วิเคราะห์สถานภาพทางด้านนาโนศาสตร์ และ นาโนเทคโนโลยี ของประเทศไทย เปรียบเทียบกับ ประเทศคู่แข่ง เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทย เป็น Nano Valley of ASEAN
03 พฤษภาคม 2555
The Future of City - อนาคตของเมืองใหญ่ (ตอนที่ 2)
ตอนที่ผมกลับมาจากต่างประเทศ แล้วเข้าทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ผมได้เรียนรู้ว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยของไทยนั้น ทำงานวิจัยกันแค่ 1 ใน 10 ของจำนวนอาจารย์ทั้งหมด นี่ขนาดเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยอันดับต้นๆ ของประเทศแล้วนะครับ ยังน้อยขนาดนี้ เมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป ที่อาจารย์มหาวิทยาลัยเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำงานวิจัย และที่ผมตกใจมากก็คือ งานวิจัยทั้งหมดที่ทำกันอยู่นั้น ผมก็ได้เรียนรู้อีกว่า มีเพียง 1 ใน 10 เท่านั้นครับที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทย ที่เหลือมีประโยชน์กับประเทศอื่น นี่ถ้าเรามองว่ามหาวิทยาลัยเป็นเครื่องยนต์ ที่กำลังขับเคลื่อนประเทศไทยที่เป็นตัวรถ เครื่องยนต์ตัวนี้มีกำลังขับเคลื่อนเพียง 1% เท่านั้นครับ น่าตกใจมั้ยครับ แล้วเราจะมีกำลังอะไรไปแก้ไขปัญหาที่ประเทศเรา และทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งต้องอาศัยพลังปัญญาและเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งนับวันจะทวีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะปัญหาโลกร้อน หรือ Climate Change
ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ เรื่องของภาวะโลกร้อน มีความชัดเจนและแสดงออกอย่างรุนแรงขึ้น ตอนนี้ทั่วโลกมองว่าการแก้โลกร้อนมันใหญ่มาก สิ่งที่พอจะทำได้ตอนนี้คือ "การปรับตัว" ให้อยู่กับโลกร้อน ซึ่งมีเรื่องใหญ่ๆ อยู่ 4 เรื่องที่จะต้องปรับตัวให้ได้ คือ
(1) ระบบของชุมชนเมือง โดยเฉพาะเมืองใหญ่ที่จะเป็นศูนย์กลางประชากรโลกในอนาคต
(2) เรื่องน้ำ แม่น้ำ ชายฝั่ง
(3) เกษตรกรรม ป่าและธรรมชาติ
(4) สภาพสังคม
ซึ่งทั้ง 4 เรื่องนั้นมีความเชื่อมโยงกัน การแก้ปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะทำให้ปัญหาอีกเรื่องหนึ่งบรรเทาลงได้ เช่น ในอนาคตหากมีการย้ายเกษตรกรรมจากชนบทมาทำในเมือง (Urban Agriculture) ในลักษณะของเกษตรกรรมแนวตั้ง (Vertical Farming) ก็จะช่วยคืนพื้นที่เกษตรให้แก่ป่าและธรรมชาติได้ อย่างของประเทศไทยเอง หากมีการจัดการน้ำและแม่น้ำให้ดี ก็จะช่วยรักษาเมืองไม่ให้น้ำท่วม หรือหากมีการจัดการเมืองใหม่ ให้มีระบบการไหลของน้ำผ่านเมืองที่ดีขึ้น ก็จะรักษาแม่น้ำลำคลองและธรรมชาติ ให้อยู่ร่วมได้เช่นกัน
ดังนั้น กรุงเทพฯในอนาคตจะต้องเป็นเมืองฉลาด (Smart City) ที่มีระบบสัมผัส ที่จะสามารถรับรู้สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ และสามารถปรับตัวรับกับสิ่งที่กำลังจะมา กรุงเทพฯ จะต้องมีระบบที่เชื่อมโยงกับระบบอุตุนิยมวิทยา ระบบเขื่อน ระบบชลประทาน ระบบขนส่งบทั้งหมดเป็นโครงข่ายประสาทขนาดใหญ่ เมื่อพายุไต้ฝุ่นกำลังจะขึ้นที่เมืองเว้ประเทศเวียดนาม กรุงเทพฯ ต้องสามารถที่จะวิเคราะห์ประมวลผลการเดินทางของพายุ ว่าจะผ่านที่ไหนบ้าง และหากผ่านเข้ามาในบริเวณภาคเหนือ จะต้องรู้ว่าน้ำฝนที่จะตกลงมามีปริมาณเท่าไหร่ กรุงเทพฯ จะต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลกับะบบเขื่อน และระบบชลประทานทั้งหมดได้ และต้องประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า ผสานกับข้อมูลน้ำและกำลังการสูบน้ำของกรุงเทพฯ เอง รวมไปถึงระดับน้ำขึ้นน้ำลงตามธรรมชาติของทะเล ทำให้มีการระบายน้ำออกอย่างฉลาด
นอกจากจะเป็นเมืองฉลาดที่มีระบบประสาทข้อมูลขั้นอัจฉริยะแล้ว เมืองฉลาดแห่งอนาคตจะต้องคำนึงถึงเรื่องสำคัญ 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่
(1) มีโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Structures)
(2) ระบบน้ำ (Water Systems)
(3) การใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency)
เมื่อคำนึงปัจจัยข้างต้น กรุงเทพฯ ของเราก็มีสิทธิ์เป็นเมืองฉลาดได้ครับ การมีโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้เราประหยัดพลังงานได้ นอกจากนั้น เราอาจลดการใช้พลังงานลงไปอีก หากเรามีระบบน้ำ คู คลอง หนองบึง ในเมืองมากขึ้น เพื่อให้น้ำเป็นแหล่งช่วยระบายความร้อน เพื่อลดการใช้เครื่องปรับอากาศ ช่วงที่ผมใช้ชีวิตอยู่ในบ้านที่โดนน้ำท่วมตลอด 45 วัน ทำให้ผมเรียนรู้ว่าบ้านที่มีน้ำล้อมรอบจะมีความเย็นสบายแค่ไหน เมืองในอนาคตอาจจะต้องเปลี่ยนถนนให้กลับมาเป็นน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะเมืองริมทะเลอย่างกรุงเทพฯ ที่ธรรมชาติเองพยายามจะบอกอะไรเราโดยปล่อยน้ำมาท่วมใหญ่เมือปลายปี 2554
ประเทศในยุโรป กำลังระดมความคิดที่จะปรับเปลี่ยนเมืองของเขา ให้เป็นเมืองที่ปรับตัวและอยู่ได้กับภาวะโลกร้อน ถึงเวลาของกรุงเทพฯ ที่จะช่วยกันคิดหรือยังครับ ...
ป้ายกำกับ:
climate change,
crisis,
new paradigm,
smart city
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
มีประโยชน์มากครับ ไม่ทราบว่าอาจารย์ มีงานวิจัยอะไรที่ทำอยู่ในตอนนี้ ครับ
ตอบลบตัวอย่างงานวิจัยดูได้ที่ http://nanotech.sc.mahidol.ac.th/ นะครับ ขอบคุณมากครับผม
ตอบลบ