09 มิถุนายน 2555

Artificial Consciousness - สติประดิษฐ์ (ตอนที่ 2)


ในทางพระพุทธศาสนา สติ แปลว่า "ความระลึกได้ ความนึกขึ้นได้ ความไม่เผลอ ฉุกคิดขึ้นได้ การคุมจิตไว้ในกิจ หมายถึง อาการที่จิตนึกถึงสิ่งที่จะทำจะพูดได้ นึกถึงสิ่งที่ทำคำที่พูดไว้แล้วได้ เป็นอาการที่จิตไม่หลงลืม ระงับยับยั้งใจได้ ไม่ให้เลินเล่อพลั้งเผลอ ป้องกันความเสียหายเบื้องต้นยับยั้งชั่งใจไม่บุ่มบ่าม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ความไม่ประมาท"

ในทางวิทยาศาสตร์ สติ คือ "การรู้ตัว การรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว การตื่นตัวอยู่และมีความสามารถที่จะรับสัมผัสสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมไปถึงความสามารถในการควบคุมตัวเอง" ความรู้ในทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ยังไม่ค่อยเข้าใจนักว่าสติทำงานอย่างไร สติเกิดขึ้นมาจากกระบวนการในสมองได้อย่างไร นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ค่อยแน่ใจนักว่าสามารถที่จะสร้างคุณสมบัตินี้ในคอมพิวเตอร์ได้หรือไม่ นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มถึงกับบอกว่า ความรู้ที่มีในตอนนี้ยังไม่พอจะนิยามคำว่า "สติ" เสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์กลุ่มที่สนใจเรื่องสติประดิษฐ์ ก็ไม่ได้คาดหวังว่าเราจะต้องเข้าใจอะไรมากมายในเรื่องสติเสียก่อน ถึงจะทำอะไรได้ พวกเขาคิดว่าความรู้เรื่องนี้สามารถค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับพัฒนาการในเรื่องของ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม AI) ซึ่งถูกพัฒนามาก่อนหน้านี้หลายสิบปีแล้ว

ในทางปรัชญา สติมีองค์ประกอบใหญ่อยู่ 2 อย่างคือ (1) Access Consciousness หรือ สติที่เกี่ยวกับผัสสะ กับ (2) Phenomenal Consciousness สติในแง่มุมของปรากฏการณ์ อย่างเช่นสมมติว่าเรามองออกไปแล้วมองเห็นลูกบอล เจ้าตัว Access Consciousness จะทำงานโดยมันรับรู้แล้วบอกเราว่านั่นลูกบอลนะ จะเห็นว่าในแง่มุมของ Access Consciousness นี้ไม่ค่อยยาก เพราะเราสามารถโปรแกรมให้คอมพิวเตอร์ใช้การจดจำรูปแบบหรือ (pattern recognition) เพื่อให้จำแนกรู้ได้ว่านี่คือลูกบอล ซึ่งปัจจุบันเราก็ทำได้แล้ว แต่ถ้าเป็น Phenomenal Consciousness จะค่อนข้างซับซ้อนกว่า เพราะเกี่ยวข้องกับความรู้สึกทางอารมณ์ เช่น ความเจ็บปวด ความโกรธ ความกลัว แรงจูงใจ ความตื่นตัว การคาดเดาสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เช่น พอเราเห็นลูกบอลลอยมา สติประเภทนี้จะบอกให้รีบหลบไม่งั้นลอยมาลงหัวแน่

สำหรับความเป็นไปได้ในการสร้างสติประดิษฐ์ขึ้นมาบนแพล็ตฟอร์มอื่น ที่ไม่ใช่สมองมนุษย์นั้น นักวิทยาศาสตร์แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกมองว่าสติประดิษฐ์ไม่น่าจะสร้างขึ้นมาได้ ด้วยเหตุผลในเรื่องของฟิสิกส์ของวัสดุที่ประกอบขึ้นเป็นสมอง ซึ่งเกิดจากสารอินทรีย์ในธรรมชาติ กับวัสดุที่สร้างขึ้นมาเป็นคอมพิวเตอร์ องค์ประกอบย่อยๆ ที่แตกต่างกันนี้ เมื่อรวมกันขึ้นมาเป็นจักรกลแห่งความคิด (Thinking Machines) คือสมอง กับ คอมพิวเตอร์ นั้น สุดท้ายก็จะเกิดความแตกต่างขึ้นมากมาย ซึ่งมันก็มากพอที่จะทำให้เราไม่สามารถสร้างสติประดิษฐ์ให้เหมือนกับที่เรามีในสมอง

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง ผมขอเรียกว่าพวก Blue Sky หรือกลุ่มฟ้าใส ซึ่งผมก็ขอเป็นสมาชิกของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ครับ พวกฟ้าใสมองว่าอะไรๆ ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น คนกลุ่มนี้กระตืนรื้อล้นเหลือเกินที่อยากให้เทคโนโลยีนี้เกิดขึ้น เพราะมันจะนำคุณประโยชน์มากมายมหาศาลมาสู่มวลมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้มองว่า สมองคือจักรกลอย่างหนึ่งที่ทำหน้าที่ต่างๆ สิ่งที่สมองคิดออกมา เป็นสถานภาพของหน้าที่ (Functionalities) ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความโกรธ ความกลัว รวมไปถึงเรื่องของสติได้ ดังนั้นหากเราโมเดลฟังก์ชันหน้าที่เหล่านั้นได้ด้วยคณิตศาสตร์และอัลกอริทึมต่างๆ เราก็สร้างสติประดิษฐ์ได้

แล้วมาคุยต่อนะครับ ......

2 ความคิดเห็น:

  1. Very interesting article, I am very happy with Thailand, a country rich with culture and the same with my country. thanks i really enjoy reading your posts. i love thailand...

    ตอบลบ