20 เมษายน 2552

Machine Vision - การมองเห็นประดิษฐ์ (ตอนที่ 2)


ช่วงนี้ผมเขียนเรื่องเทคโนโลยีทางด้านกลาโหมบ่อยนิดนึง ให้เข้ากับสถานการณ์ที่ว่าตอนนี้เมืองไทยทั้งหมด กำลังตกอยู่ภายใต้การควบคุมของทหาร ท่านผู้อ่านจะได้รู้สึกตื่นเต้นไปกับบรรยากาศสงครามเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา วันนี้ผมจะพูดถึงเรื่อง Machine Vision หรือการมองเห็นประดิษฐ์กันต่อจากคราวที่แล้ว ซึ่งเนื้อเรื่องในวันนี้จะเกี่ยวข้องกับการทำให้หุ่นยนต์ทหาร มีความสามารถในการมองเห็นและเข้าใจในสิ่งที่มันเห็น อันจะนำไปสู่การคิดและตัดสินใจในภารกิจต่างๆ ได้เอง

จริงๆ แล้วศาสตร์ทางด้าน Machine Vision นั้นได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาหลายปีดีดักแล้วครับ แต่ไฉนหุ่นยนต์ต่างๆ ที่ใช้งานกันหรือแข่งขันกัน (เช่น หุ่นยนต์เตะฟุตบอล หรือ โยนลูกบาส) ถึงยังไม่สามารถที่จะใช้ฟังก์ชันที่ง่ายที่สุดนี้ (คือ การมองเห็นด้วยกล้อง) ให้เกิดประโยชน์ในการทำงานของมันได้อย่างเต็มที่ จริงๆแล้วการติดกล้องให้แก่หุ่นยนต์ไม่ใช่เรื่องยากหรอกครับ แต่การทำให้มันเข้าใจสิ่งที่มันเห็นนั้น หรือ จำแนกแยกแยะวัตถุต่างๆได้นั้น ยังเป็นอะไรที่ไม่หมูสำหรับสาขานี้ "การที่จะจำแนกแยกแยะวัตถุในภาพว่ามันคืออะไร ยังเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยครับ ปัญหาก็คือ วัตถุชิ้นหนึ่งนั้น สามารถถูกมองจากมุมหรือระยะได้ไม่จำกัดจำนวน" เจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐฯกล่าว


ทางเพนทากอนได้สนับสนุนเงินทุนวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการมองเห็นประดิษฐ์ที่มีชื่อว่า "Psychologinally Inspired Recognition System" ซึ่งระบบการมองเห็นประดิษฐ์นี้จะเลียนแบบการมองเห็นและจำแนกวัตถุของมนุษย์ ด้วยการพัฒนาอัลกอริทึมต่างๆขี้นมา "แต่ถึงยังไงเรื่องนี้ก็ยังไม่ง่ายอยู่ดีครับ เพราะจากงานวิจัยต่างๆนั้น ชี้ชัดว่ามนุษย์ไม่ได้ใช้อัลกอริทึมแบบเดียวในการจำแนกวัตถุ แต่ใช้อัลกอริทึมแตกต่างกันไป ตามสถานการณ์และประเภทของวัตถุ" เจ้าหน้าที่ผู้นั้นเสริม "อย่างเช่น บางทีคนเราอาจจะใช้วิธีเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลที่มีอยู่ (Template Based Algorithm) บางทีเมื่อมองแล้วก็พยายามหารูปแบบเด่น (Feature) หรือบางครั้งก็อาจมองหาลักษณะทาง geometry ที่เด่นของมันครับ"