งานวิจัยทางด้าน Gesture Recognition นั้นมีกว้างขวางครับ ผมจะค่อยๆ นำประเด็นต่างๆ ที่นักวิจัยกำลังสนใจศึกษากัน มาเล่าให้ฟังเป็นตอนๆ ครับ วันนี้ขอพูดในเรื่องของเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านภาษามือ
การตรวจจับภาษามือ เพื่อให้คอมพิวเตอร์เข้าใจความหมายของภาษามือ ซึ่งประโยชน์ของมันก็คือ การช่วยในการติดต่อสื่อสารกับผู้พิการทางด้านการได้ยิน ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะช่วยแปลความหมายจากภาษามือจากผู้พิการเหล่านั้น มาให้คนอย่างเราเข้าใจได้ง่าย เมื่อเราอยากจะคุยกับเขา เราอาจจะพูดหรือพิมพ์ เพื่อให้คอมพิวเตอร์แปลเป็นภาษามือ แล้วแสดงผลออกจอคอมพิวเตอร์ หรือ อาจผ่านทางหุ่นยนต์มือ ที่สามารถแสดงลักษณะท่าทางของภาษามือได้
การตรวจจับอาการของมือ หรือ Hand Tracking นั้น ยังมีประโยชน์อีกมากมายครับ เราอาจจะใช้อาการของมือ เพื่อทำการติดต่อกับคอมพิวเตอร์ เรียกว่าเป็น User Interface แบบหนึ่ง ท่านผู้อ่านอาจจะจำภาพยนตร์เรื่อง Minority Report ได้ ตอนที่ทอม ครุยส์ ทำการค้นหาไฟล์ต่างๆ ในคอมพิวเตอร์ ด้วยการใส่ถุงมือ แล้วลากมือไปมา หยิบไอ้นั่นไอ้นี่ โดยใช้มือขยุมๆ แล้วก็สะบัดเอาไฟล์ออกมาเรียง รูดไปรูดมา ดึงไฟล์ ซูมภาพ โดยการขยับนิ้วต่างๆ
เท่าที่ผมศึกษาข้อมูลมา การตรวจจับภาษามือจะทำกันมากใน 2 วิธี คือ การตรวจจับด้วยภาพวิดีโอ (Machine Vision) กับ การใช้ถุงมืออันตรกริยา (Interactive Data Glove) โดยผมก็กำลังทำวิจัยในเรื่องของ Interactive Data Glove อยู่ด้วยครับ โดยเราพัฒนาถุงมืออันตรกริยาขึ้นมาเองในประเทศไทย เนื่องจากถุงมืออันตรกริยามีราคาแพงมาก มีตั้งแต่ราคาหลักหมื่น ไปจนถึงหลักล้าน โดยกลุ่มวิจัยของศูนย์นาโนเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวของนิ้วและมือ จากถุงมือ ซึ่งจะส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายไร้สายมาที่คอมพิวเตอร์ ซึ่งเราได้พัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อแปลความหมายของมือ
แล้วมาคุยเรื่องนี้กันต่อนะครับ ....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น