(Picture from wired.com)
ในอดีตเรามีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไม่กี่อย่างที่สวมใส่ได้ (Wearable Electronics) ที่ผมพอยกตัวอย่างได้ก็มีนาฬิกาดิจิตอล ซึ่งแสดงตัวเลขแบบอาระบิกแทนเข็มนาฬิกา มีเสียงปลุกเป็นเสียงดนตรี สามารถจับเวลาได้มีความละเอียดถึง 1 ส่วน 100 วินาที ซึ่งผมรู้จักครั้งแรกตอนอายุสัก 10 ขวบ มั๊งครับ เป็นยี่ห้อคาสิโอ กาลเวลาผ่านมา 30 ปี นาฬิกาคาสิโอก็ไม่ได้พัฒนาขึ้นมากเท่าไหร่นัก เพียงแต่รุ่นหลังอย่างแบบที่ผมใช้ จะมีเซ็นเซอร์เพิ่มขึ้นมาหลายชนิด เช่น มีเทอร์โมมิเตอร์ เข็มทิศ บารอมิเตอร์ และ โซลาร์เซลล์ ผมเคยคิดมานานแล้วว่า ทำไมนาฬิกาข้อมือ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จริงๆ แล้วมีความใกล้ชิดกับมนุษย์มากกว่าโทรศัพท์มือถือเสียอีก (เพราะมันไม่ต้องพก สามารถสวมใส่ไปไหนมาไหนได้เลย) แต่นาฬิกาข้อมือกลับไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็น ซัมซุง โซนี่ และ แอปเปิ้ล ต่างประกาศตัวว่าจะพัฒนานาฬิกาฉลาด หรือ smart watch ออกมาขาย
ทำไมผู้คนถึงเริ่มมาสนใจที่จะพัฒนานาฬิกาให้มันฉลาดขึ้นในช่วงนี้หล่ะครับ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากกระแสความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มันติดตัวไปไหนมาไหนได้ (Mobile & Ubiquitous) คือมีความคล่องตัว ใช้ง่ายได้ทุกที่ ทุกเวลา และทำได้หลายอย่าง อีกส่วนหนึ่งมาจากแนวโน้มการดูแลรักษาสุขภาพของผู้คน ที่มีความต้องการจะรู้ข้อมูลสุขภาพของตนเองแบบใช้ง่าย ใช้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ทำให้เราเริ่มเห็นอุปกรณ์รูปแบบใหม่ที่เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ใช้งานเหมือนเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ (และบางครั้งก็อาจเป็นเครื่องประดับได้ในตัว) มากขึ้นเรื่อยๆ ครับ และอย่างหลังนี้เองที่ทำให้เกิดเทคโนโลยีที่เรียกว่า Physiological Computing Systems หรือ ระบบตรวจวัดทางสรีรวิทยา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการเฝ้าดู และตรวจวัด พารามิเตอร์ทางสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งในที่นี้ก็มักจะต้องเป็นอุปกรณ์ที่สวมใส่ได้ เพื่อที่จะสามารถเก็บข้อมูลความเป็นไปของร่างกายผู้สวมใส่ได้ตลอดเวลา ซึ่งจะนำมาสู่การวิเคราะห์สถานภาพทางสุขภาพของเราได้แบบทุกที่ ทุกเวลา ไงหล่ะครับ
ในการตรวจวัดสถานภาพของสรีระของผู้ใส่ เราอาจจะแบ่งการตรวจวัดออกเป็น 4 ชนิด ซึ่งอุปกรณ์บางชนิดอาจจะตรวจวัดประเภทเดียว แต่บางอุปกรณ์อาจตรวจวัดสถานภาพได้หลายประเภท
(1) Bioelectrical Signals เป็นการตรวจวัดสถานภาพของร่างกาย จากการวัดสัญญาณไฟฟ้าของร่างกาย เช่น สัญญาณสมอง สัญญาณไฟฟ้าหัวใจ สัญญาณประสาทกล้ามเนื้อ ซึ่งในอดีต อุปกรณ์ประมวลผลสัญญาณเหล่านี้แพงมาก แต่ในปัจจุบันสามารถซื้อหามาเล่นในราคาที่เป็นมิตรขึ้นครับ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าหัวใจเต้นดีมั้ย สมองมีกิจกรรมการคิดเป็นอย่างไร ระบบประสาทเป็นอย่างไร เป็นต้น
(2) Biomechanical Signals เป็นการตรวจวัดสถานภาพของร่างกาย จากสัญญาณทางชีวกล เช่น การขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งจะทำให้รู้กิจกรรมเชิงกลของร่างกายได้ เช่น การเดิน นั่ง นอน วิ่ง การหายใจ เป็นต้น กลุ่มวิจัยของผมเองก็พัฒนาอุปกรณ์หลายอย่างที่อาศัยการวัดสัญญาณทางชีวกลครับ เช่น รองเท้าที่ติดเซ็นเซอร์ซึ่งตรวจวัดอากัปกริยาการเดิน สามารถที่จะตรวจวัดความผิดปกติในการเดินได้ โดยสามารถตรวจหาโรคพาร์กินสันได้ นอกจากนั้นก็ยังมี หมอนอัจฉริยะที่สามารถตรวจวัดสถานภาพการนอน ว่านอนหลับดีหรือไม่ อัตราการหายใจเป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพการหลับมากน้อยแค่ไหนในแต่ละคืน เป็นต้น
(3) Biochemical Signals เป็นการตรวจวัดสถานภาพของร่างกาย จากสัญญาณทางชีวเคมีในร่างกาย ซึ่งจะทำให้ทราบสถานะทางสุขภาพภายในร่างกาย เช่น มีสุขภาพดีไหม มีโรคภัยไข้เจ็บหรือป่าว เช่น เซ็นเซอร์ตรวจวัดปริมาณออกซิเจนในเลือด เซ็นเซอร์ตรวจวัดปริมาณกลูโคสในกระแสเลือด เป็นต้น ในกลุ่มวิจัยของผมเอง ก็มีการพัฒนาอุปกรณ์ประเภทนี้อยู่อย่างหนึ่งคือ เซ็นเซอร์ดมกลิ่นแบบสวมใส่ได้ ในรูปของอาร์มแบนด์ และ เสื้อสุขภาพ ซึ่งมันจะตรวจวัดกลิ่นตัวทำให้ทราบว่าสถานภาพทางเคมีในร่างกายปกติหรือไม่ หรือมีโรคอะไรอยู่ เพราะร่างกายที่ปกติ กับ ร่างกายที่เป็นโรค มีการปล่อยกลิ่นออกมาไม่เหมือนกัน
(4) Biophysical Signals เป็นการตรวจวัดสถานภาพของร่างกาย จากสัญญาณทางชีวฟิสิกส์ เช่น การตรวจวัดสภาพเนื้อเยื่อด้วยการส่งคลื่นเสียงเข้าไป การเปลี่ยนสีของผิวจากการใช้ครีม whitening เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันอุปกรณ์แบบสวมใส่ได้เพื่อตรวจสัญญาณประเภทนี้ยังไม่ค่อยมีครับ
เอาไว้วันหลัง ผมมีเวลา จะมาเล่ารายละเอียดของเทคโนโลยีสวมใส่ได้ที่น่าสนใจเพิ่มเติมนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น