เมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เบอร์คลีย์ (UC Berkeley) ได้เริ่มพัฒนาระบบเครือข่ายแบบไร้สาย ที่สามารถคุยกันและทำงานร่วมกันแบบไม่ต้องคำนึงว่าที่ตั้งของแต่ละอุปกรณ์ (หรือโหนด) แต่ละตัวจะอยู่ตรงไหน ขอเพียงให้มีโหนดอย่างน้อย 2 โหนดอยู่ในรัศมีที่สามารถคุยกันถึง เครือข่ายทั้งก้อนก็จะสามารถทำงานได้ในรัศมีที่กว้างไกลไม่สิ้นสุด ยกตัวอย่างหากมีเซ็นเซอร์อยู่ 20 ตัว แต่ละตัวมีรัศมีทำการได้ 200 เมตร เราสามารถนำเซ็นเซอร์มาวางเรียงกันได้ความยาว 4 กิโลเมตร โดยเซ็นเซอร์แต่ละตัวสามารถคุยข้ามไปยังเซ็นเซอร์ตัวไหนก็ได้ ดังนั้นหากเซ็นเซอร์ตัวใดตัวหนึ่งเชื่อมโยงกับเครือข่ายภายนอก เช่น เอา Pocket PC มาจ่อที่เซ็นเซอร์ตัวใดตัวหนึ่ง ก็สามารถดาวน์โหลดข้อมูลทั้งหมดที่เซ็นเซอร์แต่ละตัวบันทึกไว้ออกมาได้หมด เครือข่ายเหล่านี้ยังมีความสามารถในการรักษาตัวเอง (Self Healing) เช่น หากมีโหนดใดหยุดทำงานไป มันก็จะพยายามติดต่อกับตัวที่เหลือแล้วสร้างแผนที่เครือข่ายขึ้นใหม่
เมื่อครั้งที่ UC Berkeley เริ่มพัฒนาโครงการดังกล่าว ขนาดของโหนดเซ็นเซอร์มีขนาดใหญ่เท่าบัตรเครดิต ปัจจุบันสามารถลดขนาดลงไปเท่าเหรียญบาทจนถึงเม็ดถั่ว จนได้รับการขนานนามว่า ขี้ผงอัจฉริยะ (Smart Dust) ในอนาคตวงจรต่างๆ ของเจ้าขี้ผงนี้ยังมีโอกาสที่จะย่อส่วนลงไปเรื่อยๆ ซึ่งหากทำให้เล็กลงไปได้ถึงระดับนาโนเมื่อไหร่ ก็คงจะมีความคล้ายคลึงกับฝุ่นนาโนในนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง Prey ซึ่งแต่งโดยไมเคิล ไครตัน
เซ็นเซอร์ใยแมงมุมเป็นเทคโนโลยีก่อกำเนิดที่จะส่งผลกระทบต่อเทคโนโลยีตัวอื่นๆ เช่น RFID (Radio Frequency Identification) ซึ่งกำลังนำมาใช้ในเชิงการค้าซึ่งจะทำให้สินค้าทุกชิ้นถูกตรวจสอบได้ตั้งแต่ผู้ผลิตไปจนถึงการใช้งาน จนกระทั่งถูกทิ้งเป็นขยะ เป็นต้น มันยังจะไปช่วยทำให้เทคโนโลยีด้านเกษตรก้าวหน้า (Advanced Farming) พัฒนาขึ้นไปอีกระดับ ทั้งนี้ได้มีผู้ทดลองนำเซ็นเซอร์ใยแมงมุมไปใช้ในไร่องุ่น เพื่อควบคุมการปล่อยน้ำและอาหาร เซ็นเซอร์สามารถถูกโปรแกรมจากในบ้านของเจ้าของไร่ผ่านทาง Wi-Fi แต่ละโหนดจะหลับอยู่เกือบตลอดเวลาและจะตื่นขึ้นมาในเวลาที่ตั้งไว้ (เพื่อประหยัดพลังงาน) เพื่อเก็บข้อมูลที่ต้องการ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ความเข้มแสง โมเลกุลเคมี เป็นต้น ทางกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กำลังออกแบบเซ็นเซอร์ใยแมงมุมเพื่อนำไปใช้ควบคุมอาวุธในสนามรบ เช่น ใช้เซ็นเซอร์ใยแมงมุมวางไว้ทั่วบริเวณชายแดน แทนที่จะใช้กำลังทหารเพื่อเฝ้าเขตแดน
Sensor Web จึงเป็นจุดกำเนิดของ Web Version 2.0 อย่างแท้จริง หาใช่ YouTube อย่างที่เข้าใจผิดกันไม่ เมื่อเทคโนโลยีนี้พัฒนาเบ่งบานเต็มที่ มนุษย์จะสื่อสารกับเซ็นเซอร์ และเซ็นเซอร์ก็จะสื่อสารกับเซ็นเซอร์ รวมไปถึงจักรกลอื่นๆได้ทางอินเตอร์เน็ต โลกทั้งใบจะสามารถถูกเฝ้ามองได้อย่างทั่วถึง
(ภาพบนสุด - เครือข่ายเซ็นเซอร์ใยแมงมุม ที่มีความสามารถในการเฝ้ามอง เก็บข้อมูล แลกเปลี่ยนสื่อสารระหว่างกัน บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่เราคุ้นเคยกันดี ทำให้ต่อไปโลกทั้งใบจะอยู่บนหน้าจอของคุณที่ใดก็ได้)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น