่ยังสามารถส่งข้อมูลติจิตัลได้ด้วย)