วิเคราะห์สถานภาพทางด้านนาโนศาสตร์ และ นาโนเทคโนโลยี ของประเทศไทย เปรียบเทียบกับ ประเทศคู่แข่ง เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทย เป็น Nano Valley of ASEAN
31 สิงหาคม 2556
Digital Food - อาหารดิจิตอล (ตอนที่ 5) ตอน เครื่องเลี้ยงแมลง
(Picture from http://www.dailymail.co.uk)
ความคิดสร้างสรรค์ที่น่ายกย่องเรื่องหนึ่งของคนอีสานคือ การรู้จักนำแมลงมาทำเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นหนอนรถด่วน ไข่มดแดง จิ้งหรีด ด้วงมะพร้าว ตัวอ่อนผึ้ง ตั๊กแตน เป็นต้น สหประชาชาติถึงกับรณรงค์ให้ประชากรโลกหันมากินแมลงกันเยอะๆ เพราะแมลงเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง อีกทั้งยังมีแมลงอยู่ตั้ง 1,900 ชนิดที่มนุษย์สามารถรับประทานได้ การเพาะเลี้ยงแมลงยังช่วยลดโลกร้อน เนื่องจากใช้พลังงานน้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์พวก หมู ไก่ วัว มีการประเมินกันว่าในปี ค.ศ. 2050 โลกต้องการอาหารเนื้อสัตว์เพิ่มอีก 50% แล้วจะไปเอาเนื้อสัตว์จำนวนนี้มาจากไหนหล่ะครับ ก็ต้องแมลงนี่แหล่ะ โลกจึงต้องการธุรกิจฟาร์มเลี้ยงแมลงอย่างจริงจัง ..... ท่านผู้อ่านอาจจะตกใจ ถ้าผมจะบอกว่า ในภาคอีสานของเราเองนั้น มีการทำฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดอยู่ถึง 20,000 ฟาร์ม และมีการผลิตแมลงสำหรับรับประทานมากถึงปีละ 7,500 ตันเลยทีเดียวครับ น่าสนใจมากครับ เราอาจจะกลายเป็นประเทศที่ผลิตแมลงส่งออกระดับโลกในไม่ช้านี้ก็ได้
ในช่วงหลังๆ นี้ ฝรั่งเริ่มมาสนใจในเรื่องของการบริโภคแมลงอย่างจริงจังมากขึ้น จนเกิดแนวคิดในเรื่องของการสร้างเครื่องเลี้ยงแมลงขึ้นมา เพื่อผลิตแมลงใช้บริโภคเองในบ้าน โดยต้องการให้เครื่องนี้เป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภทหนึ่ง ไม่ต่างจากหม้อหุ้งข้าวอัตโนมัติ ซึ่งไม่นานมานี้เอง นักออกแบบสาวชาวออสเตรียชื่อ แคทรีนา อุงเกอร์ (Katharina Unger) ได้ออกแบบและสร้างเครื่องเลี้ยงตัวอ่อนแมลงที่ใช้ชื่อทางการค้าว่า Farm 432 โดยเครื่องนี้ทำงานแบบอัตโนมัติในการเลี้ยงตัวอ่อนแมลงชนิดหนึ่ง วิธีการทำงานคือ เราจะใส่ไข่ของแมลงเป้าหมายลงไปในช่องๆ หนึ่ง เหมือนใส่น้ำยาซักผ้าลงไปในเครื่องซักผ้าแหล่ะครับ จากนั้นเครื่องจะทำงานในการปรับสภาพอุณหภูมิและความชื้น ไข่จะฟักเป็นตัวแมลง แมลงจะผสมพันธุ์ และกินอาหารต่างๆ ที่เราจะป้อนเข้าไปในช่องวัตถุดิบ จากนั้นแมลงจะวางไข่ และไข่ฟักออกมาเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนจะไต่ขึ้นไปในช่องไต่ แล้วตกลงไปในถ้วยเก็บ เราก็เอาตัวอ่อนนั่นแหล่ะครับไปทำเป็นอาหารได้เลย โดยอาจจะแบ่งตัวอ่อนส่วนหนึ่ง นำกลับมาป้อนใส่เครื่องเพื่อผลิตตัวอ่อนแมลงไว้กินในมื้อต่อไป แคทรีนาบอกว่า เจ้าเครื่องที่เธอออกแบบนี้สามารถเปลี่ยนไข่ของแมลง 1 กรัม ให้เป็นอาหาร 2.4 กิโลกรัมได้ภายในเวลา 432 ชั่วโมง ไม่เลวเลยใช่มั้ยครับ
เห็นหรือยังครับว่า แนวคิดใหม่ๆ กระบวนทัศน์ใหม่ๆ ของการผลิตและบริโภคอาหาร เริ่มปรากฎชัดขึ้นเรื่อยๆ .... ท่านผู้อ่านพร้อมหรือยังครับ กับการเข้ามาของ Digital Food !!!
ป้ายกำกับ:
electronic nose,
food,
nano-agriculture,
nano-business,
nano-industry,
new paradigm
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น