เมื่อกลางปี 2008 ผมได้มีประสบการณ์ในการออกไปตระเวณหาซื้อบ้านใหม่หลังหนึ่ง ซึ่งจริงๆแล้ว ผมแทบไม่ได้ตระเวณไปไหนเลย เพราะเมื่อเข้าไปที่หมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งก็ตัดสินใจจองบ้านหลังหนึ่งทันที โดยใช้ความรู้สึกมากกว่าตรรกะ หรือเหตุผลใดใด ซึ่งจริงๆแล้ว เท่าที่ผมได้คุยกับคนอื่นๆ ที่เลือกหาบ้านหลังใหม่ เขาเหล่านั้นก็จะมีเหตุผลร้อยแปดพันเก้าเพื่อมาช่วยตัดสินใจ บางคนตระเวณไปทั่ว ใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะตัดสินใจ เพราะบ้านเป็นสิ่งที่บางคนอาจจะต้องใช้เวลาที่เหลือทั้งหมดอยู่ที่บ้านหลังที่ซื้อ แต่คุณผู้อ่านเชื่อไหมครับว่า ถึงแม้เราจะคิดว่ามนุษย์มีความพิถีพิถันในการเลือกบ้านเพียงใดก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วมนุษย์ก็จะใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผลที่ตั้งขึ้นมา ซึ่งผมก็รู้ความลับข้อนี้ดี จึงไม่จำเป็นต้องเสียเวลาวิเคราะห์เจาะลึก สู้ใช้ความรู้สึกชอบไม่ชอบไปเลย
ล่าสุดนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยบริสตอล (University of Bristol) ที่มีชื่อว่า Dr. Elva Robinson สังกัดสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ได้ศึกษาวิธีการเลือกรังของมด ด้วยการติดไมโครชิพส่งสัญญาณวิทยุ RFID ไว้กับตัวมด ซึ่งจะทำให้สามารถติดตามมดแต่ละตัวได้ ผลงานของเธอซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ (Elva J. H. Robinson, Faith D. Smith, Kathryn M. E. Sullivan and Nigel R. Franks. Do ants make direct comparisons? Proceedings of the Royal Society B, April 22, 2009) ระบุว่ามดค่อนข้างเรื่องมากในการย้ายไปอยู่รังใหม่ มันจะส่งมดลาดตระเวณออกไปหารังที่ดีที่สุด โดยมดลาดตระเวณเหล่านั้นจะทำการเปรียบเทียบรังแต่ละรังว่าอันไหนดีกว่ากัน ซึ่งมดลาดตระเวณที่ส่งออกไปนั้น ก็จะเข้าไปอยู่ในรัง หากรังใดมีมดลาดตระเวณอยู่เป็นจำนวนมากกว่า แสดงว่ารังนั้นดี เหมาะแก่การอยู่อาศัย มดที่เหลือทั้งรังก็จะตามเข้าไปอยู่ในรังใหม่นั้นในที่สุด นักวิจัยพบว่ามดจะยอมเสียเวลาเดินทางไกลไปหารังที่ดีกว่า ถึงแม้จะมีตัวเลือกอีกอันที่อยู่ใกล้กว่ากันมากๆก็ตาม นักวิจัยยังพบว่าตรรกะในการเลือกบ้านของมดนั้น คงเส้นคงว่าและทำนายได้มากกว่ามนุษย์
หมู่นี้ผมสังเกตว่า .... การศึกษาแมลงกำลังเป็นประเด็นใหม่และศาสตร์ที่กำลังมาแรงครับ เพราะหากเราเข้าใจแมลง เราก็จะสามารถวิศวกรรมแมลงได้ ซึ่งสามารถนำไปสร้างหุ่นยนต์ หรือ ระบบอัจฉริยะอื่นๆ ที่อาศัยการทำงานเป็นฝูงหรือแบบสังคมประดิษฐ์