นักเทคโนโลยีต่างทราบกันดีว่า พัฒนาการของเทคโนโลยีนั้นจะมีลักษณะเป็นรูปตัว S หรือที่มักเรียกกันว่า S-Curve กล่าวคือในช่วงแรกๆ การพัฒนาของเทคโนโลยีหนึ่งๆ จะเป็นไปอย่างช้าๆ อันเนื่องมาจากยังเป็นของใหม่ ผู้คนไม่ค่อยคุ้นเคย จึงต้องเผชิญกับการต่อต้านจากผู้ใช้เทคโนโลยีตัวเก่า แถมเทคโนโลยีตัวใหม่เองก็ยังเพิ่งเริ่มพัฒนาทำให้มีจุดบกพร่องมากมาย เมื่อไปเปรียบเทียบกับของเก่าแล้วก็มักจะสู้ไม่ได้ ตลาดของเทคโนโลยีใหม่นี้จึงมักจะไม่ใช่ตลาดเดิมที่มีเจ้าของแล้ว แต่จะเป็นตลาดใหม่ และตลาดแบบนี้จะเล็กเสียจนผู้ประกอบการรายเก่าไม่สนใจ โดยช่วงแรกๆ ตลาดของผู้ประกอบการหน้าใหม่จะมีขนาดที่เล็กมาก แต่เมื่อผู้ซื้อเริ่มคุ้นเคยกับของใหม่ การยอมรับมีมากขึ้น ตลาดก็จะเริ่มเติบโตอย่างรวดเร็ว ช่วงนี้พัฒนาการของเทคโนโลยีใหม่จะดีดตัวเข้าสู่ช่วงกลางตัว S แล้วดำเนินต่อไปสักช่วงเวลาหนึ่ง ตลอดช่วงเวลานี้จะมีการใช้งานเทคโนโลยีตัวนี้กันอย่างกว้างขวางมาก จนกระทั่งเทคโนโลยีตัวเก่าที่เคยเป็นคู่แข่งและขัดขวางเทคโนโลยีตัวนี้ถึงกับเป็นง่อย หรือไม่ก็ล้มหายตายจากกันไปเลย และเมื่อถึงเวลานั้นผู้ประกอบการรายเก่าก็อยากจะกระโดดเข้ามาในตลาดใหม่นี้ แต่ก็สายไปเสียแล้ว การพัฒนาเทคโนโลยีตัวใหม่นี้จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ โดยผู้ประกอบการรายใหม่ที่กลายมาเป็นรายใหญ่ จนกระทั่งเข้าสู่จุดอิ่มตัวที่ความก้าวหน้าไม่สามารถจะเดินต่อไปได้อีก และเมื่อถึงเวลานั้น เทคโนโลยีตัวนี้ก็จะถูกท้าทายโดยเทคโนโลยีที่ใหม่และสดกว่า เทคโนโลยีน้องใหม่จะค่อยๆซึมซับเข้ามาสู่ตลาดอย่างเงียบๆ เช่นเดียวกับที่เทคโนโลยีตัวเก่านี้เคยทำมาก่อน
หากลองมองย้อนกลับไปกว่า 200 ปี แล้วหยิบเอาเทคโนโลยีสำคัญๆ ไล่เรียงลำดับมาจนถึงปัจจุบัน จะพบว่าเคยมีตัว S เกิดขึ้นแล้วหลายครั้งหลายครา ได้แก่
หากลองมองย้อนกลับไปกว่า 200 ปี แล้วหยิบเอาเทคโนโลยีสำคัญๆ ไล่เรียงลำดับมาจนถึงปัจจุบัน จะพบว่าเคยมีตัว S เกิดขึ้นแล้วหลายครั้งหลายครา ได้แก่
· ค.ศ. 1800-1853 เป็นยุคของเทคโนโลยีสิ่งทอ
· ค.ศ. 1853-1913 เป็นยุคของเทคโนโลยีรถไฟ ซึ่งก็ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยียานยนต์
· ค.ศ. 1913-1969 เป็นยุคของเทคโนโลยียานยนต์
· ค.ศ. 1969-2025 ยุคคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์
นักทำนายอนาคตต่างก็ลงมติว่า ตัว S ตัวต่อไปหลังจากนี้จะเป็น นาโนเทคโนโลยี ซึ่งจะเฟื่องฟูในช่วง ค.ศ. 2025–2081
เทคโนโลยีสิ่งทอ เทคโนโลยีรถไฟ และเทคโนโลยียานยนต์ เป็นเทคโนโลยีที่ยุคทองของมันได้ผ่านพ้นไปนานแล้ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีสิ่งทอนั้น หากไปดูประเทศรัสเซียซึ่งเคยร่ำรวยมาจากอุตสาหกรรมนี้เมื่อร้อยปีที่แล้ว ตอนนี้รัสเซียทุบโรงงานสิ่งทอทิ้งเกือบหมดแล้ว ที่เหลืออยู่ก็ถูกแปลงโฉมมาเป็นห้างสรรพสินค้านำสมัย โดยประเทศรัสเซียได้หันมาลงทุนทางด้านนาโนเทคโนโลยี เพื่อที่ตัวเองจะได้กลับเข้าไปอยู่ในตัว S ตัวใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ทิ้งให้ประเทศไทยฝืนกระแสต่อสู้อย่างกระเสือกกระสนและเดียวดาย เพียงเพราะจะรักษาอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ถูกตราหน้าว่าเป็นอุตสาหกรรมพระอาฑิตย์ตกดินให้สามารถทำกำไรและอยู่รอดต่อไปอีกสักสิบปี ในขณะที่เทคโนโลยียานยนต์ก็มาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญเพราะโอกาสทำกำไรยิ่งน้อยลงไปทุกที โดยเทคโนโลยีสารสนเทศเองนั้น ประเทศไทยก็ตกกระแสแพ้อินเดียไปแล้ว จึงเหลือเพียงทางเลือกเดียวที่จะเกาะ S curve ให้ได้ นั่นคือ นาโนเทคโนโลยี และด้วยวิสัยทัศน์ของ พตท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จึงมีดำริให้ดำเนินโครงการนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติขึ้นในปี พ.ศ. 2546 ตามหลังสหรัฐอเมริกาซึ่งเริ่มดำเนินโครงการนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Nanotechnology Initiative) ในปี พ.ศ. 2543 เพียง 3 ปีเท่านั้น โดยในปีเดียวกันกับที่ไทยเริ่มโครงการแห่งชาตินั้นเอง รัฐสภาอเมริกันก็ได้มีการตราพระราชบัญญัติที่เรียกว่า 21st Century Nanotechnology Research and Development Act เพื่อรับประกันว่าการวิจัยทางด้านนี้จะได้รับการสนับสนุนมากเพียงพอที่จะทำให้อเมริกาเป็นผู้นำทางด้านนาโนเทคโนโลยี พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้รัฐบาลมีหน้าที่ส่งเสริมการวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยี โดยให้มีการลงทุนเป็นจํานวนเงิน 150,000 ล้านบาท ภายในเวลา 4 ปี จึงถือว่าปี พ.ศ. 2546 เป็นปีที่เปิดฉากของสงครามแย่งชิงการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีซูเปอร์จิ๋วขึ้นทั่วโลก และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วมมหาสงครามครั้งนี้