19 มิถุนายน 2556

Disruptive Education - การศึกษาแบบทะลุทะลวงโลก (ตอนที่ 5)


(Picture from www.stanford.edu)

เห็นเด็กมัธยมสมัยนี้แห่กันไปเรียนกวดวิชา  เพื่อที่จะสามารถทำคะแนนสอบเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัย แล้วผมรู้สึกสงสารประเทศไทยเหลือเกินครับ สถาบันกวดวิชาที่เปิดเป็นดอกเห็ดเหล่านั้น ก็ไม่ได้สอนให้เด็กฉลาดหรือเก่งขึ้นเลย แต่เป็นการสอนเคล็ดลับการทำโจทย์ข้อสอบมากกว่า ซึ่งเด็กที่ไปเรียน นอกจากเสียทั้งเงินจำนวนมากแล้ว ยังเสียเวลา แทนที่จะเอาเวลาเหล่านั้นไปเรียนรู้สิ่งที่จะมีประโยชน์ ที่จะสามารถใช้ทำมาหากินในอนาคตได้ ทว่า ... เด็กๆ พ่อแม่ผู้ปกครองก็ยอมเสียเงิน เสียเวลา ด้วยความหวังว่า การได้เข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยมีชื่อ จะช่วยคืนทุนในอนาคตได้ .... แต่เปล่าเลยครับ เด็กๆ ที่เคยชินกับการป้อนความรู้แบบจานด่วนเหล่านี้ จะไม่มีทักษะในการเรียนรู้เองได้ในระดับมหาวิทยาลัย เขาเหล่านั้นจะมุ่งเรียนเพื่อเอาเกรดไม่ใช่ความรู้ หรือ ทักษะที่ทำให้เกิดการได้เปรียบในการทำงานในอนาคต เมื่อเด็กเหล่านี้จบมาก็จะรับเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท เหมือนคนอื่นๆ 

น่าสงสารประเทศไทยที่เราเลี้ยงดูเด็กด้วยระบบติวเตอร์ แทนที่จะให้เด็กได้มีโอกาสเรียนรู้ด้วยตัวเอง ยกตัวอย่างนะครับ การแข่งขัน คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยาโอลิมปิก ประเทศไทยมีเด็กไปได้เหรียญทอง เงิน ทองแดง มานับไม่ถ้วน บางปีเราได้เหรียญมากกว่าประเทศที่ฉลาดกว่าเรา ไม่ว่าญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น เราอาจจะเผลอคิดว่า เด็กไทยเราฉลาดนะเนี่ยสามารถคว้าเหรียญมาได้ตั้งเยอะ แต่ .... เปล่าเลยครับ เด็กโอลิมปิกเหล่านั้นไม่ได้ฉลาดกว่าเด็กประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น แต่เพราะการติวโจทย์ต่างหาก เราใช้ทีมอาจารย์มหาวิทยาลัย ครูพี่เลี้ยง จำนวนมาก เพื่อติวข้อสอบเด็กเหล่านั้นจนได้เหรียญ ไม่ใช่เพราะเด็กเหล่านั้นฉลาด ... ไม่งั้นประเทศไทยก็คงเจริญกว่านี้ไปไหนต่อไหนแล้วครับ ไม่ต้องเป็นประเทศรายได้ปานกลางแบบนี้หรอกครับ แล้วไงครับ ผ่านมาหลายๆ ปีแล้ว เด็กเหรียญทองโอลิมปิกพวกนี้หายไปไหนกันหมด ทำไมเราไม่มีนักประดิษฐ์ นวัตกร วิศวกรเก่งๆ ที่มาจากเด็กเหล่านี้เลย กลายเป็นว่า คนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จ สร้างตัว สร้างกิจการ เป็นวัยรุ่นพันล้าน กลับเป็นคนที่ครั้งหนึ่งเกือบเรียนไม่จบ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

ลองมาดูอีกตัวอย่างหนึ่งกันครับ ในยุคหลังเราเริ่มมีโรงเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น บางโรงเรียนก็เป็นระบบกิน-นอน คือ เรียนและใช้ชีวิตในโรงเรียนไปเลย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เด็กที่ไปเรียนโรงเรียนเหล่านี้ ก็ไม่พ้นถูกครอบงำด้วยระบบติวเตอร์ เด็กๆ ถูกอัดด้วยเนื้อหาวิชาอย่างเข้มข้น อีกทั้งยังเรียนเกินวัย เช่น เรียนวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ที่สอนในชั้นปี 2 ของมหาวิทยาลัย โรงเรียนมีการส่งเด็กเหล่านี้ไปฝึกทำวิจัยกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยด้วย สิ่งที่ผมได้มีโอกาสเรียนรู้จากเด็กๆ 2-3 รุ่นก็คือ

- เด็กเหล่านี้ไม่มีความเป็นเด็ก ขาดจินตนาการ คิดนอกกรอบไม่เป็น
- เด็กเหล่านี้ไม่มีความสดชื่น หน้าตาตึงเครียดตลอดเวลา พูดเล่นด้วยไม่หัวเราะ
- เด็กเหล่านี้มีความคิดว่าตนเองเก่ง ฉลาด และมีความคาดหวังสูงในการได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง เมื่อได้รับคำชมเด็กเหล่านี้จะรู้สึกว่าตนเองสมควรได้รับอยู่แล้ว แต่เมื่อได้รับการติเตียน เด็กเหล่านี้จะทำใจไม่ได้
- เด็กเหล่านี้ถูกโอ้โลมมาเยอะ ได้รับการเอาใจใส่สูงในระบบติวเตอร์ เด็กจึงไม่พร้อมจะผิดพลาดหรือล้มเหลว ทั้งๆ ที่การล้มเหลวคือกระบวนการเรียนรู้ และสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน แก่ผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตเกือบทั้งนั้น
- เด็กเหล่านี้มีจริยธรรมในการทำงานไม่ได้มาตรฐาน เด็กมีตารางกิจกรรมแน่น แต่อยากจะทำให้ได้ทุกอย่าง ทำให้มากหรือเก่งกว่าเพื่อน เด็กหลายคนไม่รู้จักเรื่องของบุญคุณ
- เด็กเหล่านี้ขาดทักษะทางสังคม มีปัญหาในการสื่อสารกับคนอื่นๆ

สำหรับเด็กๆ ของ คุณพ่อ คุณแม่ทั้งหลาย ที่ไม่ได้ใช้บริการระบบติวเตอร์เหล่านี้ ผมก็ขอแสดงความยินดีด้วยนะครับ ที่บุตรหลานของท่านมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในตลาดแรงงานยุคใหม่ในอีก 10 ปีข้างหน้าครับ เพราะยุคหน้า เด็กๆ ที่เรียนรู้แบบทะลุทะลวงโลกเท่านั้นครับ จึงจะประสบความสำเร็จ !!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น