วิเคราะห์สถานภาพทางด้านนาโนศาสตร์ และ นาโนเทคโนโลยี ของประเทศไทย เปรียบเทียบกับ ประเทศคู่แข่ง เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทย เป็น Nano Valley of ASEAN
03 สิงหาคม 2555
Disruptive Education - การศึกษาแบบทะลุทะลวงโลก (ตอนที่ 1)
(Picture from www.culture24.org.uk)
ผมเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือมาก ในช่วงปฐมวัย ผมหมดเงินค่าขนมไปกับหนังสือแทบจะทั้งหมด แม้กระนั้นหนังสือที่ซื้อมาก็ยังไม่พออ่าน ทำให้ผมต้องเดินเข้าออกห้องสมุดประชาชนทุกสุดสัปดาห์ ในวันธรรมดาที่เรียนหนังสือ ผมจะใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงช่วงพักเที่ยงเพื่อทานข้าว คุยเล่นกับเพื่อน ส่วนอีกครึ่งชั่วโมงที่เหลือผมจะอยู่ในห้องสมุด อ่านหนังสือที่สนใจวันละครึ่งชั่วโมงนั้นไปเรื่อยๆ เนื่องจากหนังสือที่สวยๆ และมีขนาดใหญ่ (ส่วนใหญ่เป็นสารคดี) เขามักจะไม่ให้ยืมออกไป
แต่ตอนนี้ .... ผมจำไม่ได้ว่านานเท่าไหร่แล้วที่ผมเข้าห้องสมุด น่าจะประมาณ 15 ปีแล้วมั้งครับที่เป็นครั้งสุดท้ายที่ผมเข้าห้องสมุด ห้องสมุดไม่มีความจำเป็นสำหรับชีวิตผมอีกต่อไป เพราะอินเตอร์เน็ต และ กูเกิ้ล ได้เข้ามาแทนที่ หากผมอยากจะอ่านหนังสือเล่มไหน เพียงหนึ่งคลิ๊ก หนังสือจะถูกสั่งจาก Amazon.com มาถึงเมล์บ็อกซ์ภายในไม่ถึงสัปดาห์ หรือจะสั่งเพื่ออ่านบน iPad ก็ย่อมได้ ความรู้ขนาดมหึมาสามารถเรียนได้จาก กูเกิ้ล ยูทิวป์ เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิกส์ เทด ดิสคอฟเวอรี่ที่อยู่บนอินเตอร์เน็ต สารพัดสารคดีต่างๆ สามารถสั่งซื้อได้ผ่านกล่อง Apple TV และ Google TV เพื่อดูบนเครื่องรับโทรทัศน์ในห้องนอน ผมอ่านวารสาร วิชาการผ่านเว็ป (ซึ่งก็แน่นอนว่าบอกรับโดยห้องสมุดของมหาวิทยาลัย) อ่านหนังสือธรรมะและพระไตรปิฎกบน iPad หากอยากจะเรียนคอร์สทางด้านเทคโนโลยีที่ลึกซึ้ง ก็สามารถเข้าไปเรียนคอร์สออนไลน์ของ MIT (สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาจูเซตต์) ตอนเด็กๆ ผมเสียเงินจำนวนมากเพื่อซื้อแผนที่ Atlas เล่มใหญ่ๆ ต้องเขียนจดหมายไปหาเอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เพื่อขอแผนที่และโบรชัวร์ของประเทศเหล่านั้น แต่ทุกวันนี้ ทั้งหมดดูได้ใน Google Map/Earth
ตอนที่ลูกชายผมเริ่มเข้า ป.1 เขาเสียเวลาช่วงเย็นที่ควรจะเป็นเวลาพักผ่อนไปกับการทำการบ้านจนดึกดื่น แต่พอลูกเริ่มใช้กูเกิ้ลเป็น เวลาทำการบ้านลดลงไปมหาศาล เพราะความรู้ต่างๆ หาได้บนอินเตอร์เน็ต สมัยก่อนเราต้องท่องศัพท์ภาษาอังกฤษจะเป็นจะตาย แต่สมัยนี้เด็กๆ เรียนรู้ศัพท์จาก Facebook, 9GAG รวมทั้งการเล่นเกมส์ออนไลน์ต่างๆ
ในภาพยนตร์เรื่อง The Matrix พระเอกที่ชื่อนีโอสามารถที่จะเรียนรู้เพื่อเป็นนักสู้กังฟู ได้เพียงการดาวน์โหลดคอร์สใส่ลงไปในสมองโดยตรง มีอยู่ฉากหนึ่งที่นางเอกดาวน์โหลดวิธีการขับเฮลิคอปเตอร์เข้ามาในสมอง ทำให้เธอสามารถขับเฮลิคอปเตอร์ได้ทันที หลังจากที่ยึดเฮลิคอปเตอร์มาจากนักบินฝ่ายศัตรู .... ถึงแม้การถ่ายเทความรู้แบบออสโมซิสเข้าสมองตรงๆ แบบนี้อาจจะยังไม่เกิดขึ้นจริงในเร็ววัน แต่ระบบการศึกษาแบบทะลุทะลวงโลก กำลังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ซึ่งทำให้คนที่รู้จักใช้ประโยชน์จากมัน ได้เปรียบอย่างมากมายมหาศาล แล้วประเทศไทยรออะไรอยู่ละครับ ......
ป้ายกำกับ:
Education,
nano-education,
new paradigm
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น