29 มกราคม 2551

Thailand Smart Vineyard - ตอนที่ 2


วันนี้มาเล่าต่อถึงไร่ไวน์อัจฉริยะกรานมอนเต้ (GranMonte Smart Vineyard) กันต่อนะครับ โครงการพัฒนาไร่ไวน์อัจฉริยะนี้ เกิดจากแนวคิดที่ว่า ตลาดของไวน์ที่บริโภคกันในประเทศไทยนั้น มีมูลค่านับพันล้านบาท แต่มักเป็นไวน์ที่นำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีสวนไวน์และมีไวน์รสชาติดีผลิตออกมาไม่ต่ำกว่าสิบแบรนด์ แต่ที่ผ่านมา ภาครัฐกลับไม่สนับสนุนผู้ประกอบการไทย ปล่อยให้ผู้ประกอบการไทย รวมตัวกันเองเพื่อพัฒนาไวน์ไทยให้ก้าวหน้าแข่งกับต่างประเทศ ท่ามกลางอุปสรรคหลายๆเรื่อง รวมทั้งการที่หน่วยงานบางหน่วยงาน เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. มา Lobby รัฐบาลให้เพิ่มกฎระเบียบซ้ำเติมเข้าไปอีก โดยขาดความเข้าใจว่า ไวน์เป็นเครื่องดื่มที่ขาย Aroma ไม่ใช่อัลกอฮอล์ และก็เพราะเจ้า Aroma ที่มีเอกลักษณ์ของไวน์ไทยนี่เอง ที่ทำให้น่าสนใจว่า ไวน์ไทยอาจจะก้าวขึ้นไปอยู่ในระดับโลกได้ ในแง่ของความเป็น New Latitude Wine ดังนั้นจึงควรมีงานวิจัยของคนไทย เพื่อช่วยคนไทยด้วยกัน

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีการพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มผลผลิตอยู่บ้างแต่ก็เป็นเทคโนโลยีที่ไม่สูงนัก เช่น การใช้ปุ๋ยเคมี การชลประทาน และการใช้งานจักรกลการเกษตร ในขณะที่เทคโนโลยีชั้นสูงอย่างเช่น ภูมิสารสนเทศ และ เซ็นเซอร์ตรวจวัดสภาพล้อมรอบ อาจถูกมองว่าไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคาพืชผลที่ขายได้ อย่างไรก็ดี พืชหลายชนิดมีราคาค่อนข้างสูงอย่างเช่น ชา กาแฟ และ องุ่นเพื่อทำไวน์ เป็นต้น พืชเหล่านี้ต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ การนำเทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้สามารถช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าที่เกิดจากพืชเหล่านี้ ทำให้คุ้มค่าต่อการนำมาใช้งาน ดังนั้นการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำสูง (Precision Farming) จึงน่าที่จะลงทุนให้เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง


ราคาของไวน์นั้นขึ้นกับความพึงพอใจของผู้บริโภคที่มีต่อกลิ่นและรสชาติของมัน ดังนั้นการขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงเท่ากับเป็นการขายโมเลกุลหอมระเหย (Aroma Molecules) ที่มีอยู่ในพืชเหล่านี้ กลิ่นและรสชาติของไวน์ ขึ้นอยู่กับชนิด จำนวน และอัตราส่วนของโมเลกุลหอมระเหยที่มีอยู่ ซึ่งผันแปรไปตามพันธุ์ที่ปลูก สภาพของดิน การให้ปุ๋ย การให้น้ำ แสงแดดที่ได้รับ สภาพภูมิอากาศในแปลงปลูก การควบคุมให้รสชาติของผลิตภัณฑ์ให้คงที่จึงเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายมาก ดังจะเห็นได้จากไวน์ที่ผลิตออกมาจากไร่เดียวกันแต่ต่างปีก็จะมีรสชาติที่แตกต่างกัน ทำให้ราคาแตกต่างกันได้อย่างเหลือเชื่อ เช่นไวน์ยี่ห้อ ชาโต้ ลาตูร์ (Château Latour) ปี 1992 ขายกันในราคาขวดละ 7,000 บาท ในขณะที่ของปี 1990 กลับมีราคาสูงถึง 30,000 บาท โดยที่ไวน์ที่ผลิตในปีก่อนหน้าเพียงแค่ปีเดียวนั้นขายกันในราคาเพียง 10,000 บาทเท่านั้น ความแตกต่างในรสชาติอันเนื่องมาจากการมีอัตราส่วนของโมเลกุลหอมระเหยในน้ำไวน์ที่แตกต่างกันนี้ ไม่ใช่เรื่องของอุปาทาน แต่อธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์และการนำเทคโนโลยี Smart Vineyard เข้ามาใช้งานน่าจะช่วยในเรื่องความเข้าใจ ความสัมพันธ์ระหว่างกลิ่นและรสของไวน์ กับ ปัจจัยแวดล้อมเหล่านั้น เพื่อที่ผู้ประกอบการจะสามารถวิศวกรรมกลิ่นของไวน์ (Aroma Engineering) ให้เป็นไปตามที่ตลาดต้องการได้มากที่สุด



(ภาพบน - ทิวทัศน์อันสวยงามของไร่ GranMonte เสน่ห์ที่ไร่ไวน์ระดับโลกอย่าง Napa Valley ยังเขินอาย)

27 มกราคม 2551

ไร่ไวน์อัจฉริยะของไทย - Thailand Smart Vineyard


ท่านที่เคยเดินทางไปเที่ยวเขาใหญ่ จะพบว่านอกจากความเป็นมรดกโลก (World Heritage) ที่น่าภาคภูมิใจแล้ว เขาใหญ่ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เน้นการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ (Experience Tourism) ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่มุ่งทำให้นักท่องเที่ยว ได้รับประสบการณ์ตรงจากสถานที่ท่องเที่ยวนั้น การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์จะทำให้นักท่องเที่ยวได้รับการพัฒนาตนเองขึ้นเรื่อยๆ และเกิดความรู้สึกผูกพันกับสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนั้น จนต้องกลับไปอีกหลายๆ ครั้ง เขาใหญ่มีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์หลายแห่ง เช่น ฟาร์มโชคชัย ที่ยิงความรู้สึกความเป็นคาวบอยให้เข้าไปในหัวใจของเราทุกครั้งที่ไปเยือน ไร่ทองสมบูรณ์ที่มีเครื่องเล่นแบบผจญภัย รีสอร์ทหลายแห่งที่ให้ความรู้สึก ผสมผสานระหว่างการพักผ่อน กับ ความสนุกตื่นเต้น หลายคนอาจจะรู้จักไร่ไวน์กรานมอนเต้ (GranMonte) ที่เขาใหญ่ ไร่ไวน์แนวบูติคน่ารัก ที่ทำให้คนไทยเริ่มหลงใหล และอยากดื่มไวน์ไทย ไร่ไวน์แห่งนี้มีความลงตัวทั้งวิวทิวทัศน์ที่งดงาม รสชาติของไวน์ที่ได้มาตรฐานสากล ความเป็นกันเองของเจ้าของไร่ นักท่องเที่ยวที่ได้ไปเยือนจะได้ความรู้ ได้ประสบการณ์ว่า ในการที่จะได้ไวน์ดีๆ ออกมาสักขวดหนึ่งนั้น จะต้องผ่านการดูแล เอาใจใส่ขนาดไหน


ณ วันนี้ ไร่ไวน์กรานมอนเต้ ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึง 10 ปี ได้สร้างชื่อเสียงโดยไปคว้ารางวัลระดับนานาชาติหลายรางวัล จนนักดื่มต่างชาติเริ่มรู้จักไวน์ไทย และให้การยอมรับ และในปี พ.ศ. 2551 นี้ ไร่ไวน์กรานมอนเต้ จะมุ่งสู่การเป็นไร่ไวน์อัจฉริยะ (Smart Vineyard) แห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย เพื่อไปสู่ไร่ไวน์อัจฉริยะแห่งแรกของโลกที่ใช้เทคโนโลยีครบวงจร ทั้ง Information Technology, Smart Viticulture, Sensor Networks, RFID, GIS, Radio-Controlled, Experience Tourism Technology, Robotics, Agro-informatics และ Nanotechnology

โครงการ ไร่ไวน์อัจฉริยะ-กรานมอนเต้ (GranMonte Smart Vineyard) เป็นการประยุกต์และใช้งานเทคโนโลยี Precision Farming / Smart Farm ในไร่ไวน์ โครงการนี้เป็นการผสมผสาน เทคโนโลยีหลายๆ ชนิด เพื่อให้เจ้าของไร่ไวน์ หรือผู้จัดการฟาร์ม สามารถเฝ้าติดตาม ความเป็นไปภายในไร่ จากอินเตอร์เน็ต และ โทรศัพท์มือถือ โดยอาศัยเทคโนโลยี Multi-functional and Multi-dimensional Sensors ซึ่งจะตรวจสภาพอุณหภูมิในอากาศ และดิน ความชื้นในอากาศและดิน ความเร็วและทิศทางลม ปริมาณน้ำฝน พลังงานแสง ความเคลื่อนไหวของมวลอากาศ ความเป็นไปในไร่จาก Image Array สภาพทางเคมีของดิน คุณภาพขององุ่นและไวน์ จาก Electronic Nose รวมไปถึงการนำ RFID ไปใช้ดูแลกิจกรรมในไร่ การพัฒนาซอฟต์แวร์ช่วยตัดสินใจ Decision Support System การบูรณาการข้อมูลภูมิสารสนเทศ และ อุตุนิยมวิทยาทั้งระดับไร่ และระดับภูมิภาค โดยมีเป้าหมายทำให้เกิด ไร่ไวน์อัจฉริยะ (Smart Vineyard)


โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณวิจัยจาก มหาวิทยาลัยมหิดล และ NECTEC โดยได้รับการเอื้อเฟื้อด้านสถานที่ แรงบันดาลใจ (Mental Support) องค์ความรู้ด้านการปลูก และดูแลไร่ไวน์ จาก คุณวิสุทธิ์ โลหิตนาวี คุณสกุณา โลหิตนาวี และ คุณนิกกี้ โลหิตนาวี เจ้าของไร่ไวน์ GranMonte เขาใหญ่ นครราชสีมา

24 มกราคม 2551

ยางรถยนต์นาโน - Nano Tyre


นาโนเทคโนโลยีเริ่มกระเถิบเข้ามาสู่วิถีชีวิตของพวกเรา ทั้งแบบเงียบๆ ไม่ทันรู้ตัว และแบบโฉ่งฉ่างรู้กันทั่วเมือง สำหรับในเรื่องของยานยนตร์นั้น นาโนเทคโนโลยีก็กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนรถยนต์ของเรา ให้มาเป็นรถยนต์นาโน หน้าปัดแสดงผลรุ่นใหม่ๆ จะเป็น Organic Light Emitting Device (OLED) ที่มีแสงสีสวยงามและบูติค กระจกที่ทำความสะอาดตัวเองได้ ฟิล์มที่ปรับความเข้มแสงได้ เซ็นเซอร์ตรวจวัดสิ่งผิดปกติต่างๆ รอบคันรถ การนำนาโนเทคโนโลยีมาใส่ยังเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้ เช่นเดียวกับยาง Michelin รุ่น Energy ที่ขายดิบขายดีไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้


ปัจจุบันยางรถยนต์ทำมาจากยางธรรมชาติผสมกับยางสังเคราะห์ โดยมีการผสมอนุภาคคาร์บอน (Carbon Black) เข้าไปเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ซึ่งในขณะนี้ได้มีการค้นหาอนุภาคนาโนที่อาจนำมาแทนอนุภาคคาร์บอน เช่น อนุภาคนาโนของซิลิกาคาร์ไบด์ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ยางรถยนต์ยืดอายุการใช้งานได้ถึง 2 เท่า การวิจัยยังพบว่าท่อนาโนคาร์บอนเมื่อผสมเข้าไปในยางสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งได้เช่นกัน จนมีผู้ทดลองนำไปผสมในถุงยางอนามัยเพื่อทำถุงยางนาโนอีกด้วย บริษัทมิเชลิน (Michelin) กำลังวิจัยการนำอนุภาคดินนาโน (Nanoclay) เพื่อผสมกับพอลิเมอร์สำหรับปิดยางชั้นในเพื่อกันลมรั่วออก (ซึ่งมีการนำมาใช้กับลูกเทนนิสแล้ว) ซึ่งจะทำให้ประหยัดความหนาของชั้นยางอีกด้วย ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเครื่องกลไฟฟ้าจุลภาค (Microelectromechanical system หรือ MEMS) ยังจะช่วยให้ยางรถยนต์ในอนาคตมีความฉลาดเหนือขึ้นไปอีก กล่าวคือ จะมีการใส่เซ็นเซอร์จิ๋วเข้าไปในยางรถยนต์ทั้ง 4 ล้อ โดยเซ็นเซอร์เหล่านั้นจะส่งสัญญาณมายังตัวรับแบบไร้สาย ทำให้ผู้ขับขี่สามารถทราบความดันของลมยาง และอุณหภูมิลมยางได้ ระบบซอฟท์แวร์สามารถพัฒนาให้เตือนผู้ขับขี่ในกรณีที่ยางรถยนต์อยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย


(ภาพด้านบน - เฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว มียางรถยนต์หมดสภาพปีละกว่า 17 ล้านเส้น นาโนเทคโนโลยีจะช่วยลดจำนวนขยะเหล่านี้)

23 มกราคม 2551

Swarm Robot - สังคมเจ้าหุ่นจิ๋ว

หุ่นยนต์ที่มีรูปร่างคล้ายมนุษย์ (Humanoid) เป็นศูนย์กลางของการศึกษาและพัฒนาหุ่นยนต์มาตลอดตั้งแต่ยุคแรกๆ ของการพัฒนาหุ่นยนต์ แต่ความก้าวหน้าในศาสตร์ของ Humanoid ตลอด 20 ปีมานี้กลับไม่ค่อยได้พัฒนาไปมากนัก หุ่นยนต์อาซิโมของบริษัทฮอนด้า ซึ่งออกโชว์ตัวเมื่อปี 2002 มีรูปร่างและท่าทางที่ค่อนข้างอุ้ยอ้าย และทำได้เพียงขึ้นลงบันได้อย่างช้าๆ เท่านั้น มันโยกย้ายเต้นส่ายไปส่ายมาพร้อมยกมือสวัสดี แค่พอที่จะเรียกเสียงปรบมือและความประทับใจจากผู้ชมเท่านั้น ยังทำงานที่ซับซ้อนอย่างเช่น การวิ่ง ไม่ได้ แต่ศาสตร์ของ Humanoid กำลังจะได้รับอานิสงส์จากเทคโนโลยีอื่นๆ และก้าวพ้นจุดตีบตันนี้ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุใหม่ๆ รวมทั้งวัสดุนาโน ระบบสัมผัสและเซ็นเซอร์ที่มีความก้าวหน้าไปจนสามารถทำให้มีขนาดที่เล็กจิ๋วได้ เทคโนโลยีที่เชื่อมโยงเครื่องกลกับมนุษย์ (Man-Machine Interface) รวมไปถึงเทคโนโลยีที่ผมจะพูดถึงในตอนต่อๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะกล (Bionics) สัมผัสประดิษฐ์ (Artificial Sense) ล้วนเป็นสิ่งที่จะเข้ามาทำให้ศาสตร์แห่ง Humanoid พัฒนาขึ้นไปได้

อีกกระบวนทัศน์หนึ่งของพัฒนาการด้านหุ่นยนต์ ซึ่งมองว่าการพัฒนาหุ่นยนต์เดี่ยวแบบ Humanoid ที่มีกำลังสมองมาก และทำงานซับซ้อนด้วยตัวมันเองนั้นเป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้นทางเลือกฝั่งตรงข้ามน่าจะเป็นการสร้างหุ่นยนต์ที่คล้ายสัตว์อื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ โดยเฉพาะสัตว์เล็กๆ อย่างแมลง ที่แต่ละตัวมีพลังสมองไม่มาก แต่เมื่อมันมารวมกันเป็นทีมหรือเป็นฝูง (Swarm Robot) พวกมันก็จะสามารถทำงานยากๆได้ แมลงอย่างมด ปลวกหรือผึ้ง ซึ่งหากมีมด ปลวก หรือ ผึ้ง เพียงตัวเดียว มันแทบจะทำประโยชน์อะไรไม่ได้เลย แต่เมื่อไรก็ตามที่มันรวมฝูงกันมันก็จะสามารถทำภารกิจที่ยุ่งยากซับซ้อนได้ ทั้งๆที่ พวกมันแทบจะไม่มีสมองเลย (มีเพียงต่อมประสาทเท่านั้น) แต่เมื่อมันรวมฝูงแล้ว มันสามารถสร้างรังที่มีโครงสร้างสลับซับซ้อน โดยเฉพาะปลวกนั้น มันสามารถสร้างจอมปลวกที่มีระบบระบายอากาศที่น่าทึ่งมาก สำหรับมดมีการแบ่งหน้าที่ต่างๆ อย่างเป็นลำดับชั้น ความซับซ้อนของฝูงแมลงที่เกิดขึ้นจากองค์ประกอบง่ายๆ กำลังเป็นงานวิจัยที่ฮิตมากๆ ในตอนนี้ จนเกิดเป็นสาขาใหม่ที่เรียกว่า การประมวลผลแบบฝูง (Swarm Computing) และหุ่นยนต์ที่ทำงานภายใต้แนวคิดนี้จึงถูกเรียกว่า ฝูงหุ่นยนต์ (Swarm Robot) หุ่นยนต์เล็กๆเหล่านี้สร้างได้ง่ายกว่า และหยิบยืมเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างนาโนเทคโนโลยีมาใช้ง่ายๆ เช่น หุ่นยนต์ตุ๊กแก ที่มีชื่อว่า Stickybot นั้นมีเท้าที่ใช้วัสดุเส้นใยนาโนที่เลียนแบบตีนตุ๊กแกในธรรมชาติ ทำให้มันสามารถเดินไต่หรือปีนบนผิวกระจกได้โดยไม่ตกลงมา หุ่นยนต์แมลงปอที่มีพลังยกตัวมากกว่าแมลงปอในธรรมชาติถึง 5 เท่า จากนาโนพอลิเมอร์ที่สามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานกล หุ่นยนต์จิงโจ้น้ำที่ปลายขาทั้ง 6 ข้างของมันมีขนจำนวนมากที่ไม่ชอบน้ำซึ่งเลียนแบบจิงโจ้น้ำในธรรมชาติ ขนเล็กๆ ที่ไม่ชอบน้ำนี้มีพื้นผิวจำนวนมากที่จะเกิดแรงผลักขนาดนาโนระหว่างขนกับน้ำ ซึ่งแรงเล็กๆ เหล่านี้เมื่อสะสมรวมกันเพียงพอ ทำให้สามารถยกตัวแมลงขึ้นเหนือผิวน้ำได้

21 มกราคม 2551

Disruptive Technologies ตอนที่ 3



ศาสตราจารย์ เคลย์ตัน เอ็ม คริสเต็นเซ็น (Clayton M. Christensen) แห่งวิทยาลัยบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้วางรากฐานทฤษฎีเกี่ยวกับการล้มลงของอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีไว้อย่างน่าสนใจว่า “อุตสาหกรรมส่วนใหญ่มองหาแต่สิ่งที่เรียกว่าเทคโนโลยีที่ยั่งยืน (Sustaining Technology) ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ผิด เพราะว่าเมื่อพูดถึงเทคโนโลยีแล้ว ไม่มีคำว่ายั่งยืน มีแต่ของใหม่แทนของเก่า ดังนั้นเมื่อมีเทคโนโลยีแบบใหม่เกิดขึ้นในลักษณะที่เรียกว่า เทคโนโลยีแบบลบล้าง (Disruptive Technology) อุตสาหกรรมจะไม่ใคร่ให้ความสนใจนัก จนกระทั่งสายเกินไป” Disruptive Technology มีความโหดร้ายในตัวของมันเอง กล่าวคือ ตอนมันเกิดขึ้นแรกๆ มันจะเป็นสิ่งที่น้อยคนจะสนใจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ดังนั้นมันจะซึมเข้าตลาดสู่ผู้ใช้รายใหม่อย่างเงียบๆ แล้วค่อยๆ เติบโตจนกระทั่งไปแย่งลูกค้าเก่า กระทั่งอุตสาหกรรมเจ้าเก่าต้องล้มตายไปเลย ศาสตราจารย์ คริสเต็นเซ็น ได้ยกตัวอย่าง Disruptive Technology ที่มาแทนเทคโนโลยีเก่าอย่างโหดร้าย รุนแรง ไม่ทันตั้งตัว เช่น กล้องดิจิตอลมาแทนที่กล้องใช้ฟิล์ม โทรศัพท์เคลื่อนที่มาแทนโทรศัพท์บ้าน คอมพิวตอร์ตั้งโต๊ะแทนที่ด้วยคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค การซื้อหุ้นผ่านนายหน้าถูกแทนที่ด้วยการซื้อผ่านอินเตอร์เน็ต รถตักแบ็คโฮขนาดเล็กมาแทนรถตักคาเตอร์พิลลาขนาดใหญ่


จากสถิติของบริษัทอเมริกันนั้นพบว่า บริษัทใหญ่ที่สุดของอเมริกัน 100 บริษัทแรกที่ก่อตั้งเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว เหลือข้ามมาถึงศตวรรษนี้เพียง 16 แห่ง และอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ที่สุด 100 แห่งของสหรัฐอเมริกาเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ปัจจุบันนี้เหลืออยู่ไม่ถึง 32 เจ้าเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพราะอุตสาหกรรมเหล่านั้นไม่รู้จักคำว่า “นวัตกรรม” และไม่รู้จักกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นรวดเร็วมาก ปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีอุบัติใหม่ขึ้นมากมาย ซึ่งกำลังจะเข้ามากลืนกินผู้ประกอบการหน้าเดิมที่ไม่ทันตั้งตัว บริษัทใหญ่ๆ ของไทยเราที่เสี่ยงต่อการล้มหาย ตายจาก ก็ได้แก่ ปูนซีเมนต์ไทย ปตท. กสท. องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้เพราะขนาดของบริษัทใหญ่เกินไป ซึ่งขัดกับโมเดลของศตวรรษที่ 21 ศาสตราจารย์คริสเต็นเซ็น ยังได้เปรยติดตลกว่า "เรื่องนวัตกรรมแบบลบล้าง (Disruptive Innovation) กับบริษัทใหญ่ มันก็เหมือนน้ำกับน้ำมัน ธรรมชาติของบริษัทใหญ่ก็คิดแต่กำไรมากๆ กับของที่ผลิตอยู่ในวันนี้เท่านั้น" ผู้เขียนยังจำได้ว่าเมื่อเทคโนโลยี VoIP ออกมาใหม่ๆ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว กสท. ยักษ์ใหญ่ผู้ผูกขาดโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ไม่ได้ให้ความสนใจเทคโนโลยีนี้ แถมพยายามกีดกันการใช้งาน โดยบอกว่าเป็นการผิดกฏหมาย วันนี้ กสท. เป็นเจ้าใหญ่ที่สุดที่ใช้เทคโนโลยีนี้ครับ แต่ผลก็คือ คนหนีไปใช้ Skype กันหมดแล้ว ซึ่งทำให้ กสท. ประสบกับปัญหากำไรหดต่อเนื่องมาหลายปี และอาจเข้าข่ายป่วยเลยก็ได้ ตามนิยามของศาสตราจารย์คริสเต็นเซ็น เป๊ะเลยครับ



Disruptive Innovation เป็นเรื่องที่ประเทศไทยให้ความสนใจกันน้อย แม้แต่หน่วยงานที่ทำงานด้านนวัตกรรมตรงๆ ของเรา อย่าง NIA ยังชอบที่จะสนับสนุน Sustaining Innovation มากกว่า เพราะการสร้าง Disruptive Innovation ต้องทำ Basic Research เยอะมาก ซึ่งเป็นงานถนัดของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. มาโดยตลอด ...........



(ภาพด้านบน - โทรศัพท์มือถือติดกล้องเป็น Disruptive Innovation กำลังจะมาแทน Digital Camera ซึ่งเป็น Sustaining Innovation ในไม่ช้า)

20 มกราคม 2551

ใกล้ยุคของ Ambient Intelligence แล้ว ประเทศไทยทำอะไรอยู่



Ambient Intelligence หรือ สภาวะล้อมรอบอัจฉริยะ หมายถึงสภาพล้อมรอบ หรือ สภาพแวดล้อมที่มีความฉลาด สามารถรับรู้ ใส่ใจ กับความรู้สึกและความต้องการของคน รวมไปถึงสามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้ Ambient Intelligence เป็นเทคโนโลยีที่ครอบคลุมความกว้างขวางตั้งแต่ในเรื่องของ Smart Home, Smart Building, Smart City, Smart Farm, Smart Factory, Smart Highway ไปจนถึง Smart Environment, Smart Community แล้วยังเหมารวมไปถึง Smart Economy ว่ากันว่ามันคือสิ่งที่จะทำให้เกิด Experience Economy หรือ Boutique Economy ที่ nanothailand เคยพูดถึงก่อนหน้านี้ไงล่ะครับ


ความสำคัญของ Ambient Intelligence นั้นถึงขั้นที่กลายมาเป็นเมกะโปรเจ็คต์ที่ EU ให้การสนับสนุน พร้อมๆ กันถึง 2 โปรเจ็คต์เลยทีเดียว บริษัท Philips ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ถึงกับตั้งทีมมาดูแลเรื่องนี้ และขณะนี้อยู่ในระหว่างพัฒนาบ้านต้นแบบ HomeLab ที่มีเทคโนโลยี Ambient Intelligence ซึ่งภายในบ้านก็มีเทคโนโลยีหลายๆ อย่าง ตั้งแต่ Face Recognition ที่สามารถเข้าใจความรู้สึกและอารมณ์ของผู้อาศัย เครื่องใช้ไฟฟ้าที่สื่อสารกันเองภายในบ้าน และ สื่อสารกับผู้ใช้ ระบบการส่องสว่างแบบใหม่ที่เรียกว่า Ambient Lighting ที่นุ่มนวล วอลล์เปเปอร์ที่สามารถจุ่มความรู้สึกของคนในบ้านออกไปข้างนอก หรือ ในธรรมชาติได้ เหล่านี้ Philips เชื่อว่าบ้านจะเป็นจุดเริ่มของการใช้งาน Ambient Intelligence ก่อนที่มันจะไปอยู่ในทุกๆ ที่ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รถยนต์ อาคาร ทางหลวง สะพาน ไร่นา ฟาร์มเกษตร เป็นต้น ไม่ใช่แค่ Philips เท่านั้นที่มีวิสัยทัศน์ และต้องการเป็นผู้เล่นในตลาดใหม่ที่น่าตื่นเต้นนี้ Siemens, Nokia, Fujitsu, Misubishi, IBM ต่างก็กลัวจะตกรถไฟ โดยมีโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนี้ภายในบริษัททั้งสิ้น


(ภาพด้านบน - แสดงการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์บนเสื้อผ้าของคน ซึ่งสามารถสื่อสารระหว่างคนกับคน การสื่อสารระหว่างเซ็นเซอร์ในรถยนต์ และระหว่างรถกับรถ การสื่อสารระหว่างวัตถุต่างๆ ในสิ่งแวดล้อม ในอาคาร บ้านเรือน โรงงาน ฟาร์ม ไร่นา และการบูรณาการการสื่อสารทั้งหมด)

18 มกราคม 2551

นาโนคอนกรีต



คอนกรีต เป็นวัสดุที่มนุษย์คุ้นเคยที่สุดอย่างหนึ่ง ทุกๆ ปี มีการผลิตคอนกรีตขึ้นใช้งาน 1 ลูกบาศก์เมตร ต่อ ประชากรโลกหนึ่งคน ในธุรกิจก่อสร้าง คอนกรีตเป็นวัตถุดิบที่ไร้คู่แข่ง การนำนาโนเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาคอนกรีต ทั้งในด้านความคงทนแข็งแรงรวมไปถึงการตรวจสอบสภาพการใช้งาน เป็นยอดปรารถนาของวิศวกร ถึงแม้คอนกรีตจะเป็นวัสดุหยาบ (Bulk Material) แต่สมบัติของมันขึ้นอยู่กับความเป็นอยู่ของโครงสร้างผลึกหรือเกรน (Grain) ในระดับนาโน องค์ประกอบหนึ่งของคอนกรีตที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณก็คือซิลิกอนไดออกไซด์ หรือ ซิลิกา ซึ่งมีการค้นพบแล้วว่าคุณสมบัติเชิงกลของคอนกรีตจะดีขึ้นมากหากโครงสร้างของเกรนซิลิกามีขนาดระดับนาโนที่เรียกว่า นาโนซิลิกา (Nano-silica) นอกจากนั้นการเติมนาโนซิลิกาเข้าไปในซีเมนต์ยังจะช่วยให้การเสื่อมสภาพของตัวยึดเกาะเกิดได้ช้าลง ช่วยลดการสูญเสียแคลเซียมในคอนกรีต ทำให้คอนกรีตมีอายุการใช้งานนานขึ้น นอกจากนั้นยังมีการศึกษาการเติมอนุภาคนาโนที่เรียกว่า haematite ลงไปในคอนกรีตเพื่อเพิ่มความแข็งแรง โดยมีผลพลอยได้ประการหนึ่งคือ คอนกรีตสามารถถูกตรวจสอบได้โดยอาศัยคุณสมบัติทางแม่เหล็กไฟฟ้าของสารชนิดนี้ อีกแนวคิดหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมก็คือการนำท่อนาโนคาร์บอน (Carbon Nanotube) มาผสมกับคอนกรีตซึ่งพบว่าสามารถเพิ่มกำลังอัดของคอนกรีตได้ โดยท่อนาโนคาร์บอนซึ่งมักจะเกาะตัวกันอยู่ในลักษณะของ Bundle ที่แต่ละท่อมีแรงยึดระหว่างกัน จะสามารถสไลด์ผ่านกันได้ หากมีแรงมาดึงหรืออัดคอนกรีต ช่วยทำให้คอนกรีตมีความยืดหยุ่นคล้ายยางได้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากท่อนาโนคาร์บอนยังมีราคาสูงอยู่ การนำไปใช้งานจริง ณ ขณะนี้จึงยังไม่เกิด แต่ในอนาคตที่ราคาในการผลิตท่อนาโนคาร์บอนจะต่ำลงมาอีกมาก เราก็มีสิทธิ์ได้เห็นคอนกรีตเสริมใยคาร์บอนมีใช้กันทั่วไปแน่
ภาพด้านบน - คอนกรีตที่ซ่อมแซมตัวเองได้ (ซ้าย-รอยแตกใหม่ๆ) (ขวา-หลังจากซ่อมตัวเองแล้ว) (Picture owned by Microlab, TU-Delft)

14 มกราคม 2551

Intelligent Greenhouse - ระบบโรงเรือนอัจฉริยะ (ตอนที่ 2)



วันนี้ผมขอมาเล่าต่อนะครับ ในโอกาสที่ได้ไปสังเกตการณ์ การประชุมระดมสมอง เพื่อจัดทำแผนที่เทคโนโลยีเกษตรอิเล็กทรอนิกส์ (Agritronics) เพื่อ กล้วยไม้ ลำไย และปลาบึก ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10-11 มกราคม 2551 ในวันที่สอง ก็ได้ไปเยี่ยมชม สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สำหรับสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้ ผมถือว่าเป็น Fan Club คนหนึ่งเลยทีเดียว เนื่องจากได้ไปเยี่ยมชมหลายครั้งแล้ว ทั้งหน้าร้อน หน้าฝน หน้าหนาว ที่นั่นมีโรงเรือนหลายแบบ ตั้งแต่ ร้อนแห้งแบบทะเลทราย ไปถึงชุ่มเย็นแบบป่าฝน มีโรงเรือนสำหรับไม้ใบ ไม้ดอก บัวและพืชชุ่มน้ำ โรงเรือนป่าฝนนั้นมีขนาดใหญ่อลังการมาก ถึงขนาดข้างในมีน้ำตก และบันไดเวียนเพื่อดูบรรยากาศข้างในโรงเรือน มีระบบปล่อยไอน้ำเพื่อควบคุมความชื้น หลังคาปรับเปิดปิดเพื่อควบคุมความเข้มแสง โรงเรือนชนิดนี้สร้างโดยประเทศฝรั่งเศส มีเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณแสง อย่างไรก็ตามเซ็นเซอร์บางตัวก็เสียหายไม่ทำงานแล้ว การเปลี่ยนชุดเซ็นเซอร์มีราคาค่างวดที่แพง เนื่องจากหมดสัญญาดูแลแล้ว ดังนั้นทางสวนพฤกษศาสตร์จึงอยากให้ NECTEC เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของระบบเซ็นเซอร์


ผม และ คณะเดินทางที่ไปด้วยกัน ได้แก่ ดร. อดิสร ดร.ปิยะวุฒิ และ ดร. อุทัย ยังได้มีโอกาสไปดูสวนกล้วยไม้ของสวนพฤกษศาสตร์ ซึ่งเป็นโรงเรือนแบบเปิด ซึ่งเป็นที่เพาะเลี้ยงและอนุรักษ์กล้วยไม้ป่าจำนวนมาก ทางสวนฯ มีดำริจะให้มีการติดตั้งเซ็นเซอร์ เพื่อ monitor สภาพล้อมรอบที่แตกต่างกันในบริเวณโรงเรือน ที่มีพื้นที่กว้าง มีร่มเงาแตกต่างกัน รวมไปถึงการเล่นระดับความสูง ที่ทำให้มี micro-climate หรือ micro-environment แตกต่าง ซึ่งจะมีความเหมาะสมกับกล้วยไม้แต่ละพันธุ์แตกต่างกันไป ผมได้จินตนาการถึงระบบเซ็นเซอร์ตรวจสอบสภาพในเรือนกล้วยไม้ ที่ interactive กับผู้ดูแลผ่านโทรศัพท์มือถือ ก่อนจะกลับเราก็ได้ตั้งใจ และวางพันธะสัญญาต่อกันในคณะเดินทางว่า จะกลับมาใหม่ พร้อมกับเทคโนโลยีเพื่อมาติดตั้ง ณ ที่นี่ให้ได้
(ภาพด้านบน - Greenhouse ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ภายใน สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่)

13 มกราคม 2551

Intelligent Greenhouse - ระบบโรงเรือนอัจฉริยะ (ตอนที่ 1)



เล่าเรื่องต่อจากเมื่อวานนะครับ กับการที่ nanothailand ไปสังเกตการณ์ การประชุมระดมสมอง เพื่อจัดทำแผนที่เทคโนโลยีเกษตรอิเล็กทรอนิกส์ (Agritronics) เพื่อ กล้วยไม้ ลำไย และปลาบึก ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10-11 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปดูระบบโรงเรือน 2 ที่ ที่แรกก็คือ โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตกล้วยไม้เชิงอุตสาหกรรม ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ โรงเรือนที่เขาใช้เพาะเลี้ยงกล้วยไม้มี 2 แบบ คือ โรงเรือนแบบปิด กับ โรงเรือนแบบเปิด โรงเรือนที่นั่นเป็นแบบปิด สามารถควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ป้องกันแมลงเข้าไปในโรงเรือน โดยโรงเรือนเป็นโครงเหล็ก ใช้วัสดุพลาสติกครอบทั้งด้านข้าง และ หลังคา พลาสติกที่ใช้ครอบโรงเรือนเป็นพลาสติกที่ออกแบบมาให้มีความแข็งแรง มีความใสที่สามารถผ่าน สเปคตรัมของแสงที่พืชต้องการให้เข้าไปในโรงเรือน และกันช่วงความยาวคลื่นที่ไม่ต้องการออกไป พลาสติกที่ว่านี้จะต้องทนรังสี UV ด้วยนะครับ มิฉะนั้นมันจะกรอบอันเนื่องมาจาก โมเลกุลพอลิเมอร์เกิด Free Radicals เข้าทำปฏิกริยากันเป็น Crosslinked Chains ทำให้เสียสมบัติความยืดหยุ่นในที่สุด เท่าที่ผมดู โรงเรือนในศูนย์ก็ใช้กันมาประมาณ 4-5 ปีแล้ว พลาสติกที่ว่าก็เริ่มกรอบเสียหายแล้ว โรงเรือนที่ว่านี้ บริษัทในประเทศอิสราเอลเป็นคนประกอบและสร้างให้ อีกปัญหาที่พบคือ ตัวคอนโทรลที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับควบคุมการเปิดปิดน้ำเย็น (เพื่อควบคุมให้กล้วยไม้ได้รับอุณหภูมิสม่ำเสมอ) เปิดพัดลมระบายอากาศ ได้เสียหายไม่สามารถทำงานได้ แต่ก็ยังสามารถทำงานด้วยระบบมืออยู่ครับ ทางวิศวกรผู้ควบคุมโรงเรือนได้ให้ความช่วยเหลือในการพาเข้าชม และตอบข้อสงสัยทุกอย่าง ท่านอยากให้มีเทคโนโลยีของคนไทยเพื่อนำมาใช้ทดแทนโรงเรือนของนอก หรืออย่างน้อยสร้างอะหลั่ยที่ใช้ทดแทนของที่เสียหาย เช่น พลาสติก เนี่ยผมไม่แน่ใจว่าเป็น Polycarbonate ผสมอนุภาคนาโนบางชนิดเพื่อทำให้เกิดความแข็งแรง และทนต่อ UV วัสดุที่ใช้เลี้ยงกล้วยไม้ก็น่าจะคิดทำในเมืองไทย เซ็นเซอร์ที่วัดอุณหภูมิ ความชื้น แสง และระบบควบคุมก็น่าจะทำได้ในเมืองไทย เช่นกัน

วันพรุ่งนี้ ผมจะมาเล่าต่อถึงอีกสถานที่ ที่ผมได้เป็นเยี่ยมชมนะครับ ........


(ภาพด้านบน - โรงเรือน หรือ Greenhouse มีความจำเป็นในประเทศที่มีอากาศหนาว เพื่อควบคุมให้สภาพในโรงเรือนมีความอบอุ่น เหมาะกับการปลูกพืช แต่ในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีอากาศร้อนนั้น จะต้องมีการดัดแปลงเทคโนโลยี เช่น สำหรับกล้วยไม้ จะต้องมีระบบทำความเย็น โดยจะปล่อยน้ำเย็นออกมาผ่านครีบระบายความร้อน แล้วอาศัยลมที่เกิดจากพัดลม ดูดอากาศเย็นให้มาผ่านกล้วยไม้)

12 มกราคม 2551

Agritronics - เกษตรอิเล็กทรอนิกส์



เมื่อวันที่ 10-11 มกราคม 2551 ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปสังเกตการณ์ การประชุมระดมสมอง เพื่อจัดทำแผนที่เทคโนโลยีเกษตรอิเล็กทรอนิกส์ (Agritronics) เพื่อ กล้วยไม้ ลำไย และปลาบึก ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการจัดประชุมครั้งที่ 2 แล้วครับ ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปถึงขอบเขต และความต้องการเร่งด่วน ด้านเทคโนโลยี Agritronics เพื่อนำมาใช้งานด้านการเกษตร สำหรับผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ข้างต้น ได้เร็วๆ นี้ ในการประชุมครั้งนี้ก็อยู่กันครบ ทั้งผู้ให้ทุนก็คือ NECTEC ซึ่งเป็นผู้จัดงาน นักวิจัยจากสถาบันต่างๆ ทั้งของ NECTEC เองกับมหาวิทยาลัย และก็เกษตรกรผู้ต้องการใช้ ซึ่งเทคโนโลยีที่เกษตรกรต้องการ มีเยอะแยะครับ ว่างๆ ผมจะกลับมาเล่าให้ฟังเน้นเป็นบางเรื่องที่กำลังจะกลายมาเป็นกระแสสำคัญ วันนี้ก็คร่าวๆ ก่อนนะครับ อย่างเช่น กลุ่มลำไยเนี่ย เขาต้องการเทคโนโลยีเพื่อควบคุมสภาพล้อมรอบ วัสดุเกษตรแบบใหม่เพื่อใช้ในการเพาะปลูก ระบบให้ปุ๋ย น้ำ ที่ฉลาด บรรจุภัณฑ์ฉลาด เครื่องตรวจวัดต่างๆ เช่น ความหวาน สารตกค้าง ระบบผู้เชี่ยวชาญ ระบบพยากรณ์ผลผลิต และระบบช่วยตัดสินใจต่างๆ เช่น การกำหนด zone ปลูก เครื่องไล่แมลง เครื่องวิเคราะห์ปุ๋ย เครื่องวิเคราะห์ดิน


ส่วนกลุ่มกล้วยไม้นั้น ความต้องการเทคโนโลยีก็ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันครับ ระบบการรวมกลุ่มเกษตรกรของเขาค่อนข้างจะแข็งแรง เทคโนโลยีที่เขาต้องการได้แก่ ระบบโรงเรือนอัจฉริยะ บรรจุภัณฑ์ฉลาด วัสดุเพาะปลูกแบบใหม่ ระบบความเชี่ยวชาญเพื่อทำนายผลผลิต ซอฟต์แวร์ช่วยในการตัดสินใจ โจทย์วิจัยเยอะครับ แต่ไม่รู้จะหาคนทำได้หรือเปล่า ก็ต้องรอดูกันต่อไปครับว่าหลังจากนั้น แผนปฏิบัติการที่ตั้งอยู่บนความเป็นจริง (Realistic Action Plan) จะเป็นอย่างไร ผมรู้สึกเห็นใจเกษตรกรที่เข้ามาร่วมประชุม เขาตั้งความหวังไว้ค่อนข้างสูง และเขาก็บอกว่าเขาเข้ามาประชุมคล้ายๆ อย่างนี้หลายครั้งแล้ว คนนู้นจัดที คนนี้จัดที ก็ได้แต่รอว่าทีมที่จัดทีมไหนจะทำให้ ฝันของเกษตรกรไทยเป็นจริง

09 มกราคม 2551

Smart Highway - เมื่อทางหลวงก็มีหัวคิด


ทุกๆ เช้า ก่อนจะขับรถออกจากบ้านเพื่อมาทำงานที่มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนพระราม 6 นอกจากจะเข้าไปตรวจสอบสภาพอากาศ ที่คณะวิทยาศาสตร์ว่าเป็นยังไง อุณหภูมิเท่าไหร่ มีแดดมั้ย ผมก็จะต้องเข้า web site ของการทางพิเศษ เพื่อตรวจสอบดูก่อนว่าการจราจรบนทางด่วนเป็นอย่างไร รถหายติดหรือยัง บางทีแปดโมงครึ่งก็หายติดแล้ว บางวันอาจต้องรอถึง 9 โมง เมื่อออกจากบ้านขึ้นทางด่วนไปถึงถนนพระราม 6 ส่วนใหญ่ก็จะค่อนข้างแม่น ใช้เวลาบนทางด่วนเพียง 10-15 นาทีเท่านั้น ไม่ทราบว่าทางด่วนของเราใช้คนคอยดูกล้องวงจรปิด แล้วป้อนข้อมูลเข้าอินเตอร์เน็ต หรือว่าใช้ซอฟต์แวร์เพื่อตรวจสอบแบบเรียลไทม์


สิ่งที่ผมกล่าวมานั้น คงเป็นจุดเริ่มต้นของทางหลวงของอนาคต หรือ Smart Highway ซึ่งถนนหนทางจะกลายมาเป็นสิ่งที่มีหัวคิด ไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งของไร้วิญญาณ ที่วางตัวเฉยปล่อยให้รถของเราวิ่งไปบนตัวมัน แต่ถนนอัจฉริยะนี้จะคอยอำนวยความสะดวกให้เรา คอยรับใช้เราให้ขับรถไปถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย ด้วยความเร็วที่ทางหลวงสมัยนี้ให้แก่เราไม่ได้ กรมทางหลวงเกาหลีใต้ได้ริเริ่มโครงการในฝัน Smart Highway ขึ้นแล้วในปีนี้ โดยสนับสนุนเงินเกือบ 162 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่ออัดฉีดเข้าไปให้แก่โครงการวิจัยต่างๆ ให้เริ่มวางแผนและออกแบบ Smart Highway โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้ต้นแบบ Blueprint ของ Smart Highway งบประมาณจำนวนนี้ เฉพาะทำวิจัยเท่านั้น ไม่ได้รวมงบก่อสร้างถนนจริง โดยจะสนับสนุนงานวิจัยทางด้าน วัสดุปูพื้นถนนแบบใหม่ เซ็นเซอร์ต่างๆ ที่ใช้ตรวจสอบผิวทาง การจราจร สัญญาณอันตราย ระบบไอทีของทางหลวง ระบบนี้จะช่วยให้ยวดยานสามารถขับขี่ได้ที่ความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อย่างปลอดภัย ระบบเซ็นเซอร์ และ ระบบไอทีจะติดต่อคอยอำนวยความสะดวกให้คนขับรู้ถึงสภาพอากาศ สภาพถนน การจราจร อุบัติเหตุ น่าอิจฉาคนเกาหลีจัง ..........

08 มกราคม 2551

Siam Physics Congress (SPC2008)


ช่วงนี้มีแต่กำหนดส่ง abstract ของงานประชุมต่างๆ ครับ อีกงานหนึ่งที่จะถึงกำหนดส่ง abstract ในวันที่ 15 มกราคม 2551 นี้ก็คืองาน Siam Physics Conference ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีของนักฟิสิกส์ และสาขาที่ใกล้เคียง ซึ่งครั้งนี้จัดมาเป็นครั้งที่ 3 แล้วครับ ปีนี้จะไปจัดกันที่ดินแดนแห่งมรดกโลก เขาใหญ่ โดยจะจัดระหว่างวันที่ 20-22 มีนาคม 2551 ณ Mandarin Golden Valley Resort ซึ่งก็อยู่ในรั้วเดียวกับ Greenery Resort ทำให้แชร์ห้องพัก และ กิจกรรมต่างๆ ได้ เนื่องจาก Greenery Resort นั้นเขาค่อนข้างขึ้นชื่อ ในเรื่องของกิจกรรม outdoor ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น การขับรถ ATV การแข่ง Paint Ball โบว์ลิ่ง กิจกรรมปีนเขา ขี่ม้า และการเล่น ZORB (เข้าไปอยู่ในลูกบอลยักษ์ที่กลิ้งลงมาจากที่สูง) และ แน่นอนว่าไปเขาใหญ่ ก็ต้องไปดื่มไวน์ของเขาใหญ่ เช่น GranMonte กับ PB Valley เพื่อสนับสนุนไวน์ไทย และผู้ประกอบการไทยให้พัฒนา New Latitude Wine กันนะครับ


หัวข้อของการประชุมในปีนี้ ได้แก่ 1. Accelerators and Synchrotron Radiations 2. Astronomy, Astrophysics and Cosmology 3. Atomic and Molecular Physics 4. Chemical and Biological Physics 5. Condensed Matter Physics 6. Computational and Statistical Physics 7. High-energy and Particle Physics 8. Instrumentations and Measurements 9. Ion and Plasma Physics 10. Material Physics 11. Nuclear and Radiation Physics 12. Nanoscale Physics and Nanotechnology 13. Optics and Photonics 14. Surface, Interface and Thin Films 15. Theoretical Physics

07 มกราคม 2551

The 5th International Joint Conference on Computer Science and Software Engineering - JCSSE2008



อีกงานหนึ่งที่ใกล้กำหนดส่ง Abstract แล้วครับ นั่นคือ The 5th International Joint Conference on Computer Science and Software Engineering - JCSSE2008 ซึ่งปีนี้จะไปจัดกันที่ โรงแรมเฟลิกซ์ ริเวอร์แคว จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2551 ซึ่งกำหนดส่ง paper (เป็น paper ฉบับเต็มนะครับ ไม่ใช่ abstract) คือวันที่ 15 มกราคมนี้ ไม่รู้จะมีการเลื่อนวันให้หรือเปล่า เพราะว่าเป็นการส่ง paper ฉบับเต็ม ไม่ใช่แค่ abstract อาจมีหลายๆ คน (หรือส่วนใหญ่) ส่งกันไม่ทัน



สำหรับหัวข้อการประชุมในปีนี้ก็จะคล้ายๆ ปีก่อนๆ คือเป็นการประชุมวิชาการสาขาต่างๆ ของ computer science และ software engineering แต่ก็ครอบคลุมมาถึง Education และยังมีงานทางด้าน Computational Science and Engineering ด้วย ซึ่งรวมถึง Bioinformatics, DNA Computing, Molecular Computing, Nanotechnology

06 มกราคม 2551

นาโน โนเบล (ตอนที่ 7)

ในอดีตนั้น เคมีสังเคราะห์เป็นศาสตร์ที่วนเวียนอยู่กับการสร้างโมเลกุลที่มีอะตอมเป็นองค์ประกอบอยู่ไม่เกิน 50 อะตอม โดยมีโครงสร้างของโมเลกุลไม่ซับซ้อนนัก แม้กระนั้นก็ตาม กรรมวิธีในการควบคุมโครงสร้างของโมเลกุลเล็กๆ เหล่านั้นให้มีความแน่นอนก็ได้สร้างความมั่งคั่งแก่ผู้ค้นพบเหล่านั้น โมเลกุลที่มีคนรู้จักมากที่สุดในโลกอย่าง แอสไพริน และ ดีดีที เป็นตัวอย่างของความสำเร็จของเคมีสังเคราะห์แบบดั้งเดิม จนกระทั่งเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วนี่เอง ที่ได้เกิดศาสตร์ใหม่ขึ้นมาท้าทายเคมีสังเคราะห์แบบเก่า นั่นคือ เคมีซูปราโมเลกุล (Supramolecular Chemistry) ศาสตร์แขนงนี้เป็นศาสตร์แห่งการแสวงหาความเข้าใจในปรากฏการณ์ที่โมเลกุลต่างๆ มายึดเกาะกันเกิดเป็นโครงสร้างที่มีขนาดใหญ่ขึ้นที่เรียกว่าซูปราโมเลกุล และผู้ที่ทำให้ศาสตร์แขนงนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางก็คือ ศาสตราจารย์ ฌอง มารี เลห์น (Jean-Marie Lehn - รางวัลโนเบลสาขาเคมี ค.ศ. 1987) ท่านเป็นนักเคมีสังเคราะห์ที่บุกเบิกการขยายสเกลจากเคมีที่อยู่แค่ในโลกของอังสตรอม มาสู่โลกระดับนาโน โดยมีความมุ่งมั่นและทุ่มเทศึกษา แสวงหาความเข้าใจในปรากฏการณ์ที่โมเลกุลต่างๆ มายึดเกาะกันเกิดเป็นซูปราโมเลกุล รวมทั้งคิดค้นและพัฒนากระบวนการในการสังเคราะห์อย่างมีประสิทธิภาพ ท่านได้ค้นพบว่าการเกาะกลุ่มกันเป็นซูปราโมเลกุลนี้มิได้ใช้พันธะโควาเลนต์ที่แข็งแรง หากแต่เป็นแรงระหว่างโมเลกุล (Intermolecular Interactions) ที่มีปริมาณความแข็งแรงน้อยกว่ามาก ผลของการมายึดเกาะกันด้วยทิศทางและระยะทางที่แน่นอนนี้เอง ทำให้ซูปราโมเลกุลที่ได้ มีความเฉพาะตัว และทำหน้าที่อย่างเฉพาะเจาะจงได้ นักวิทยาศาสตร์ในสาขานี้มีส่วนช่วยในการพัฒนาจักรกลนาโนได้อย่างมาก เพราะความรู้เกี่ยวกับแรงระหว่างโมเลกุลที่เฉพาะเจาะจง ได้นำมาสู่ความเข้าใจของกระบวนการประกอบได้เอง (Self Assembly) ในที่สุด นอกจากนั้นแล้วยังช่วยทำให้เข้าใจความเกี่ยวข้องระหว่างโครงสร้างของซูปราโมเลกุลว่ามีความเกี่ยวข้องกับหน้าที่การทำงานได้อย่างไร (Structure-Function Relationship) อันจะนำไปสู่การออกแบบจักรกลนาโนที่ทำหน้าที่ได้เฉพาะเจาะจง


ความก้าวหน้าของศาสตร์ซูปราโมเลกุลในระยะหลังๆนี้ได้มาถึงจุดที่เราสามารถสังเคราะห์โมเลกุลที่มีรูปร่างพิเศษที่สามารถทำหน้าที่เชิงกลได้ โมเลกุลที่สังเคราะห์ขึ้นเหล่านี้แม้จะมีความซับซ้อนน้อยกว่าจักรกลแบบเดร็กซเลอร์มาก แต่ก็ถือว่าเป็นต้นแบบที่ดีเพื่อทำความเข้าใจกลไกการทำงานของจักรกลโมเลกุลที่ใหญ่กว่า อีกทั้งยังอาจนำไปสู่การใช้งานในเชิงวิศวกรรมได้อีกด้วย เช่น โรแท็กเซน กับ แคทีเนน ซึ่งเป็นซูปราโมเลกุลที่เกิดจากโมเลกุลตั้งแต่ 2 โมเลกุลขึ้นไปมาประกอบกันแบบล็อคตาย (Interlocking) คือหนีออกจากกันไม่ได้ โดย แคทีเนน นั้นมีลักษณะเหมือนโซ่มาคล้องกัน ในขณะที่ โรแท็กเซน มีลักษณะเป็นวงแหวนที่มีแกนกลางที่ถูกปิดหัวปิดท้าย ทำให้เคลื่อนที่ออกมาไม่ได้ โมเลกุลชนิดดังกล่าวสามารถควบคุมให้มีการเคลื่อนที่ภายในสัมพัทธ์ต่อกันในลักษณะของจักรกลได้ นอกจากโมเลกุลโรแท็กเซนและแคทีเนนแล้ว ยังมีการสังเคราะห์โมเลกุลที่มีรูปร่างคล้ายกังหันและฟันเฟืองด้วย โดยโมเลกุลเหล่านี้สามารถถูกควบคุมให้หมุนไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งเท่านั้น ความสามารถในการสังเคราะห์ในศาสตร์ของซูปราโมเลกุลนั้นได้ก้าวล้ำไปจนถึงการสังเคราะห์โมเลกุลที่มีรูปร่างเป็นโพรงเหมือนถ้ำเลยทีเดียว โดนมีแกนกลางที่ตัวโพรงนี้สามารถเลื่อนไถลไปมาระหว่าง “สถานี” ได้ จนบางครั้งโมเลกุลเหล่านี้ก็จะได้รับการขนานนามว่า ชัตเติลโมเลกุล (Molecular Shuttle) จากคุณูปการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เราจึงยกย่องให้ท่านเป็นบิดาแห่งนาโนเคมี (Nanochemistry)
(ภาพด้านล่าง - ปัจจุบันนาโนเคมีมีความก้าวหน้าไปในระดับที่สามารถสังเคราะห์ โมเลกุลที่มีรูปร่างประหลาดๆ เช่น เป็นชัตเติ้ลเหมือนรถไฟฟ้าที่วิ่งไปกลับระหว่างสถานีจอด)

05 มกราคม 2551

Disruptive Technologies ตอนที่ 2



“โรงงานในอนาคตจะมีลูกจ้างเพียง 2 ตำแหน่งเท่านั้น ตำแหน่งหนึ่งเป็นมนุษย์ อีกตำแหน่งเป็นสุนัข มนุษย์ถูกจ้างเอาไว้เพื่อเลี้ยงดูสุนัข ในขณะที่สุนัขถูกจ้างเอาไว้เพื่อคอยเฝ้าไม่ให้มนุษย์แตะต้องเครื่องควบคุมหรือปุ่มกดใดๆ”


เจ้าของคำกล่าวข้างต้นคือ ศาสตราจารย์ วอร์เรน เบนนิส (Warren Bennis) ผู้มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในด้านงานเขียน การสอนและการวิจัยทางด้านการบริหาร และการจัดการองค์กรขนาดใหญ่ รวมไปถึงการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ให้แก่องค์กร ท่านยังเป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดีสหรัฐถึง 4 คน คำกล่าวนี้ ฟังดูแรกๆ ก็ออกจะเกินจริงไปสักหน่อย แต่นักเทคโนโลยีอนาคตกลับมองว่ามันไม่ใช่เรื่องตลกเลย

เมื่อครั้งที่ผู้เขียนทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งมิวนิค ประเทศเยอรมัน โรงอาหารของมหาวิทยาลัยที่นั่นดูแลผู้คนนับพันโดยจ้างคนมาจัดการไม่ถึง 10 คน ผู้ที่เข้าไปใช้บริการในโรงอาหารจะต้องบรรจุเงินใส่บัตร Pre-Paid Card ด้วยตู้อัตโนมัติ การเลือกอาหารทำโดยการเดินหยิบอาหารที่พนักงานตักให้ร้อนๆ จากนั้นเดินไปจ่ายเงินด้วยการรูดบัตร ส่วนเครื่องดื่มก็ใช้การกดปุ่มที่ตู้อัตโนมัติโดยให้เครื่องหักเงินจากบัตร เมื่อทานเสร็จแล้วผู้ใช้บริการต้องนำภาชนะไปวางบนสายพาน ที่จะเลื่อนเข้าไปสู่เครื่องชะล้างภายใน เมนูอาหารแต่ละวันของที่นี่ทั้งภาคการศึกษา คุณสามารถอ่านได้จากอินเตอร์เน็ต ถ้าวันไหนไม่ชอบ พวกเราก็จะวางแผนขับรถออกไปทานข้างนอกกันล่วงหน้า

นักเทคโนโลยีอนาคตล้วนลงมติว่าภายในระยะเวลาอีก 20-50 ปีข้างหน้าจะช่วงเวลาสำคัญยิ่งต่ออารยธรรมของมนุษยชาติ เพราะจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่เคยเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้ว โดยการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อ 200 ปีที่แล้ว อันเป็นการเปลี่ยนวิถีเศรษฐกิจฐานเกษตร มาเป็นเศรษฐกิจฐานอุตสาหกรรม ซึ่งได้กลายมาเป็นเศรษฐกิจฐานบริการในปัจจุบัน ถึงตอนนี้มีศัพท์ใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกแล้ว เช่น Molecular Economy, Experience Economy, Boutique Economy มีสถิติหลายอย่างที่บอกเราว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ กำลังจะเกิดขึ้นอย่างไม่สามารถหยุดรั้ง ไม่ว่าบริษัทที่คุณแสนมั่นอกมั่นใจจะมีขนาดใหญ่แค่ไหน หรือ มีผลกำไรมหาศาลแค่ไหน อีก 10 ปีข้างหน้าก็อาจจะล้มลงได้หากไม่คิดปรับตัว จากสถิติของบริษัทอเมริกันนั้นพบว่า บริษัทใหญ่ที่สุดของอเมริกัน 100 บริษัทแรกที่ก่อตั้งเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว เหลือข้ามมาถึงศตวรรษนี้เพียง 16 แห่ง และอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ที่สุด 100 แห่งของสหรัฐอเมริกาเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ปัจจุบันนี้เหลืออยู่ไม่ถึง 32 เจ้าเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพราะอุตสาหกรรมเหล่านั้นไม่รู้จักคำว่า “นวัตกรรม” และไม่รู้จักกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นรวดเร็วมาก ปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีอุบัติใหม่ขึ้นมากมาย ซึ่งกำลังจะเข้ามากลืนกินผู้ประกอบการหน้าเดิมที่ไม่ทันตั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ ระบบควบคุมระยะไกล ระบบเครือข่ายอัจฉริยะ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีพันธุกรรม โรงงานและระบบผลิตย่อส่วน เป็นต้น ในหนังสือ Re-imagine ของ Tom Peters เขาได้ทำนายเอาไว้ว่า ในปี ค.ศ. 2020 ในสำนักงานใหญ่ของกิจการข้ามชาติมูลค่าหมื่นล้านดอลลาร์ จะต้องการเจ้าหน้าที่เพียงแค่ 7 คน เพื่อดูแลทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนงานอื่นๆ ของบริษัทได้ถูกกระจายไปยัง อินเดีย จีน แอฟริกา ไทย สิงคโปร์ เป็นต้น

ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องเริ่มสนใจเทคโนโลยีใหม่ที่ฉายแววจะเป็น Disruptive Technologies เพื่อไม่ให้เราตกรถไฟขบวนนี้ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา .......

(ภาพด้านบน - click ที่ภาพเพื่อให้ใหญ่ขึ้น - แม้แต่ตำแหน่งงานในกองทัพก็จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์)

04 มกราคม 2551

นาโน เชียงใหม่ 2008


ใกล้เข้ามาแล้วนะครับ กับกำหนดส่ง abstract ของงาน SmartMat 2008 ซึ่งจะจัดที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 22-25 เมษายน 2551 กำหนดส่งของเขาก็คือ 18 มกราคม 2551 นี้ ซึ่งก็เป็นเพียงบทคัดย่อหน้าเดียว ถ้าใครอยากไปร่วมงานก็ไม่น่าจะมีปัญหา ยังมีเวลาส่งนะครับ


SmartMat 2008 หรือชื่อเต็มว่า Smart/Intelligent Materials and Nano Technology เป็นการประชุมที่ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดขึ้นมา เป็นครั้งที่ 2 แล้ว โดยในครั้งนี้มีการรวมเอาการประชุมเชิงปฏิบัติการที่มีชื่อว่า The 2nd International Workshop on Functional Materials and Nanomaterials ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยจัดที่อ่าวฮาลอง ประเทศเวียดนาม โดยงานดังกล่าวนั้นมี University of California Santa Barbara มหาวิทยาลัยริมทะเลที่สวยที่สุดในสหรัฐอเมริกา มาช่วยจัดและออกทุนให้ งานนี้นอกจากจะเป็นการประชุมทางวิชาการแล้ว ก็ยังมีลักษณะเป็น school ที่ให้ความรู้ในรูปแบบของการบรรยาย ขนานกันไปด้วย น่าสนใจนะครับ

02 มกราคม 2551

2008 - ปีทองของอุตสาหกรรมนาโนวัสดุไทย ถึงคราว Take Off



ในระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมานั้น ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ที่ถือว่าได้เปลี่ยน Landscape ของวงการวิจัยไทยไปตลอดกาล นั่นก็คือ การที่แหล่งทุนต่างๆ ได้หันมาให้ความสำคัญต่องานวิจัยที่ให้ผลผลิตที่จับต้องได้ หรือ เน้น Applications มากขึ้น แม้แต่ สกว. เองก็ไม่อาจต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะว่าไปแล้วปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดแต่ที่บ้านเราเท่านั้น แม้แต่ประเทศยักษ์ใหญ่ อย่าง สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ก็ล้วนได้รับผลกระทบนี้ ในประเทศอังกฤษเองก็มีการเปลี่ยนแปลงระบบให้ทุนครั้งใหญ่ที่หันมาเน้นผลผลิตจากการวิจัยที่มีผลกระทบสูง


ถึงแม้การเปลี่ยนแปลงในการให้ทุนจะค่อนข้างรุนแรง แต่ก็เกิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้นักวิจัยไทยได้มีการปรับตัวมาสักระยะหนึ่งแล้ว เราจะเห็นได้ว่า งานวิจัยพื้นฐานในระยะหลังๆ นอกจากจะมีการผลิตผลงานตีพิมพ์ระดับสากล ยังมีแถมสิทธิบัตรหรือต้นแบบผลิตภัณฑ์ หรือ องค์ความรู้กึ่งสำเร็จรูปที่สามารถนำไปใช้ได้ดีในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามแหล่งทุนวิจัยในระยะ 2 ปีหลังนี้กลับเพิ่มดีกรีของตัวชี้วัดผลผลิตขึ้นไปอีก กล่าวคือ เริ่มผลักดันให้งานวิจัยโยงเข้าหาผู้ใช้ที่เป็นอุตสาหกรรม โดยนำโจทย์ของอุตสาหกรรมมาคิดตั้งแต่ช่วงวิจัยเลย ไม่ใช่วิจัยเสร็จแล้วค่อยนำผลผลิตไปหาผู้ใช้เหมือนแต่ก่อน ทำให้นักวิจัยต้องหาคู่ที่เป็นอุตสาหกรรมในการทำงานวิจัย


เมื่อประเมินสถานการณ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ นาโนเทคโนโลยี ในปี ค.ศ. 2008 นี้ จะพบว่าทางภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังรีบเร่งปรับศักยภาพเพื่อให้ สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เพราะขณะนี้วัสดุของต่างประเทศที่นำมาใช้ในการภาคการผลิตของไทย เริ่มมีลักษณะเป็นวัสดุผสมที่ใช้นาโนวัสดุมากขึ้น มูลค่าของวัสดุเหล่านั้นล้วนสูงขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงมีความคิดที่จะหานาโนวัสดุที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันหรือดีกว่า ที่สามารถผลิตได้เองในประเทศโดยนักวิจัยไทย เพื่อมาแทนที่ของต่างประเทศ ช่วงหลังๆ นี้พบว่าบริษัทไทยที่มีขนาดอยู่ในระดับ SME ซึ่งส่วนใหญ่รันโดยผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีหัวก้าวหน้า มีความตระหนักในเรื่องของนวัตกรรมสูงมาก อุตสาหกรรมนาโนวัสดุของไทยจึงเป็นอุตสาหกรรมที่เห็นคุณค่าของการวิจัยและพัฒนา ดังนั้นโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมนาโนวัสดุของไทยให้เป็นที่หนึ่งในย่านนี้จึงมีค่อนข้างสูง เพราะจำนวนนักวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีของไทย ทำงานในสาขานาโนวัสดุอยู่ถึง 70% เลยทีเดียว ปี 2008 นี้จึงน่าจะเป็นปีทองของไทย ที่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยีจะถึงเวลา Take Off เสียที