วิเคราะห์สถานภาพทางด้านนาโนศาสตร์ และ นาโนเทคโนโลยี ของประเทศไทย เปรียบเทียบกับ ประเทศคู่แข่ง เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทย เป็น Nano Valley of ASEAN
31 สิงหาคม 2556
Digital Food - อาหารดิจิตอล (ตอนที่ 5) ตอน เครื่องเลี้ยงแมลง
(Picture from http://www.dailymail.co.uk)
ความคิดสร้างสรรค์ที่น่ายกย่องเรื่องหนึ่งของคนอีสานคือ การรู้จักนำแมลงมาทำเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นหนอนรถด่วน ไข่มดแดง จิ้งหรีด ด้วงมะพร้าว ตัวอ่อนผึ้ง ตั๊กแตน เป็นต้น สหประชาชาติถึงกับรณรงค์ให้ประชากรโลกหันมากินแมลงกันเยอะๆ เพราะแมลงเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง อีกทั้งยังมีแมลงอยู่ตั้ง 1,900 ชนิดที่มนุษย์สามารถรับประทานได้ การเพาะเลี้ยงแมลงยังช่วยลดโลกร้อน เนื่องจากใช้พลังงานน้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์พวก หมู ไก่ วัว มีการประเมินกันว่าในปี ค.ศ. 2050 โลกต้องการอาหารเนื้อสัตว์เพิ่มอีก 50% แล้วจะไปเอาเนื้อสัตว์จำนวนนี้มาจากไหนหล่ะครับ ก็ต้องแมลงนี่แหล่ะ โลกจึงต้องการธุรกิจฟาร์มเลี้ยงแมลงอย่างจริงจัง ..... ท่านผู้อ่านอาจจะตกใจ ถ้าผมจะบอกว่า ในภาคอีสานของเราเองนั้น มีการทำฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดอยู่ถึง 20,000 ฟาร์ม และมีการผลิตแมลงสำหรับรับประทานมากถึงปีละ 7,500 ตันเลยทีเดียวครับ น่าสนใจมากครับ เราอาจจะกลายเป็นประเทศที่ผลิตแมลงส่งออกระดับโลกในไม่ช้านี้ก็ได้
ในช่วงหลังๆ นี้ ฝรั่งเริ่มมาสนใจในเรื่องของการบริโภคแมลงอย่างจริงจังมากขึ้น จนเกิดแนวคิดในเรื่องของการสร้างเครื่องเลี้ยงแมลงขึ้นมา เพื่อผลิตแมลงใช้บริโภคเองในบ้าน โดยต้องการให้เครื่องนี้เป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภทหนึ่ง ไม่ต่างจากหม้อหุ้งข้าวอัตโนมัติ ซึ่งไม่นานมานี้เอง นักออกแบบสาวชาวออสเตรียชื่อ แคทรีนา อุงเกอร์ (Katharina Unger) ได้ออกแบบและสร้างเครื่องเลี้ยงตัวอ่อนแมลงที่ใช้ชื่อทางการค้าว่า Farm 432 โดยเครื่องนี้ทำงานแบบอัตโนมัติในการเลี้ยงตัวอ่อนแมลงชนิดหนึ่ง วิธีการทำงานคือ เราจะใส่ไข่ของแมลงเป้าหมายลงไปในช่องๆ หนึ่ง เหมือนใส่น้ำยาซักผ้าลงไปในเครื่องซักผ้าแหล่ะครับ จากนั้นเครื่องจะทำงานในการปรับสภาพอุณหภูมิและความชื้น ไข่จะฟักเป็นตัวแมลง แมลงจะผสมพันธุ์ และกินอาหารต่างๆ ที่เราจะป้อนเข้าไปในช่องวัตถุดิบ จากนั้นแมลงจะวางไข่ และไข่ฟักออกมาเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนจะไต่ขึ้นไปในช่องไต่ แล้วตกลงไปในถ้วยเก็บ เราก็เอาตัวอ่อนนั่นแหล่ะครับไปทำเป็นอาหารได้เลย โดยอาจจะแบ่งตัวอ่อนส่วนหนึ่ง นำกลับมาป้อนใส่เครื่องเพื่อผลิตตัวอ่อนแมลงไว้กินในมื้อต่อไป แคทรีนาบอกว่า เจ้าเครื่องที่เธอออกแบบนี้สามารถเปลี่ยนไข่ของแมลง 1 กรัม ให้เป็นอาหาร 2.4 กิโลกรัมได้ภายในเวลา 432 ชั่วโมง ไม่เลวเลยใช่มั้ยครับ
เห็นหรือยังครับว่า แนวคิดใหม่ๆ กระบวนทัศน์ใหม่ๆ ของการผลิตและบริโภคอาหาร เริ่มปรากฎชัดขึ้นเรื่อยๆ .... ท่านผู้อ่านพร้อมหรือยังครับ กับการเข้ามาของ Digital Food !!!
ป้ายกำกับ:
electronic nose,
food,
nano-agriculture,
nano-business,
nano-industry,
new paradigm
26 สิงหาคม 2556
เศรษฐกิจยุคบูติค (Boutique Economy) ใกล้มาถึงแล้ว
(Credit - Picture from http://vecto2000.com/)
โลกเรากำลังเข้าสู่ยุคแห่งความสำเริงสำราญ บนพื้นฐานเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เรียกว่า Boutique Economy หรือ เศรษฐกิจยุคบูติค ท่านผู้อ่านอาจจะไม่ค่อยคุ้นกับชื่อนี้เท่าไหร่ใช่ไหมครับ มาลองดูลำดับพัฒนาการของเศรษฐกิจประเภทต่างๆ กันก่อนนะครับ
(1) Agriculture-Based Economy เป็นเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการทำไร่ ทำนา เลี้ยงสัตว์ ประเทศทุกประเทศในโลก ล้วนเคยผ่านการมีเศรษฐกิจแบบนี้ครับ
(2) Industrial Economy เป็นเศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานของอุตสาหกรรม ประเทศไทยกำลังอยู่ในยุคนี้ครับ
(3) Service-Based Economy หรือ Knowledge-Based Economy (รวมไปถึง Experience Economy) เป็นระบบเศรษฐกิจที่พัฒนามาอีกขั้นหนึ่ง รายได้ประชาชาติส่วนใหญ่มาจากงานบริการ งานที่ใช้ความรู้ การสร้างนวัตกรรม ซอฟต์แวร์ โดยย้ายฐานการผลิตไปอยู่ในประเทศที่ยังอยู่ในยุค Industrial Economy
(4) Boutique Economy เศรษฐกิจแบบบูติก เป็นเศรษฐกิจที่เครื่องจักรใน 3 แบบแรกข้างต้น ก็คือ เกษตร อุตสาหกรรม และ เซอร์วิส ได้รับการยกเครื่องขนานใหญ่ จนทำให้ประเทศที่มีเศรษฐกิจแบบบูติกนี้ มีทุกอย่างที่พึ่งพาตัวเองได้ มีเกษตรกรรมก้าวหน้า มีอุตสาหกรรมล้ำยุคที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีอุตสาหกรรมบริการที่สนุกสนาน และมีความสุข
ลองมาดูกันครับว่า ถ้าเราได้อยู่ในสังคมที่ประเทศเป็นบูติค รอบๆ ตัวเราจะมีลักษณะอย่างไร
- วิถีชีวิต ผู้คนมีความเป็นอยู่แบบ มีความสุขกันทั่วหน้า อาชีพและการทำงานในยุคบูติคจะมีความสนุก เร้าใจ น่าทำงาน คนจะทำงานที่บ้านมากขึ้น ผู้คนสดชื่น เบิกบาน และสุขภาพดี แต่ละคนล้วนทาครีมนาโนหน้าเด้ง
- อุตสาหกรรมไม่ปล่อยควันพิษและของเสียอีกต่อไป การผลิตมี ลักษณะเป็น Cottage Industry ที่การผลิตอยู่ในมือของ SME มีความสะอาด และกระจายอยู่ในชุมชนที่เป็นผู้ใช้ เป็นยุคที่ Desktop Manufacturing หรือ ระบบผลิตแบบตั้งโต๊ะ และ โรงงานจิ๋ว (Micro-factory) รวมไปถึงการผลิตแบบ 3D Printing มีความเจริญสูง มีเทคโนโลยี Mass Customizaton ซึ่ง กระบวนการผลิต สามารถทำให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคเป็นรายๆ ในจำนวนมากๆ ได้
- ระบบรักษาพยาบาลเป็นแบบบุคคล (Personal Medicine) มีระบบนำส่งยา (Drug Delivery) ที่มีประสิทธิภาพ
- การคมนาคมขนส่งใช้พลังงานสะอาด ถนนหนทาง บ้านเรือน ตึกรามอาคารต่างๆ ใช้วัสดุนาโนที่ทำความสะอาดตัวเองได้ ทางหลวงเป็น smart highway ที่สื่อสารกับรถยนต์ได้
- อาคาร บ้านเรือน เป็นอาคารฉลาด (Smart Building, Smart Home) มีระบบดูแลการใช้พลังงาน และบรรยากาศภายใน ตัวเมืองประดับประดาด้วยแสงสีจากจอภาพอินทรีย์ พลังงานที่ใช้ก็เป็นพลังงานสะอาด
- สินค้าต่างๆ จะมีการออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์ ก่อนทำการผลิต และผู้บริโภคสามารถออกแบบเอง แล้วส่งให้ผู้ผลิตทาง Internet
- เสื้อผ้าอาภรณ์ มีความฉลาด มีสีสันสวยงามและปรับตามสภาพแวดล้อมได้ (Smart Garments)
- อาหารที่รับประทานไม่มีสารพิษ เพราะทุกอย่างผ่านการตรวจด้วยเซ็นเซอร์หมดทุกอย่าง ตั้งแต่ ฟาร์มจนถึงถังขยะ
- เกษตรจะย้ายจากชนบทมาสู่เมือง เป็นเกษตรในอาคารสูง (Vertical Farm) พื้นที่เกษตรกรรมจะถูกคืนให้เป็นป่า ฟาร์มมีความฉลาด (Smart Farm)
ฟังดูเหมือนโลกสวยใช่ไหมครับ แต่ผมเชื่อว่าวันนั้น ยังไงก็ต้องมาถึงแน่ครับ ถ้าเราไม่เลิกฝันเสียก่อน ....
ป้ายกำกับ:
Economy,
new paradigm
16 สิงหาคม 2556
PhyCS 2014 - International Conference on Physiological Computing Systems
กระแสความร้อนแรงของ Google Glass และ Smart Watch ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกของคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ นับเป็นตัวจุดพลุ ที่จะทำให้ตลาดของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ได้ (Wearable Electronics) เติบโตในอนาคตอีกไม่นานจากนี้ครับ เมื่อรวมกับแนวโน้มของประชากรสูงวัยที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือในการดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง (Pervasive Healthcare) น่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งทำให้นักเทคโนโลยีหลายๆ กลุ่มในโลก เร่งมือในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า Physiological Computing Systems หรือ ระบบตรวจวัดทางสรีรวิทยา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการเฝ้าดู และตรวจวัด พารามิเตอร์ทางสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งในที่นี้ก็มักจะต้องเป็นอุปกรณ์ที่สวมใส่ได้ เพื่อที่จะสามารถเก็บข้อมูลความเป็นไปของร่างกายผู้สวมใส่ได้ตลอดเวลา
การประชุมประจำปีที่มีชื่อว่า International Conference on Physiological Computing Systems จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยน เรียนรู้ระหว่างวิศวกร นักคอมพิวเตอร์ศาสตร์ แพทย์ และ บุคลากรทางสาธารณสุข ที่มีความสนใจในการพัฒนาระบบตรวจวัดทางสรีรวิทยา โดยการประชุม PhyCS 2014 นี้จะจัดขึ้นที่กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ระหว่างวันที่ 7-9 มกราคม 2557 โดยมีกำหนดส่งผลงานบทความฉบับเต็มในวันที่ 15 กันยายน 2556
หัวข้อที่เป็นที่สนใจของการประชุมก็ได้แก่
AREA 1: DEVICES
Biomedical Devices for Computer Interaction
Haptic Devices
Brain-Computer Interfaces
Health Monitoring Devices
Physiology-driven Robotics
Wearable Sensors and Systems
Cybernetics and User Interface Technologies
AREA 2: METHODOLOGIES AND METHODS
Biosignal Acquisition, Analysis and Processing
Pattern Recognition
Neural Networks
Processing of Multimodal Input
Observation, Modeling and Prediction of User Behavior
Computer Graphics and Visualization of Physiological Data
Video and Image Analysis for Physiological Computing
Motion and Tracking
AREA 3: HUMAN FACTORS
User Experience
Usability
Adaptive Interfaces
Human Factors in Physiological Computing
Learning and Adaptive Control of Action Patterns
Speech and Voice Data Processing
AREA 4: APPLICATIONS
Physiology-driven Computer Interaction
Biofeedback Technologies
Affective Computing
Pervasive Technologies
Augmentative Communication
Assistive Technologies
Interactive Physiological Systems
Physiological Computing in Mobile Devices
ป้ายกำกับ:
biomedical engineering,
bionics,
conference,
sensor networks,
wearable intelligence
09 สิงหาคม 2556
Digital Food - อาหารดิจิตอล (ตอนที่ 4) ตอน Google Burger
(ในภาพ: Sergey Brin หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท Google ผู้สนับสนุนโครงการ Google Burger ด้วยวิธีการปลูกเนื้อเยื่อ)
ยุ่งแล้วล่ะสิครับท่านผู้อ่าน ... ในบทความซีรีย์นี้เมื่อตอนที่แล้ว ผมเพิ่งจะพูดไปว่า คอยดูสิ บริษัทที่ทำเกษตรแบบซีพีอีกหน่อยจะล้าสมัย และล้มตายไปจากวงการธุรกิจ แต่บริษัทแบบกูเกิ้ล กับ ไอบีเอ็ม ที่ทำด้านไอที อีกหน่อยจะกลายมาเป็นยักษ์ใหญ่ทางด้านเกษตรและอาหารแทน .... เพิ่งพูดไป ไม่น่าเชื่อว่า เมื่อไม่กี่วันมานี้ กูเกิ้ลได้ออกมาประกาศความสำเร็จในการผลิตแฮมเบอร์เกอร์ที่เกิดจากการเลี้ยงเนื้อเยื่อในหลอดแก้ว เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสปอนเซอร์ด้วยเม็ดเงินมหึมาจาก เซอร์เก้ บริน (Sergey Brin) หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทกูเกิ้ล ทั้งนี้ในงานเปิดตัว ได้มีการนำเนื้อที่ได้จากการทดลองนี้ มาทอดด้วยเนยและน้ำมันพืชจากดอกทานตะวัน จากนั้นได้ให้นักชิม 2 คน ที่คัดเลือกมาให้ชิมแฮมเบอร์เกอร์แห่งโลกอนาคตนี้ ทำการชิมต่อหน้าผู้ชมจำนวนมาก ฮานนี รุทซเลอร์ (Hanni Rutzler) นักวิทยาศาสตร์ทางอาหารชาวออสเตรียได้บรรจงเคี้ยวแฮมเบอร์เกอร์นี้จำนวน 27 ครั้งก่อนที่จะกลืนเต็มๆ คำ ได้กล่าวว่า "มันเหมือนกับเนื้อจริงๆ มากครับ เพียงแต่ยังต้องปรับปรุงเรื่องรสชาติหน่อย" ส่วนนักชิมอีกท่านหนึ่งคือ จอร์ช ชอนวาลด์ (Josh Schonwald) ซึ่งเป็นนักเขียนเกี่ยวกับเรื่องข้าวปลาอาหาร ได้บอกว่า "สิ่งที่รู้สึกขาดไปคือไขมันครับ แต่ความรู้สึกจากการกัดและเคี้ยว บ่องตง ว่ามันเหมือนแฮมเบอร์เกอร์ที่ทำจากเนื้อจริงมากๆ"
เนื้อที่ปลูกขึ้นมาเหมือนเราปลูกพืชนี้ มีข้อดีมากมาย และมีโอกาสทำการตลาดจากข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่งที่เป็นเนื้อจริงคือ
(1) เนื้อหลอดแก้วปลูกจากเซลล์เนื้อวัว แล้วทำให้มันโตขึ้นมาด้วยการป้อนอาหารเข้าไปที่เซลล์โดยตรง ทำให้มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรสูงมาก จึงเป็นเนื้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า วัวตัวเต็มวัยตัวหนึ่ง ผายลมเอาก๊าซมีเธนออกมาปีละ 180 กิโลกรัม ซึ่งก๊าซมีเธนนี้เป็นก๊าซเรือนกระจก ที่ดักจับความร้อนในชั้นบรรยากาศของโลกได้ดีกว่า คาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า การผลิตเนื้อวัวนั้นทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับเต้าหู้ ซึ่งเป็นอาหารหลักของนักมังสวิรัติแล้ว มันใช้พื้นที่เกษตรกรรมมากกว่าเป็น 17 เท่า ใช้น้ำมากกว่า 26 เท่า ใช้เชื้อเพลิงมากกว่า 20 เท่า แถมยังใช้สารเคมีมากกว่าอีก 6 เท่า จากรายงานขององค์กรอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UN's FAO) พบว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาทั้งหมด 18% ซึ่งมากกว่ารถยนต์ รถไฟ เรือ และเครื่องบิน รวมกันเสียอีก ดังนั้น การผลิตเนื้อวัวด้วยการปลูกเนื้อเยื่อ จะทำให้ผู้บริโภคที่มีความเป็นห่วงสิ่งแวดล้อมเลิกกินเนื้อวัวจริง แล้วหันมาบริโภคเนื้อปลูกมากขึ้นเรื่อยๆ
(2) การปลูกเนื้อในหลอดแก้ว ไม่ต้องมีการฆ่าวัวจริงๆ เป็นการผลิตอาหารไม่ต่างจากการปลูกพืช ซึ่งจะทำให้ตลาดมังสวิรัติยอมรับการทานเนื้อ เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ไม่ผิดศีลข้อที่ 1 จึงน่าจะมีอนาคต
(3) ถึงแม้เนื้อแฮมเบอร์เกอร์นี้จะเป็นเนื้อวัว แต่เกิดจากการปลูกขึ้นมา ไม่ได้มีการฆ่าวัว จึงน่าจะเจาะตลาดผู้ที่ทานเนื้อสัตว์แต่ไม่ทานเนื้อวัว โดยเฉพาะคนจีนที่นับถือพระโพธิสัตว์กวนอิม รวมไปถึงคนไทยส่วนใหญ่ที่ไม่ทานเนื้อวัวเพราะมีกลิ่น เนื้อที่ปลูกนี้เราสามารถ engineer กลิ่นให้เหมาะกับจมูกคนไทยได้
(4) เนื้อที่ปลูกปราศจากเชื้อโรค โดยเฉพาะโรควัวบ้า
(5) เทคโนโลยีนี้คิดโดยคนตะวันตก ดังนั้นอีกไม่นานเราจะเริ่มเห็นมาตรการต่างๆ ของประเทศตะวันตกที่จะกีดกันทางการค้า และสร้างเงื่อนไขใหม่ๆ ที่จะไม่ยอมรับเนื้อสัตว์ที่เกิดจากการเลี้ยง อีกไม่นาน การปลูกเนื้อสัตว์จะเริ่มระบาดไปสู่เนื้อหมู และ เนื้อไก่ ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้นำในการส่งออก ทำให้การส่งเนื้อไก่ (จริงๆ) ไม่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค ไม่ว่าจะในเรื่องของความสะอาด ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และในเรื่องศีลธรรม ... คอยดูนะครับว่าเมื่อเขาทำเป็นอุตสาหกรรมได้เมื่อไหร่ ประเทศไทยรับผลกระทบเต็มๆ แน่ครับ
พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติมรรคมีองค์ 8 ว่าเป็นทางสายกลางที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น สัมมาอาชีวะก็เป็นมรรคข้อหนึ่ง นั่นคือ การมีอาชีพที่สุจริตไม่เบียดเบียนผู้อื่น อาชีพการเลี้ยงสัตว์อย่างที่ทำกันในปัจจุบันเป็นอาชีพสุจริตแต่ก็ยังต้องเบียดเบียนชีวิตสัตว์ จึงอาจจะไม่ใช่สัมมาอาชีวะที่สมบูรณ์ แต่ในอนาคตการเลี้ยงสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหารจะเป็นสัมมาอาชีวะได้ เพราะเราจะไม่เลี้ยงสัตว์ แต่จะใช้การ "ปลูกสัตว์" แทนครับ
ป้ายกำกับ:
electronic nose,
food,
nano-agriculture,
nano-business,
nano-industry,
new paradigm,
synthetic biology
02 สิงหาคม 2556
Memetics Engineering - วิศวกรรมเปลี่ยนความคิดคน (ตอนที่ 1)
(Picture from http://www.npr.org/ แสดงให้เห็นการพับกระดาษชำระหน้าชักโครก ในโรงแรมต่างๆ ทั่วโลก ที่มักจะพับเป็นรูป V shape ไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นคนพับคนแรก แล้วพับเพื่ออะไร แต่ Meme อันนี้มันได้ระบาดไปทั่วโลก แล้วยังมีวิวัฒนาการออกเป็นรูปร่างต่าง ๆ อย่างที่เห็นในภาพ)
ในปี ค.ศ. 1976 ริชาร์ด ดอว์กิน (Richard Dawkins) ปรมาจารย์ทางด้านชีววิทยาวิวัฒนาการ ได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า The Selfish Gene (ยีนเห็นแก่ตัว) หนังสือเล่มนี้ซึ่งเป็นหนังสือที่ขายดีมากๆ (Bestseller) ได้มีการเสนอแนวคิดที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง ซึ่งดอว์กินเรียกมันว่า "มีม" (Meme) โดยเขาได้นิยามว่า มันเป็นอาการทางนามธรรม ที่มีความสามารถในการแพร่พันธุ์หรือขยายจำนวนได้ ไม่ว่าจะเป็น แนวความคิด สัญลักษณ์ อาการต่างๆ พฤติกรรม เมโลดี้ของดนตรี ถ้อยคำ ความเชื่อทางศาสนา แฟชั่น แบบบ้าน และอื่นๆ อีกมากมาย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ พอเกิดขึ้นมาแล้ว มันจะมีวิวัฒนาการ มีการขยายตัว มี mutation มีการคัดเลือกตามธรรมชาติ เสมือนมันเป็นสิ่งมีชีวิต มันอาจอยู่ได้นาน หรือ อาจตายไปในเวลาอันสั้น บางครั้ง meme มันขยายจำนวนไปมากๆ จนกลายมาเป็นสิ่งที่นิยมปฏิบัติกันไปเลย
ผมจะขอยกตัวอย่าง Meme ที่เกิดขึ้น จากนั้นก็แพร่พันธุ์ และวิวัฒนาการ ในสมองของคนไทย
- การทำบุญ 9 วัด เป็น meme ที่เกิดขึ้นจากคนกลุ่มเล็กๆ จากนั้นมันได้ขยายตัว และมีวิวัฒนาการไปด้วยระหว่างที่มันเพิ่มจำนวน จากเดิมการทำบุญ 9 วัด ทำกันในหมู่ผู้สูงอายุ แต่ตอนนี้คนหนุ่มสาวก็นิยม กลายเป็นทัวร์ แถมมีทัวร์ไปเมืองจีนไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ 9 แห่งเข้าไปอีก
- การที่คนนิยมไปเที่ยวปาย ต่อมาก็เชียงคาน ตอนนี้กำลังจะไปบูมที่เมืองน่าน การที่คนแห่แหนกันไปเที่ยวอัมพวา เดอะปาลิโอที่เขาใหญ่ ซานโตรินีพาร์คที่ชะอำ ล้วนเป็นการเอาอย่างกัน ทำตามกันทั้งสิ้น นั่นก็เพราะเจ้า Meme ได้แพร่ระบาดไปในสมองของคนเหล่านั้นนั่นเอง
- การมีกิ๊ก ก็เป็นการเอาอย่างกัน เป็น Meme ที่แพร่พันธุ์ในสมองคนไทยมาสักประมาณไม่น่าจะเกิน 10 ปีครับ แต่ก่อนนั้นเราเรียกการกระทำนี้ว่า "ชู้" แต่พอเปลี่ยนมาเป็น "กิ๊ก" แล้วดูเก๋ไก๋ ทำให้เจ้า Meme นี้ขยายตัวมากจนเกินขอบเขตและสร้างปัญหาสังคมขึ้นมามากมาย
- การเต้นโคโยตี้อย่างเอิกเกริกในงานต่างๆ แต่ก่อนเราเรียกการเต้นอย่างนี้ว่าจั๊มบ๊ะ ซึ่งต้องเต้นกันในสถานที่บันเทิงที่ขออนุญาต ไม่ได้เต้นโชว์กันอย่างเปิดเผยในงานมอเตอร์โชว์เหมือนเดี๋ยวนี้ คำว่า "โคโยตี้" มันก็มาจากภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง "Coyote Ugly" ที่นางเอก 3 คนเต้นโชว์ในผับ ซึ่งจากนั้น การเต้นจั๊มบ๊ะก็มาเปลี่ยนเป็นเต้นโคโยตี้ ซึ่งทำให้ฟังดูดี แล้วสังคมยอมรับมันมากขึ้นจนสามารถมาเต้นในที่สาธารณะได้ ... นี่ก็เป็นวิวัฒนาการของเจ้า Meme ตัวนี้นั่นเองครับ
- ความนิยมในการใช้ Line ก็เป็น Meme อย่างหนึ่งครับ คนส่วนใหญ่ ไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้ แค่เอาอย่างกัน
- ลัทธิธรรมกาย นี่ก็เป็น Meme อย่างหนึ่ง ซึ่งฝังตัวในสมองของคนกลุ่มหนึ่งอย่างเหนียวแน่น ซึ่งมันได้พยายามแพร่พันธุ์ไปสู่ผู้คนจำนวนมาก คนที่ถูกเจ้า Meme นี้ยึดครองจะยอมมอบกายถวายเงินให้แก่เจ้าลัทธิโดยไม่รู้ตัว
จะเห็นได้ว่า Meme เป็นอาการนามธรรมคล้ายๆ กับซอฟต์แวร์ ซึ่งต้องอาศัยบนฮาร์ดแวร์ที่เป็นสมอง จะมองว่า Meme นั้นเป็นไวรัสแบบหนึ่งก็ได้ครับ คือเมื่อมันฝังตัวบนพาหะได้แล้ว มันจะพยายามเพิ่มจำนวนให้มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ใช่ว่ามันจะประสบความสำเร็จเสมอไป Meme บางตัวเพิ่มจำนวนรวดเร็วแต่แล้วกลับลดจำนวนลงแล้วสูญพันธุ์ไปในเวลาไม่นาน Meme บางตัวเพิ่มจำนวนไปเรื่อยๆ แต่ถูกรุกรานจาก Meme ตัวใหม่แล้วกลายพันธุ์ไป การเข้าใจศาสตร์ของ Meme แล้วดัดแปลงให้มันทำงานตามที่เราต้องการ กำลังจะกลายเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีทั้งประโยชน์มากมายมหาศาล และมีโทษภัยที่น่ากลัวมากครับ แล้วผมจะนำมาเล่าให้ฟังในวันหลังครับ
ป้ายกำกับ:
memetics,
mind sciences,
neuroscience
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)