(Picture from http://www.millionairetoysglobal.com/)
แนวคิดเกี่ยวกับผ้าฉลาดที่มีหัวคิด ได้ถูกจุดประกายขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2545 ในภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ดที่มีเฉินหลงนำแสดง ซึ่งมีชื่อเรื่องว่า “The Tuxedo” ในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว พระเอกของเราได้กลายเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่มีความสามารถมากมายขึ้นมาทันทีที่ได้สวมใส่เสื้อทักซิโด้อัจฉริยะตัวนี้ ในปีเดียวกัน กระทรวงกลาโหมสหรัฐได้อนุมัติเงินกว่า 2,000 ล้านบาทเพื่อก่อตั้ง สถาบันนาโนเทคโนโลยีทหาร (Institute of Soldier Nanotechnologies) ขึ้นที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมซซาจูเซตต์ (Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT) โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาชุดทหารแห่งอนาคต สถาบันดังกล่าวได้ดำเนินการวิจัยครอบคลุมหัวข้อต่างๆ เพื่อสร้างเสื้ออัจฉริยะ ตั้งแต่เรื่องของ วัสดุดูดซับพลังงาน วัสดุและอุปกรณ์เชิงกล เซ็นเซอร์ในเสื้อผ้า อุปกรณ์ชีวการแพทย์ในเสื้อ ไปจนถึงการประกอบชุดเหล่านี้และนำไปใช้ นี่จึงเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สุดในการวิจัยทางด้านผ้าอัจฉริยะ
เสื้อผ้าที่ฉลาดควรทำอะไรได้บ้าง นี่เป็นตัวอย่างที่มีความเป็นไปได้
- ไม่ยับ ไม่ต้องรีด
- ไม่เหม็นอับ
- กันร้อนกันหนาว ซึ่งหมายถึงใส่ในที่ร้อนก็ไม่ร้อน ใส่ในที่เย็นก็ไม่หนาว ซึ่งสามารถทำได้โดยการบรรจุอนุภาคนาโนที่เรียกว่า PCM (Phase Change Materials) ซึ่งมีความสามารถในการดูดซับความร้อนได้มากกว่าน้ำนับสิบเท่า สมมติเราใส่เสื้อผ้าที่มีอนุภาคนาโน PCM ในเนื้อผ้าออกไปภายนอกอาคารที่มีอุณหภูมิต่ำ ความร้อนที่สะสมอยู่ในอนุภาค PCM จะค่อยๆปล่อยออกมาจากเนื้อผ้าและให้ความอบอุ่นแก่เรา ในขณะเดียวกันหากเราเข้าไปในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูง เจ้าอนุภาค PCM จะเริ่มกระบวนการสะสมความร้อนเข้าไปในตัวเอง ทำให้ผู้สวมใส่ยังรู้สึกเย็นอยู่
- กันลม กันชื้น โดยผ้าฉลาดต้องสามารถกันฝน กันหิมะซึมเข้ามา ในขณะเดียวกันก็ปล่อยให้ความอับชื้นที่ผิวของผู้สวมใส่สามารถระเหยออกไปได้ ซึ่งสามารถทำได้โดยใช้เมมเบรนที่มีรูขนาดนาโน ซึ่งกันอนุภาคของเม็ดฝน หยดน้ำ และหิมะไม่ให้เข้ามา แต่ไอน้ำของความชื้น หรือ กลิ่นอับภายในซึ่งมีขนาดเล็กกว่าสามารถระเหยออกไปได้
- กันไฟ เพราะตู้เสื้อผ้าของเราก็คือเชื้อเพลิงดีๆนี่เอง ดังนั้นการมีผ้าที่ไม่ลุกติดไฟได้ง่ายๆ ย่อมเป็นเรื่องที่ดี ปัจจุบันมีบริษัทในไต้หวันชื่อว่า Neolite International ได้นำพอลิเมอร์ที่มีชื่อว่า Modacrylic มาปั่นผสมกับผ้าฝ้ายทำให้ต้านทานต่อการติดไฟได้ เส้นใยชนิดนี้ยังมีคุณสมบัติต้านทานต่อกรดและด่างรวมทั้งตัวทำละลายต่างๆ และไม่เป็นอาหารของปลวกด้วย
- ใส่สบาย การใส่เสื้อผ้าแล้วรู้สึกสบายนั้น (Comfort) ไม่ใช่เรื่องของอุปาทาน แต่วิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์ได้ โดยความรู้สึกสบายจะเกิดขึ้นเมื่อสัมผัสผ้าซึ่งสามารถอธิบายได้โดยสมการทางคณิตศาสตร์หลายสมการ โดยตัวแปรที่ทำให้รู้สึกสบายได้แก่ การดูดซับความร้อน (Thermal Absorptivity) ความหนาของเส้นใย ความสามารถในการบีบอัด (Compressibility) แรงเสียดทานของใยผ้า ความแข็งของการโค้งงอ (Bending Rigidity) ความสามารถในการยืดออก (Extensibility) แรงเฉือน (Shear Rigidity) การดูดซับความชื้น ซึ่งตัวแปรเหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อทำให้เกิดความสบายได้
- คุณสมบัติอื่นๆ เช่น ป้องกันอาวุธเชื้อโรค กันกระสุน เปลี่ยนสีตามสภาพแวดล้อม (อำพรางตัวเองได้) เป็นความสามารถพิเศษที่เพิ่มเข้ามาสำหรับใช้ในทางทหาร ซึ่งเป็นหัวข้อวิจัยของสถาบันนาโนเทคโนโลยีทหาร ดังที่กล่าวมาข้างต้น
** โครงการ Wearable Intelligence ได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่ง ชาติ **
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น