04 กันยายน 2555

The Future of City - อนาคตของเมืองใหญ่ (ตอนที่ 4)



เมื่อก่อน เรามักคิดว่าเมืองจีนเป็นประเทศที่มีมลภาวะสูง และมีการใช้พลังงานที่ไร้ประสิทธิภาพ แต่วันนี้ความคิดนี้ล้าสมัยแล้วครับ แถมกลับกันด้วย ตอนนี้ประเทศไทยกลับกลายมาเป็นประเทศที่สิ่งแวดล้อมนับวันจะแย่กว่าเมืองจีน แถมคนไทยก็กลายเป็นประชากรที่มีการใช้พลังงานด้อยประสิทธิภาพเกือบจะที่สุดในโลก

ปัจจุบัน ประเทศจีนมีประชากร 1,300 ล้านคน มากกว่าครึ่งคือประมาณ 690 ล้านคนอาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีนได้สลัดทิ้งสังคม ชนบทไปเรียบร้อยแล้ว (ค่าเฉลี่ยของทั้งโลกคือ 50%) ก่อนหน้านี้คือในปี ค.ศ. 1980 ประเทศจีนมีประชากรอาศัยในเมืองเพียง 20% เท่านั้น แต่ในอีก 18 ปีข้างหน้าคือ ค.ศ. 2030 ประมาณกันว่า จีนจะมีประชากรเมืองมากถึง 75% ซึ่งเป็นปัญหาท้าทายนักวางผังเมืองของจีนเป็นอย่างมาก เมืองกว่า 650 เมืองในประเทศจีนกำลังสาละวนอยู่กับการก่อสร้าง เพื่อรองรับประชากรที่เคลื่อนย้ายจากชนบทมาสู่เมือง การเติบโตในแนวดิ่งของประเทศนี้จึงมีอัตราสูงที่สุดในโลก 

รัฐบาลจีนกำลังให้ความสนใจกับแนวคิดในการสร้างเมืองใหม่ เป็นเมืองสะอาด มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน มีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่เรียกว่า Ecocities คนไทยเอามาแปลเป็น เมืองสีเขียว เมืองนิเวศน์ เมืองเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เมืองปลอดมลพิษ ซึ่งสำหรับผมยังไม่ค่อยถูกใจกับคำแปลเท่าไหร่ครับ ดังนั้นผมขอให้ทับศัพท์ เหมือนกับที่คนไทยเราเรียก Eco car ว่า อีโค่คาร์ นะครับ โดยโครงการแรกๆ ที่จีนจะสร้างนั้นมีชื่อว่า Tianjin Eco-city ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีน กับ สิงคโปร์ ตั้งเป้าว่าในปี ค.ศ. 2020 จะสามารถรองรับประชากรได้ 350,000 คน

คนจีนชอบทำสิ่งท้าทาย แทนที่รัฐบาลจีนจะสร้าง Tianjin Eco-city บนผืนดินสะอาดที่มีความสวยงามตามธรรมชาติ แต่กลับไปเลือกที่ดินที่เกิดจากการถมขยะ สกปรกและถูกทอดทิ้ง โดยสิ่งแวดล้อมบริเวณนั้นถูกทำลายจนมนุษย์ไม่อาจอาศัยได้ นำมาสร้างเมืองที่สะอาดที่สุดในโลก ซึ่งเป็นความตั้งใจที่จะแสดงให้โลกเห็นว่าคนจีนทำได้ ซึ่งแน่นอนในอนาคต เทคโนโลยีนี้สามารถนำไปปรับปรุงที่ดินที่เสียแล้ว ที่ไหนก็ได้ในโลก

โครงการนี้ต้องใช้เวลาถึง 3 ปีในการทำความสะอาดที่ดิน เปลี่ยนที่ดินจากที่ถมขยะ เป็นทะเลสาบใสสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภค โดยการใช้เทคโนโลยีสุดล้ำ เมือง Tianjin Eco-city จะใช้พลังงานสะอาดทั้งจากเซลล์สุริยะ กังหันลม และเทอร์โมอิเล็กทริค (ระบบกำเนิดไฟฟ้าจากความร้อน) ประมาณ 20% เมืองนี้จะเป็นเมืองที่เรียกว่า Smart City จริงๆ เพราะมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ไว้ทั่วเมือง ไฟฟ้าในเมืองหลายๆ จุดจะปิดเมื่อไม่มีผู้คน และจะเปิดเองเมื่อมีเสียงคนเดิน หน้าต่างของอาคารจะเปิดปิดม่านแสงเอง เพื่อควบคุมปริมาณแสงและอุณหภูมิในอาคาร มีระบบเก็บขยะอัตโนมัติ ที่ผมชอบมากๆ คือ เมืองนี้จะมีการใช้รถยนต์ไร้คนขับ โดยรถยนต์จะสื่อสารกันเป็นเครือข่ายและวิ่งจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง อย่างอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้ประชากรของเมืองไม่จำเป็นต้องขับรถเอง ช่วยลดปัญหาจราจรและอุบัติเหตุ

เมืองนี้น่าอยู่จริงๆ ครับ มีทางขี่จักรยาน และสวนธารณะทั่วเมือง ย่านดาวน์ทาวน์ของเมือง สามารถไปด้วยรถรางหรือขี่จักรยานอย่างสะดวกสบาย เมืองนี้จะดึงดูดอุตสาหกรรมสีเขียว บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทำงานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries) ตอนนี้มีบริษัททยอยเข้าไปอยู่แล้ว 600 บริษัท เมื่อเทียบกับเมือง Ecocities อื่นๆ ที่กำลังสร้างกันทั่วโลก เมือง Tianjin Ecocity นี้ถือว่าทำทีหลังแต่ดังกว่า เพราะระหว่างก่อสร้างก็มีคนทยอยเข้าไปอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้เมืองนี้เป็นบ้านที่ 2 ของคนรวยในปักกิ่ง เมืองนี้จึงมีการสำรองพื้นที่ 20% ให้คนจนอยู่ได้ แนวคิดของเมืองนี้คือ การเป็นเมืองสีเขียวต้องไม่ใช่สิ่งหรูหรา แต่เป็นสิ่งที่แสวงหาได้


1 ความคิดเห็น:

  1. อยากอยู่บ้าง ... ประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ ผมหมดเวลาไปกับการเดินทางในนหนึ่งวันเฉลี่ยประมาณ 3.5 ชม. เอาไปทำอย่างอื่ได้เยอะเลย ...

    ตอบลบ