01 กรกฎาคม 2556

BIG DATA - ยุคข้อมูลใหญ่มหึมา มาถึงแล้ว (ตอนที่ 3)


(Picture from http://www.mushroomnetworks.com/)

ปัจจุบันเราอยู่ในยุคแห่งข้อมูลใหญ่มหาศาล และนับวันมันก็จะใหญ่มากขึ้นไปเรื่อยๆ เอาเฉพาะ Facebook อย่างเดียว ในแต่ละวันมีคนกดไลค์กันวันละ 4.5 พันล้านครั้ง อัพโหลดรูปภาพขึ้นไปวันละ 350 ล้านรูป  ส่วนแอพรูปภาพที่เป็นที่นิยมอย่าง Instagram มีการอัพโหลดรูปภาพขึ้นไปวันละ 40 ล้านรูป โดยแต่ละวินาทีมีคนกดไลค์กัน 8500 ครั้ง และคอมเม้นท์กันมากถึง 1000 ครั้ง ส่วนบริการวีดิโออนไลน์อย่าง Youtube นั้น ทุกๆ วินาที มีการอัพโหลดคลิปวีดิโอความยาวอย่างน้อย 1 ชั่วโมงขึ้นไป ในหนึ่งวันมีการกดเข้ามาดู 4 พันล้านคลิป และในแต่ละเดือน คลิปวีดิโอถูกเปิดคิดเป็นเวลานานถึง 3 พันล้านชั่วโมง

เมื่อก่อนบนระบบอินเตอร์เน็ตจะมีเพียงเครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้นที่เชื่อมโยงอยู่บนอินเตอร์ และก็มีเฉพาะมนุษย์เท่านั้น ที่เชื่อมต่อใช้งานและปฏิสัมพันธ์กันบนอินเตอร์เน็ต แต่ปัจจุบันนี้ เครื่องคอมพิวเตอร์กำลังจะกลายเป็นประชากรส่วนน้อยที่เชื่อมต่อบนอินเตอร์เน็ตไปแล้ว เพราะตอนนี้มีอุปกรณ์อื่นๆ มากมายได้เข้ามาเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ แทปเล็ต ไอพอต ทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องเล่นเกมส์  กล้องวงจรปิด (ซึ่งกลายเป็นกล้องวงจรเปิดไปแล้ว) เซ็นเซอร์ต่างๆ รถยนต์ รถไฟ อากาศยานทั้งมีนักบินและไร้นักบิน ว่ากันว่าตอนนี้มีอุปกรณ์ประมาณ 8.7 พันล้านตัว เชื่อมโยงอยู่บนอินเตอร์เน็ต เอาง่ายๆ ที่บ้านผมบ้านเดียว ซึ่งมีประชากรจำนวน 5 คน ตอนนี้มีคอมพิวเตอร์ PC จำนวน 2 เครื่อง คอมพิวเตอร์ Notebook จำนวน 5 เครื่อง ไอโฟน 2 เครื่อง ไอพอด 2 เครื่อง มือถือแอนดรอยด์ 3 เครื่อง แทปเล็ต 4 เครื่อง อินเตอร์เน็ตทีวี 2 เครื่อง ระบบกล้องวงจรปิด ระบบกันขโมย เซ็นเซอร์ตรวจวัดสุขภาพ สมาร์มิเตอร์ (เซ็นเซอร์ตรวจวัดการใช้ไฟฟ้า) อีกอย่างละหนึ่ง รวมทั้งหมดเป็น 29 อุปกรณ์ ซึ่งในอนาคตมันจะมากขึ้นไปเรื่อยๆ ครับ มีการคาดการณ์กันว่าในอนาคต การคุยกันบนอินเตอร์เน็ต จะเป็นการคุยกันระหว่าง Machine to Machine หรือจักรกลคุยกับจักรกล มากกว่ามนุษย์คุยกับมนุษย์เสียอีก เช่น เขื่อนขอข้อมูลระดับน้ำจากเซ็นเซอร์ตรวจวัดน้ำของกรมชลประทาน และ ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้า (ซึ่งข้อมูลการใช้ไฟฟ้าก็ได้มาจากสมาร์ทมิเตอร์ ที่ติดตั้งอยู่ในแต่ละบ้าน) เพื่อนำมาควบคุมการปล่อยน้ำอัตโนมัติ หรือ รถยนต์ที่วิ่งอยู่คุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการจราจรที่รถยนต์คันอื่นๆ ประสบมา เป็นต้น

จริงๆ แล้ว Big Data ไม่ใช่แค่เรื่องของขนาดข้อมูลที่ใหญ่เท่านั้น แต่มันยังเป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลต่างๆ ด้วย เช่น ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าที่อ่านด้วยสมาร์ทมิเตอร์ที่ส่งมาที่การไฟฟ้านั้น มันมีนัยแอบแฝงมากมาย เช่น พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในแต่ละวัน ซึ่งการไฟฟ้าสามารถนำไปใช้ออกแบบ วางแผน การผลิตไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ จำนวนและชนิดของเครื่องใช้ไฟฟ้าของแต่ละบ้าน ซึ่งทำให้ทราบว่าแต่ละครัวเรือนมีเครื่องปรับอากาศกี่ตัว มีการเพิ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในแต่ละปี มีการใช้ไฟฟ้าเพื่อแสงสว่างเป็นอัตราส่วนเท่าไหร่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นที่ต้องการของบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า บริษัทผลิตโซลาร์เซลล์ และ บริษัทขายหลอดไฟ LED มาก ซึ่งหากทุกครัวเรือนติดสมาร์ทมิเตอร์กันหมด โรงไฟฟ้าสามารถเดินเครื่องอัตโนมัติ ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละเครื่องอย่างเรียลไทม์เลยครับ

การที่แนวโน้มของ Big Data ได้เข้าไปมีบทบาทในทางธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ตอนนี้ เกิดความต้องการบุคลากรอาชีพหนึ่งที่เรียกว่า นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) เป็นอย่างมาก เป็นอาชีพที่ขาดแคลนที่สุดอาชีพหนึ่งในสหรัฐอเมริกา หน้าที่หรือภารกิจของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลก็คือ การนำข้อมูลขนาดมหึมามาใช้ประโยชน์ ด้วยการใช้อัลกอริทึมต่างๆ เพื่อค้นหานัยยะ ความหมาย ตัวบ่งชี้ต่างๆ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจในทางธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เกิดความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง ตัวอย่างเช่น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจะเข้าไปดูว่าตอนนี้ ผู้คนกำลังคุยอะไรกันใน Facebook แชร์ภาพอะไรใน Instagram ส่งข้อความอะไรใน Twitter พวกเขาเหล่านั้นมีแนวโน้มในความสนใจเรื่องอะไรมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วนำเทรนด์เหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ เช่น การออกแบบสินค้า ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่จะได้รับความสนใจ เกิดเป็น Talk of the Town ว่ากันว่าการที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา เอาชนะการเลือกตั้งมาได้ 2 สมัยนั้น ก็เพราะว่าทีมงานมีการใช้หลักการของวิทยาศาสตร์ข้อมูล  เพื่อใช้ประโยชน์จาก Big Data นั่นเอง

Big Data กำลังเป็นกระแสที่แรงที่สุดในภาคธุรกิจขณะนี้ และใครก็ตามที่ขึ้นรถไฟขบวนนี้ไม่ทัน ก็อาจจะถึงกลับสูญพันธุ์กันเลยทีเดียว ......

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น