01 ธันวาคม 2550

Nano Herbs - นาโนสมุนไพร


ประเทศไทย มีความร่ำรวยในเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องมาจากเรามีพื้นที่มีลักษณะทั้งภูมิอากาศ (เชิงท้องถิ่น) ที่หลากหลายผสมผสานกับภูมิประเทศที่แตกต่าง ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ประเทศไทยมีทั้งป่าดิบชื้น ป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ ทุ่งหญ้า ป่าชายเลนชายฝั่ง ปะการัง เกาะแก่ง เมื่อเทียบกับประเทศใหญ่ๆ อย่างจีน รัสเซีย บราซิล อาร์เจนตินา แล้ว ประเทศไทยมีความหนาแน่นของความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด เราจึงเป็นเจ้าของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่จะนำมาสู่ยารักษาโรค และการรักษาสุขภาพได้มากมาย แต่ในอดีตที่ผ่านมา เราไม่ใคร่ได้สนใจในเรื่องเหล่านี้นัก ทั้งๆ ที่เรามีภูมิปัญญาจากสมัยโบร่ำโบราณ ทั้งในเรื่องของการรักษาด้วยวิธีการนวด สมุนไพร ไปจนถึงการบำบัดพิเศษแบบต่างๆ เช่น สุคนธบำบัด เป็นต้น


ประเทศไทยเริ่มรู้จักการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ในผลิตภัณฑ์สุขภาพครั้งแรก เมื่อนักวิจัยขององค์การเภสัชกรรมได้นำเอาเทคโนโลยีการนำส่งยาที่เรียกว่าไลโปโซม (liposome) ซึ่งเป็นอนุภาคนาโนที่เกิดขึ้นจากชั้นไขมัน 2 ชั้นห่อตัวเป็นลูกกลมๆ ซึ่งมีที่ว่างภายในที่สามารถบรรจุสารเคมี หรือ ยา หรือ โมเลกุล อะไรก็ได้ โดยในครั้งนั้นได้มีการนำเอาสารสกัดจากขมิ้นชันมาบรรจุเข้าไปข้างใน แล้วเรียกผลิตภัณฑ์นั้นว่า “ครีมนาโนหน้าเด้ง” หลักการทำงานของไลโปโซมก็คือการนำส่งสารขมิ้นชันเข้าสู่เซลล์ผิวหนังโดยตรง เนื่องจากผนังเซลล์ก็เป็นชั้นของโมเลกุลไขมันเช่นเดียวกับอนุภาคไลโปโซม ดังนั้นอนุภาคไลโปโซมจึงสามารถรวมตัวเข้ากับผนังเซลล์ได้ จากนั้นจะปลดปล่อยสารที่บรรจุอยู่ภายในให้เข้าไปสู่เซลล์นั้นได้ การใช้ไลโปโซมนำส่งสารสกัดจากขมิ้นชัน จะได้ผลดีกว่าการปล่อยให้สารสกัดซึมเข้าไปในเซลล์ผิวหนังเอง เนื่องจากเซลล์สิ่งมีชีวิตมีกลไกป้องกันสิ่งแปลกปลอมจากภายนอก ผลงานขององค์การเภสัชในครั้งนั้น ทำให้คนไทยรู้จักไลโปโซมมากขึ้น ทำให้เกิดการตื่นตัวในการนำไลโปโซมมาใช้ในการนำส่งสารสมุนไพรอื่นๆ ด้วย เช่น สารสกัดจากกวาวเครือ สารสกัดจากมะละกอ สารสกัดจากสาหร่ายสไปรูลิน่า เป็นต้น ซึ่งจริงๆแล้ว ประเทศไทยก็ยังมีสมุนไพรอีกมากมายรอให้นำไปบรรจุไว้ในไลโปโซม อันที่จริง เทคโนโลยีการผลิตและบรรจุในไลโปโซมก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร สามารถทำเป็นสูตรสำเร็จเพื่อใช้สำหรับงาน OTOP ได้ไม่ยากนัก ปัจจุบันเราจึงเห็นห้องปฏิบัติการวิจัยหลายๆ แห่งในประเทศไทยศึกษาเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นที่มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยนเรศวร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ
เทคโนโลยีไลโปโซม ถือว่าเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานที่จะนำไปสู่เทคโนโลยี A-Cell ที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ และเราควรรีบครอบครอง หากประเทศไทยคิดจะทำ Life Version 2.0


(ภาพด้านบน - แผนภาพของไลโปโซม ซึ่งไม่เพียงแต่จะบรรจุสารไว้ข้างในเท่านั้น ยังสามารถวิศวกรรมพื้นผิวข้างนอกให้มีฟังก์ชันหน้าที่ได้ เช่น ให้มีความจำเพาะเจาะจงกับพื้นผิวอื่นๆ ได้)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น