วิเคราะห์สถานภาพทางด้านนาโนศาสตร์ และ นาโนเทคโนโลยี ของประเทศไทย เปรียบเทียบกับ ประเทศคู่แข่ง เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทย เป็น Nano Valley of ASEAN
14 กันยายน 2556
Body Odor - กลิ่นกายมนุษย์ (ตอนที่ 2)
(Credit - Picture from http://caninegoodcitizen.wordpress.com/)
มนุษย์เราจดจำบุคคลอื่นโดยอาศัยสัมผัส 2 อย่างคือ ภาพ กับ เสียง โดยในชีวิตประจำวัน เราใช้การดูหน้าตาเป็นหลัก ว่าใช่คนที่เรารู้จักหรือไม่ แต่สุนัข เพื่อนที่ดีที่สุดของเราใช้สัมผัส 3 อย่าง คือ ภาพ เสียง และ กลิ่น และดูเหมือนว่ามันใช้สัมผัสที่ 3 มากที่สุดในการจำแนกแยกแยะคนที่มันรู้จัก กับ คนที่มันไม่รู้จัก และสำหรับสัมผัสในการมอง สุนัขใช้การดูอากัปกริยาท่าทางเฉพาะ เพื่อจำแนกคนที่มันรู้จัก มากกว่าจะจดจำใบหน้า
การที่สุนัขสามารถจดจำและจำแนกกลิ่นของคนที่มันไม่รู้จัก ออกจากคนที่มันรู้จักได้ นั่นย่อมแสดงว่ามนุษย์เราแต่ละคนมีกลิ่นตัวแตกต่างกัน และกลิ่นนั้นต้องมีอัตลักษณ์ทำให้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทำให้สุนัขจดจำได้ ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเกิดแนวคิดว่า เราน่าจะสามารถใช้จมูกอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Nose หรือ E-nose) จำแนกบุคคลโดยใช้หลักการของการดมกลิ่นได้ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผมกับนักศึกษาจึงได้ทำการทดลอง โดยเราได้พยายามแยกกลิ่นตัวของคน 2 คนออกจากกัน วิธีการก็คือ เราหาคนมา 2 คน ซึ่งเราก็ใช้นักศึกษาชายในห้อง Lab นั่นหล่ะครับ จากนั้นเราได้ทำการเก็บกลิ่นรักแร้ของทั้งคู่มาดมด้วย E-nose โดยเราจะให้ E-nose ดมกลิ่นรักแร้วันละ 2 ครั้ง คือ หลังตื่นนอน (ประมาณ 7-8 นาฬิกา) และในตอนบ่าย (ประมาณ 8 ชั่วโมงต่อมา) โดยให้ E-nose ดมรักแร้ของ 2 คนนี้ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน และเพื่อจะทดสอบว่า โรลออนที่ทารักแร้จะสามารถกลบกลิ่นตัวของคนทั้ง 2 หรือไม่ เราอนุญาตให้เขาทั้งคู่ทาโรลออนที่รักแร้ได้ 1 ข้างครับ นั่นแปลว่า เราก็จะสามารถทดสอบได้ว่า เจ้า E-nose จะแยกกลิ่นตัวของ 2 คนนี้ออกได้หรือไม่ ทั้งกรณีที่ทา และ ไม่ได้ทา โรลออนระงับกลิ่นเต่า
ปกติคนเราแต่ละคนนี่ กลิ่นตัวอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละวันก็ได้ครับ ขึ้นอยู่กับอาหารการกินด้วย ตลอดการทดลอง 5 วันนั้น เราอนุญาตให้ทั้งคู่ใช้ชีวิตปกติ และกินอาหารที่เขากินตามปกติอยู่แล้ว แต่ห้ามมีเพศสัมพันธ์ และ ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ครับ เพื่อจะลดผลกระทบจากปัจจัย 2 เรื่องนี้ ซึ่งจากการทดลองนั้น เจ้า E-nose ก็ตรวจพบว่ากลิ่นตัวของแต่ละคนมันเปลี่ยนไปจริงๆ ตามการใช้ชีวิต โดย E-nose ยังตรวจพบว่ากลิ่นรักแร้ในช่วงบ่ายนั้นจะแรงขึ้น (มีการปล่อยโมเลกุลกลิ่นมากขึ้น) แต่รักแร้ข้างที่ทาโรลออนจะปล่อยโมเลกุลกลิ่นออกมาน้อยกว่าข้างที่ไม่ได้ทามาก เครื่อง E-nose ยังวิเคราะห์และแยกแยะบุคคลทั้งคู่นี้ออกอีกด้วยว่าเป็นคนละคนกัน แม้ว่าจะทาโรลออนเพื่อดับกลิ่นตัวก็ตาม นั่นแสดงว่า กลิ่นตัวของคนเรามันมีความจำเพาะจริงๆ ครับ ซึ่งทำให้สุนัขจำได้ แล้วเจ้า E-nose ก็สามารถระบุความแตกต่างนั้นได้
ผลงานชิ้นนี้ทางกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้นำไปอ้างอิงเพื่อที่จะสนับสนุนการวิจัยเทคโนโลยีเพื่อระบุตัวผู้ก่อการร้ายแก่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาด้วยครับ .... จากวันนั้นเป็นต้นมา ผมยังทำวิจัยเกี่ยวกับกลิ่นตัวมนุษย์มาเรื่อยๆ ครับ เดี๋ยววันหลังผมจะเล่าให้ฟังครับว่า ผมได้ค้นพบอะไรอีกบ้าง และได้เทคโนโลยีใหม่อะไร ติดตามอ่านกันนะครับ
ป้ายกำกับ:
artificial sense,
biomedical engineering,
chemical sensor,
electronic nose,
smell
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น