05 มิถุนายน 2554

Smart Environment - สภาพแวดล้อมอัจฉริยะ (ตอนที่ 1)



ในระยะหลังๆมานี้ เทคโนโลยีใหม่ๆ มักจะมีคำว่า smart หรือคำว่า intelligent ขึ้นหน้าเสมอ เช่น Smart Farm, Smart Phone, Smart Health, Smart Home, Intelligent Battlefield, Intelligent Car, Intelligent Highway และอีกมากมายครับ เรียกได้ว่าเป็นกระแสหลักของช่วงนี้เลยทีเดียว เมื่อสักประมาณ 4 ปีที่แล้ว ผมได้เริ่มเห็นว่าคำๆ นี้น่าจะมาไม่ช้าก็เร็ว ก็เลยริเริ่มในการทำเรื่อง Smart Farm หรือ Smart Vineyard ที่ไร่องุ่นกรานมอนเต้ อ.ปากช่อง และก็นำเทคโนโลยีหลายๆ อย่างที่ได้พัฒนาในห้องแล็ปไปใช้ที่ในไร่องุ่น การพัฒนาระบบ Smart Vineyard สำหรับไร่องุ่นกรานมอนเต้ ทำให้เรามีเทคโนโลยีอีกอย่างหนึ่งเป็นผลพลอยได้เกิดขึ้น นั่นคือเทคโนโลยีสภาพแวดล้อมอัจฉริยะ หรือ Smart Environment ดังนั้นเมื่อประมาณเกือบ 2 ปีที่แล้ว พวกเราจึงได้เริ่มพัฒนาเทคโนโลยี Smart Environment เพื่อการประยุกต์ใช้สำหรับบ้านอัจฉริยะ (Smart Home) โดยหวังว่าเทคโนโลยีนี้จะนำไปช่วยดูแลผู้สูงวัย โดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพ (Smart Health) ดังนั้นในซีรีย์บทความนี้ ผมจะทยอยนำเอาความก้าวหน้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Smart Environment มาเล่าให้ฟังครับ

ในตอนที่ 1 นี้ผมขอเริ่มจากเรื่องใกล้ๆ ตัวเพื่อให้เห็นภาพก่อนนะครับ ลองนึกดูหน้าตาของเทคโนโลยีสภาพแวดล้อมอัจฉริยะ โดยจะขอฉายภาพไปที่เรื่องที่เกี่ยวกับบ้าน ที่อยู่อาศัย หรืออาคารที่ทำงานก่อนนะครับ

- ไฟส่องสว่างที่ฉลาด สามารถรับรู้สภาพอารมณ์และความรู้สึกของผู้อาศัย (Smart Lighting)
- ที่นอนเซ็นเซอร์ที่รับรู้อากัปกริยาการนอน และสามารถเก็บและประมวลผลข้อมูลสุขภาวะการนอนได้ (Smart Bed)
- ห้องสุขา ห้องน้ำที่ตรวจวัดภาวะสุขภาพจากกลิ่นปัสสาวะ (Smart Toilet)
- พื้นผิว ผนัง ฝ้า กระจกที่ทำความสะอาดตัวเองได้ (Self-Cleaning Surface)
- หน้าต่างและกระจกที่ปรับแสงส่องผ่านได้เอง (Photochromism and Electrochromism)
- ระบบ Home Automation ที่ใช้เปิด-ปิด เครื่องใช้ไฟฟ้าอัตโนมัติ สั่งการด้วยเสียงหรืออากัปกริยาของร่างกาย รวมไปถึงระบบรักษาความปลอดภัย
- ระบบประหยัดพลังงาน และปรับการใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid)
- ผนังบ้านที่เปลี่ยนสีได้
- เฟอร์นิเจอร์ที่เปลี่ยนรูปร่างได้ (Shape-Shifting Furnitures)
- หลังคาบ้านเคลือบคลอโรฟิลล์ประดิษฐ์ (Artificial Chlorophyll) ที่สามารถผลิตอ๊อกซิเจนได้
- ระบบตรวจสุขภาพส่วนบุคคลที่บ้าน (Personalized Medicine) ที่มีเครื่องตรวจหัวใจ ความดันเลือด การหายใจ และอื่นๆ โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับแพทย์หรือสถานพยาบาล
- จอแสดงผลแบบฟิล์มบางที่ติดตั้งบนกระจกห้องน้ำ กระจกห้องแต่งตัว สามารถเปิดดูข่าว รับข้อมูล เล่น Facebook ขณะกำลังแต่งหน้า ทาปาก ก่อนไปทำงาน
- บ้านที่รับรู้สภาพอารมณ์ของผู้อาศัย เปิดเพลง หรือสีของแสงไฟที่เหมาะกับสภาพอารมณ์ที่ต้องการในขณะนั้น
- หุ่นยนต์ประจำบ้าน สำหรับดูแลผู้อาศัย เช่น หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย หุ่นยนต์ดูดฝุ่น หุ่นยนต์พ่อครัว เป็นต้น

ตัวอย่างเหล่านี้คงพอจะเห็นภาพได้นะครับ ในตอนต่อๆ ไปผมจะทยอยนำความก้าวหน้าในด้านต่างๆ มาเล่าให้ฟังนะครับ

2 ความคิดเห็น:

  1. น่าสนใจมากครับ แล้ว อ.นอยคิดว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการทำ smart environment ด้านใดมากที่สุดครับ และจะใช้เวลานานไหม แล้วควรปูพื้นฐานด้านใดเป็นอันดับแรกครับ

    ตอบลบ
  2. น่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ smart home ครับ เพราะเมืองไทยเรา การเติบโตทางเศรษฐกิจมีพื้นฐานมาจากธุรกิจก่อสร้างค่อนข้างมาก ระยะหลังนี้ วัสดุก่อสร้างประเภท Green หรือ Nano ค่อนข้างเป็นกระแสครับ แต่เรื่องของการทำให้บ้านฉลาดนี้ ยังเพิ่งจะเป็นแนวคิด ขนาดบริษัทใหญ่ๆ อย่าง SCG ซึ่งมาเปิดบริษัทลูก SCG Heim ยังไม่ได้ทำเลยครับ คงจะใช้เวลาสักพักนึง

    ตอบลบ