30 มิถุนายน 2554

Are We Simulated in Computer ? - ฤาโลกนี้เป็นเพียงฝัน (ตอนที่ 9)


เคยไหมครับที่เราเคยฝันถึงใครบางคน คนที่ไม่มีตัวตน เมื่อตื่นขึ้นก็ยังเหมือนติดอยู่ในภวังค์ อย่างกับว่าคนในฝันคนนั้นมีอยู่จริงๆ ทั้งๆที่รู้ว่าทั้งหมดมันก็เพียงแค่ความฝัน แต่ความคิดของเราก็ยังติดอยู่กับคำว่า "เค้าน่าจะมีตัวตน"

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี่เอง ได้เกิดเหตุการณ์โกลาหลในญี่ปุ่นและเกือบจะลุกลามบานปลาย เป็นสภาวะปนเประหว่างความประหลาดใจ ความขุ่นเคือง ความเสียใจ ของคนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นข่าวดังมากๆในญี่ปุ่นและแพร่ขยายออกไปทั่วโลก สถานีโทรทัศน์ต่างประเทศหลายแห่งนำเหตุการณ์นี้ไปออกอากาศ มีการวิพากษ์วิจารณ์กันจนเกือบจะเป็นเหตุการณ์จลาจลบนโลกออนไลน์เลยทีเดียว

ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นก็เนื่องมาจากบริษัทกูลิโกะ (Glico) ได้ออกคลิปวีดิโอแพร่ภาพเปิดเผยความจริงว่า นักร้องหน้าใหม่ของวง AKB48 (ซึ่งเป็นกลุ่มศิลปินชื่อดังของญี่ปุ่น) ที่มีชื่อว่า อาอิมิ (Eguchi Aimi) .... ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เป็นนางแบบโฆษณาขนมตัวใหม่ของกูลิโกะ และเป็นนางแบบในนิตยสารแฟชั่นหลายเล่ม ... แท้จริงแล้ว เธอเป็นเพียงมนุษย์ดิจิตอลที่สร้างขึ้นบนคอมพิวเตอร์ โดยใช้ส่วนใบหน้าจากนักร้องวง AKB48 จำนวน 6 คน (6 คนที่ดังที่สุดในวง AKB48 ซึ่งมีนักร้องในวงมากถึง 60 คน) โดยวิศวกรได้เลือกเอาส่วนที่ดีที่สุดในใบหน้าของนักร้องทั้ง 6 เพื่อสร้างหน้าตาของ อาอิมิ ออกมาอย่างน่ารัก จนเป็นที่หลงใหลคลั่งไคล้ไปทั้งญี่ปุ่น ผู้คนทั้งญี่ปุ่นรู้จักอาอิมิก่อนที่จะรู้ความจริงว่าเธอไม่มีตัวตน ในฐานะนักร้องหน้าใหม่ของ AKB48 ซึ่งปรกติแล้ว การเข้ามาเป็นสมาชิกของ AKB48 จะต้องผ่านการแสดงออดิชั่น ซึ่งจะทำให้แฟนๆ รู้ว่าใครเป็นใคร หน้าตาอย่างไร แต่การปรากฏตัวของอาอิมิในโฆษณาของกูลิโกะ และนิตยสารหลายเล่ม เกิดขึ้นโดยไม่มีใครเคยรู้จักเธอมาก่อน แต่สิ่งนี้กลับไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับเธอเลย เพียงไม่กี่วันที่เธอปรากฏตัว ได้มีแฟนคลับของเธอเกิดขึ้นทั่วเกาะญี่ปุ่น

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้นำมาสู่คำถามที่ว่า "เราสามารถรักและมอบใจให้กับคนที่ไม่มีตัวตนได้หรือไม่" ซึ่งเราจำเป็นจะต้องตอบคำถามนี้ให้ได้โดยใช้เวลาไม่นานด้วย เพราะว่านับวันเทคโนโลยีทางด้านความจริงเสมือน (Virtual Reality) ความจริงผสม (Mixed Reality) หรือแม้แต่ความจริงจำแลง (Simulated Reality) เริ่มขยับใกล้เข้ามาสู่ชีวิตเรามากขึ้นๆ จนในวันหนึ่งเราอาจจะตื่นขึ้นมาในตอนเช้า แล้วถามตัวเองว่า โลกที่เรากำลังลืมตาดูอยู่นี้ เป็นของจริง หรือป่าว .....



28 มิถุนายน 2554

โอบามาทุ่ม 15,000 ล้านบาท วิจัย Advanced Manufacturing Initiative



เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีโอบามาได้เดินทางไปเยี่ยมชม มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน (Carnegie Mellon University) ซึ่งมหาวิทยาลัยนี้มีชื่อเสียงในเรื่องของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และยังเป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยหุ่นยนต์แห่งชาติ (National Robotics Engineering Center) อีกด้วย ทั้งนี้มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้รับงบประมาณจำนวนมากจากเพนทากอน ในการพัฒนาระบบหุ่นยนต์สำหรับการทหาร มีโครงการวิจัยระดับแนวหน้ามากมาย ประธานาธิบดีได้มีเซอร์ไพรซ์สำหรับนักข่าวด้วยการเปิดตัวโครงการใหม่ สำหรับสนุนการวิจัยเทคโนโลยีผลิตกรรมสำหรับยุคอนาคตที่มีชื่อ Advanced Manufacturing Partnership ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 15,000 ล้านบาท

โครงการ Advanced Manufacturing Partnership จะเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกลางสหรัฐ ภาคอุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัยในการวิจัยเทคโนโลยีใหม่ที่จะบูรณาการศาสตร์ทางด้านไอที เทคโนโลยีชีวภาพ และนาโนเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาระบบการผลิตแบบใหม่ วัสดุแบบใหม่ เพื่อที่จะปฏิรูปการผลิตของสหรัฐฯ ให้มีความทันสมัยล้ำยุคกว่าใคร

ผู้ที่เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยนี้ นายโอบามาได้มอบหมายให้ Mr. Andrew Liveris ซึ่งเป็นประธานบริษัทดาวเคมีคอล (Dow Chemical) และ Ms. Susan Hockfield อธิการบดีของสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาจูเซตต์ (MIT) โดยเบื้องต้นจะมีมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของอเมริกามาเข้าร่วมหลายแห่งได้แก่ MIT มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน สถาบันเทคโนโลยีแห่งจอร์เจีย มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบอร์คลีย์ และมหาวิทยาลัยมิชิแกน ส่วนบริษัทที่เข้าร่วมก็มี แคเตอร์พิลลา ฟอร์ด คอร์นนิง ดาว ฮันนีเวลล์ อินเทล จอห์นสัน นอร์ทรอป กรัมแมน (บริษัทผลิตอาวุธ) พอร์คเตอร์แอนด์แกมเบิล สไตรเกอร์

เนื้อหาวิจัยที่โครงการนี้จะเน้นเป็นพิเศษได้แก่เรื่องของ

- การสร้างศักยภาพแก่อุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ โดยหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กระทรวงความมั่นคงภายใน กระทรวงกลาโหม กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ จะเข้ามาร่วมกำหนดโจทย์การวิจัย ตัวอย่างเช่น เรื่องของแบตเตอรีความจุสูง นาโนคอมพอสิต การประกอบขึ้นรูปโลหะ การผลิตทางชีวภาพ พลังงานทางเลือก เป็นต้น

- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการออกแบบวัสดุก้าวหน้า (Advanced Materials) ด้วยการย่นระยะเวลาของกระบวนการที่ใช้ในการออกแบบวัสดุไปจนถึงการผลิตใช้จริง การพัฒนาซอฟต์แวร์ การทำฐานข้อมูล และการ screening การทดลองเพื่อค้นหาวัสดุ

- การพัฒนาหุ่นยนต์ยุคต่อไป ให้สามารถทำงานเคียงข้างมนุษย์ ทั้งงานในโรงงาน งานโรงพยาบาล งานในสนามรบ การผ่าตัด ไปจนถึงงานในอวกาศ

- การพัฒนาระบบผลิตที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมทั้งการยกเครื่องระบบการผลิตแบบเก่า ให้ประหยัดพลังงานมากขึ้นด้วย

เห็นแล้วก็อิจฉานะครับที่ประธานาธิบดีของเขา เอาเงินวิจัยมาแจกให้ถึงในมหาวิทยาลัยเลย .....

22 มิถุนายน 2554

Materials Intelligence - วัสดุปัญญา (ตอนที่ 8)



ครั้งหลังสุดที่ผมเขียนบทความเกี่ยวกับวัสดุปัญญาคือเมื่อต้นปี 2010 ผ่านไปปีหนึ่ง ดูเหมือนว่าในประเทศเราจะไม่ค่อยมีความก้าวหน้าในเรื่องนี้เท่าไหร่ จากการตรวจสอบของผมเองนั้นพบว่า ประเทศเราเริ่มมีความสนใจและมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับวัสดุฉลาดกันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่แทบจะไม่มีอะไรคืบหน้าในเรื่องของวัสดุปัญญาเลยครับ

ผมขอย้อนกลับไปนิดนึงนะครับ เผื่อบางท่านอาจจะลืมไปบ้างแล้วว่าเราแบ่งยุควัสดุออกเป็นยุคอะไรบ้าง .... ก่อนหน้านี้ ผมได้แบ่งความก้าวหน้าของวัสดุเป็น 3 ยุค ได้แก่

- วัสดุยุคที่หนึ่ง ซึ่งก็คือ Dumb Materials หรือ ยุควัสดุโง่ ซึ่งได้แก่ คอนกรีต ทราย ไม้ กระจก โลหะ กระดาษ ผ้า หรือแม้แต่ พลาสติก ทั้งพลาสติกที่ย่อยสลายได้ หรือ ย่อยสลายไม่ได้ หรือ พลาสติกชีวภาพ ก็ถือว่าเป็นวัสดุโง่ทั้งสิ้นครับ

- วัสดุยุคที่สอง ซึ่งก็คือ Smart Materials หรือ ยุควัสดุฉลาด จะเรียก Advanced Materials ก็ได้ บางคนก็เรียก Functional Materials บางคนก็เรียก Hierachical Structure Materials แต่อย่าไปสับสนกับ Nanomaterials (นาโนวัสดุ) นะครับ คือ นาโนวัสดุเนี่ยเป็นได้ทั้งวัสดุโง่และวัสดุฉลาด ครับ แต่ส่วนมากจะเป็นวัสดุฉลาด เพราะมันทำหน้าที่ได้มากกว่า 1 อย่าง

- ยุคที่สามคือยุคของ Materials Intelligence หรือ วัสดุปัญญา ในยุคนี้วัสดุจะเหมือนมีหัวคิด มีตรรกะ มีซอฟต์แวร์ซ่อนอยู่ข้างใน ถ้าจะพูดให้เว่อร์ๆ ก็คือ วัสดุมีปัญญาแล้ว คือ เป็นขั้นที่สูงกว่าฉลาดขึ้นไปอีก ตอนนี้นักวิจัยที่ทำงานด้านนี้ส่วนใหญ่จะได้งบจากเพนทากอนครับ เพราะส่วนใหญ่ต้องการนำไปใช้ทางการทหาร แนวว่าต้องการสร้างเซอร์ไพรซ์และความได้เปรียบเหนือฝ่ายศัตรู

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี้เองครับ DARPA หน่วยงานให้ทุนด้านการทหารของสหรัฐฯ ได้ประกาศโปรแกรมใหม่ที่มีชื่อว่า Living Foundries ซึ่งมีเป้าหมายในการวิศวกรรมระบบของสิ่งมีชีวิต เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นโรงงานผลิตวัสดุชนิดใหม่ๆ ที่มีคุณสมบัติแปลกใหม่ไปจากเดิม ซึ่งโปรแกรมนี้จะให้ทุนแก่กลุ่มวิจัยต่างๆ ที่สามารถดัดแปลง หรือ สร้างระบบที่อยู่บนพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต เพื่อให้มันทำหน้าที่ที่เราโปรแกรมเข้าไป ให้โรงงานชีวิตนี้ผลิตสิ่งที่เราต้องการ เช่น เชื้อเพลิง ยารักษาโรค พลาสติกชีวภาพ เป็นต้น DARPA มองว่าความก้าวหน้าในศาสตร์ทางด้านนี้ นอกจากจะทำให้กองทัพสหรัฐฯ มีความสามารถทางด้านการผลิตวัสดุสำหรับอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างก้าวกระโดดแล้ว มันยังจะช่วยทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกามีศักยภาพเพิ่มขึ้นทางด้านอุตสาหกรรมการผลิตโดยรวมอีกด้วย

เนื่องจากศาสตร์ทางด้านนี้มีลักษณะเป็นสหวิทยาการ DARPA จึงต้องการให้ผู้ที่เข้ามาขอทุนมาจากสาขาที่หลากหลายทั้งด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และวิทยาศาสตร์กายภาพ ซึ่งจะเปิดมุมมองใหม่ๆ ในเรื่องของชีววิทยา โดยเฉพาะมุมมองทางด้านวิศวกรรม DARPA หวังว่าแนวความคิดใหม่ๆ แหวกแนว จากคนนอกสาขา จะช่วยทำลายกำแพงทัศนคติเก่าๆ ของคนในวงการชีววิทยา ทฤษฎี โมเดล และเครื่องมือจากศาสตร์ที่อยู่นอกสาขาชีววิทยา จะถูกนำมาช่วยออกแบบและพัฒนาระบบชีววิทยา อันจะนำไปสู่ฟังก์ชันใหม่ๆ กระบวนการใหม่ๆ อย่างไม่เคยมีมาก่อน DARPA หวังว่าด้วยวิธีการนี้ จะช่วยปฏิรูปศาสตร์ทางด้านชีววิทยา ให้มีลักษณะเป็นวิศวกรรมมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การออกแบบ การสร้าง การทดสอบ ระบบชีววิทยาใหม่ๆ สามารถกระทำได้เร็วกว่าเดิม ในระยะยาว DARPA หวังว่าระบบผลิตวัสดุแบบใหม่นี้ จะเป็นระบบที่สามารถผลิตได้ในสถานที่ใช้ (Point-of-Use) และผลิตในเวลาที่สั่งหรือต้องการ (On Demand) รวมไปถึงความสามารถในการปรับแต่งตามความพอใจของผู้ใช้ ในปริมาณที่มากพอ (Mass Customization)

18 มิถุนายน 2554

Quantum Biology - ชีววิทยาควอนตัม (ตอนที่ 1)


ท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านอาจจะพอได้ยินหรืออาจจะรู้จักศาสตร์ที่มีชื่อว่า กลศาสตร์ควอนตัม หรือ ฟิสิกส์ควอนตัม ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์หรือสิ่งของเล็กๆ อย่างอะตอมหรืออิเล็กตรอน ซึ่งศาสตร์นี้ในที่สุดก็นำมาอธิบายความเป็นอยู่ของโมเลกุลในรูปแบบที่เรียกว่า เคมีควอนตัม ปัจจุบันฟิสิกส์ควอนตัมมีอายุร้อยกว่าปีแล้ว ส่วนเคมีควอนตัมก็เกิดขึ้นมาแล้วกว่า 70 ปี แต่ศาสตร์ที่ผมกำลังจะพูดถึงในวันนี้ ซึ่งก็คือชีววิทยาควอนตัมนั้น เป็นศาสตร์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่กี่ปีนี้เองครับ โดยศาสตร์นี่แหล่ะครับ อีกหน่อยจะนำไปสู่การอธิบายปรากฏการณ์แปลกประหลาดต่างๆ ที่ยังเป็นความลับหลายๆ อย่าง รวมไปถึงในอนาคต มันอาจจะสามารถอธิบายปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ เช่น ฤทธิ์เดชต่างๆ หรือที่พุทธศาสนาเราเรียกว่า อภิญญา ก็ได้ครับ

ทฤษฎีควอนตัมเป็นทฤษฎีประหลาดที่ค้านกับสามัญสำนึก หรือ common sense ของเรา เช่น การที่มันบอกว่าแสงเป็นได้ทั้งคลื่นและอนุภาคในเวลาเดียวกัน ถ้าเราต้องการตรวจวัดมันแบบคลื่น มันก็จะให้ผลว่ามันเป็นคลื่น ในขณะเดียวกัน ถ้าเราเปลี่ยนวิธีการตรวจวัดในลักษณะว่ามันคืออนุภาค มันก็จะแสดงตัวตนว่ามันเป็นอนุภาค แม้แต่ของใหญ่ๆ ขึ้นมาอย่างโมเลกุล มันก็สามารถแสดงสถานะความเป็นคลื่นได้เช่นกัน เราสามารถแก้สมการคลื่น (Wave Function) ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่าเคมีคอมพิวเตอร์ (Computational Chemistry) ของโมเลกุลต่างๆ ซึ่งสามารถทำนายได้ว่าโมเลกุลนั้นจะมีสมบัติอย่างไร นำไฟฟ้าหรือไม่ หรือแม้แต่โมเลกุลชนิดนั้นสามารถเป็นยาฆ่าไวรัสได้หรือไม่ ศาสตร์ทางด้านเคมีควอนตัมจึงนับเป็นความมหัศจรรย์มาก ที่สามารถมองโมเลกุลต่างๆ เป็นคลื่นได้

ที่นี้ เราลองมาพิจารณาดูร่างกายของเราสิครับ ร่างกายคนเราประกอบขึ้นมาจากเซลล์ เซลล์จำนวนมากมารวมกันเป็นอวัยวะ ที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกายของเรา ภายในเซลล์นี้เองก็ประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาจากโมเลกุลทั้งนั้น ทั้งเยื่อหุ้มเซลล์ที่เป็นชั้นของโมเลกุลไขมันบางๆ 2 ชั้น ดีเอ็นเอที่เป็นสายโซ่พันกันแบบขั้นบันไดเวียน (Double Helix) ในเมื่อเคมีควอนตัมบอกว่าโมเลกุลคือคลื่น ดังนั้นร่างกายของเราก็คือคลื่นดีๆ นี่เองครับ ถ้าเรามีคอมพิวเตอร์ที่มีศักยภาพในการคำนวณสูงมากๆ มากพอที่จะป้อนสมการคลื่นที่อธิบายอนุภาคทุกๆ ตัวที่ประกอบเป็นร่างกายของเราได้ เราก็จะสามารถแก้สมการและทำนายคุณสมบัติของร่างกายของเราได้

ความประหลาดของทฤษฎีควอนตัมยังมีอีกหลายอย่าง แต่อันที่ผมชอบมากคือเรื่องของ Entanglement ภาษาไทยยังไม่มีบัญญัติครับ แต่ก็มีบางท่านเรียกว่าความพัวพันทางควอนตัม ผมจะลองใช้คำว่าเนื้อคู่นะครับ เพราะปรากฏการณ์นี้เกิดจากของที่เป็นคู่กัน เช่น หากเรามีโฟตอนที่มีจุดกำเนิดที่เดียวกัน แล้วเราแยกมันส่งออกไป 2 ด้านที่อยู่ตรงข้ามกัน แม้จะส่งไปไกลเพียงใดก็ตาม เมื่อเราทำอะไรกับโฟตอนตัวใดตัวหนึ่ง เช่นเปลี่ยนค่าสปินของมัน เจ้าโฟตอนที่เป็นคู่ของมันก็จะรู้สึกได้ทันที และจะปฏิบัติตัวไปในทิศทางตรงข้ามกับคู่ของมัน เสมือนมันรับรู้กันและกันได้ และการรับรู้กันและกันนี้เกิดขึ้นเร็วมาก เร็วจนวัดไม่ได้ ที่แน่ๆ คือเร็วกว่าแสง ซึ่งทำให้เรื่อง Entanglement กลายเป็นเรื่องที่ค้านกับทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ แต่เรื่อง Entanglement นี้มีจริง และมีผลการทดลองออกมามากมายแล้วครับ แถมยังมีการเชื่อกันว่าปรากฏการณ์นี้อาจอยู่เบื้องหลังการทำงานของสมองอีกต่างหาก

ผมจะทยอยนำความก้าวหน้าในเรื่องชีวควอนตัมมาเล่าให้ฟังในตอนต่อๆไปนะครับ .....

รูปบน: ปรากฏการณ์ Entanglement นี้อาจจะเกิดขึ้นกับจิตใจมนุษย์ก็ได้ เหมือนพรหมลิขิตให้คนที่เป็นเนื้อคู่กันต้องเดินทางมาพบกัน ไม่ว่าจะอยู่แสนไกลเพียงใดก็ตาม

15 มิถุนายน 2554

Are We Simulated in Computer ? - ฤาโลกนี้เป็นเพียงฝัน (ตอนที่ 8)



คำสอนของพุทธศาสนาอย่างหนึ่งที่นับว่าแปลกไปจากศาสนาอื่นๆ ก็คือเรื่องของ ไตรลักษณ์ หรือลักษณะความเป็นไปในธรรมชาติ 3 ประการ ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยเฉพาะในเรื่องของอนัตตา หรือความไม่มีตัวตนนี้ ถือว่าเป็นอภิมหาปรัชญา เพราะเป็นหลักธรรม หรือหลักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่มากๆ ไม่เคยมีศาสนาใดๆ หรือศาสตร์แห่งความรู้ใดๆ ที่บัญญัติเรื่องนี้ไว้ นอกจากองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงค้นพบหลักธรรมนี้ด้วยพระองค์เอง ผ่านกระบวนการทางจิตที่เราเรียกว่า "ตรัสรู้"

เรื่องของอนัตตานี้ มีการตีความที่แตกต่างกันไป พระพุทธองค์จึงมักตรัสแก่ภิกษุว่า อันหลักธรรมคำสอนต่างๆ โดยเฉพาะการปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่พระนิพพานนั้น เป็นธรรมชั้นสูง ที่ยากแก่การเข้าใจและถ่ายทอด บรรดาธรรมต่างๆ เหล่านี้มักรู้ได้เฉพาะตน เมื่อใครปฏิบัติสู่ความเข้าถึงพร้อมแล้ว ก็จะเข้าใจธรรมนั้นๆ ได้เอง การตีความเรื่องอนัตตาจึงสามารถทำได้ในหลายๆ ระดับ บ้างก็ว่าเพราะสังขารทั้งหลายไม่มีตัวตน ไม่ได้มีจริงๆ ถือครองไม่ได้ สรรพสิ่งต่างๆ ไม่ได้มีตัวตนจริงๆ จึงยึดถือไม่ได้ .... เป็นไปได้ไหมล่ะครับว่า ก็เพราะสรรพสิ่งต่างๆ เหล่านั้น กำลังถูกจำลองอยู่ในคอมพิวเตอร์ สิ่งนั้นถึงไม่มีตัวตน?

ตั้งคำถามนี้แก่ท่านผู้อ่านเพื่อคิดเล่นๆ นะครับ มิได้ดูหมิ่นในหลักธรรมคำสอนแต่อย่างใดครับ เพราะหลักธรรมในพุทธศาสนานั้น เป็นแหล่งความรู้เดียวที่ก้าวมาถึงจุดที่จะตอบคำถามนี้ได้ เพราะวิทยาศาสตร์ปัจจุบันยังล้าหลังในเรื่องนี้อยู่มาก

นักวิทยาศาสตร์ที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ เชื่อว่า หลักฐานหนึ่งที่พอจะทำให้พิสูจน์หรือประเมินได้ว่า เรากำลังอยู่ในโลกจำลองหรือไม่นั้น ก็ให้ดูว่าเมื่อเรามีเทคโนโลยีก้าวล้ำถึงระดับหนึ่ง เราจะจำลองสิ่งต่างๆ หรือไม่ .... แล้วถึงที่สุด เราจะจำลองโลกที่เรากำลังเป็นอยู่หรือไม่ .....

คำตอบ ในเรื่องนี้แน่ชัดอยู่แล้วครับว่า เราจะทำอย่างนั้น ... ปัจจุบัน เราเริ่มนำคอมพิวเตอร์มาจำลองสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปฏิกริยาเคมี ระบบประสาท ตอนนี้เราเริ่มจำลองการทำงานของสมอง และเราก็กำลังจะจำลองสิ่งมีชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของมัน ท่านผู้อ่านอาจจะรู้จักเกมส์ The Sims ซึ่งเป็นเกมส์จำลองสภาพชีวิตต่างๆ ที่ผู้เล่นสามารถเล่นเป็นตัวละครต่างๆ ใช้ชีวิตอยู่ในโลกจำลอง เรียนหนังสือ ทำงาน ควงสาว แต่งงาน มีครอบครัวได้ คำถามก็คือ ตัวสิ่งมีชีวิตที่เราจำลองอยู่นั้น มีสภาพความมีตัวตนแค่ไหน เค้ามีสภาพใกล้เคียงกับความเป็นชีวิตจิตใจแค่ไหน เค้าจะรู้ตัวหรือไม่ว่าเราจำลองเค้าอยู่ ถ้าเกมส์ที่เราจำลองเค้าอยู่นั้น run ตลอดเวลา และมีรายละเอียดสูงมากๆ เป็นไปได้ไหม ที่ตัวละครที่จำลองในคอมพิวเตอร์อยู่นั้น จะมีสภาพความเป็นจริงขึ้นมา จนทำให้ตัวละครที่ run อยู่ คิดว่ามีตัวตนจริงๆ และแทบไม่รู้เลยว่าแท้จริงนั้น เค้าถูกจำลองอยู่

ที่มหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน (Michigan State University) นักวิจัยได้ทำการทดลองสร้างโลกจำลองที่เรียกว่า Avida โดยมีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า Avidians ซึ่งอาศัยใช้ชีวิตอยู่ในโลกจำลองนี้ ภายใต้กฎ นักวิจัยได้ปล่อยให้เหล่า Avidians ผสมพันธุ์และใช้ชีวิตไปตามเรื่องตามราว ผลปรากฎว่ามันสามารถวิวัฒนาการจนเกิดความฉลาด (หรือปัญญา) ขึ้นมาเองหลังจากมันพัฒนาสู่รุ่นที่พันกว่า สิ่งมีชีวิตที่จำลองนี้เป็นสิ่งมีชีวิตง่ายๆ แต่ในอนาคตมันอาจเป็นพวกเราก็ได้ ซึ่งแน่นอน มันจะยิ่งตอกย้ำในคำตอบที่ว่า พวกเราน่าจะอาศัยอยู่ในโลกจำลองนี้จริงๆ ก็ได้

13 มิถุนายน 2554

Games Science - วิทยาศาสตร์ของเกมส์ (ตอนที่ 11)


ทุกวันที่น้องโมเลกุล ลูกชายวัย 8 ขวบของผมกลับจากโรงเรียนมาถึงบ้าน เขาจะรีบกุลีกุจอทำการบ้าน อาบน้ำอาบท่า เพื่อที่จะได้มีเวลาเล่นเกมส์ที่เขาหลงใหล วันไหนเขาดื้อ ถ้าหากผมเพียงขู่ว่าจะไม่ให้เล่นเกมส์เขาก็จะรีบหยุดดื้อทันที ดูเหมือนเกมส์ ซึ่งถูกผู้ปกครองส่วนใหญ่มองมันเหมือนเป็นศัตรู และคอยกีดกันไม่ให้บุตรหลานเข้าใกล้ ... จะเป็นเครื่องมือในการดูแลลูกของผมได้เป็นอย่างดี

ในมุมมองของผมแล้ว เกมส์ช่วยสร้างจินตนาการ สร้างความฝัน สร้างแรงบันดาลใจ และทำให้เราอยู่กับโลกความเป็นจริงได้อย่างไม่เบื่อหน่าย ไม่หมดอาลัยตายอยาก มีแรงปรารถนา ใช้ชีวิตอยู่ต่อไปอย่างมีความฝันและความหวัง มันช่วยทำให้เราผ่อนคลาย และหลายๆ ครั้ง ได้ช่วยสร้างทักษะใหม่ๆ ให้ผู้เล่นอีกด้วย นอกจากผมจะใช้เกมส์เป็นแรงจูงใจให้ลูกๆ ทำการบ้านแล้ว ตอนนี้ผมกำลังทำวิจัยเกี่ยวกับมัน เพื่อทำให้มันเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัย หรือทำให้การวิจัยมีความเป็นเกมส์ ซึ่งก็จะทำให้ลูกศิษย์ของผมเองสนุกอยู่กับงานที่พวกเขาทำ เหมือนอยู่ในโลกของเกมส์ที่มีความท้าทายใหม่ๆ รออยู่เบื้องหน้า ต้องฝ่าฟันด่านต่างๆ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย แต่ละขั้นของความสำเร็จ แต้มที่พวกเขาเก็บได้ก็๋สามารถนำมาแลกของรางวัล เพื่อเป็นยาชูกำลังให้สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข

นักอนาคตศาสตร์หลายๆคน มองว่าศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษแห่งเกมส์ เกมส์จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน แม้แต่งานต่างๆ ก็จะมีความเป็นเกมส์มากขึ้น โดยเฉพาะเกมส์ที่มีผู้เล่นหลายๆ คน เป็นชุมชนออนไลน์ นับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตการทำงานหรือกิจกรรมส่วนรวม ที่ได้ผลตอบแทนเป็นความสนุก การได้ลัลล๊า แทนค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน จะมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ งานประเภท DIY งานแบบเปิดเผยอย่าง Open Source หรือแม้แต่เป็นนักวิทยาศาสตร์ประเภท Citizen Scientist ที่รับงานวิจัยบางอย่างมาทำที่บ้านแบบการกุศล จะได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ ครับ คนเหล่านั้นอยากเข้ามาทำงานแบบนี้มากขึ้น ถึงแม้จะไม่ได้ค่าตอบแทนในรูปตัวเงิน แต่พวกเขาจะมีความสุขสนุกกับการทำงานพวกนี้ ดั่งว่ามันเป็นสิ่งเสพติด ที่พวกเขาสามารถอยู่กับมันได้นานๆ สามารถใช้แรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงการได้แบ่งปันประสบการณ์กับคนอื่นๆ เราจึงมักได้เห็นกลุ่มคนมารวมกันขี่จักรยานท่องเที่ยวตามชนบท การออกไปทัวร์ไหว้พระ 9 วัด หรือพวกคาราวานออกแจกจ่ายสิ่งของเสื้อผ้ากันหนาวแก่ชาวเขาในช่วงฤดูหนาว เป็นต้น

การทำให้ชีวิตจริงกลายเป็นเกมส์ หรือ การทำให้เกมส์กลายเป็นชีวิตจริง เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่ายขึ้นด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีสภาพแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) ที่สามารถตรวจวัดสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวเรา รวมไปถึงสภาวะทางอารมณ์และอากัปกริยาทางกายของเรา เทคโนโลยีความจริงแต่งเติม (Augmented Reality) ที่สร้างสิ่งต่างๆ เติมแต่งต่อยอดจากของจริง ทำให้เราใช้ชีวิตกับสิ่งปลอมๆ ในโลกแห่งความเป็นจริงได้ เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ได้ (Wearable Electronics) ต่างๆ ที่ติดตามการใช้ชีวิตของเรา สิ่งเรานี้จะถูกนำมาช่วยทำให้เราสามารถสร้างตัวตนในเกมส์ หรือนำสิ่งที่อยู่ในเกมส์ออกมาใช้ในชีวิตจริง เช่น แลกของรางวัล หรือนำมาแบ่งปันในสังคมออนไลน์ของเราได้

12 มิถุนายน 2554

Connectome - คอนเน็คโทม (ตอนที่ 3)



การสร้างแผนที่ของสมอง แม้จะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะการรู้แผนที่สมอง แม้จะเพียงบางส่วนก็ตาม จะมีคุณูปการต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างประมาณมิได้ ความรู้นี้จะทำให้เราสามารถรักษาโรคต่างๆได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น โรคสมองเสื่อมต่างๆ โรคจิตประสาท อาการอยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ อีกทั้งยังนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถใกล้เคียงมนุษย์ได้อีกด้วย คอนเน็คโทมจึงกลายมาเป็นกระแสที่มาแรงของวงการวิทยาศาสตร์ในช่วงเวลานี้เลยครับ

วิธีการหนึ่งในการศึกษาการทำงานของสมองก็คือ การสร้างสมองจำลอง (Simulated Brain) ขึ้นมาเพื่อศึกษากระบวนการทำงานต่างๆ ของมัน ในปี ค.ศ. 2005 สถาบันสมองและจิตใจ (Brain and Mind Institute) แห่งเมืองโลซาน สวิตเซอร์แลนด์ ได้ริเริ่มโครงการที่เรียกว่า Blue Brain Project ซึ่งเป็นโครงการระยะยาวที่จะศึกษาสมองด้วยการจำลองคอมพิวเตอร์ โดยอาศัยโมเดลที่สร้างขึ้นมาจากข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ได้จากการทดลอง ซึ่งเป็นข้อมูลการทำงานในระดับเซลล์จนถึงการทำงานระดับโมเลกุลในสมองเลยทีเดียว ในขั้นต้น โครงการได้สนใจศึกษาสมองส่วนที่เรียกว่า Neocortical column ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสมองส่วนที่ทำงานในระดับสูง คือระดับของสติและปัญญาเลยทีเดียว สมองส่วนนี้มีลักษณะทรงกระบอกเล็กๆ ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 มิลลิเมตรและยาว 2 มิลลิเมตร ซึ่งประกอบไปด้วยเซลล์สมองจำนวน 60,000 เซลล์ สมองส่วนเล็กๆ รูปทรงกระบอกนี้ อยู่ในพื้นที่ของสมองส่วนที่เรียกว่า Neocortex ซึ่งสมองส่วนนี้เอง มีทรงกระบอก Neocortical column อยู่ถึง 1,000,000 อัน ดังนั้นการจำลองสมองส่วนที่เป็นทรงกระบอกเล็กๆ นี้ก็ว่ายากแล้ว จะเห็นว่ายังเทียบไม่ได้กับสมองส่วน Neocortex ที่บรรจุมันอยู่เลยครับ

การศึกษาสมองในส่วนของ Neocortical column นับว่าเป็นข้อดี เพราะว่าสมองส่วนนี้ มีความคล้ายคลึงกันสำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด น่าจะเป็นเพราะธรรมชาติได้เรียนรู้ที่จะเลือกใช้เทคโนโลยีที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผล จึงได้ copy สมองส่วนนี้ให้สัตว์ประเภทเดียวกันได้ใช้งาน เช่น หนู หรือ คน ก็มีสมองส่วนนี้ที่คล้ายกันมาก เพียงแต่ของคนเรามีขนาดที่ใหญ่กว่า และในสมอง Neocortex ของคนก็มีจำนวนทรงกระบอกนี้มากกว่าหนูเยอะ

นักวิจัยได้ลองเอาสมองส่วน Neocortical column ไปใส่ในโปรแกรมจำลองสภาพความจริงเสมือน (Virtual Reality) ที่มีสัตว์จำลอง โดยให้สมองส่วนนี้จำลองอยู่ในสมองของสัตว์ตัวนี้ แล้วปล่อยเจ้าสัตว์นี้ให้หากินอยู่ในสภาพความจริงเสมือน เพื่อที่จะได้สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นในสมองจำลองส่วนนี้ ทำให้พบว่าสัตว์ตัวนี้เรียนรู้สิ่งต่างๆ และสร้างความทรงจำขึ้นมาได้อย่างไร ตลอดจนการเรียกใช้งานความจำของมัน

นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งในความพยายามที่จะสร้างแผนที่ของสมองครับ บทความซีรีย์นี้ยังมีอีกนะครับ ......

05 มิถุนายน 2554

Smart Environment - สภาพแวดล้อมอัจฉริยะ (ตอนที่ 1)



ในระยะหลังๆมานี้ เทคโนโลยีใหม่ๆ มักจะมีคำว่า smart หรือคำว่า intelligent ขึ้นหน้าเสมอ เช่น Smart Farm, Smart Phone, Smart Health, Smart Home, Intelligent Battlefield, Intelligent Car, Intelligent Highway และอีกมากมายครับ เรียกได้ว่าเป็นกระแสหลักของช่วงนี้เลยทีเดียว เมื่อสักประมาณ 4 ปีที่แล้ว ผมได้เริ่มเห็นว่าคำๆ นี้น่าจะมาไม่ช้าก็เร็ว ก็เลยริเริ่มในการทำเรื่อง Smart Farm หรือ Smart Vineyard ที่ไร่องุ่นกรานมอนเต้ อ.ปากช่อง และก็นำเทคโนโลยีหลายๆ อย่างที่ได้พัฒนาในห้องแล็ปไปใช้ที่ในไร่องุ่น การพัฒนาระบบ Smart Vineyard สำหรับไร่องุ่นกรานมอนเต้ ทำให้เรามีเทคโนโลยีอีกอย่างหนึ่งเป็นผลพลอยได้เกิดขึ้น นั่นคือเทคโนโลยีสภาพแวดล้อมอัจฉริยะ หรือ Smart Environment ดังนั้นเมื่อประมาณเกือบ 2 ปีที่แล้ว พวกเราจึงได้เริ่มพัฒนาเทคโนโลยี Smart Environment เพื่อการประยุกต์ใช้สำหรับบ้านอัจฉริยะ (Smart Home) โดยหวังว่าเทคโนโลยีนี้จะนำไปช่วยดูแลผู้สูงวัย โดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพ (Smart Health) ดังนั้นในซีรีย์บทความนี้ ผมจะทยอยนำเอาความก้าวหน้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Smart Environment มาเล่าให้ฟังครับ

ในตอนที่ 1 นี้ผมขอเริ่มจากเรื่องใกล้ๆ ตัวเพื่อให้เห็นภาพก่อนนะครับ ลองนึกดูหน้าตาของเทคโนโลยีสภาพแวดล้อมอัจฉริยะ โดยจะขอฉายภาพไปที่เรื่องที่เกี่ยวกับบ้าน ที่อยู่อาศัย หรืออาคารที่ทำงานก่อนนะครับ

- ไฟส่องสว่างที่ฉลาด สามารถรับรู้สภาพอารมณ์และความรู้สึกของผู้อาศัย (Smart Lighting)
- ที่นอนเซ็นเซอร์ที่รับรู้อากัปกริยาการนอน และสามารถเก็บและประมวลผลข้อมูลสุขภาวะการนอนได้ (Smart Bed)
- ห้องสุขา ห้องน้ำที่ตรวจวัดภาวะสุขภาพจากกลิ่นปัสสาวะ (Smart Toilet)
- พื้นผิว ผนัง ฝ้า กระจกที่ทำความสะอาดตัวเองได้ (Self-Cleaning Surface)
- หน้าต่างและกระจกที่ปรับแสงส่องผ่านได้เอง (Photochromism and Electrochromism)
- ระบบ Home Automation ที่ใช้เปิด-ปิด เครื่องใช้ไฟฟ้าอัตโนมัติ สั่งการด้วยเสียงหรืออากัปกริยาของร่างกาย รวมไปถึงระบบรักษาความปลอดภัย
- ระบบประหยัดพลังงาน และปรับการใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid)
- ผนังบ้านที่เปลี่ยนสีได้
- เฟอร์นิเจอร์ที่เปลี่ยนรูปร่างได้ (Shape-Shifting Furnitures)
- หลังคาบ้านเคลือบคลอโรฟิลล์ประดิษฐ์ (Artificial Chlorophyll) ที่สามารถผลิตอ๊อกซิเจนได้
- ระบบตรวจสุขภาพส่วนบุคคลที่บ้าน (Personalized Medicine) ที่มีเครื่องตรวจหัวใจ ความดันเลือด การหายใจ และอื่นๆ โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับแพทย์หรือสถานพยาบาล
- จอแสดงผลแบบฟิล์มบางที่ติดตั้งบนกระจกห้องน้ำ กระจกห้องแต่งตัว สามารถเปิดดูข่าว รับข้อมูล เล่น Facebook ขณะกำลังแต่งหน้า ทาปาก ก่อนไปทำงาน
- บ้านที่รับรู้สภาพอารมณ์ของผู้อาศัย เปิดเพลง หรือสีของแสงไฟที่เหมาะกับสภาพอารมณ์ที่ต้องการในขณะนั้น
- หุ่นยนต์ประจำบ้าน สำหรับดูแลผู้อาศัย เช่น หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย หุ่นยนต์ดูดฝุ่น หุ่นยนต์พ่อครัว เป็นต้น

ตัวอย่างเหล่านี้คงพอจะเห็นภาพได้นะครับ ในตอนต่อๆ ไปผมจะทยอยนำความก้าวหน้าในด้านต่างๆ มาเล่าให้ฟังนะครับ

01 มิถุนายน 2554

Connectome - คอนเน็คโทม (ตอนที่ 2)


คนที่เกิดมาเป็นฝาแฝดไข่ใบเดียวกันนั้น จะมีลักษณะทางกายภาพ รูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ เหมือนกันทุกอย่างแทบจะแยกไม่ออก แต่เมื่อเติบโตขึ้นมา ถึงแม้ลักษณะภายนอกจะยังดูเหมือนกัน แต่อุปนิสัยใจคอ การพูดการจา หรือแม้แต่ความเฉลียวฉลาด ก็อาจจะแตกต่างกันจนสังเกตได้ชัด ... สิ่งนี้หลายๆ คนมักจะบอกว่าเป็นเพราะสิ่งแวดล้อม หรือการอบรมเลี้ยงดู ที่ทำให้ฝาแฝดพัฒนาความแตกต่างขึ้น ... แต่จริงๆ แล้ว ฝาแฝดที่แม้จะเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมเดียวกันก็ตาม ก็ยังสามารถแตกต่างออกไปได้ ทั้งนี้ มิใช่เพราะสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน แต่เป็นเพราะคอนเน็คโทม หรือ แผนที่การเชื่อมโยงในสมองของเด็กทั้งสอง ที่ถึงแม้จะมี DNA เหมือนกันทุกประการ ก็เกิดความแตกต่างขึ้นได้ จากเหตุและปัจจัยที่ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่ทราบ

คอนเน็คโทม คือแผนที่การเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทในสมอง โดยเฉลี่ยสมองของคนเรามีเซลล์ประสาทประมาณ 100,000,000,000 เซลล์ ซึ่งแต่ละเซลล์ก็จะมีการเชื่อมต่อกับเซลล์อื่นๆ เป็นร่างแห ประมาณ 7,000 จุดต่อเซลล์ แม้แต่เด็กอายุ 3 ขวบ ก็มีจำนวนจุดที่เชื่อมโยงกันแล้วมากถึง 1,000,000,000,000,000 จุด ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การทำแผนที่การเชื่อมโยงต่างๆ เหล่านั้น แทบจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่ถึงกระนั้น นักวิทยาศาสตร์ก็ต้องการทำแผนที่สมอง โดยอาจแยกทำเป็นส่วนๆ เพื่อนำมาประติดประต่อกัน

การทำแผนที่การเชื่อมโยงในสมองจะนำมาสู่ความเข้าใจใหม่ เกี่ยวกับสมอง ความคิดและจิตใจ จะทำให้เรารู้เรื่องการทำงานของสมองมากขึ้น เข้าใจเรื่องการจำและการเก็บข้อมูลในสมอง และอาจจะทำให้เราค้นหาวิธีที่จะเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ได้ด้วย แต่การจะได้มาซึ่งแผนที่นี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และอาจจะต้องใช้เวลาหลายชั่วคนเพื่อให้ได้แผนที่ที่สมบูรณ์ โดยแบ่งกันทำแผนที่ ใช้ทีมวิจัยหลายๆกลุ่มทั่วโลกร่วมกันทำ แต่ละกลุ่มจะมุ่งเน้นไปยังจุดใดจุดหนึ่งของสมองที่ตนเองสนใจ ซึ่งแม้จะเป็นเพียงจุดเล็กๆ ก็ถือว่ามีประโยชน์และนำมาสู่ข้อมูลที่มีคุณค่าอย่างมาก ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นในการเล่นเปียโนจะต้องใช้กล้ามเนื้อนิ้วมือ ในการกดตัวโน๊ตตามลำดับกันไป ถ้าเราสามารถที่จะไล่ว่ามีเซลล์ประสาทใดบ้างที่มันทำงานอยู่ แล้วมันส่งสัญญาณกันต่อยังไง ไปที่ไหนบ้าง ก็จะทำให้เราทราบได้ว่าตัวโน๊ตถูกเก็บ ณ ที่ใดในสมอง

ตอนที่ผมยังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาโท มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ผมเศร้าใจมากๆ และเหตุการณ์นี้ก็ได้นำพาชีวิตผมสู่ร่มเงาของพระพุทธศาสนาที่ร่ำเรียนกันในวัดป่า ทำให้ผมได้ซาบซึ้งในหลักพุทธธรรม นั่นคือเหตุการณ์ที่คนรักของผมไปเรียนที่อเมริกาและในเวลาต่อมาเธอได้ขอเลิกกับผมเมื่อเธอจากไปได้เพียงปีเดียว เพื่อนๆผมบอกว่าคนเราเปลี่ยนได้เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ....

ใช่แล้วครับ Connectome มันไม่ได้อยู่นิ่ง เมื่อกาลเวลาผ่านไป การเชื่อมโยงระหว่างเซลล์ประสาทย่อมมีตายไปและขาดออกจากกัน ในขณะเดียวกันก็เกิดการเชื่อมโยงใหม่ๆ ขึ้นมาด้วย เรียกว่ามีภาวะเกิด-ดับ เกิด-ดับ เช่นนี้อยู่ในสมองตลอดเวลา แผนที่โครงข่ายใยประสาทในสมองจึงไม่อยู่นิ่ง มันมีพลวัตที่ทำให้การทำแผนที่ทำได้ยากยิ่ง หรือถึงทำได้ก็อาจจะใช้ได้ไม่นาน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การมีแผนที่คร่าวๆ ของสมอง ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดี เพราะมันจะทำให้เราเข้าใจสมองมากขึ้น และจะนำไปสู่การรักษาโรคหลายๆ อย่างที่ข้องเกี่ยวกับสมอง