วิเคราะห์สถานภาพทางด้านนาโนศาสตร์ และ นาโนเทคโนโลยี ของประเทศไทย เปรียบเทียบกับ ประเทศคู่แข่ง เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทย เป็น Nano Valley of ASEAN
07 มิถุนายน 2555
Floating Nations - ประเทศลอยน้ำ (ตอนที่ 1)
ในช่วงที่ผมติดอยู่ในบ้านที่ถูกน้ำท่วม ที่ จ.นนทบุรี เป็นเวลา 45 วันนั้น หลังจากงานสูบน้ำและทำงานบ้านประจำวัน ผมมีเวลาค่อนข้างเยอะที่จะครุ่นคิดถึงแนวคิดต่างๆ แน่นอนว่าหลายๆ เรื่องก็จะเกี่ยวข้องกับน้ำ และเรื่องหนึ่งที่ผมคิดคือ ในอนาคตมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่ประเทศไทยจะตกอยู่ในสภาพ แห้ง 8 น้ำ 4 คือ แผ่นดินแห้งอยู่ 8 เดือน กับชุ่มน้ำอีก 4 เดือน ทั้งนี้หากคำนึงถึงความเป็นจริงที่ว่า ที่ราบลุ่มภาคกลางที่เป็นที่ตั้งของกรุงเทพและปริมณฑลมีแผ่นดินทรุดลงตลอดเนื่องจากการขยายตัวของเมือง เราต้องไม่ลืมว่า แผ่นดินที่เมืองหลวงของเราตั้งอยู่นี้เคยเป็นทะเลมาก่อน แต่เนื่องจากมีตะกอนที่แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน พัดพามาทับถมนานนับพันปี จึงเกิดเป็นแผ่นดินที่ราบลุ่มเจ้าพระยาขึ้นมา แต่หลังจากพวกเราได้ตั้งรกรากแถบนี้ เราได้สร้างเขื่อนที่ดักตะกอนเอาไว้ รวมทั้งมีการควบคุมน้ำ มีการขุดลอกตะกอนในแม่น้ำทุกๆ ปี ทำให้ไม่เคยมีตะกอนใหม่ๆ มาทับถมพื้นดินที่เคยเป็นท้องทะเลนี้อีกเลย เราต้องยอมรับความจริงว่า พื้นดินนี้ย่อมทรุดตัวลงไปตามแรงกดทุกๆ ปี
แค่แผ่นดินทรุดตัวอย่างเดียวก็แย่แล้ว เรายังเจอโจทย์ (หรือ โจทก์) ใหม่อีกคือ น้ำทะเลที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากน้ำแข็งละลายในขั้วโลกเหนือ ซึ่งจะทำให้น้ำทะเลมีระดับสูงขึ้นในช่วงฤดูมรสุมของเรา นักวิทยาศาสตร์เคยประมาณเอาไว้ว่า อีกไม่เกิน 100 ปี ประเทศบังคลาเทศจะหายไปจากแผนที่โลก กรุงเทพฯ ของเราจะจมน้ำ
ในช่วงที่น้ำท่วม ผมเริ่มจะยอมรับความเป็นไปได้ที่ว่า เราอาจจะต้องใช้ชีวิตกับน้ำปีละ 2-4 เดือน ซึ่งอาจจะค่อยๆ กลายเป็นเรื่องปกติไปในอนาคต พอถึงหน้ามรสุม น้ำจะหลากมาท่วมหลังจากนั้นมันก็จะแห้ง เป็นวัฏจักรวนเวียนเช่นนี้ ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศกึ่งใต้น้ำ คือ เป็นประเทศที่มีแผ่นดิน 100% ผสมกับการมีแผ่นดิน 80% ในบางเวลา ทะเลจะค่อยๆ คืบคลานมากลืนกินแผ่นดินของเราไปอย่างช้าๆ
ทางฝั่งประเทศตะวันตกเอง เริ่มมีแนวคิดของการสร้างประเทศที่ลอยน้ำได้ (Floating Nations หรือ Floating Countries) ประเทศแบบนี้สามารถสร้างขึ้นมาโดยใครก็ได้ อาจเป็นรัฐบาล หรือ องค์กร หรือแม้แต่ คนๆเดียวที่มีสตางค์หน่อย (โดยเฉพาะคนที่ไม่มีประเทศจะอยู่) เราสร้างประเทศที่ลอยน้ำได้ซึ่งจะลอยไปที่ไหนก็ได้ในโลก เพราะในทะเลและมหาสมุทรนอกชายฝั่ง 12 ไมล์ทะเล นั้นถือว่าเป็นเขตทะเลสากล ประเทศนี้สามารถลอยไปลอยมาในทะเล ขอแต่ให้ห่างฝั่ง 12 ไมล์ทะเลเป็นใช้ได้ เนื่องจากเป็นประเทศที่ลอยน้ำได้ เราสามารถที่จะให้ประเทศนี้หนีพายุได้ หรือลอยไปยังบริเวณที่อากาศดีๆ แล้วลอยกลับมาที่เดิมเมื่อฤดูกาลที่เหมาะสมนั้นมาถึง การที่ประเทศลอยน้ำนี้อยู่ไม่ไกลจากฝั่งมากนัก ก็จะทำให้มีการเดินทางเข้า-ออก ด้วยเฮลิคอปเตอร์ หรือ เรือเฟอรี่ได้ง่าย หรือแม้แต่ประเทศลอยน้ำนี้จะมีสนามบินนานาชาติของตัวเองก็ย่อมทำได้
ถามว่า แล้วประเทศนี้จะเอาอะไรกิน ?
ด้วยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการเกษตร เราจะสามารถปลูกพืชแบบแนวดิ่งได้ (Vertical Farming) ซึ่งจะพอหล่อเลี้ยงประชากรในประเทศลอยน้ำ (ซึ่งอาจจะมีประชากรได้ตั้งแต่ 50,000 ถึงหลายแสนคน) เราสามารถทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเลเปิดแบบ Smart Aquaculture ประเทศลอยน้ำสามารถผลิตพลังงานจากเซลล์สุริยะ กังหันลม รวมทั้งกังหันผลิตไฟฟ้าจากคลื่นในทะเล ประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศลอยน้ำนี้ จะเป็นประชากรระดับคุณภาพ ที่เข้ามาทำงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งอาจจะถูกห้ามในประเทศแม่ เช่น เรื่องจีเอ็มโอ หรือ โคลนนิ่ง เพราะอย่าลืมว่า ประเทศลอยน้ำ เป็นประเทศจริงๆ สามารถร่างรัฐธรรมนูญของตัวเอง ออกกฎหมายเอง ประเทศลอยน้ำนี้สามารถรับประชากรจากประเทศที่ไม่ลอยน้ำใดๆ ก็ได้ในโลก ให้เข้ามาทำงานช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศนี้ ซึ่งถึงแม้จะมีประชากรเพียงไม่กี่หมื่นคน ก็อาจจะผลิต GDP ได้มากกว่าประเทศไทยทั้งประเทศเสียอีก รายได้ของประเทศลอยน้ำจะมาจากสินค้าเทคโนโลยี ไอที นาโนเทคโนโลยี จีเอ็มโอ ซอฟต์แวร์ บันเทิงและการท่องเที่ยว ... ต้องไม่ลืมว่า ประเทศลอยน้ำนี้ สามารถออกกฎหมายของตัวเอง ซึ่งจะทำให้มีความคล่องตัวในการเอื้อต่อ ความต้องการของนักลงทุนจากแผ่นดินแม่
ในตอนต่อๆ ไป ผมจะมาเล่าความคืบหน้า เกี่ยวกับแนวคิดนี้ให้ฟังต่อนะครับ .....
ป้ายกำกับ:
climate change,
climate engineering,
crisis,
Economy,
geoengineering,
new paradigm,
water
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น