31 สิงหาคม 2555

Future of TV - อนาคตของโทรทัศน์ (ตอนที่ 1)




ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นกับโทรทัศน์ใหญ่ๆ มี 2 เรื่องครับ คือ 

(1) เครื่องรับโทรทัศน์ได้เปลี่ยนจากเทคโนโลยีหลอดคาโธด (Cathode Ray Tube หรือ CRT) หรือจอแก้ว ทำให้โทรทัศน์มีขนาดใหญ่ อุ้ยอ้าย ที่เรามักเรียกว่าโทรทัศน์มีตูด มาเป็นเทคโนโลยีแบบจอแบน (Flat Panel Display หรือ FPD) ซึ่งมีทั้งเทคโนโลยีแบบพลาสมา แอลซีดี และล่าสุดเทคโนโลยี OLED (Organic Light Emitting Diode) ที่ทำให้จอโทรทัศน์บางมากๆ และสามารถสร้างให้จอภาพมีขนาดใหญ่มากๆ ได้

(2) ระบบการส่งสัญญาณ (Broadcast Technology) แต่เดิมเป็นการส่งสัญญาณด้วยคลื่นวิทยุจากสถานีโทรทัศน์ โดยจะตั้งเสาสูงๆ แล้วกระจายสัญญาณออกไปรอบทิศทาง ซึ่งสัญญาณมักจะไปได้แค่ประมาณร้อยกิโลเมตร จึงต้องมีการติดตั้งสถานีทวนสัญญาณตามจุดต่างๆ เพื่อให้กระจายสัญญาณออกไปได้ทั่วประเทศ เวลาเราเดินทางไปต่างจังหวัด ขอให้สังเกตบนภูเขาสูงๆ ตามข้างทาง เรามักจะเห็นมีเสาอากาศใหญ่ๆ สูงๆ อยู่บนภูเขา นั่นแหล่ะครับ คือสถานีทวนสัญญาณของทีวีช่องต่างๆ แต่ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมานี้ เทคโนโลยีการถ่ายทอดสัญญาณผ่านดาวเทียมได้รับความนิยมขึ้นมาแทนที่ระบบเดิม โดยสถานีโทรทัศน์จะส่งสัญญาณภาพไปยังสถานีดาวเทียมภาคพื้นดิน จากนั้นสัญญาณจะถูกยิงขึ้นไปบนดาวเทียม ซึ่งดาวเทียมจะกระจายสัญญาณดังกล่าวลงมายังพื้นโลก ทีนี้ใครก็ตามที่มีจานรับสัญญาณ (จานดำ จานแดง จานเหลือง จานเขียว ฯลฯ) ก็จะสามารถดูโทรทัศน์ได้

เทคโนโลยีข้อ (2) นี่แหล่ะครับ ที่ทำให้เกิดการบูมขึ้นของทีวีดาวเทียม ทำให้เกิดสถานีโทรทัศน์ขึ้นเป็นพันๆ ช่องทั่วโลก เพราะต้นทุนในการทำสถานีโทรทัศน์ถูกลงเป็นอย่างมาก ไม่ต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานีทวนสัญญาณ เหมือนในอดีต โดยรายการที่ทำสามารถถ่ายทอดออกไปได้ในบริเวณกว้าง ข้ามประเทศ หรือแม้แต่ข้ามทวีป

ปัจจุบันนี้เราจึงมีรายการทีวีเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย สมัยก่อนตอนผมเป็นเด็ก จำได้ว่ามีทีวีให้ดูเพียงช่อง 3, 5, 7, 9 เท่านั้น แต่ตอนนี้มีสถานีทีวีเป็นร้อยๆ ช่อง ให้เลือก เรียกว่าผมแทบจะไม่เคยดูช่องฟรีทีวี 3, 5, 7, 9 นี้อีกเลย หากอยากจะดูรายการอะไรก็เจาะจงเรียกดูขึ้นมาเลย ไม่ต้องบริโภคโฆษณาเหมือนแต่ก่อน

แต่ในอนาคตเพียงไม่กี่ปีข้างหน้า ทีวีจะเปลี่ยนรูปโฉมไปอีกครับ นักอนาคตศาสตร์บางคนบอกว่าในอนาคตจะไม่มีทีวีแล้ว คือไม่มีสถานีโทรทัศน์อีกแล้ว จะมีแต่คลิปวีดิโอที่เรียกดูเฉพาะเมื่อต้องการ .... ตอนหน้าผมจะมาคุยเรื่องนี้ต่อนะครับ

30 สิงหาคม 2555

Disruptive Education - การศึกษาแบบทะลุทะลวงโลก (ตอนที่ 2)



(Picture from http://bokis.is/ancient-education/)

สมัยผมยังเป็นนักเรียน ม.ปลาย อยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตอนนั้นยังมีระบบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยอยู่ครับ ซึ่งคนที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยของรัฐ จะต้องสอบคัดเลือก โดยมีสิทธิ์เลือกได้ 6 อันดับ สิ่งที่กวนใจผมมากคือ เวลาผมไปดูว่าเพื่อนเลือกคณะอะไร แล้วผมไปเห็นว่าเพื่อนๆ หลายคน เลือกอันดับคณะต่างๆ ได้มั่วมาก เช่น 1. แพทย์จุฬาฯ 2. แพทย์เชียงใหม่ 3. วิศวจุฬาฯ 4. ทันตแพทย์ จุฬา 5. วิศวเชียงใหม่ 6. เภสัช จุฬาฯ ผมถามเพื่อนว่า "เฮ้ย ... ตกลง เอ็งอยากจะเป็นอะไรกันแน่วะ"

เด็กสมัยผม หรือแม้กระทั่ง เด็กสมัยนี้ มีสิ่งหนึ่งที่ยังเหมือนกันครับ คือ ยังไม่รู้ว่าตัวเองโตขึ้นอยากทำอะไร อยากเรียนอะไร อยากเป็นอะไร ถนัดทำอะไร เราเลือกเป็นในสิ่งที่เราเรียน และ เราเลือกเรียน ตามระดับคะแนนที่เราได้ .... นี่มันอะไรกันครับ ทำไมเราไม่เรียนในสิ่งที่เราอยากเป็น เรียนในสิ่งที่อยากทำ แล้วทำให้เก่งในสิ่งที่เราชอบ

ตอนเด็กๆ ผมอยากเป็นเกษตรกร ผมอยากทำไร่ แต่ครอบครัวผมไม่สนับสนุนให้ผมเป็นเกษตรกร ผมเลี้ยงไก่ ปลูกพริก มะเขือ บวบ ผักคะน้า แล้วเอาไปขายมีรายได้ตั้งแต่เด็ก แต่ ... เมื่อผมโตขึ้นมา ผมกลับต้องไปเรียนในสิ่งที่ผมไม่ได้อยากเป็น ก็เหมือนๆ กับเด็กคนอื่นหล่ะครับ 

แต่ทว่า .... เพราะการศึกษาแบบทะลุทะลวงโลก นี่เองครับ ที่ทำให้ผมได้กลับมาทำสิ่งที่ผมชอบ ปัจจุบันผมทำวิจัยเทคโนโลยีทางด้านการเกษตร เป็นเจ้าของบริษัทผลิตและขายเครื่องมือทางด้านการเกษตร และกำลังจะเปิดบริษัทเทคโนโลยีเพื่อการจัดการฟาร์มเกษตร ซึ่งผมต้องใช้ศาสตร์หลายสาขาที่ไม่ได้มีสอนในคณะเกษตร แต่อย่างใด ... สิ่งที่ผมทำในเวลานี้ ผมไม่ได้เรียนมาจากมหาวิทยาลัย ไม่ได้เรียนตอน ป.ตรี ป.โท ป.เอก แต่เป็นสิ่งที่ผมเรียนจาก YouTube, TED, Online Courses, Online Journals/Magazine, Google, iPad, Internet TV, การสัมมนาตามโรงแรมต่างๆ การประชุมวิชาการทั้งในและต่างประเทศ Trade Fairs งาน Expo ต่างๆ รวมถึงการออกไปทำงานในไร่จริง  แหล่งเรียนรู้ของผมอยู่ยังอยู่บนเมฆด้วยครับ (Cloud Computing) ... ผมได้รู้ว่า คนที่รู้เรื่ององุ่นมากที่สุดไม่ใช่อาจารย์มหาวิทยาลัย แต่เป็นเจ้าของไร่องุ่นที่ปากช่อง

หากถามว่า การจะจบปริญญาตรีสักใบจะต้องใช้เวลากี่ปี หลายๆ คนคิดว่า 4 ปีใช่ไหมครับ แต่จริงๆ เราเรียนกันแค่ 2 ปีครึ่งเท่านั้น เพราะปี 1 มีแต่วิชาพื้นฐาน ส่วนปี 4 ก็จะใช้เวลาฝึกงานหรือทำโครงการไปแล้วครึ่งปี ดังนั้น การที่เราจะมีปริญญาตรีในเรื่องที่เราไม่ได้จบมาอีกสักใบ ขอให้เราสนใจ และลงมือทำในสิ่งนั้นอย่างจริงจัง เพียงแค่ 2.5 ปี เราก็จะเหมือนจบปริญญาตรีในสาขานั้นเองหล่ะครับ และเราจะจบกี่ใบก็ได้ ขอให้เราตั้งใจจริงๆ

ถึงยุคที่เราจะเรียนในสิ่งที่เราเป็นแล้วครับ หมดยุคของการกวดวิชาเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ถ้าใครยังทำแบบนั้นอยู่ ยังเป็นในสิ่งที่เรียน ก็ไม่พ้นต้องตกเป็นลูกจ้างทำงานให้คนอื่นหล่ะครับ ....

20 สิงหาคม 2555

HRI 2013 - The 8th Annual Conference for basic and applied human-robot interaction research



(Picture from www.wendymag.com)

Human Robot Interactions เรียกย่อๆ ว่า HRI เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องของปฏิสัมพันธ์ระหว่างหุ่นยนต์ กับ มนุษย์ ซึ่งรวมถึงการสื่อสารระหว่างกัน การใช้ชีวิตร่วมกัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เพื่อให้สังคมมนุษย์สามารถใช้ชีวิตร่วมกับสังคมของหุ่นยนต์ได้อย่างปกติสุข ปัจจุบันหุ่นยนต์มีความก้าวหน้ามากขึ้นๆ ทุกวัน เราเริ่มเห็นหุ่นยนต์เข้ามาช่วยทำงานบ้าน เช่น เจ้าหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่จะออกมาทำความสะอาดพื้นที่ช่วงเวลากลางคืน หรือตอนที่เราออกไปทำงาน แล้วมันก็จะสามารถวิ่งไปชาร์จไฟเองได้ ภัตตาคารหลายแห่งเริ่มนำหุ่นยนต์เสริฟอาหารมาใช้งาน เมื่อ 2-3 ปีก่อนก็มีการเปิดตัวหุ่นยนต์สอนหนังสือเด็ก และที่น่าสนใจมากคือ หุ่นยนต์สำหรับเป็นคู่รัก ซึ่งนักเทคโนโลยีหุ่นยนต์คาดว่าอีกไม่เกิน 20 ปี เราจะเริ่มใช้ชีวิตกับหุ่นยนต์ในลักษณะชู้สาว เป็นเพื่อนที่ให้ความรักและความอบอุ่นทั้งทางใจ และทางกาย

ในประชาคมวิจัยทางด้าน HRI เขามีการจัดการประชุม รวมตัวกัน เพื่ออัพเดตความก้าวหน้าและแลกเปลี่ยนความรู้กันทุกปีครับ ในปีหน้างานนี้จะไปจัดที่โตเกียว ซึ่งเป็นดินแดนที่มีความก้าวหน้าด้านหุ่นยนต์ที่สุดในโลก งาน HRI 2013 หรือชื่อเต็มว่า The 8th Annual Conference for basic and applied human-robot interaction research จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 มีนาคม 2556 ครับ กำหนดส่งบทความฉบับเต็มใกล้เข้ามาแล้ว คือวันที่ 10 กันยายน 2555 ที่จะถึงนี้ ใครจะไปต้องรีบหน่อยแล้วหล่ะครับ

HRI มีความเป็นสหวิทยาการมากครับ ต้องมีการบูรณาการข้ามศาสตร์มากมาย ถึงจะสามารถทำงานวิจัยทางด้านนี้ให้มีความก้าวหน้าได้ ไม่ว่าจะเป็น วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิทยาการคอมพิวเตอร์ นาโนเทคโนโลยี ประสาทวิทยา จิตวิทยา พฤติกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์การรับรู้ (Cognitive Science) มานุษยวิทยา ดังนั้น หัวข้อที่จะประชุมจึงมีความหลากหลาย แต่ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องและมีประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยี HRI นะครับ เขาถึงจะรับงานของเรา

หัวข้อที่การประชุมนี้สนใจ ได้แก่

Socially intelligent robots
Robot companions
Lifelike robots
Assistive (health & personal care) robotics
Remote robots
Mixed initiative interaction
Multi-modal interaction
Long term interaction with robots
Awareness and monitoring of humans
Task allocation and coordination
Autonomy and trust
Robot-team learning
User studies of HRI
Experiments on HRI collaboration
Ethnography and field studies
HRI software architectures
HRI foundations
Metrics for teamwork
HRI group dynamics
Individual vs. group HRI
Robot intermediaries
Risks such as privacy or safety
Ethical issues of HRI
Organizational/society impact

เห็นหัวข้อแล้ว ก็อยากจะไปฟังเลยนะครับ ....

18 สิงหาคม 2555

อาภรณ์อัจฉริยะ - Wearable Intelligence (ตอนที่ 4)



(Picture from http://www.millionairetoysglobal.com/)

แนวคิดเกี่ยวกับผ้าฉลาดที่มีหัวคิด ได้ถูกจุดประกายขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2545 ในภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ดที่มีเฉินหลงนำแสดง ซึ่งมีชื่อเรื่องว่า “The Tuxedo” ในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว พระเอกของเราได้กลายเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่มีความสามารถมากมายขึ้นมาทันทีที่ได้สวมใส่เสื้อทักซิโด้อัจฉริยะตัวนี้ ในปีเดียวกัน กระทรวงกลาโหมสหรัฐได้อนุมัติเงินกว่า 2,000 ล้านบาทเพื่อก่อตั้ง สถาบันนาโนเทคโนโลยีทหาร (Institute of Soldier Nanotechnologies) ขึ้นที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมซซาจูเซตต์ (Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT) โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาชุดทหารแห่งอนาคต สถาบันดังกล่าวได้ดำเนินการวิจัยครอบคลุมหัวข้อต่างๆ เพื่อสร้างเสื้ออัจฉริยะ ตั้งแต่เรื่องของ วัสดุดูดซับพลังงาน วัสดุและอุปกรณ์เชิงกล เซ็นเซอร์ในเสื้อผ้า อุปกรณ์ชีวการแพทย์ในเสื้อ ไปจนถึงการประกอบชุดเหล่านี้และนำไปใช้ นี่จึงเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สุดในการวิจัยทางด้านผ้าอัจฉริยะ

เสื้อผ้าที่ฉลาดควรทำอะไรได้บ้าง นี่เป็นตัวอย่างที่มีความเป็นไปได้


  • ไม่ยับ ไม่ต้องรีด 
  • ไม่เหม็นอับ 
  • กันร้อนกันหนาว ซึ่งหมายถึงใส่ในที่ร้อนก็ไม่ร้อน ใส่ในที่เย็นก็ไม่หนาว ซึ่งสามารถทำได้โดยการบรรจุอนุภาคนาโนที่เรียกว่า PCM (Phase Change Materials) ซึ่งมีความสามารถในการดูดซับความร้อนได้มากกว่าน้ำนับสิบเท่า สมมติเราใส่เสื้อผ้าที่มีอนุภาคนาโน PCM ในเนื้อผ้าออกไปภายนอกอาคารที่มีอุณหภูมิต่ำ ความร้อนที่สะสมอยู่ในอนุภาค PCM จะค่อยๆปล่อยออกมาจากเนื้อผ้าและให้ความอบอุ่นแก่เรา ในขณะเดียวกันหากเราเข้าไปในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูง เจ้าอนุภาค PCM จะเริ่มกระบวนการสะสมความร้อนเข้าไปในตัวเอง ทำให้ผู้สวมใส่ยังรู้สึกเย็นอยู่
  • กันลม กันชื้น โดยผ้าฉลาดต้องสามารถกันฝน กันหิมะซึมเข้ามา ในขณะเดียวกันก็ปล่อยให้ความอับชื้นที่ผิวของผู้สวมใส่สามารถระเหยออกไปได้ ซึ่งสามารถทำได้โดยใช้เมมเบรนที่มีรูขนาดนาโน ซึ่งกันอนุภาคของเม็ดฝน หยดน้ำ และหิมะไม่ให้เข้ามา แต่ไอน้ำของความชื้น หรือ กลิ่นอับภายในซึ่งมีขนาดเล็กกว่าสามารถระเหยออกไปได้
  •  กันไฟ เพราะตู้เสื้อผ้าของเราก็คือเชื้อเพลิงดีๆนี่เอง ดังนั้นการมีผ้าที่ไม่ลุกติดไฟได้ง่ายๆ ย่อมเป็นเรื่องที่ดี ปัจจุบันมีบริษัทในไต้หวันชื่อว่า Neolite International ได้นำพอลิเมอร์ที่มีชื่อว่า Modacrylic มาปั่นผสมกับผ้าฝ้ายทำให้ต้านทานต่อการติดไฟได้ เส้นใยชนิดนี้ยังมีคุณสมบัติต้านทานต่อกรดและด่างรวมทั้งตัวทำละลายต่างๆ และไม่เป็นอาหารของปลวกด้วย
  • ใส่สบาย การใส่เสื้อผ้าแล้วรู้สึกสบายนั้น (Comfort) ไม่ใช่เรื่องของอุปาทาน แต่วิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์ได้ โดยความรู้สึกสบายจะเกิดขึ้นเมื่อสัมผัสผ้าซึ่งสามารถอธิบายได้โดยสมการทางคณิตศาสตร์หลายสมการ โดยตัวแปรที่ทำให้รู้สึกสบายได้แก่ การดูดซับความร้อน (Thermal Absorptivity) ความหนาของเส้นใย ความสามารถในการบีบอัด (Compressibility)  แรงเสียดทานของใยผ้า ความแข็งของการโค้งงอ (Bending Rigidity) ความสามารถในการยืดออก (Extensibility) แรงเฉือน (Shear Rigidity) การดูดซับความชื้น ซึ่งตัวแปรเหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อทำให้เกิดความสบายได้  
  • คุณสมบัติอื่นๆ เช่น ป้องกันอาวุธเชื้อโรค กันกระสุน เปลี่ยนสีตามสภาพแวดล้อม (อำพรางตัวเองได้) เป็นความสามารถพิเศษที่เพิ่มเข้ามาสำหรับใช้ในทางทหาร ซึ่งเป็นหัวข้อวิจัยของสถาบันนาโนเทคโนโลยีทหาร ดังที่กล่าวมาข้างต้น






** โครงการ Wearable Intelligence ได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่ง ชาติ **





16 สิงหาคม 2555

Connectome - คอนเน็คโทม (ตอนที่ 4)



(Picture from http://sciencemedicine.wordpress.com)

ปีนี้เป็นปีพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ ซึ่งชาวพุทธได้ถือโอกาสแสดงการระลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงบำเพ็ญเพียร สั่งสมบารมี ในฐานะพระโพธิสัตว์มายาวนานถึง 20 อสงไขยกับอีกเศษแสนมหากัปป์ เพื่อที่จะตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ นำสิ่งที่พระองค์ค้นพบนี้มาบอกกล่าวแก่ชาวโลก สิ่งที่เป็นความลับมานานแสนนาน นั่นคือเรื่องของวัฏสงสาร การเวียนว่ายตายเกิด ความลับที่เกี่ยวกับจิตใจ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงค้นพบตั้งแต่ 2,600 ปีที่แล้ว แต่วิทยาศาสตร์พึ่งจะมาตื่นตัวเมื่อไม่นานมานี้เอง

สิ่งที่วิทยาศาสตร์ข้องใจมานานแสนนาน นั่นคือ ตกลงจิตใจคืออะไร มาอยู่กับร่างกายได้อย่างไร นักประสาทวิทยาเกือบทั้งหมดมีความเชื่อแบบวัตถุนิยมว่า จิตใจ ไม่มีจริง .... ความคิด ความรู้สึก อารมณ์ สติสัมปชัญญะ ทั้งหมดเกิดที่สมอง สมองเป็นตัวทำงาน เป็นเครื่องจักรของความคิด ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด เมื่อร่างกายแตกดับ สมองตาย ตัวเราก็ไร้ตัวตน มันจะตายไปกับร่างกายนั่นเอง ในความคิดส่วนตัว ผมคิดว่า ความเชื่อแบบนี้ค่อนข้างจะสุดโต่งไปหน่อย เพราะแท้ที่จริง วิทยาศาสตร์ไม่ได้ขัดขวางแนวคิดที่ว่า จิตใจ เป็นสิ่งที่แยกออกมาจากร่างกาย และสามารถถ่ายเทไปยังร่างกายใหม่ได้ เพียงแต่ว่า ความก้าวหน้าในศาสตร์ทางด้านนี้ยังอ่อนเยาว์ เรายังต้องการความรู้ ความเข้าใจอีกมาก และต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์ความเชื่อนี้

เมื่อปี ค.ศ. 2009 สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติ (NIH) สหรัฐอเมริกา ได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการ Human Connectome Project หรือ โครงการทำแผนที่สมอง ซึ่งมีเป้าหมายจะไขความลับการทำงานของจิตใจ โดยการทำแผนที่รายละเอียดการทำงานของสมองในระดับเซลล์ประสาทเลยทีเดียว คือ เข้าไปดูว่าเซลล์ประสาทเชื่อมต่อกันอย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นงานมหาโหดมากๆ เพราะเซลล์ประสาทหนึ่งเซลล์ มีการเชื่อมต่อกับเซลล์อื่นๆ ถึงประมาณ 7,000 เซลล์ ลองคิดดูแล้วกันครับว่า สมองของเรามีเซลล์ประสาทอยู่ 100,000,000,000 เซลล์ มันจึงเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะทำแผนที่จุดเชื่อมต่อนั้นได้หมด

ดังนั้น สิ่งที่โครงการนี้จะทำ จะไม่ใช่การสแกนสมองทั้งหมด แต่จะทำการสะสมองค์ความรู้ไปเรื่อยๆ โดยเจาะโจทย์เล็กๆ ไปทีละข้อ สองข้อ ในการนี้ นักวิจัยจะศึกษาคนจำนวน 1200 คน ซึ่งมุ่งไปที่ฝาแฝด และพี่น้อง จากครอบครัว 300 ครอบครัวที่สมัครใจ ซึ่งจะทำให้สามารถทำแผนที่สมองในเรื่องของความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรม ทำให้รู้ว่าแฝดที่เหมือนกันเป๊ะ จะมีความแตกต่างในสมองตรงไหนบ้าง

เครื่องมือสำคัญในการทำแผนที่สมองก็คือเครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging) ซึ่งเราอาจจะเคยเห็น หรือคุ้นเคยกันบ้าง ในโฆษณา ละคร หรือ หนัง ที่เราจะเห็นเครื่องใหญ่ๆ มีรูตรงกลาง แล้วให้คนนอนนิ่งๆ อยู่ข้างในเครื่อง ซึ่งจะทำการสแกนกิจกรรมของเซลล์ที่สนใจ โดยโครงการนี้จะมีการพัฒนาเครื่อง MRI ที่มีรายละเอียดสูง เพื่อติดตามการทำงานของเซลล์สมอง

วันหลังมาคุยกันต่อนะครับ ......

12 สิงหาคม 2555

Micro Air Vehicle (ตอนที่ 2)



(Picture from jacobhi.blogspot.com)

ความสนใจในเรื่องของ MAV ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ จะเรียกว่าพุ่งเป็นพลุแตกก็ว่าได้ครับ เพราะเริ่มมีการทำวิจัยกันมากขึ้น มีการส่งเสริมเงินทุนมากขึ้นโดยเฉพาะจากกองทัพสหรัฐฯ จนกระทั่งตอนนี้มีการประชุมวิชาการนานาชาติด้าน MAV กันเลย รวมทั้งยังมีวารสารวิชาการของตัวเองชือ International Journal of Micro Air Vehicle เป็นเวทีสำหรับเผยแพร่ผลงานวิจัยทางด้าน MAV โดยมีบรรณาธิการมาจาก กองทัพอากาศสหรัฐฯ กันเลยทีเดียวครับ

วันนี้ผมจะพาไปรู้จักกับโครงการวิจัยเกี่ยวกับ MAV ที่บินช่วยกันทำงานกันเป็นฝูงครับ โครงการนี้มีชื่อเรียกว่า SMAVNET (Swarming Micro Air Vehicle Network) ซึ่งดำเนินการโดยห้องปฎิบัติการระบบอัจฉริยะ ณ สถาบันโพลีเทคนิคแห่งโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยโครงการนี้มีเป้าหมายที่จะพัฒนาอากาศยานจิ๋วที่ทำงานร่วมกันเป็นทีม เพื่อสร้างเครือข่ายสื่อสารไร้สายขึ้นมาในสถานการณ์ที่เกิดวิบัติภัยขึ้น จนทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารบนพื้นดินเสียหายอย่างใช้การไม่ได้ ฝูง MAV นี้ก็จะถูกปล่อยขึ้นไปบนฟ้า เพื่อทำตัวเป็นโครงข่ายสื่อสาร ที่สามารถส่งต่อสัญญาณเป็นทอดๆ ได้ โดยอาศัยความได้เปรียบที่มันลอยอยู่บนฟ้า ทำให้ไม่มีสิ่งกีดขวางในการส่งสัญญาณวิทยุ

เจ้า MAV ที่พวกเขาพัฒนาขึ้นนี้ มีน้ำหนักเพียง 420 กรัม และมีความยาวชองช่วงปีกเพียง 80 เซ็นติเมตรเท่านั้น ซึ่งทำมาจากพลาสติกชนิดพอลีพอไพริน ระบบขับเคลื่อนเป็นใบพัดติดอยู่หลังลำตัว และควบคุมการบินด้วยแผงปีกเพียง 2 อัน ทำให้ง่ายในการควบคุม พลังงานได้มาจากแบตเตอรีแบบลิเธียมพอลิเมอร์ ซึ่งเพียงพอสำหรับการบิน 30 นาทีต่อครั้ง ซึ่งในความคิดของผมนั้นถือว่ายังน้อยเกินไปสำหรับการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่กล่าวมาข้างต้น (อย่างน้อยก็น่าจะสัก 1-2 ชั่วโมงครับ) ฝูง MAV ที่ทดลองในโครงการนี้มีจำนวนทั้งหมด 10 ตัว โดยนักวิจัยได้ปล่อยฝูงบินนี้ขึ้นฟ้า แล้วปล่อยให้พวกมันเรียนรู้ที่จะบินเกาะกันเป็นฝูง โดยสร้างเครือข่ายไร้สายขึ้นบนท้องฟ้า ซึ่งซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ที่ติดตั้งใน MAV แต่ละตัว จะทำให้มันเรียนรู้ที่จำทำงานประสานกัน พวกมันจะคุยกัน บอกกันและกันว่า ใครจะบินจากจุดไหนไปจุดไหน และตัวที่เหลือจะบินตามกันอย่างไร เหมือนนกที่บินกันเป็นฝูง

09 สิงหาคม 2555

BMEiCON 2012 - The 5th Biomedical Engineering International Conference



การประชุมวิชาการระดับนานาชาติในบ้านเรานั้น มักจะจัดกันแต่ที่กรุงเทพ เชียงใหม่ พัทยา หรือ หัวหิน มีน้อยมากที่จะไปจัดกันในต่างจังหวัดไกลๆ แม้แต่เมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต คนไทยก็จะไม่ไปจัดกันที่นั่น ที่เราเห็นว่ามีจัดประชุมที่ภูเก็ตนั้น ส่วนมากเป็นชาวต่างชาติมาจัดประชุมกันเอง คือแบบว่า มาใช้เป็นสถานที่ประชุม แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนไทยแต่อย่างใดครับ

งานประชุมที่ผมนำมาแนะนำในวันนี้ เป็นงานประชุมเกี่ยวกับวิศวกรรมชีวการแพทย์  มีชื่อว่า BMEiCON 2012 (The 5th Biomedical Engineering International Conference) ซึ่งจะจัดที่จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 5-7 ธันวาคม 2555 ซึ่งนับว่าน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการขยับไปใกล้เพื่อนบ้านอาเซียนทางด้าน ลาว และ เวียดนาม กันมากขึ้น ศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์นั้น เริ่มเจริญเติบโตทั่วโลก และในบ้านเราเมื่อประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว และตอนนี้ทางจีน และ อินเดีย มีการทำวิจัยเรื่องนี้กันมากครับ ปีนี้เราน่าจะได้เห็นการเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องของประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงในการประชุมนี้มากขึ้น

กำหนดส่งบทความฉบับเต็มใกล้เข้ามาแล้วนะครับคือ วันที่ 31 สิงหาคม 2555 ไม่แน่ใจว่าจะมีเลื่อนออกไปอีกหรือไม่ (ปกติก็จะเลื่อนออกไปอีกประมาณ 1 เดือน แทบทุกปี) หัวข้อที่เป็นที่สนใจของการประชุมนี้ ได้แก่

Biomedical signal processing
Biomedical imaging and image processing
Bioinstrumentation
Bio-robotics and biomechanics
Biosensors and Biomaterials
Cardiovascular and respiratory systems engineering
Cellular and Tissue Engineering
Healthcare information systems
Human machine/computer interface
Medical device design
Neural and rehabilitation engineering
Technology commercialization, industry, education, and society
Telemedicine
Therapeutic and diagnostics systems
Recent advancements in biomedical engineering

03 สิงหาคม 2555

Disruptive Education - การศึกษาแบบทะลุทะลวงโลก (ตอนที่ 1)



(Picture from www.culture24.org.uk)

ผมเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือมาก ในช่วงปฐมวัย ผมหมดเงินค่าขนมไปกับหนังสือแทบจะทั้งหมด แม้กระนั้นหนังสือที่ซื้อมาก็ยังไม่พออ่าน ทำให้ผมต้องเดินเข้าออกห้องสมุดประชาชนทุกสุดสัปดาห์ ในวันธรรมดาที่เรียนหนังสือ ผมจะใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงช่วงพักเที่ยงเพื่อทานข้าว คุยเล่นกับเพื่อน ส่วนอีกครึ่งชั่วโมงที่เหลือผมจะอยู่ในห้องสมุด อ่านหนังสือที่สนใจวันละครึ่งชั่วโมงนั้นไปเรื่อยๆ เนื่องจากหนังสือที่สวยๆ และมีขนาดใหญ่ (ส่วนใหญ่เป็นสารคดี) เขามักจะไม่ให้ยืมออกไป

แต่ตอนนี้ .... ผมจำไม่ได้ว่านานเท่าไหร่แล้วที่ผมเข้าห้องสมุด น่าจะประมาณ 15 ปีแล้วมั้งครับที่เป็นครั้งสุดท้ายที่ผมเข้าห้องสมุด ห้องสมุดไม่มีความจำเป็นสำหรับชีวิตผมอีกต่อไป เพราะอินเตอร์เน็ต และ กูเกิ้ล ได้เข้ามาแทนที่ หากผมอยากจะอ่านหนังสือเล่มไหน เพียงหนึ่งคลิ๊ก หนังสือจะถูกสั่งจาก Amazon.com มาถึงเมล์บ็อกซ์ภายในไม่ถึงสัปดาห์ หรือจะสั่งเพื่ออ่านบน iPad ก็ย่อมได้ ความรู้ขนาดมหึมาสามารถเรียนได้จาก กูเกิ้ล ยูทิวป์ เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิกส์ เทด ดิสคอฟเวอรี่ที่อยู่บนอินเตอร์เน็ต สารพัดสารคดีต่างๆ สามารถสั่งซื้อได้ผ่านกล่อง Apple TV และ Google TV เพื่อดูบนเครื่องรับโทรทัศน์ในห้องนอน ผมอ่านวารสาร วิชาการผ่านเว็ป (ซึ่งก็แน่นอนว่าบอกรับโดยห้องสมุดของมหาวิทยาลัย)  อ่านหนังสือธรรมะและพระไตรปิฎกบน iPad หากอยากจะเรียนคอร์สทางด้านเทคโนโลยีที่ลึกซึ้ง ก็สามารถเข้าไปเรียนคอร์สออนไลน์ของ MIT (สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาจูเซตต์) ตอนเด็กๆ ผมเสียเงินจำนวนมากเพื่อซื้อแผนที่ Atlas เล่มใหญ่ๆ ต้องเขียนจดหมายไปหาเอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เพื่อขอแผนที่และโบรชัวร์ของประเทศเหล่านั้น แต่ทุกวันนี้ ทั้งหมดดูได้ใน Google Map/Earth

ตอนที่ลูกชายผมเริ่มเข้า ป.1 เขาเสียเวลาช่วงเย็นที่ควรจะเป็นเวลาพักผ่อนไปกับการทำการบ้านจนดึกดื่น แต่พอลูกเริ่มใช้กูเกิ้ลเป็น เวลาทำการบ้านลดลงไปมหาศาล เพราะความรู้ต่างๆ หาได้บนอินเตอร์เน็ต สมัยก่อนเราต้องท่องศัพท์ภาษาอังกฤษจะเป็นจะตาย แต่สมัยนี้เด็กๆ เรียนรู้ศัพท์จาก Facebook, 9GAG รวมทั้งการเล่นเกมส์ออนไลน์ต่างๆ

ในภาพยนตร์เรื่อง The Matrix พระเอกที่ชื่อนีโอสามารถที่จะเรียนรู้เพื่อเป็นนักสู้กังฟู ได้เพียงการดาวน์โหลดคอร์สใส่ลงไปในสมองโดยตรง มีอยู่ฉากหนึ่งที่นางเอกดาวน์โหลดวิธีการขับเฮลิคอปเตอร์เข้ามาในสมอง ทำให้เธอสามารถขับเฮลิคอปเตอร์ได้ทันที หลังจากที่ยึดเฮลิคอปเตอร์มาจากนักบินฝ่ายศัตรู .... ถึงแม้การถ่ายเทความรู้แบบออสโมซิสเข้าสมองตรงๆ แบบนี้อาจจะยังไม่เกิดขึ้นจริงในเร็ววัน แต่ระบบการศึกษาแบบทะลุทะลวงโลก กำลังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ซึ่งทำให้คนที่รู้จักใช้ประโยชน์จากมัน ได้เปรียบอย่างมากมายมหาศาล แล้วประเทศไทยรออะไรอยู่ละครับ ......

02 สิงหาคม 2555

IEEE INEC 2013 - The 5th IEEE International Nanoelectronics Conference


วันนี้ผมมีงานประชุมวิชาการนานาชาติที่สำคัญทางด้านนาโนเทคโนโลยี มาฝากกันครับ ซึ่งงานประชุมนี้เน้นผลงานทางด้านนาโนอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักครับ ซึ่งการประชุม INEC 2013 นี้ จัดเป็นครั้งที่ 5 โดยมักจะจัดอยู่รอบๆ บ้านเรานี่หล่ะครับ เช่น ครั้งแรกจัดที่สิงคโปร์ แล้วย้ายไปเซี่ยงไฮ้ จากนั้นก็ฮ่องกง มาไต้หวัน แล้วก็กลับมาจัดที่สิงคโปร์อีกครั้งในปีหน้าครับ ซึ่งถือเป็นการประชุมทางด้านนาโนเทคโนโลยีที่น่าไปมากๆ ครับ เพราะประหยัดดี ไม่ต้องบินไปไกลๆ ซึ่งตัวผมเองก็คิดว่าจะไปงานนี้ด้วยครับ ถ้าใครสนใจก็ต้องรีบๆ นิดนึงครับ เพราะกำหนดส่งบทคัดย่อใกล้เข้ามาแล้ว คือวันที่ 15 สิงหาคม 2555 ครับ แต่ผมคิดว่าเดี๋ยวก็คงเลื่อนอีกหล่ะครับ

INEC 2013 จะจัดระหว่างวันที่ 2-4 มกราคม พ.ศ. 2556 ที่ Resorts World Sentosa สิงคโปร์ โดยกรอบงานวิจัยที่สนใจในปีนี้จะเป็นเรื่องของ Sustainable Nanoelectronics ซึ่งเป็นการมองอนาคตของแนวโน้มด้านนาโนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะมาแทนที่อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยการประชุมครั้งนี้ แบ่งออกเป็นงานประชุมย่อย 4 งานได้แก่

1. Nano-Fabrication [Chaired by Dr Sivashankar Krishnamoorthy]
     1.1 Nanofabrication Technologies
     1.2 Nanoscale Modeling and Simulation
     1.3 Nanometrology and Nanomanipulation
     1.4 Characterization Techniques
     1.5 Nanotechnology Ventures

2. Nano-Electronics [Chaired by Prof Sun CQ]
     2.1 Nanoelectronic Materials and Structures
     2.2 Nanomagnetics and Spintronics
     2.3 Nanoelectronic Devices / Systems and Reliability
     2.4 Nanomolecular Electronics
     2.5 Modeling and Simulation
     2.6 Nanoelectronics Ventures

3. Nano-Photonics [Chaired by Prof Wang QJ]
     3.1 Nanophotonic Materials and Structures
     3.2 Nanophotonic Phenomena
     3.3 Nanophotonic Devices / Systems and Reliability
     3.4 Nanomolecular Photonics
     3.5 Modeling and Simulation
     3.6 Nanophotonics Ventures

4. Nano-Sciences ( Biology, Physics, Chemistry) [Chaired by Prof Su HB]
     4.1 Nanoscience Materials and Structures
     4.2 Nanomolecular Devices / Systems and Reliability
     4.3 Biocompatibility and Bioactivity
     4.4 Biological Labeling and Drug Delivery
     4.6 Nanobiology Ventures
     4.7 Method and Application
     4.8 Nano Physics & Chemistry
     4.9 Modeling and Simulation

ปีนี้ไปนับถอยหลังขึ้นปีใหม่ที่สิงคโปร์กันนะครับ